โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของนางเบ่สีโดยไม่มีเหตุอันสมควร แล้วใช้มือเท้าชกต่อยเตะถีบทำร้ายร่างกายนางเบ่สีจนได้รับอันตรายถึงบาดเจ็บตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 364, 365 และขอให้นับโทษต่อจากคดีดำที่ 2012/2503 ของศาลทหารกรุงเทพฯ (ศาลอาญา)
จำเลยให้การปฏิเสธแต่รับว่าเป็นคนเดียวกับจำเลยในคดีดำที่2012/2503 ของศาลทหารกรุงเทพฯ (ศาลอาญา)
ศาลชั้นต้นสืบพยานเสร็จแล้วสอบโจทก์ โจทก์แถลงว่า ตามฟ้องโจทก์นั้น เฉพาะตอนที่ว่าทำร้ายนางเบ่สีนั้น อัยการศาลทหารกรุงเทพฯ ได้แยกฟ้องเป็นคดีดำที่ 2012/2503 ของศาลทหารกรุงเทพฯ (ศาลอาญา)ซึ่งได้พิพากษาลงโทษจำเลยไปแล้วตามคดีอาญาแดงที่ 3626/2503โจทก์จึงได้แยกฟ้องจำเลยฐานบุกรุกโดยใช้กำลังกายประทุษร้ายเป็นคดีนี้อีกคดีหนึ่ง เพราะโจทก์ถือว่าจำเลยทำผิด 2 ฐาน จำเลยแถลงว่าเป็นจริงดังที่โจทก์แถลง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 365 ข้อ 1 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวแต่ผิดหลายบท ศาลทหารกรุงเทพฯพิพากษาลงโทษจำเลยในบทหนักไปแล้ว ศาลจะลงโทษจำเลยซ้ำอีกในกรรมเดียวกันไม่ได้ เพราะขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นหลายกรรมต่างกันและเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 อันเป็นบทหนัก และไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยเข้าไปทำร้ายร่างกายในเคหสถานของเขาเช่นนี้การบุกรุกก็เป็นกรรมเดียวและวาระเดียวกันกับความผิดฐานทำร้ายร่างกายนั่นเอง แต่เป็นเรื่องกระทำผิดกฎหมายหลายบทในคดีทำร้ายร่างกายนั้น ศาลได้พิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องไปแล้ว โจทก์จะกลับมาฟ้องอีกไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 ข้อ 4 (อ้างฎีกาที่168/2489) อนึ่ง ความผิดที่ต้องด้วยกฎหมายหลายบทเช่นนี้ ถ้าอยู่ในอำนาจศาลต่างกัน เช่น บางบทที่อยู่ในอำนาจศาลทหารและบางบทอยู่ในอำนาจศาลพลเรือน ถ้าโจทก์ประสงค์จะให้ศาลวางโทษจำเลยในบทที่หนัก ก็ชอบที่จะได้ฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในบทที่หนัก แต่เมื่อโจทก์เลือกฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาบทที่เบาจนศาลพิพากษาเสร็จไปแล้ว ดังนี้ ก็ย่อมได้ชื่อว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องไปแล้ว (อ้างฎีกาที่ 937/2487) พิพากษายืน