คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับศาล/ผู้พิพากษา
ศาลจังหวัดนครสวรรค์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 472 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3471/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีอาญาหลังผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนย้าย และการแก้ไขคำพิพากษาฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นมิได้มีคำพิพากษาไปในทันทีเนื่องจากจำเลยประสงค์จะหาเงินมาชดใช้ให้แก่โจทก์ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเดิมจึงอนุญาตให้เลื่อนคดีไปนัดฟังผลการชำระหนี้และหรือนัดฟังคำพิพากษา ดังนี้ วันนัดพิจารณาที่เลื่อนมาดังกล่าวจึงมิใช่การนัดฟังคำพิพากษาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการนัดฟังผลการชำระหนี้ด้วย ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องสอบถามโจทก์และจำเลยเสียก่อนว่าได้มีการชำระหนี้ให้แก่กันไปแล้วมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจของศาลชั้นต้นหากจะมีคำพิพากษาว่าสมควรลงโทษจำเลยหนักเบาเพียงใด หรือควรให้โอกาสจำเลยผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ต่อไปด้วยการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไป คดีจึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 28 มิใช่การพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นเสร็จสิ้นแล้วและอยู่ในระหว่างการทำคำพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนถึงวันนัดฟังผลการชำระหนี้และหรือนัดฟังคำพิพากษาที่เลื่อนมา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเดิมย้ายไปรับราชการที่ศาลอื่น จึงเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไป ซึ่งตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 28 (3) ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลหรือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของศาลนั้นซึ่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมอบหมายนั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปได้ เมื่อผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมอบหมายให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคนใหม่นั่งพิจารณาคดีแทนแล้ว ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคนใหม่จึงมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาและทำคำพิพากษาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2162/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกู้ยืมเงิน vs. ร่วมลงทุน: การพิสูจน์ข้อเท็จจริงและผลกระทบต่อคำพิพากษา
แม้จำเลยให้การรับว่าได้รับเงินโอนจากโจทก์แล้วทั้งยี่สิบครั้งและพิมพ์คำว่า "ตกลง" ในโปรแกรมไลน์ (LINE) ตามที่โจทก์ให้พิมพ์ แต่การรับของจำเลยเป็นการรับตามที่ปรากฏในฟ้องเท่านั้น จำเลยยังมีข้อต่อสู้ว่าการโอนเงินดังกล่าวไม่ใช่เป็นการกู้ยืมเงินแต่เป็นการร่วมลงทุนประกอบธุรกิจออกแบบ ค้าขายเสื้อผ้า และส่งออกหน่อไม้ในลักษณะของการตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งยังไม่มีการชำระบัญชี โจทก์จึงยังไม่สามารถฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลย หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อของจำเลยซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นผู้กู้ยืมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จริงหรือไม่ เมื่อการกู้ยืมเงินครั้งที่ 1 โจทก์อ้างเพียงสำเนาเอกสารที่ธนาคารออกให้เป็นหลักฐานว่า ธนาคารได้ทำการโอนเงิน 50,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 เท่านั้น ไม่มีข้อความในเรื่องการกู้ยืมเงิน ถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมครั้งที่ 1 เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อจำเลยผู้กู้ยืมมาแสดง ส่วนการกู้ยืมครั้งที่ 19 และครั้งที่ 20 ไม่ปรากฏข้อความที่จำเลยพิมพ์ตอบ "ตกลง" เพื่อตกลงการกู้ยืมเงินตามที่โจทก์อ้างว่าเป็นการกู้ยืมเงินครั้งดังกล่าวแต่อย่างใด ถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมครั้งที่ 19 และครั้งที่ 20 เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อจำเลยผู้กู้ยืมเป็นสำคัญมาแสดง โจทก์จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีแก่จำเลยสำหรับการกู้ยืมครั้งที่ 1 ครั้งที่ 19 และครั้งที่ 20 ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง
สำหรับการกู้ยืมเงินครั้งที่ 2 ถึงครั้งที่ 18 ซึ่งโจทก์ส่งข้อความถึงจำเลยในทำนองเดียวกันว่า "ช. จะจัดทำธุรกรรมให้ยืมเงินจำนวน (ระบุจำนวนเงิน) ให้แก่ ฐ. เพื่อใช้ลงทุนในธุรกิจ การกู้ยืมเงินนี้ไม่คิดดอกเบี้ยและยังไม่บังคับวันกำหนดชำระเงินคืน ลงวันที่... (พิมพ์ตกลงเพื่อยืนยัน)" ซึ่งจำเลยได้พิมพ์ข้อความว่า "ตกลง" ตอบกลับมาในโปรแกรมไลน์ (LINE) ซึ่งจำเลยรับว่ามีการส่งข้อความโต้ตอบเช่นนี้จริง การสนทนาทางโปรแกรมไลน์ (LINE) เป็นการส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่ออ่านข้อความสนทนาของโจทก์และจำเลยประกอบกันแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันโดยโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินและจำเลยตกลงกู้ยืมเงินแต่ละครั้งตามจำนวนที่ระบุในโปรแกรมไลน์ (LINE) แม้ไม่มีการลงลายมือชื่อจำเลยไว้แต่เมื่อจำเลยยอมรับว่าส่งข้อความตอบตกลงการที่โจทก์จะให้กู้ยืมเงินจริง ข้อความสนทนาทางโปรแกรมไลน์ (LINE) จึงถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อของจำเลยผู้กู้ยืมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตรา 7, 8, 9 โจทก์จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1929/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับโทษคดีอาญาหลายกระทง ศาลฎีกายืนคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ การอ้างว่าต้องควบโทษไม่ชอบ
คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังวันที่ 4 กันยายน 2556 โดยศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดในวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังโดยระบุในหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดว่า ให้จำคุกตลอดชีวิต นับตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2556 จำเลยต้องขังมาแล้ว 1,151 วัน คิดหักให้ด้วย เป็นการออกหมายจำคุกตามคำพิพากษาโดยชอบแล้ว การที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าจะต้องบังคับโทษตามคำพิพากษาในคดีนี้ ควบหรือซ้อนกับคดีที่ขอให้นับโทษต่อ และขอให้แก้ไขหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดนั้น เป็นการโต้แย้งว่าคดีที่ขอให้นับโทษจำคุกต่อดังกล่าวไม่ต้องนับโทษต่อจากโทษจำคุกในคดีนี้ ซึ่งจำเลยจะต้องไปว่ากล่าวในคดีที่ขอให้นับโทษต่อ หาใช่มายื่นคำร้องในคดีนี้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1351/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนฟ้องคดีอาญาเพื่อยื่นฟ้องใหม่ต่อศาลที่มีอำนาจ และผลกระทบต่อคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่อง
โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงนครสวรรค์เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.2097/2563 ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 326, 328 ซึ่ง ป.อ. มาตรา 328 มีระวางโทษเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครสวรรค์ ภายหลังโจทก์ขอถอนฟ้องเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา ศาลแขวงนครสวรรค์มีคำสั่งอนุญาต และหลังจากนั้น 6 วัน โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ การถอนฟ้องของโจทก์จึงมิใช่การถอนฟ้องเด็ดขาด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องไม่ระงับ
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท เกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครสวรรค์ที่จะพิจารณาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) แม้ศาลแขวงนครสวรรค์อาจปรับบทลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 326 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาคดี อันเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครสวรรค์ และเป็นความผิดที่รวมอยู่ในความผิดตามฟ้อง แต่ข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอที่มิได้กล่าวในฟ้อง เป็นคนละกรณีกับอำนาจพิจารณาพิพากษาศาลแขวงนครสวรรค์ และการจะปรับบทลงโทษจำเลยในการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 นั้น ศาลจะต้องมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเสียก่อน เมื่อศาลแขวงนครสวรรค์ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ก็ไม่อาจปรับบทลงโทษตามบทบัญญัติดังกล่าวได้
แม้คดีส่วนแพ่งมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาท แต่คดีส่วนแพ่งเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ทั้งเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา เมื่อโจทก์อุทธรณ์คดีในส่วนอาญา ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งได้โดยโจทก์ไม่จำต้องขออนุญาตอุทธรณ์คดีส่วนแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2429/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทซื้อขายที่ดินพร้อมบ้าน และการแก้ไขอัตราดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมาย
ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 310,870 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาในปัญหานี้ ก็ปรากฏว่ามีประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไข ป.พ.พ. มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคแรก เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองและกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 399/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานกระทำชำเราเด็ก เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แม้มีเจตนาเดียวกัน
แม้จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 วันละ 1 ครั้ง และในแต่ละครั้งจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาอย่างเดียวกันคือกระทำชำเราก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 ต่างวันต่างวาระกัน การกระทำชำเราเสร็จแต่ละครั้งเป็นความผิดสำเร็จในแต่ละครั้ง การกระทำความผิดของจำเลยไม่ได้ต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกัน ประกอบกับโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2562 ถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 รวม 7 ครั้ง และมีคำขอท้ายฟ้องโดยอ้าง ป.อ. มาตรา 91 มาด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 57/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการหักเงินปันผล/เฉลี่ยคืนชำระหนี้: ข้อจำกัดตามกฎหมายสหกรณ์และหลักกฎหมายทั่วไป
เงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนเป็นเงินที่ผู้ร้องจ่ายให้แก่จำเลย ไม่ใช่เงินอื่นใดที่หน่วยงานของรัฐ สถานประกอบการ หรือหน่วยงานอื่นใดในฐานะนายจ้างที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่อยู่จ่ายให้แก่จำเลยตามความในมาตรา 42/1 แห่ง พ.รบ.สหกรณ์ พ.ศ.2542
ข้อตกลงตามสัญญากู้ที่จำเลยยินยอมให้ผู้ร้องหักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยชำระหนี้เงินกู้ที่จำเลยมีต่อผู้ร้อง มิใช่เป็นข้อตกลงในเรื่องเกี่ยวกับเงินปันผลหรือเงินเฉลี่ยคืน ผู้ร้องจึงไม่อาจนำเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากผู้ร้องไปหักชำระหนี้ที่จำเลยมีต่อผู้ร้องโดยอาศัยข้อตกลงดังกล่าวได้
การขอให้นำเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนมาหักชำระหนี้ได้กระทำภายหลังจากที่ผู้ร้องได้รับหนังสืออายัดเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนปี 2561 จากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ผู้ร้องจึงไม่อาจหักเงินดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 316 วรรคสอง
หนี้ที่จำเลยมีต่อผู้ร้องเป็นเพียงหนี้กู้ยืมไม่ใช่หนี้บุริมสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 322 และมาตรา 324 ผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิเหนือเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนของจำเลยในอันที่จะนำไปหักชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8322/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยร่วมไม่ต้องวางค่าธรรมเนียมอุทธรณ์ซ้ำ หากจำเลยร่วมอีกคนวางแล้ว เนื่องจากเป็นหนี้ร่วมกัน
เงินค่าธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ต้องวางต่อศาลพร้อมอุทธรณ์นั้นเป็นการปฏิบัติตาม ป.วิ.พ มาตรา 229 แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์และมูลความแห่งคดีนี้เป็นการชำระหนี้อันแบ่งแยกมิได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยร่วมคนหนึ่งได้นำเงินค่าธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่โจทก์มาวางศาลครบถ้วนแล้ว จึงมีผลถึงจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่จำต้องวางเงินค่าธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่โจทก์ในการใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3973/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเพิกถอนนิติกรรมของผู้อนุบาลต้องกระทำร่วมกัน หรือได้รับคำสั่งศาลเป็นพิเศษ
ป.พ.พ. มาตรา 1598/18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1590 บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองมาใช้บังคับแก่ผู้อนุบาล โดยศาลจะตั้งผู้อนุบาลหลายคนให้กระทำการร่วมกันหรือกำหนดอำนาจเฉพาะสำหรับคนหนึ่ง ๆ ก็ได้ ซึ่งศาลเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 179/2558 ให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของ ฤ. และจำเลยร่วมกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 6 และศาลฎีกาพิพากษายืนโดยศาลฎีกาให้ ฤ. เป็นผู้มีสิทธิกำหนดที่อยู่ของโจทก์ ตามคำสั่งศาลระบุเพียงว่า ฤ. และจำเลยเป็นผู้อนุบาลโจทก์ผู้ไร้ความสามารถ โดยมิได้กำหนดหน้าที่ของผู้อนุบาลแต่ละคนไว้โดยเฉพาะและมิได้กำหนดให้ผู้อนุบาลกระทำการร่วมกันอย่างไร ยกเว้นแต่ในเรื่องการกำหนดที่อยู่ที่ศาลฎีการะบุให้ ฤ. เพียงผู้เดียวเป็นผู้มีสิทธิกำหนดที่อยู่ของโจทก์ได้ กรณีจึงต้องถือว่าการใดที่ ฤ. และจำเลยกระทำการแทนโจทก์รวมถึงการบอกล้างโมฆียะกรรมต้องกระทำด้วยความยินยอมพร้อมใจกัน ดังนั้น การที่โจทก์โดย ฤ. ในฐานะผู้อนุบาลเพียงคนเดียวโดยไม่มีจำเลยร่วมฟ้องเป็นคดีนั้นจึงขัดต่อคำสั่งศาล ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นปฏิปักษ์ต่อทรัพย์ของโจทก์ แต่ ฤ.ไม่อาจอ้างเหตุความเป็นปฏิปักษ์ดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างในการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวได้เพราะ ฤ. อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีคำสั่งให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถโดยแสดงเหตุขัดข้องดังกล่าว เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ ฤ. เพียงฝ่ายเดียวมีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว หรือขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับการขอถอดถอนจำเลยจากการเป็นผู้อนุบาลร่วมได้ ดังนั้น โจทก์โดย ฤ. ในฐานะผู้อนุบาลเพียงคนเดียวจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาอำนาจฟ้องนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3463/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานต้องระบุว่าอาคารไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ มิฉะนั้นฟ้องไม่สมบูรณ์
ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42 มีบทลงโทษตามมาตรา 66 ทวิ ความผิดดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารได้ตามกฎหมาย และแจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ซึ่งอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่จะสั่งให้รื้อถอนอาคารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42 บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำตามมาตรา 40 เป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ หรือเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 41 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ..." ดังนั้น ข้อเท็จจริงว่าอาคารดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ จึงเป็นเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นองค์ประกอบความผิดซึ่งต้องบรรยายให้ปรากฏในฟ้อง เพื่อนำมาพิจารณาถึงอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มิใช่เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ เมื่อฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าอาคารที่จำเลยดัดแปลงโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ การบรรยายฟ้องจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษ ฟ้องของโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
of 48