โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 91,639.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 64,980.68 บาท และค่าปรับอัตราร้อยละ 10 ของจำนวนเงินที่ค้างชำระนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2536 โจทก์ได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ชื่อโครงการหมู่บ้าน ส. เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2543 จำเลยกับนายไพฑูรย์ ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3424 พร้อมบ้านพักอาศัยเลขที่ 79/185 ซึ่งอยู่ในโครงการดังกล่าว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าบริการส่วนกลางตามฟ้องต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคเป็นคนละส่วนกับค่าใช้บริการและค่าบำรุงรักษาบริการสาธารณะ ดังที่พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 4 นิยามคำว่า "สาธารณูปโภค" กับคำว่า "บริการสาธารณะ" แยกจากกัน โดยสาธารณูปโภค หมายความว่า สิ่งอำนวยประโยชน์ที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรใช้ประโยชน์ร่วมกันตามสัญญาหรือแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาต ส่วนบริการสาธารณะ หมายความว่า การให้บริการหรือสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการจัดสรรที่ดินที่กำหนดไว้ในโครงการที่ขออนุญาตจัดสรรที่ดินตามมาตรา 23 (4) โดยที่การบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นเป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ข้อ 30 และพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43 ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคก็ต่อเมื่อมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 44 หากมีการทำข้อตกลงที่เป็นการผลักภาระความรับผิดในค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคไปให้แก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรก่อนที่จะมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 44 ข้อตกลงดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แต่ในส่วนบริการสาธารณะ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ข้อ 30 และพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43 และมาตรา 44 ไม่ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะต้องรับผิดชอบเหมือนดังเช่นสาธารณูปโภค ประกอบกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะซึ่งเป็นบริการหรือสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการจัดสรรที่ดินโดยตรง ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรย่อมมีหน้าที่รับผิดชอบในค่าบริการสาธารณะ ข้อตกลงที่ให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรรับผิดในค่าบริการสาธารณะจึงมีผลใช้บังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องโดยมีคำขอให้บังคับจำเลยชำระค่าบริการส่วนกลางที่ค้างชำระ แม้คำฟ้องบางช่วงบางตอนจะใช้ถ้อยคำว่า โจทก์จัดทำสาธารณูปโภคในพื้นที่ส่วนกลาง ค่าบริการสาธารณูปโภคส่วนกลาง แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องกับมีพยานโจทก์เบิกความยกตัวอย่างบริการส่วนกลางที่ดำเนินการ เช่น การจัดให้มีไฟทางส่องสว่างภายในหมู่บ้าน การจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยในการเข้าออกหมู่บ้าน ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ยกตัวอย่างมานี้ถือเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบริการสาธารณะ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในทำนองว่าค่าบริการส่วนกลางที่โจทก์เรียกเก็บเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคทั้งหมด และวินิจฉัยต่อไปว่าโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการส่วนกลางเพื่อนำไปบำรุงรักษาสาธารณูปโภคส่วนกลางตามฟ้อง นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น กรณีจึงต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นที่ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เนื่องจากคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการส่วนกลางหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามสำเนาโฉนดที่ดินว่า จำเลยและนายไพฑูรย์ ซึ่งเป็นสามี จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3424 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2543 โดยโจทก์นำสืบว่าจำเลยชำระค่าบริการส่วนกลางมาโดยตลอด และเริ่มผิดนัดนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 เรื่อยมา ซึ่งนายไพฑูรย์ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านเจือสมกับที่โจทก์นำสืบมาว่า เหตุที่นายไพฑูรย์ชำระค่าส่วนกลางให้แก่โจทก์ในตอนแรกเนื่องจากมีการเรียกเก็บ เมื่อรับฟังประกอบกับที่จำเลยให้การว่า วันที่ 4 พฤษภาคม 2555 จำเลยร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่าโจทก์มีหนังสือแจ้งขอปรับเพิ่มค่าบริการส่วนกลางจากเดิมตารางวาละ 6 บาทต่อเดือน เป็นตารางวาละ 13 บาท โดยจะเริ่มเก็บตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 เป็นต้นไปนั้น พฤติการณ์บ่งชี้ว่าโจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าบริการสาธารณะระหว่างกัน เพราะหากไม่มีข้อตกลงดังว่าแล้วก็ไม่มีเหตุที่จำเลยจะต้องชำระเงินให้แก่โจทก์เพียงเพราะมีการเรียกเก็บ เช่นนี้แม้โจทก์ไม่ได้อ้างส่งสัญญาหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าบริการสาธารณะระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นพยานหลักฐาน กรณีก็รับฟังได้ว่าโจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าบริการสาธารณะ ส่วนที่ความปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 แต่ต่อมามีการตราพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ขึ้นใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 โดยมีบทเฉพาะกาลมาตรา 69 บัญญัติว่า ใบอนุญาตหรือการอนุญาตใด ๆ ที่ได้ให้ไว้ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นใบอนุญาตและการอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติว่า การบำรุงรักษาบริการสาธารณะ ให้นำมาตรา 53 มาใช้บังคับแก่การจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ด้วยโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 53 ก็บัญญัติว่า การจัดให้มีและการบำรุงรักษาบริการสาธารณะให้นำความในมาตรา 50 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้เรียกเก็บค่าใช้บริการและค่าบำรุงรักษาบริการสาธารณะได้ตามอัตราที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ ดังนั้นค่าบริการสาธารณะที่โจทก์เรียกเก็บจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรต้องเรียกเก็บตามอัตราที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบ แต่อย่างไรก็ตามแม้โจทก์ไม่ได้ยื่นขอความเห็นชอบในอัตราค่าบริการสาธารณะที่เรียกเก็บต่อคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร กรณีก็ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ค่าบริการสาธารณะโดยไม่ต้องเสียค่าบริการแต่อย่างใด ทั้งหากศาลไม่รับบังคับหนี้ค่าบริการสาธารณะย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพความเป็นอยู่และความสงบสุขโดยรวมของผู้ที่อยู่อาศัยในโครงการที่ดินจัดสรรที่มิได้จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร การที่โจทก์เรียกเก็บค่าบริการสาธารณะโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครจำเลยก็ยังคงต้องรับผิดในหนี้ค่าบริการสาธารณะนั้น และเมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาล ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าบริการสาธารณะให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ได้เช่นเดียวกับอำนาจศาลในการกำหนดค่าเสียหายในคดีแพ่งทั่วไป เพราะไม่มีอัตราเรียกเก็บที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครให้ศาลจำต้องถือตาม เมื่อความปรากฏว่า ที่ดินของจำเลยมีเนื้อที่ 72 ตารางวา และตามสำเนาใบแจ้งค่าใช้บริการส่วนกลางและตารางคำนวณทุนทรัพย์ในการฟ้องคดีว่า โจทก์เรียกเก็บค่าบริการสาธารณะรวมภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลยเป็นเงินเดือนละ 648 บาท ซึ่งเท่ากับตารางวาละ 9 บาท โดยมีการเรียกเก็บในอัตราดังกล่าวเรื่อยมาจนถึงงวดเดือนพฤศจิกายน 2561 หาได้เรียกเก็บในอัตราตารางวาละ 6 บาท และปรับเพิ่มเป็นตารางวาละ 13 บาท นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 เป็นต้นไปดังที่จำเลยให้การและที่ระบุในหนังสือของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขามีนบุรี แต่อย่างใดไม่ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดค่าบริการสาธารณะให้จำเลยรับผิดในอัตราที่โจทก์เรียกเก็บดังกล่าวข้างต้น
สำหรับดอกเบี้ยผิดนัดที่โจทก์เรียกให้จำเลยรับผิดเป็นรายเดือนที่ผิดนัด นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องไม่ปรากฏข้อตกลงกำหนดเวลาชำระค่าบริการสาธารณะที่จำเลยต้องชำระรายเดือนเมื่อใดจึงต้องถือว่าจำเลยผิดนัดเมื่อครบกำหนดเวลาตามคำบอกกล่าวทวงถามแล้วไม่ชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 ได้ความว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระค่าบริการสาธารณะภายใน 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับคำบอกกล่าว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามเมื่อใด จึงไม่อาจกำหนดวันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยผิดนัดให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ก่อนฟ้องได้จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยรับผิดในดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป และเนื่องจากพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 7 ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี" มาตรา 4 บัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 224 หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี..." โดยมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว บัญญัติให้ใช้มาตรา 224 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้นคดีนี้แม้จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดชำระก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่เนื่องจากคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาอัตราดอกเบี้ยผิดนัดจึงต้องบังคับตามมาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ โดยโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งเท่ากับอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ส่วนที่โจทก์เรียกให้จำเลยชำระเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 10 ของเงินที่ค้างชำระตามระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าปรับกรณีที่ชำระเงินค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนด พ.ศ. 2549 นั้น ตามระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครดังกล่าว ข้อ 4 กำหนดว่า "ให้กำหนดอัตราค่าปรับกรณีที่เจ้าของที่ดินแปลงย่อยในโครงการจัดสรรที่ดินชำระเงินค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนด ดังนี้ (1)... (2)... ที่ดินที่ใช้เพื่ออยู่อาศัยและที่ดินเปล่าต้องชำระค่าปรับในอัตราที่นิติบุคคลกำหนด แต่ต้องไม่เกินร้อยละสิบของจำนวนเงินค้างชำระ" ข้อความตามระเบียบดังกล่าวเมื่อนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การชำระค่าบริการสาธารณะล่าช้ากรณียังไม่มีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ย่อมมีความหมายเพียงว่าผู้จัดสรรที่ดินและผู้ซื้อที่ดินจัดสรรอาจตกลงให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรชำระค่าปรับจากเงินค่าปรับจากเงินค่าบริการสาธารณะที่ชำระล่าช้ากันได้ โดยกำหนดเพดานอัตราเบี้ยปรับไว้ไม่เกินร้อยละสิบ มิได้หมายความว่าผู้จัดสรรที่ดินมีสิทธิเรียกค่าปรับจากค่าบริการสาธารณะที่ชำระล่าช้าในอัตราร้อยละสิบได้แม้ไม่มีข้อตกลงให้ชำระค่าปรับแต่ประการใด เมื่อไม่ปรากฏข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยว่าให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับจากค่าบริการสาธารณะที่ชำระล่าช้าจากจำเลยได้ กรณีจึงไม่ต้องด้วยระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครฉบับดังกล่าวอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับจากค่าบริการสาธารณะที่จำเลยค้างชำระตามฟ้องได้
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 64,980.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 4 มกราคม 2562) ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป สำหรับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปีตามขอจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความรวมให้ 9,000 บาท