คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 25,325,479.45 บาท พร้อมดอกเบี้ย นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดที่ดินจำนอง 16 โฉนด พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินจำนวน 16 โฉนด ตามคำพิพากษาออกขายทอดตลาด โดยโจทก์เป็นผู้ซื้อได้ในราคา 19,500,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอ้างว่าราคาที่ขายต่ำเกินสมควร และผู้ลงชื่อเข้าประมูลซึ่งอ้างว่าเป็นผู้แทนโจทก์ไม่ยื่นหนังสือมอบอำนาจของโจทก์
ศาลชั้นต้นเห็นว่า การยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อาจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินจำนวน 500,000 บาท หรือหาประกันอื่นมาวางต่อศาลภายใน 30 วัน เพื่อเป็นประกันการชำระค้าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ศาลชั้นต้นจึงให้ยกคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคห้า
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นที่สุด พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งรับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และสั่งใหม่เป็นว่าไม่รับอุทธรณ์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาคำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงยื่นคำร้องว่า ศาลชั้นต้นยังไม่ได้ไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และไม่ปรากฏพยานหลักฐานเบื้องต้นว่า คำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่มีข้อมูลหรือยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า คำสั่งยกคำร้องของศาลชั้นต้นจึงยังไม่ถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคห้า โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาคำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้พิจารณาต่อไป
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า "ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคห้า มิได้บัญญัติว่า หลักฐานเบื้องต้นที่แสดงว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้านั้น จะต้องเป็นหลักฐานที่ได้มาจากการไต่สวนคำร้องที่ยื่น ดังนั้น คำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกอบรายงานข้อเท็จจริงในการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ศาลชั้นต้นพิเคราะห์จึงเป็นหลักฐานเบื้องต้นได้โดยไม่จำต้องไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียก่อน และเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นเมื่อหลักฐานดังกล่าวแสดงว่าคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 วางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรกำหนด เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตาม ศาลชั้นต้นก็ชอบที่ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้นเสีย และคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ออกตามบทมาตราดังกล่าวย่อมเป็นที่สุด ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง"