โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 833,401 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 830,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการด้านไปรษณีย์และโทรคมนาคมทุกประเภททั้งในประเทศ ระหว่างประเทศและนอกประเทศ ตามหนังสือรับรอง พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 การดำเนินการของจำเลยจึงต้องดำเนินการตามข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง หนังสือสั่งการและประกาศของการสื่อสารแห่งประเทศไทย นายอนุชา โดยนายอุ้มยศ ฝากส่งสิ่งของเป็นสินค้าประเภทเครื่องประดับอัญมณี ทับทิมและพลอยเจียรนัย น้ำหนักรวม 1,616 กรัม จำนวน 8,080 กะรัต เป็นเงิน 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามใบกำกับสินค้า โดยทางไปรษณีย์กับจำเลย ณ ที่ทำการไปรษณีย์ของจำเลย โดยใช้บริการขนส่งทางอากาศ ประเภทบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศเพื่อส่งให้แก่นายเอเจย์ ผู้รับปลายทางที่เมืองไจเปอร์ ประเทศอินเดีย โดยระบุสิ่งของที่ฝากส่งว่า "STONES" ซึ่งเป็นสินค้า (Merchandise) จำนวน 1 หีบห่อ น้ำหนัก 2,012 กรัม จำเลยรับฝากเป็นไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศหมายเลข EE063445244TH โดยนายอนุชามิได้ระบุราคาในใบรับส่งพัสดุภัณฑ์ แต่สินค้าดังกล่าวนายอนุชาได้ทำสัญญาประกันภัยไว้กับโจทก์ในวงเงิน 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 898,000 บาท ต่อมาถุงหีบห่อพัสดุภัณฑ์ระหว่างประเทศที่จำเลยส่งได้มาถึงสำนักงานไปรษณีย์ระหว่างประเทศ เมืองไจเปอร์ ประเทศอินเดียแล้ว ปรากฏว่าสินค้าที่นายอนุชาส่งได้สูญหายไม่ถึงผู้รับปลายทางที่ประเทศอินเดีย นายอนุชาได้เรียกร้องให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแล้วเป็นเงิน 830,500 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าสินค้าที่นายอนุชาส่งกับจำเลย เป็นอัญมณีซึ่งไม่ได้ระบุเป็นเงื่อนไขในการฝากส่งไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศว่า เป็นสิ่งของที่ต้องห้ามฝากส่ง ข้อ 2.1 ถึง 2.12 จึงไม่ต้องผ่านพิธีการทางศุลกากร ทั้งสินค้าที่ส่งดังกล่าวยังส่งไปไม่ถึงผู้รับสินค้าที่ปลายทาง จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จำเลยจะไม่ต้องรับผิดต่อผู้ฝากส่งตามประกาศของการสื่อสารแห่งประเทศไทย จำเลยจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้การขนส่งไปรษณียภัณฑ์ในหน้าที่กรมไปรษณีย์โทรเลขอยู่ในบังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับสำหรับทบวงการนั้น ๆ ดังนั้น การที่นายอนุชาฝากส่งสิ่งของพัสดุไปรษณีย์ดังกล่าวกับจำเลย จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2519 พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477 และไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ.2549 โดยอนุวัติตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ประกอบพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัทไปรษณีย์ไทย พ.ศ.2546 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการฝากส่งสิ่งของ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า สิ่งของที่นายอนุชาฝากส่งกับจำเลยเป็นสินค้าประเภทอัญมณี เครื่องประดับ มีมูลค่ารวม 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 830,500 บาท แต่นายอนุชาฝากส่งสิ่งของกับจำเลยในรูปของพัสดุไปรษณีย์โดยวิธีการส่งประเภทไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศ โดยระบุที่หีบห่อพัสดุว่า "STONE" และมิได้ระบุราคาสินค้าหรือแจ้งราคาสินค้าหรือได้ทำไปรษณีย์รับประกันระหว่างประเทศไว้กับจำเลย โดยปรากฏตามระเบียบการสื่อสารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 43 ว่าด้วยบริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศ พ.ศ.2525 หมวดที่ 2 วัตถุประสงค์และหลักการข้อ 8 กำหนดไว้ว่า ไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศ ได้แก่ สิ่งของที่มีลักษณะเป็นข่าวสารทั่วไป เอกสารธุรกิจการค้า เอกสารหรือข้อมูลสำหรับเครื่องจักรสมองกล สิ่งพิมพ์ ตัวอย่างสินค้า สินค้าซึ่งมีราคาไม่เกิน 3,000 บาท ทั้งนี้ สิ่งของดังกล่าวตามวรรคหนึ่งจะต้องไม่มีลักษณะเป็นข่าวสารส่วนตัว จดหมายส่วนบุคคล หรือไม่เป็นของต้องห้ามส่งทางไปรษณีย์ หรือต้องจำกัดในการส่งออกหรือไม่เป็นสิ่งของต้องห้ามนำเข้าของประเทศปลายทาง และระเบียบการสื่อสารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 43 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 พ.ศ.2530 ข้อ 8 กำหนดไว้ว่า ไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศ ได้แก่ สิ่งของทุกชนิดที่สามารถฝากส่งเข้าสู่ทางไปรษณีย์ตามปกติได้ เว้นแต่สิ่งของที่มีข้อกำหนดว่าจะต้องฝากส่งทางบริการใดบริการหนึ่งโดยเฉพาะ หรือเป็นของต้องห้ามนำเข้าประเทศปลายทาง นอกจากนั้น สิ่งของที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้สามารถฝากส่งทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศได้โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบของพนักงานศุลกากรก่อน คือ
8.1 ไม่เป็นของต้องห้ามในการส่งออก
8.2 ไม่เป็นของต้องจำกัดในการส่งออก (การส่งออกต้องได้รับอนุญาตก่อน)
8.3 ไม่เป็นของต้องเสียอากรขาออกหรือค่าภาคหลวงหรือค่าภาษีการค้าในการส่งออก
8.4 การฝากส่งจากผู้ฝากรายหนึ่งไปยังผู้รับรายเดียวกันไม่ว่าจะมีจำนวนกี่ห่อ มีราคาคราวหนึ่งไม่เกิน 10,000 บาท
8.5 ไม่เป็นการส่งออกที่ขอคืนอากรหรือขอรับเงินชดเชยค่าภาษี
8.6 ไม่เป็นการส่งออกที่ขอใบสุทธิสำหรับนำกลับเข้ามาส่งของที่มิได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขข้อ 8.1 - 8.4 หากจะฝากส่งทางบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศก็สามารถกระทำได้ แต่จะต้องปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรก่อน เช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ในการออกระเบียบดังกล่าวได้ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการควบคุมการส่งสิ่งของทางบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและเป็นสากล ไม่เปิดโอกาสให้มีการใช้วิธีการทางบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศฝากส่งสิ่งของต้องห้ามตามกฎหมายหรือต้องจำกัดการส่งออกไปยังปลายทางโดยปราศจากการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนที่สิ่งของนั้นได้ถูกส่งถึงผู้รับยังปลายทางในต่างประเทศ ดังนั้น แม้ว่าสิ่งของที่นายอนุชาฝากส่งจะเป็นอัญมณีที่มิได้ระบุไว้ว่า เป็นสิ่งของต้องห้ามฝากส่งของ แต่สิ่งของที่ฝากส่งก็มีมูลค่าสูงเกินกว่าสิ่งของที่จะส่งได้ด้วย วิธีการส่งประเภทไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศโดยไม่ต้องปฏิบัติตามพิธีการทางศุลกากรก่อน การที่นายอนุชาส่งสิ่งของที่มีมูลค่าสูงไว้ในพัสดุไปรษณีย์ด้วยวิธีการส่งประเภทไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศโดยไม่ได้แจ้งราคาและดำเนินพิธีการทางศุลกากร จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบดังกล่าวโดยชัดแจ้ง ถือเป็นความเสี่ยงภัยของผู้ฝากส่งเอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ