โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง การกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 10 ปีและปรับ 800,000 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท รวมจำคุก 15 ปี และปรับ 1,200,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและ ชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 คงจำคุก 10 ปี และปรับ 800,000 บาทไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, วรรคสาม (2), 66 วรรคหนึ่ง,วรรคสอง สำหรับความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นรวมจำคุก 14 ปี และปรับ 800,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 คงจำคุก 9 ปี 4 เดือน และปรับ 533,333.33 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจร่วมกันจับกุมจำเลยโดยกล่าวหาว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 115 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจำนวน 15 เม็ด ให้แก่สายลับไปในราคา 2,250 บาท สำหรับความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง จำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 4 ปี เป็นการพิพากษาแก้วรรคในบทเดิมและแก้โทษ โดยที่อัตราโทษและลักษณะความผิดของ มาตรา 66 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ดังกล่าวมิได้แตกต่างกันมาก จึงเป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของจำเลย คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้รับฟังได้ว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 100 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องนั้น เห็นว่า ร้อยตำรวจเอกบรรจบและจ่าสิบตำรวจวิสิฐ พยานโจทก์เบิกความว่า ขณะเข้าจับกุมจำเลย จำเลยให้การรับว่าเป็นเจ้าของร้านที่เกิดเหตุและจำเลยเป็นผู้นำตรวจค้นภายในร้าน ผลการตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 100 เม็ด บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกสีฟ้าแบบรูดปิดเปิดด้านบนซุกซ่อนอยู่ในลิ้นชักตู้เสื้อผ้าภายในร้าน บริเวณหลังร้าน โดยจำเลยรับว่าเป็นของจำเลยซึ่งซื้อมาจากนายกิติพงษ์หรืออ๊อด ซึ่งเป็นคู่เขยกับจำเลยในราคาเม็ดละ 110 บาท และนำมาจำหน่ายในราคาเม็ดละ 150 บาท ซึ่งเป็นการที่จำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นร้านที่เกิดเหตุด้วยตนเองและให้การในทันทีขณะถูกจับกุมโดยไม่มีเวลาคิดไตร่ตรองเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริง จึงเชื่อว่าจำเลยได้ให้การตามความเป็นจริง ประกอบกับไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ทั้งสองเคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนและเป็นการเข้าจับกุมตรวจค้นเนื่องจากสืบทราบมาก่อนว่าที่ร้านเกิดเหตุมีการลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจนกระทั่งมีการวางแผนล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนและจับกุมจำเลยได้ อันเป็นการปฏิบัติงานตามหน้าที่ปกติของพยานโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจท้องที่ จึงไม่มีเหตุทำให้ระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์ทั้งสองจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลย เมื่อปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนจำนวน 100 เม็ด ของกลาง ตรวจค้นพบในลิ้นชักตู้เสื้อผ้าที่อยู่ในร้านที่จำเลยพักอาศัยอยู่และจำเลยยังให้การถึงการได้มาของเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวโดยละเอียดด้วย จึงฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางดังกล่าวเป็นของจำเลยซึ่งมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้อง
อนึ่ง คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องมาแล้วว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 115 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยเมทแอมเฟตามีนจำนวน 115 เม็ด ดังกล่าว คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 3.116 กรัม เมื่อปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 15 เม็ด ที่จำเลยจำหน่ายให้แก่สายลับเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนจำนวน 115 เม็ด ที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่าย ดังนั้น จึงย่อมสามารถคำนวณหาสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีนจำนวน 15 เม็ด โดยคำนวณเทียบกับปริมาณสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีนจำนวน 115 เม็ด ซึ่งคำนวณแล้วปรากฏว่ามีสารบริสุทธิ์ 0.406 กรัม ซึ่งเกินกว่าสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัม แต่ไม่ถึงยี่สิบกรัม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง ซึ่งตามมาตรา 100/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจำคุกและโทษปรับ ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอโดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลงโทษจำคุกจำเลยฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ปรับด้วยนั้น จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่โจทก์มิได้ฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษปรับได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7