ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำพิพากษาตามยอมผูกพันคู่ความ หากไม่โต้แย้งภายในกำหนดเวลา ย่อมถึงที่สุด แม้จะมีเหตุภายหลังก็ไม่อาจเพิกถอนได้
คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมแล้ว นอกจากทนายความทั้งสองฝ่ายมาศาล ยังปรากฏว่าตัวความทั้งสองฝ่ายมาศาล และได้ลงชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษานั้นย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง หากจำเลยเห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็มีทางดำเนินคดีต่อไปเพียงประการเดียวคืออุทธรณ์ฎีกาให้ศาลสูงแก้ไข หากเข้ากรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง ภายในกำหนดเวลา หนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาตามยอมนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 เมื่อจำเลยไม่อุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว คำพิพากษาตามยอมนั้นย่อมถึงที่สุด ไม่อาจที่จะเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ แม้จำเลยจะอ้างว่าเพิ่งทราบเหตุที่ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความภายหลังว่า คำพิพากษาตามยอมตกเป็นโมฆะเพราะขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ไม่มีกฎหมายรับรองให้ทำได้
คดีนี้โจทก์ฟ้องหย่าและขอแบ่งสินสมรสจำเลย เป็นคดีที่ไม่มีผู้เยาว์เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือผลประโยชน์เกี่ยวข้อง โจทก์และจำเลยต่างแถลงร่วมกันต่อศาลชั้นต้นว่าไม่ต้องการผู้พิพากษาสมทบเป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษา ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 10 ตุลาคม 2555 ดังนั้น ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งไม่น้อยกว่าสองคนย่อมเป็นองค์คณะพิจารณาและพิพากษาคดีนี้ได้ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 147 วรรคหนึ่ง หาใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไม่