โจทก์ฟ้องว่าโจทก์จำเลยเข้าหุ้นส่วนกันซื้อที่ดิน ๓ โฉนด จำเลยเป็นผู้ไปจัดการซื้อและรับโอนโฉนดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ แล้วนำโฉนดมาให้โจทก์ยึดถือ ต่อมาจำเลยได้เอาโฉนดไปแบ่งแยกส่วนของจำเลยตามข้อตกลง ส่วนที่ดินนอกนั้นซึ่งเป็นส่วนของโจทก์ จำเลยไม่จัดการโอนให้โจทก์ กลับจะแบ่งเอาครึ่งหนึ่ง โจทก์จึงมาฟ้องขอให้จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์
ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ตามฟ้อง แต่ให้โจทก์เสียค่าที่ดินส่วนที่ตกลงกันให้แก่จำเลยอีก ๒๙ บาท ๑๑ สตางค์ก่อน
ศาลอุทธรณ์พิพากยืน
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในคดีแพ่งฟ้องของโจทก์ไม่จำเป็นต้องอ้างบทมาตราในกฎหมายเสมอไป ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยไม่เข้าเอกเทศสัญญาในบรรพ ๓ จึงไม่มีทางอ้างเอกเทศสัญญามาเป็นฐานฟ้องในแบบคำฟ้องซึ่งระบุข้อหาหรือฐานความผิดโจทก์ระบุว่า ขอให้บังคับโอนที่ดินนั้น เป็นข้อความย่อจากคำบรรยายและคำขอท้ายฟ้องไม่ใช่ระบุชื่อเอกเทศสัญญา ในประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๗๒ ซึ่งบัญญัติว่าคำฟ้องต้องแสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น"คดีฟ้องของโจทก์บรรยายถึงข้อตกลงนั้น เป็นการบรรยายถึงสภาพแห่งข้อหา ฟ้องที่ระบุว่าจำเลยไม่ยอมแบ่งที่ดินตามข้อตกลง เป็นหลักแห่งข้อหาคำขอให้บังคับโอนที่ดินเป็นคำขอบังคับ ฟ้องจึงถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนความผูกพันระหว่างโจทก์ จำเลยนั้นได้ทำสัญญากันอันมีนิติสัมพันธ์ระหว่างกันตามประมวลแพ่ง ฯมาตรา ๑๑๒ และต้องบังคับตามผลแห่งหนี้ทั่วไปตามมาตรา ๑๙๔ ส่วนในฟ้องที่พูดถึงหุ้นส่วนหลายแห่งนั้น ไม่ทำให้เป็นฟ้องในลักษณะเอกเทศสัญญา เพราะคำบรรยายฟ้องไม่มีลักษณะเป็นหุ้นส่วนตามกฎหมายจึงพิพากษายืนตามศาลล่าง