โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย 581,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 58,100 บาท เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนของจำเลย 511,235.76 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ซึ่งโจทก์มีสิทธิลาหยุดได้ปีละไม่เกิน 9 วัน โจทก์ทำงานกับจำเลยรวม 27 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีรวม 243 วัน โดยได้ค่าจ้างเฉลี่ยวันละ 1,936 บาท รวมเป็นเงิน 470,448 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 7,176,000 บาท เงินจากอัตราค่าปรับเงินเดือนประจำปี ปีละ 48,804 บาท โจทก์ขอเงินส่วนนี้เป็นเวลา 10 ปี คิดเป็นเงิน 488,040 บาท เงินโบนัสปีละ 1 ครั้ง ครั้งละ 50,000 บาท 10 ปี เป็นเงิน 500,000 บาท รวมเป็นเงินซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับ 9,337,453 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 9,337,453 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การฟ้องแย้ง และแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง เมื่อโจทก์ได้กระทำความผิดจนเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์และการกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 188,260 บาท จำเลยจึงฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชำระเงิน13,600 บาท แก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16พฤษภาคม 2548 จนกว่าชำระเสร็จ คำขออื่นตามฟ้องแย้งของจำเลยนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยว่าการที่โจทก์สั่งให้คนงานของจำเลยไปช่วยทำงานในส่วนที่ผู้รับเหมาได้รับเหมาไว้โดยจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างดังกล่าว เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ และจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า งานเชื่อมโครงหลังคาเหล็กบ้านพักคนงานของจำเลยเป็นงานที่นายกำพลผู้รับเหมาจากจำเลยมีหน้าที่ดำเนินการ โจทก์ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องแต่ประการใดการที่โจทก์เข้าไปช่วยผู้รับเหมาทำงานเชื่อมโครงหลังคาเหล็กบ้านพักคนงานจึงเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ อีกทั้งโจทก์สั่งคนงานของจำเลย 44 คน ไปทำงานดังกล่าวโดยมิชอบ ย่อมทำให้จำเลยขาดประโยชน์จากแรงงานของคนงานเหล่านั้นและจำเลยเป็นผู้จ่ายค่าจ้างให้คนงานรวม 172,040 บาท ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหายแล้ว จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าวจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67, 119 (2) และมาตรา 17 วรรคห้า ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุคดีนี้ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 สำหรับเงินสมทบส่วนของจำเลยในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาจากจำเลยนั้น ปรากฏว่ามีการจดทะเบียนก่อตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทอิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทในเครือซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวจึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 และมาตรา 23 บัญญัติให้ลูกจ้างที่สิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้าง ดังนั้น ผู้จัดการกองทุนดังกล่าวจึงมีหน้าที่จ่ายเงินให้โจทก์หากโจทก์มีสิทธิได้รับ จำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรายนี้แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้จ่ายเงินสมทบส่วนของจำเลยในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องในส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน