ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดประมงไฟฟ้า ศาลแก้โทษจำคุกเป็นปรับตามกฎหมายใหม่ที่บัญญัติโทษเบากว่า
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ใช้กระแสไฟฟ้าซึ่งเป็นเครื่องมือที่ห้ามทำการประมงในน่านน้ำจืดโดยเด็ดขาด ทำการประมงโดยจุ่มลงไปทำอันตรายและจับปลากับสัตว์น้ำอื่น ๆ ในที่จับสัตว์น้ำบริเวณลำคลองปากหมาก หมู่ที่ 5 ตำบลปากหมาก อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 มาตรา 20, 62 ทวิ ถือได้ว่าโจทก์บรรยายชัดแจ้งว่าการกระทำความผิดของจำเลยอยู่ในที่จับสัตว์น้ำ ซึ่งตาม พ.ร.บ.การประมงฯ มาตรา 4 (5) "ที่จับสัตว์น้ำ" หมายความว่า ที่ซึ่งมีน้ำขังหรือไหลเช่น ทะเล แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง บ่อ เป็นต้น และหาดทั้งปวง บรรดาซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน... อันเป็นกรณีที่รวมถึงลำคลองด้วย ฟ้องโจทก์จึงชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ไม่จำต้องบรรยายฟ้องโดยละเอียดดังที่จำเลยฎีกา ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว มิได้เคลือบคลุมแต่อย่างใด
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 หลังจากนั้นได้มี พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 แต่ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 60 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดยโทษตาม พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 87 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าแสนบาท ส่วนโทษตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 141 ระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า โทษตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มีเพียงโทษปรับ ไม่มีโทษจำคุกจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 ที่มีโทษจำคุกด้วย กรณีจึงไม่อาจลงโทษจำคุกแก่จำเลยได้ คงลงโทษจำเลยได้เพียงโทษปรับอันเป็นโทษสถานเบากว่าโทษจำคุกเท่านั้น แต่ในส่วนของโทษปรับที่ศาลจะนำมาพิจารณาลงโทษจำเลยนั้น พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 87 มีระวางโทษขั้นต่ำให้ปรับตั้งแต่ห้าพันบาทเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าจึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225