โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 215, 216, 309 พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 4, 6, 8, 39, 72
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสาม (เดิม), 216 (เดิม), 309 วรรคสอง (เดิม) พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 39, 72 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปกระทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานไม่ยอมเลิกมั่วสุมกันเพื่อกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และฐานร่วมกันกระทำการปิดกั้นทางหลวง เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปกระทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี และฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 4 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาโต้เถียงกันฟังเป็นยุติได้ว่า ในวันและเวลาเกิดเหตุตามฟ้องมีกลุ่มคนที่ใช้ชื่อว่าแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จำนวนมากไปชุมนุมกันบนถนนสายอุดรธานี-วังสะพุง บริเวณหน้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาหนองวัวซอ โดยกลุ่มคนดังกล่าวกระจายกันยืนและกางเต็นท์บนถนน ริมถนน และมีการใช้เครื่องขยายเสียงด้วย ตามภาพถ่าย เมื่อมีรถยนต์แล่นผ่านมาผู้ชุมนุมจะโบกมือส่งสัญญาณให้คนขับหยุดรถแล้วตรวจดูว่าภายในรถมีเจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ทหารนั่งโดยสารมาด้วยหรือไม่ หากมีก็จะไม่ยอมให้รถยนต์คันดังกล่าวแล่นผ่านไป ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายทั้งสามและร้อยตำรวจโทเศรษฐวิทย์กับพวกขับรถและโดยสารรถมาถึงที่เกิดเหตุแล้วถูกผู้ชุมนุมบังคับให้หยุดรถ ทำให้ร้อยตำรวจโทเศรษฐวิทย์กับพวกไม่อาจเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ที่กรุงเทพมหานครตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาได้ จำเลยที่ 1 เข้าร่วมชุมนุมกับผู้ชุมนุมและจำเลยที่ 2 อยู่ในบริเวณที่มีการชุมนุมในวันเกิดเหตุ ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจไว้เป็นหลักฐาน พนักงานสอบสวนได้ขอออกหมายจับจำเลยทั้งสองไว้ ตามหมายจับ ต่อมาวันที่ 2 สิงหาคม 2560 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 2 ได้ ตามบันทึกการจับกุม และวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 จับจำเลยที่ 1 ได้ ชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อแรกว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 หรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกันและเป็นประจักษ์พยานที่ได้พบเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะเกิดเหตุด้วยตนเอง อีกทั้งต่างก็ไม่รู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อน เชื่อว่าพยานเบิกความไปตามความจริง คำเบิกความจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ นอกจากนี้โจทก์ยังมีพยานเอกสารบันทึกข้อความ เรื่อง ให้ข้าราชการตำรวจสืบสวนหาข่าวการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง บันทึกรายงานการสืบสวนกลุ่มผู้ชุมนุมปิดกั้นถนน บันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีอาญา แผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ภาพถ่ายกลุ่มมวลชนเสื้อแดงตั้งจุดสกัดกั้น บันทึกรายงานสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนมวลชนเสื้อแดง (เพิ่มเติม) และบันทึกคำให้การพยาน รวม 8 ปาก มานำสืบสนับสนุนทำให้คำเบิกความพยานโจทก์มีน้ำหนักมากขึ้น โดยเฉพาะพันตำรวจเอกประมวลเบิกความยืนยันพฤติการณ์จำเลยทั้งสองในขณะเกิดเหตุว่า พยานเข้าไปสอบถามผู้ร่วมชุมนุมว่าใครเป็นแกนนำ ผู้ร่วมชุมนุมบอกว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งในขณะนั้นนั่งอยู่ในเต็นท์ พยานจึงเข้าไปพูดกับจำเลยที่ 1 ขอร้องว่าการชุมนุมดังกล่าวทำให้ประชาชนที่ผ่านไปมาเดือดร้อน ขอให้ยุติการชุมนุม จำเลยที่ 1 ตอบว่ายกเลิกการชุมนุมไม่ได้เนื่องจากได้นัดรวมพลกันแล้ว และขณะนั้นมีรถตู้ของวัดป่าบ้านตาดที่มีหลวงตามหาบัวนั่งอยู่ในรถแล่นมาถึงที่เกิดเหตุกลุ่มผู้ชุมนุมก็ไม่ยอมให้ผ่านไป และจะตรวจค้นภายในรถโดยกลุ่มผู้ชุมนุมบอกว่าหากจะผ่านไปต้องขออนุญาตจากจำเลยที่ 1 ก่อน พยานจึงไปพูดกับจำเลยที่ 1 จนกระทั่งจำเลยที่ 1 อนุญาตจึงยอมให้รถตู้คันดังกล่าวแล่นผ่านไปได้ พยานเห็นจำเลยที่ 2 ใช้โทรโข่งพูดสั่งการให้ผู้ร่วมชุมนุมตรวจค้นรถที่เลี้ยวเข้าไปบริเวณถนนเลี่ยงเข้าหมู่บ้านโดยไม่ต้องผ่านจุดที่มีการชุมนุม ต่อมารองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานีเดินทางมาถึงที่เกิดเหตุและเข้าไปพูดกับจำเลยที่ 1 ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ พยานอยู่ในที่เกิดเหตุจนถึงเวลากลางคืนก็ยังมีคนชุมนุมกันอยู่ พยานเห็นมีการตรวจค้นรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 แต่ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ยินยอมให้ตรวจค้น ผู้ร่วมชุมนุมจึงใช้มือผลักโยกรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 และเห็นผู้เสียหายที่ 2 ขับรถยนต์ตามหลังมาก็ถูกผู้ชุมนุมขอตรวจค้นและใช้มือขีดข่วนรถจนได้รับความเสียหาย ผู้เสียหายทั้งสองจึงมาแจ้งความ ตามคำเบิกความของพันตำรวจเอกประมวลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ในการเข้าร่วมชุมนุมของจำเลยทั้งสองได้ว่ามีลักษณะเป็นแกนนำในการชุมนุม สอดคล้องกับรายงานการสืบสวน กับคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ที่ยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 ขับรถผ่านที่เกิดเหตุที่มีการชุมนุมกันเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมโบกมือเป็นสัญญาณให้ผู้เสียหายที่ 2 จอดรถเมื่อผู้เสียหายที่ 2 หยุดรถกลุ่มผู้ชุมนุมก็เข้ามาล้อมรถแล้วบอกให้ทุกคนลงจากรถ ผู้เสียหายที่ 2 ต่อรองขอให้มีเจ้าพนักงานตำรวจร่วมตรวจค้นด้วยแต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยินยอม และจะปล่อยลมยางล้อรถของผู้เสียหายที่ 2 บางคนใช้มือผลักรถของผู้เสียหายที่ 2 ให้โยกไปมาผู้เสียหายที่ 2 จึงลงจากรถและเปิดฝากระโปรงท้ายรถให้กลุ่มผู้ชุมนุมตรวจค้นและเมื่อพิจารณาภาพถ่ายซึ่งเป็นภาพถ่ายเหตุการณ์ในที่เกิดเหตุจะเห็นได้ว่าผู้ชุมนุมมีการกางเต็นท์วางแผงไฟกั้นการจราจรเพื่อตรวจรถยนต์ที่แล่นผ่านบริเวณดังกล่าว การตั้งกรวยยางของกลุ่มผู้ชุมนุมในลักษณะล้ำเข้ามาในช่องเดินรถบนถนนที่เกิดเหตุและกลุ่มผู้ชุมนุม มีจำนวนเกินสิบคนยืนปิดกั้นถนนโดยจำเลยทั้งสองพูดกับกลุ่มผู้ชุมนุมผ่านไมโครโฟนและเครื่องขยายเสียงแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปโดยร่วมกันชุมนุมบนถนนที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทางหลวงแล้วทำการปิดกั้นถนนกับกางเต็นท์บนถนนไม่ให้รถยนต์และประชาชนสัญจรผ่านได้โดยสะดวก ทำให้การจราจรติดขัด ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน มีการส่งเสียงผ่านทางไมโครโฟนและเครื่องขยายเสียง อันเป็นการรบกวนความสงบสุขของประชาชนและกลุ่มผู้ชุมนุมยังทำการตรวจค้นรถยนต์ทุกคันที่แล่นผ่านไปมา ในลักษณะเป็นการตรวจค้นที่ราษฎรไม่มีอำนาจกระทำได้ ทำให้ประชาชนเกิดความกลัว เป็นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองและเป็นการปิดกั้นทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล โดยพฤติการณ์จำเลยทั้งสองกระทำการเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการมั่วสุมเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจสั่งให้จำเลยทั้งสองกับพวกเลิกมั่วสุม จำเลยทั้งสองก็ไม่เลิกและจำเลยทั้งสองกับพวกตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปได้ร่วมกันข่มขืนใจผู้เสียหายทั้งสามขณะสัญจรผ่านที่เกิดเหตุโดยจำเลยทั้งสองกับพวกยืนปิดกั้นถนนทางหลวงบังคับให้หยุดรถและขอตรวจค้นรถแต่ผู้เสียหายทั้งสามไม่ยินยอม จำเลยทั้งสองกับพวกจึงใช้มือทุบรถทั้งสองคันผลักโยกไปมาและจะปล่อยลมยางล้อรถ ผู้เสียหายทั้งสามกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ และทรัพย์สินของผู้เสียหายทั้งสาม จึงจำยอมให้จำเลยทั้งสองกับพวกตรวจค้นรถ นอกจากนี้จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันข่มขืนใจร้อยตำรวจโทเศรษฐวิทย์กับพวก ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานและได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อร้อยตำรวจโทเศรษฐวิทย์กับพวกเดินทางถึงบริเวณที่เกิดเหตุจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันบังคับให้ร้อยตำรวจโทเศรษฐวิทย์กับพวกหยุดรถไม่ยอมให้ขับรถผ่านไปโดยบังคับให้ทุกคนลงจากรถและปล่อยลมยางล้อรถทำให้ร้อยตำรวจโทเศรษฐวิทย์กับพวกไม่สามารถเดินทางไปปฏิบัติงานตามหน้าที่ได้ เนื่องจากกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ หรือทรัพย์สินของร้อยตำรวจโทเศรษฐวิทย์กับพวก ที่จำเลยทั้งสองนำสืบและฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นผู้นำในการชุมนุมไม่ได้ข่มขืนใจผู้เสียหายทั้งสามหรือผู้ใด จำเลยทั้งสองเข้าร่วมชุมนุมหลังจากมีการกางเต็นท์และวางสิ่งของบนถนนบริเวณที่เกิดเหตุแล้วโดยมิได้มีการนัดหมายหรือวางแผนกันมาก่อน อีกทั้งเป็นการชุมนุมด้วยความสงบเรียบร้อยไม่ได้เป็นภัยอันตรายแก่ยานพาหนะหรือบุคคลใดนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองนำสืบโดยมีเพียงพยานเบิกความลอย ๆ จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ และพฤติการณ์การกระทำของจำเลยทั้งสองตามที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นนั้นส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองมีอำนาจสั่งการในการชุมนุม สามารถอนุญาตให้รถยนต์คันใดแล่นผ่านจุดที่ชุมนุมไปได้ จำเลยทั้งสองจึงเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการในการมั่วสุม ประกอบกับการมั่วสุมอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ผู้มั่วสุมไม่จำต้องมีเจตนากระทำผิดในรายละเอียดอย่างเดียวกัน เพียงแต่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองก็เป็นความผิดแล้ว และผู้ที่มั่วสุมก็ไม่จำต้องรู้จักหรือมีการนัดหมายวางแผนกันมาก่อน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกับพวกมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ เพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เมื่อเจ้าพนักงานได้สั่งให้จำเลยทั้งสองกับพวกให้เลิกการมั่วสุม แต่จำเลยทั้งสองกับพวกก็ไม่เลิกมั่วสุม ส่วนการปิดกั้นทางหลวงนั้น เมื่อมีการมั่วสุมและปิดกั้นถนนทางหลวงก็เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 39 แล้ว เพราะการกระทำดังกล่าวมีลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคลที่สัญจรผ่านไปมา และที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การชุมนุมเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนโดยชอบตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับบัญญัติรับรอง และเป็นการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ นั้น เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ บัญญัติถึงเสรีภาพในการชุมนุมไว้ในมาตรา 63 วรรคหนึ่ง ว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ" แต่พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองกับพวกที่ปิดกั้นถนนทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้ถนนที่เกิดเหตุในการสัญจรได้อย่างปกติ ทั้งยังมีการตรวจค้นรถทุกคันที่แล่นผ่านโดยจำเลยทั้งสองไม่มีอำนาจตรวจค้นได้ตามกฎหมาย และหากคนขับรถคันใดไม่ยอมให้ตรวจค้นจำเลยทั้งสองกับพวกผู้ชุมนุมก็ใช้กำลังผลักโยกรถไปมาปล่อยลมยางล้อรถ กักและยึดรถบางคัน การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการบังคับขู่เข็ญก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่สัญจรผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ พฤติการณ์ดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การชุมนุมของจำเลยทั้งสองกับพวกจึงมิใช่เป็นการใช้เสรีภาพโดยชอบ การกระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปกระทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ฐานร่วมกันขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ฐานร่วมกันกระทำการปิดกั้นทางหลวงและฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกดังกล่าวนั้นเป็นการกระทำโดยมีเจตนาจะสกัดกั้นเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าพนักงานตำรวจไม่ให้เคลื่อนย้ายกำลังพลไปปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่กรุงเทพมหานคร จึงร่วมกันทำการตรวจค้นรถยนต์ทุกคันที่แล่นผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ รวมทั้งรถยนต์ที่ผู้เสียหายทั้งสามขับและนั่งโดยสารมา การที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันตรวจค้นรถยนต์ในลักษณะเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายทั้งสามจึงเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปเพื่อกระทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นกรรมเดียวกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมา 2 กระทง จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองอีกข้อหนึ่งว่า กรณีมีเหตุสมควรลงโทษในสถานเบาและรอการลงโทษให้แก่จำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองที่ร่วมกับพวกอีกหลายคนปิดกั้นถนนและตรวจค้นรถยนต์ทุกคันที่แล่นผ่านบริเวณที่เกิดเหตุโดยไม่มีอำนาจอันชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ทำให้ประชาชนทั่วไปที่ใช้รถและใช้ถนนในการสัญจรได้รับความเดือดร้อน อีกทั้งยังร่วมกันข่มขืนใจโดยการบังคับขู่เข็ญผู้อื่นให้กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดตามที่จำเลยทั้งสองขู่เข็ญ ในลักษณะไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง ถือได้ว่าเป็นภัยต่อความสงบสุขของสังคมและเป็นเรื่องร้ายแรง สมควรลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษและโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดีแล้วจึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปกระทำการให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปกระทำการให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสาม (เดิม) เพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4