โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 297
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 297 (ที่ถูก มาตรา 297 วรรคหนึ่ง) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ข้อหาตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 297 (ที่ถูก มาตรา 297 วรรคหนึ่ง) ให้ปรับ 500 บาท อีกกระทงหนึ่ง ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 250 บาท รวมกับโทษในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นจำคุก 4 ปี และปรับ 250 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยเดินเรือในร่องน้ำสันดอนแม่น้ำเจ้าพระยาทางเข้าท่าเรือกรุงเทพร่องที่ 1 โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานนำร่องของกรมเจ้าท่าและใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่พฤติการณ์ เนื่องจากร่องน้ำสันดอนแม่น้ำเจ้าพระยาทางเข้าท่าเรือกรุงเทพร่องที่ 2 ที่กำหนดไว้สำหรับเรือจำเลยตื้นเขิน รวมทั้งเหตุเรือโดนกันมิได้เกิดจากความประมาทของจำเลย เห็นว่า เป็นฎีกาที่มีการอนุญาตให้ฎีกาและฎีกานั้นไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับไว้พิจารณาพิพากษาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
อนึ่ง การที่จำเลยเดินเรือโดยฝ่าฝืนประกาศกรมเจ้าท่าอันเป็นความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 297 วรรคหนึ่ง กับการที่จำเลยเดินเรือด้วยความประมาทเป็นเหตุให้เรือลำเลียงที่จำเลยลากจูงมาโดนกับเรือบรรทุกสินค้าและผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และปรับ 15,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง และให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 20 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1