คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับศาล/ผู้พิพากษา
ศาลจังหวัดนครนายก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 193 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3591/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีมรดกอย่างถูกต้อง: การส่งหมายเรียกและแจ้งสิทธิแก่ทายาทและผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด
เดิมผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท ขอให้ตั้งผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของ ร. ผู้ตาย โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือพินัยกรรมของ ร. ฉบับลงวันที่ 6 ธันวาคม 2557 ซึ่งพินัยกรรมระบุให้ผู้ร้องทั้งสองเป็นทายาทตามพินัยกรรม และให้ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งประกาศตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองโดยชอบ ต่อมาผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านโดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือสิทธิในฐานะทายาทโดยธรรมเพียงคนเดียวของผู้ตาย มีคำขอบังคับให้เพิกถอนพินัยกรรม อ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรมจริง แต่ทำโดยการใช้กลฉ้อฉลและสำคัญผิด ตกเป็นโมฆะ และผู้ร้องทั้งสองมิใช่ทายาทโดยธรรม หรือผู้มีส่วนได้เสีย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำคัดค้านว่ารับคำคัดค้าน สำเนาให้ผู้ร้องทั้งสอง จึงให้ดำเนินคดีไปอย่างคดีมีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 ซึ่งบัญญัติว่า "ในคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ให้ใช้ข้อบังคับดังต่อไปนี้ (1) ให้เริ่มคดีโดยการยื่นคำร้องขอต่อศาล ...(4) บุคคลอื่นใดนอกจากคู่ความที่ได้ยื่นฟ้องคดีอันไม่มีข้อพิพาทได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงหรือโดยอ้อม ให้ถือว่าบุคคลเช่นว่านี้มาเป็นคู่ความ และให้ดำเนินคดีไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยคดีอันมีข้อพิพาท..." ซึ่ง ป.วิ.พ. มีบทบัญญัติเกี่ยวกับคดีมีข้อพิพาทไว้ในภาค 2 ลักษณะ 1 มาตรา 170 ถึงมาตรา 188 เมื่อคำคัดค้านของผู้คัดค้านมีคำขอบังคับเป็นประเด็นสำคัญสองประการคือ 1. ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนพินัยกรรมของผู้ตายโดยกล่าวอ้างว่าพินัยกรรมตกเป็นโมฆะ ด้วยเหตุการใช้กลฉ้อฉล และสำคัญผิด เท่ากับผู้คัดค้านโต้แย้งสิทธิโดยตรงต่อทายาทตามพินัยกรรมทุกคน เพราะหากฟังได้ตามคำคัดค้านเท่ากับทายาทตามพินัยกรรมย่อมไม่ได้รับสิทธิที่ระบุไว้ในพินัยกรรม คำคัดค้านของผู้คัดค้านจึงเท่ากับเป็นคำฟ้องต่อทายาทตามพินัยกรรมทุกคน และเป็นฟ้องแย้งต่อผู้ร้องทั้งสองด้วย ทั้งกรณีจะถือว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นตัวแทนของทายาทตามพินัยกรรมทุกคนก็มิได้ เนื่องจากยังไม่มีการตั้งผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านนำส่งหมายเรียกพร้อมสำเนาคำคัดค้านต่อทายาทตามพินัยกรรมทุกคนและผู้ร้องทั้งสองเพื่อให้การต่อสู้คดี 2. ผู้คัดค้านมีคำขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยอ้างสิทธิในฐานะทายาทโดยธรรมแต่เพียงผู้เดียว เมื่อปรากฏตามบัญชีเครือญาติเอกสารท้ายคำร้องของผู้ร้องทั้งสองว่ายังมีทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกแทนที่อีก 7 คน รวมถึงผู้ร้องสอดในคดีด้วย และอาจยังมีทายาทโดยธรรมอื่นที่ยังไม่ปรากฎ รวมถึงอาจมีผู้มีส่วนได้เสียอื่นอีก ซึ่งบุคคลเหล่านี้ย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะเข้ามาในคดี เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาทแล้ว ชอบที่จะสั่งให้ผู้คัดค้านส่งหมายนัดพร้อมสำเนาคำคัดค้านให้ทายาทโดยธรรมทุกคนตามรายชื่อที่ปราฏในขณะนั้น รวมถึงให้มีการประกาศสาธารณะคำคัดค้านเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียอื่นที่อาจมีได้ทราบและเข้ามาปกป้องสิทธิ กรณีถือว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม และเป็นกรณีเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการส่งคำคู่ความและการพิจารณาคดี อาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบมาตรา 246 และ 252 เห็นควรให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6562/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้ภาระจำยอมโดยนิติกรรมและอายุความ แม้ยังมิได้จดทะเบียน ก็มีผลผูกพันกับผู้รับโอนที่ดิน
ที่ดินของโจทก์แบ่งแยกมาจากที่ดินของ ส. และ ต. ภายหลังแบ่งแยก ต. ผู้ขายที่ดินให้แก่โจทก์ตกลงยินยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินของ ต. เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ ซึ่งโจทก์และบริวารก็ได้ใช้ทางพิพาทดังกล่าวตลอดมา การตกลงกันดังกล่าวถือเป็นการทำนิติกรรมก่อตั้งสิทธิภาระจำยอมระหว่างกัน หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ใช้ทางพิพาทโดยอาศัยสิทธิของ ต. หรือโดยวิสาสะไม่ ทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยนิติกรรมดังกล่าว อันเป็นทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เมื่อโจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้ทางภาระจำยอมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์ก็อาจได้ภาระจำยอมในทางพิพาทโดยอายุความหากโจทก์ได้ใช้ทางพิพาทโดยเจตนาให้ได้ภาระจำยอมซึ่งต้องพิจารณาจากการใช้ว่า เป็นการใช้โดยอาการที่ถือสิทธิเป็นปรปักษ์ต่อ ต. เจ้าของที่ดินที่ตั้งทางพิพาทคนเดิมและเจ้าของที่ดินคนต่อ ๆ มาหรือไม่
โจทก์ใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอมตลอดมา เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ทางพิพาทย่อมตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ เมื่อเป็นการได้มาซึ่งภาระจำยอมแล้ว แม้จะเป็นการได้ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ก็ไม่อยู่ในบังคับบทบัญญัติมาตรา 1299 วรรคสอง ดังนั้น จำเลยทั้งสองจะยกเรื่องการรับโอนที่ดินมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5052/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิซื้อที่ดินของผู้เช่านา: การปฏิเสธบังคับตามคำวินิจฉัย คชก. หากผู้เช่าไม่ได้ทำนาเอง
คำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดถือว่าเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และการพิจารณาพิพากษาตามคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ ศาลจึงมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้ถ้าการบังคับจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 และมาตรา 44
เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มุ่งช่วยเหลือคุ้มครองเกษตรกรผู้เช่านาซึ่งเป็นผู้ทำนาโดยเฉพาะให้ได้สิทธิในที่ดินที่ตนทำนา เมื่อโจทก์ผู้เช่านาพิพาทผิดสัญญามิได้ทำนาด้วยตนเองแต่นำไปให้ผู้อื่นเช่าช่วง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เช่านาเพื่อทำนาโดยแท้จริง ต้องถือว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เช่าตามความหมายในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะซื้อนาพิพาทจากจำเลยผู้รับโอนตามมาตรา 54 การที่โจทก์ฟ้องบังคับซื้อนาจากจำเลยเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และการบังคับตามคำชี้ขาดของ คชก. จังหวัดที่ให้โจทก์มีสิทธิซื้อนาพิพาทเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ชอบที่ศาลจะปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้
ราคาตลาดที่จำเลยยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธราคาที่โจทก์ขอซื้อที่นาไม่ใช่ทุนทรัพย์ที่จำเลยเรียกร้อง แม้จำเลยอุทธรณ์และฎีกาก็หาต้องเสียค่าขึ้นศาลในทุนทรัพย์ตามราคาตลาดที่กล่าวอ้างไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4502/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หุ้นส่วนจำกัดรับผิดชอบหนี้แม้ลาออก: ตัวการเชิดหุ้นส่วนผู้จัดการ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด สำหรับจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ระหว่างปี 2539 ถึงปี 2545 และเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด และกล่าวในตอนท้ายว่า ถือว่าจำเลยทั้งสามได้ประโยชน์จากการทำงานของโจทก์ จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 3 เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จริง แต่ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแล้ว จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด หลังจากลาออกเป็นเวลา 2 ปี เท่านั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้หลังจากจำเลยที่ 3 ลาออกเป็นเวลากว่า 2 ปี จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้อง โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ จากจำเลยทั้งสามนั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 และหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด ปัญหาว่าจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยหรือไม่ จึงรวมอยู่ในข้อหาที่โจทก์ฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดอย่างไรตามบทกฎหมายใด ย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 เป็นตัวการเชิดจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 แทนตน แล้วให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 จึงมิใช่การวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2560)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8056/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางแพ่งจากการกระทำชำเราเด็ก แม้ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะแล้วก็ยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้
แม้โจทก์ร่วมที่ 1 กับ น. บิดาโจทก์ร่วมที่ 2 จดทะเบียนหย่ากับโจทก์ร่วมที่ 1 โดยระบุให้โจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะอยู่ใต้อำนาจปกครองของ น. ตามที่ตกลงกัน น. จึงเป็นผู้มีอำนาจปกครองโจทก์ร่วมที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 (6) โจทก์ร่วมที่ 1 จึงไม่มีอำนาจปกครองและไม่มีสิทธิกระทำการแทนโจทก์ร่วมที่ 2 ก็ตาม แต่การที่โจทก์ร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนเรียกค่าเสียหายต่อชื่อเสียง ค่าเสียหายต่อร่างกายและจิตใจ ค่าเสียหายต่อเสรีภาพและค่าเสียหายที่ได้รับความทุกข์ทรมาน ถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนหรือในนามของโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ แม้ขณะยื่นคำร้องดังกล่าวจะมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยความสามารถของบุคคลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 แต่เมื่อนับอายุของโจทก์ร่วมที่ 2 ในขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมที่ 2 มีอายุเกิน 20 ปี พ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นและไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์ร่วมที่ 2 อีก โจทก์ร่วมที่ 2 ย่อมสามารถทำการใดๆ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้ปกครองหรือตัวแทนโดยชอบธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 21 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยได้พาโจทก์ร่วมที่ 2 ไปเพื่อการอนาจารและกระทำชำเรา อันเป็นความผิดต่อโจทก์ร่วมที่ 2 โจทก์ร่วมที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12447/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำพิพากษาขัดแย้งกัน: ศาลอุทธรณ์มีอำนาจสั่งให้ถือตามคำพิพากษาใด คำสั่งถึงที่สุด ไม่สามารถฎีกาได้
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งกำหนดว่าระหว่างคดีนี้กับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 142/2556 คดีหมายเลขแดงที่ 447/2556 ของศาลชั้นต้น ซึ่งต่างมีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดและคำพิพากษาขัดกัน เพราะต่างบังคับให้จำเลยที่ 1 ในคดีนี้และเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงเดียวกันให้ทั้งแก่โจทก์ในคดีนี้และให้แก่ ภ. โจทก์ในคดีดังกล่าว ว่าจะให้ถือตามคำพิพากษาใด ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งว่าให้ถือตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 142/2556 คดีหมายเลขแดงที่ 447/2556 ของศาลชั้นต้น คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9076/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฎีกาต้องยกข้อต่อสู้ในชั้นต้น หากมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
แม้ปัญหาเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งจำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ก็ตาม แต่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยมิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินกระบวนพิจารณาและวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว ดังนั้น ฎีกาของจำเลยที่อ้างว่า การกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ของจำเลยคดีนี้เป็นกรรมเดียวกับความผิดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 619/2556 ของศาลชั้นต้น และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์คดีนี้ระงับไปเพราะคดีดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดลงโทษจำเลยในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้แล้ว จึงเป็นข้อที่จำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายเพราะมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาต้องย้อนไปวินิจฉัยว่าโจทก์มีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลยหรือไม่ ฎีกาของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายที่จำเลยอ้าง อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1648/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อทุนทรัพย์ไม่เกิน 200,000 บาท และการโต้แย้งดุลพินิจศาล
โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทอ้างว่าเป็นทางสาธารณะ จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินเป็นของจำเลยไม่มีทางสาธารณะตัดผ่าน จึงมีประเด็นที่โต้เถียงว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นของจำเลย ผลประโยชน์ที่โจทก์หรือจำเลยจะได้รับย่อมเป็นการปลดเปลื้องทุกข์ที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาทมีราคา 75,354 บาท ดังนี้ ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง โจทก์ฎีกากล่าวอ้างโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพื่อให้รับฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะ จึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13113/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวการร่วมฆ่าผู้อื่น: เจตนาและเหตุการณ์ที่เล็งเห็นผลได้ในการลงโทษ
จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์โดยมีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายไปยังบ้านที่เกิดเหตุพร้อมกับ ว. แล้ว จำเลยที่ 2 เรียกชื่อเล่นของ น. ว่า ปู เมื่อผู้ตายตะโกนว่าปูไม่อยู่ ว. ใช้อาวุธปืนยิงไปที่ประตูบ้านถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย จากนั้นจำเลยทั้งสองและ ว. พากันหลบหนีไป ว. ไปถอดหมวกนิรภัยและเสื้อที่สวมใส่ในขณะก่อเหตุที่บ้านของจำเลยทั้งสองก่อนจะหลบหนีไป การกระทำของจำเลยทั้งสองบ่งชี้ว่ามีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับ ว. จึงเป็นตัวการร่วมกัน แต่การที่ ว. ใช้อาวุธปืนยิงไปที่ประตูบ้าน 2 นัด หลังจากผู้ตายตะโกนบอกว่าปูไม่อยู่ กระสุนปืนถูกผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นเป็นการกระทำที่เล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกคนในบ้านถึงแก่ความตายเท่านั้น มิได้ประสงค์ต่อผลโดยตรงที่จะยิงให้ถูก น. เนื่องจากมองไม่เห็นว่า น. อยู่ที่ใด จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองในฐานเป็นตัวการร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คงลงโทษได้ในฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น โดยบุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้นตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19287/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แจ้งความเท็จเกี่ยวกับโฉนดที่ดิน ทำให้ผู้อื่นเสียหาย ถือเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย
จำเลยเป็นเพียงผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ การที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าโฉนดที่ดินพิพาทอยู่ในความครอบครองของโจทก์มิได้สูญหาย แต่กลับไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโฉนดที่ดินพิพาทสูญหาย แล้วนำบันทึกคำแจ้งความไปขอออกใบแทนโฉนดที่ดินแล้วโอนขายที่ดินพิพาทให้บุคคลภายนอก เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 และโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายเป็นพิเศษในการกระทำความผิดดังกล่าว มีอำนาจฟ้องคดีได้
of 20