พบผลลัพธ์ทั้งหมด 735 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4937/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาซื้อขายเฉพาะสิ่ง: การชำระหนี้และผลของการผิดสัญญา
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เรียกให้คืนเงินค่ามัดจำ ค่าสินค้าที่รื้อถอนจากโรงงานพิพาทตามสัญญาและค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนโรงงานพิพาทที่จำเลยที่ 1 ได้สำรองจ่ายแทนโจทก์ไปตามบันทึกข้อตกลง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลก็ต้องวินิจฉัยฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ต่อไป ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ไม่ตกไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3638/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิทางผ่านที่ดิน: จำเลยจัดสรรที่ดินสร้างสาธารณูปโภค โจทก์ไม่เคยใช้สิทธิทางผ่านเดิม ศาลยกฟ้อง
ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสาม บัญญัติว่า "ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายน้อยแต่ที่สุดที่จะเป็นไปได้..." ดังนั้น ในการที่จะพิจารณาว่าบุคคลใดจะใช้สิทธิผ่านที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะในฐานะทางจำเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ได้หรือไม่ เพียงใด ต้องคำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดแก่ที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่ให้น้อยที่สุดเป็นประการสำคัญด้วย เมื่อจำเลยได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินในปี 2528 จากนั้นดำเนินการแบ่งแยกที่ดินเป็นแปลงย่อยประเภทที่อยู่อาศัย บ้านเดี่ยว บ้านแฝดและอาคารพาณิชย์ รวมกันเกินกว่า 200 แปลง กับจัดสร้างถนนคอนกรีตและกำแพงคอนกรีตเป็นรั้วล้อมรอบที่ดินจัดสรรและบนที่ดินโฉนดเลขที่ 60883 ด้านที่ติดกับที่ดินของโจทก์เพื่อให้เป็นสาธารณูปโภคของที่ดินจัดสรรนับแต่นั้นเป็นต้นมา นาย ส. เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 77725 ในขณะนั้นก็ดี และโจทก์ที่ได้รับโอนที่ดินมาในฐานะผู้จัดการมรดกของ นาย ส. เมื่อปี 2551 ระยะเวลารวมกันนานกว่า 30 ปี นาย ส. และโจทก์ต่างไม่เคยกล่าวอ้างว่าที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้เลย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 โจทก์จึงมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตออกยาว 8 เมตร บ่งชี้ว่าการจัดสรรที่ดินของจำเลยที่ดำเนินการมาเป็นเวลานานก่อนถึงวันที่โจทก์บอกกล่าวมิได้มีผลใด ๆ ต่อการออกสู่ทางสาธารณะต่อที่ดินของโจทก์ ทั้งข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่า ที่และวิธีทำทางผ่านนั้น โจทก์ได้เลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งได้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสาม นอกจากนี้ พฤติการณ์ที่เจ้าของที่ดินของโจทก์เดิมมิได้ขวนขวายหาทางออกสู่ทางสาธารณะให้ที่ดินเสียตั้งแต่ได้มาเมื่อปี 2510 และปล่อยทิ้งร้างที่ดินไว้เป็นเวลานาน ครั้นเมื่อปี 2528 จำเลยเข้าไปปรับปรุงที่ดินหลายแปลงด้วยการขออนุญาตจัดสรรและด้วยเงินลงทุนที่สูงมากจนสามารถพัฒนาที่ดินทำให้สภาพแวดล้อมมีความเจริญ มีคนอาศัยอยู่จำนวนมาก ถนนคอนกรีตมีความสะดวกสบายในการใช้สอยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันยังบ่งชี้ว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้เพื่อฉกฉวยโอกาสให้ตนเองกับบริวารสามารถใช้ถนนคอนกรีตในที่ดินจัดสรรได้โดยไม่ต้องลงทุนในการทำถนนด้วยค่าใช้จ่ายของตนเองและยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ที่ดินของโจทก์ไปในตัว ซึ่งมิใช่เป็นการกระทำโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 อีกด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตและเข้าไปใช้สอยถนนคอนกรีตบนที่ดินโฉนดเลขที่ 60883 ของจำเลยในฐานะที่เป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 77725 ของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแจ้งข้อความเท็จแก่เจ้าพนักงานและแจ้งให้จดข้อความเท็จ ประเด็นการใช้กฎหมายเดิมและกฎหมายแก้ไขใหม่
ท. ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีนี้ โดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสอบถาม ม. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เรื่องการถอนฟ้องของ ท. เพื่อให้ได้ความกระจ่างว่า ท. มีอำนาจถอนฟ้องคดีนี้จริงหรือไม่ แต่ ม. ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาเรื่องการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย อันเนื่องจากสถานการณ์โลกในขณะนั้นมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 เป็นวงกว้าง ม. จึงส่งบันทึกถ้อยคำตอบข้อซักถามของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่กระทำในต่างประเทศโดยมีโนตารีพับลิกและสถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศญี่ปุ่นรับรองว่า ม. ลงลายมือชื่อในเอกสารต่อหน้าตนต่อศาลชั้นต้นแทนการให้ถ้อยคำด้วยวาจาซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต จึงรับฟังบันทึกถ้อยคำดังกล่าวแทนการสอบถามข้อเท็จจริงด้วยวาจาได้ ทั้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ให้ศาลชั้นต้นสอบถาม ม. ด้วยวาจาในเรื่องการถอนฟ้องเป็นไปเพื่อความกระจ่างในเรื่องดังกล่าว มิใช่เป็นการให้สืบพยานเพิ่มเติมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (1) จึงไม่จำต้องสืบพยานปาก ม. ที่ศาลอื่น หรือสถานที่ทำการของทางราชการ หรือสถานที่แห่งอื่นนอกศาล โดยจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพตาม ป.วิ.อ. มาตรา 230/1 ดังนี้ เมื่อบันทึกถ้อยคำของ ม. ระบุว่า ท. ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และตราประทับที่ ท. ได้ประทับในคำร้องขอถอนฟ้องไม่ใช่ตราประทับของโจทก์ กับ ท. ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในนามของโจทก์ คำร้องขอถอนฟ้องของ ท. จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ และปรากฏตามหนังสือรับรองข้อเท็จจริงว่า ม. ในฐานะกรรมการผู้แทนแต่เพียงผู้เดียวของโจทก์ขอรับรองว่าโจทก์ไม่มีเจตนาจะถอนฟ้องคดีนี้แต่อย่างใด จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ถอนฟ้องคดีนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 653/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับคดีและการกันเงินค่าส่วนกลางจากการขายทอดตลาดที่ดินจัดสรร ผู้ร้องแจ้งหนี้ล่าช้า ทำให้ไม่ได้รับการกันเงิน
ป.วิ.พ. มาตรา 335 วรรคสี่ และวรรคห้า เป็นบทบัญญัติเพื่อให้หนี้ค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคพร้อมค่าปรับตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินได้รับการกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไว้เพื่อชำระหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวจนถึงวันขายทอดตลาดแก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรก่อนเจ้าหนี้จำนองและให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดินแก่ผู้ซื้อโดยกำหนดหลักเกณฑ์ในการขายทอดตลาดที่ดินจัดสรรตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินว่า ก่อนทำการขายทอดตลาด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีบอกกล่าวให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแจ้งรายการหนี้ค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคพร้อมค่าปรับตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำบอกกล่าว เมื่อความปรากฏว่า ก่อนขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 212453 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้ร้องแจ้งรายการหนี้ค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคพร้อมค่าปรับภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือแล้ว แต่ผู้ร้องแจ้งรายการหนี้ดังกล่าวล่วงพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำบอกกล่าว ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไว้เพื่อชำระหนี้ค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคพร้อมค่าปรับที่ค้างชำระให้แก่ผู้ร้อง จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการไปตามที่มาตรา 335 บัญญัติไว้ ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาอ้างว่าลูกจ้างที่ดูแลรับผิดชอบที่ทำการของผู้ร้องในขณะนั้นไม่ได้แจ้งให้คณะกรรมการของผู้ร้องทราบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือถึงผู้ร้อง โดยลูกจ้างคนดังกล่าวมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตนั้น กรณีไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 15 ที่ศาลฎีกาจะขยายระยะเวลา 30 วัน ให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงไม่อาจใช้สิทธิขอให้กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 212453 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เพื่อนำมาชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระแก่ผู้ร้องก่อนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำนองได้ ทั้งความปรากฏตามคำขอออกหมายบังคับคดีว่า จำเลยมีภาระหนี้คงค้างชำระอยู่แก่โจทก์เป็นเงิน 7,371,398.92 บาท แบ่งเป็นเงินต้น 3,223,150.73 บาท ที่เหลือเป็นดอกเบี้ยกับค่าเบี้ยประกันภัย แต่ที่ดินโฉนดเลขที่ 212453 ขายทอดตลาดได้ในราคาเพียง 3,700,000 บาท น้อยกว่าภาระหนี้ที่จำเลยค้างชำระอยู่แก่โจทก์ ซึ่งเห็นได้อยู่ในตัวว่าเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินรายได้สุทธิที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว ไม่มีเงินเหลือที่จะจ่ายให้แก่ผู้ร้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 403/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อพิพาทสัญญาจ้างเหมา การชำระเงินค่าจ้างล่วงหน้า การหลอกลวงเอาไปซึ่งหนังสือค้ำประกัน และการคิดดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 เบิกเงินค่าจ้างล่วงหน้าไปจากโจทก์โดยนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางเพื่อเป็นหลักประกัน การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หลอกหลวงโจทก์เอาไปซึ่งหนังสือค้ำประกันดังกล่าว ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามหนังสือค้ำประกันไม่มีหลักประกันที่จะเรียกร้องเอาจากธนาคารซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายซึ่งเท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4443/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การขยายเวลาอุทธรณ์ต้องมีเหตุผลพิเศษ/สุดวิสัย และการปลอมเอกสารธรรมดา ไม่ใช่เอกสารสิทธิ
การขอขยายระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลมีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัย จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ เมื่อสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว จึงต้องมีเหตุสุดวิสัย จำเลยอ้างเหตุว่าจำเลยเจ็บป่วยกะทันหันและถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ข้ออ้างตามคำร้องของจำเลยไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยไม่อาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ได้ คำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาอุทธรณ์ จึงไม่ชอบ จำเลยไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยฟัง ปัญหานี้แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ดังนั้น การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ ซึ่งล่วงเลยกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 198 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อสิทธิให้แก่จำเลยที่จะฎีกา
อนึ่ง เอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ แต่ใบโปรโมชั่นที่จำเลยปลอมเป็นเพียงเอกสารที่ให้ห้างโฮมโปรใช้เพื่อคำนวณเงินส่วนลดหรือส่วนชดเชยแต่ละช่วงเวลาที่ห้างโฮมโปรขายสินค้าของโจทก์ให้แก่ลูกค้าแล้วนำไปหักทอนกับเงินค่าสินค้าที่โจทก์จำหน่ายให้แก่ห้างโฮมโปร หาเป็นเอกสารซึ่งเป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิไม่ การที่จำเลยปลอมและใช้เอกสารดังกล่าวจึงเป็นการปลอมและใช้เอกสารธรรมดา มิใช่เป็นการปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 ใช้บังคับ โดยมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน แต่กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยสำหรับความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 21 มีนาคม 2560
อนึ่ง เอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ แต่ใบโปรโมชั่นที่จำเลยปลอมเป็นเพียงเอกสารที่ให้ห้างโฮมโปรใช้เพื่อคำนวณเงินส่วนลดหรือส่วนชดเชยแต่ละช่วงเวลาที่ห้างโฮมโปรขายสินค้าของโจทก์ให้แก่ลูกค้าแล้วนำไปหักทอนกับเงินค่าสินค้าที่โจทก์จำหน่ายให้แก่ห้างโฮมโปร หาเป็นเอกสารซึ่งเป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิไม่ การที่จำเลยปลอมและใช้เอกสารดังกล่าวจึงเป็นการปลอมและใช้เอกสารธรรมดา มิใช่เป็นการปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 ใช้บังคับ โดยมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน แต่กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยสำหรับความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 21 มีนาคม 2560
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4244/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ลูกหนี้ร่วมชำระหนี้จากการประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ การไม่มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย ไม่ต้องรับผิด
คดีเดิมบริษัท จ. ฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดฐานรอนสิทธิตามสัญญาซื้อขายเนื่องจากบริษัท จ. ไม่สามารถนำที่ดินที่ซื้อมาจากจำเลยทั้งสองไปขายบุคคลอื่นได้เพราะถูกยึดไว้ตามหมายบังคับคดี และได้หมายเรียกโจทก์เข้ามาเป็นจำเลยร่วม แม้ศาลฎีกาในคดีดังกล่าวจะพิพากษากำหนดให้จำเลยทั้งสองและโจทก์ในฐานะจำเลยร่วม ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายต่อบริษัท จ. ในหนี้จำนวนเดียวกัน และเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 301 บัญญัติว่า ถ้าบุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้บุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แต่ความรับผิดของลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 296 ซึ่งบัญญัติให้ลูกหนี้ร่วมต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นนั้น จะต้องพิจารณาด้วยว่าลูกหนี้ร่วมแต่ละคนนั้นมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นอย่างไรและเพียงใด เมื่อข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเดิมได้ความว่าจำเลยทั้งสองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ไม่ตรวจดูว่าที่ดินที่ซื้อขายถูกยึดไว้หรือไม่ ประกอบกับคดีที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ถูกฟ้องเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งที่มีหนังสือแจ้งการยึดจากเจ้าพนักงานบังคับคดี ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และจำเลยทั้งสองถูกฟ้องฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวนั้น ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสอง เมื่อโจทก์คดีนี้มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองรู้ว่าที่ดินเคยถูกยึดไว้ตามหมายบังคับคดีก่อนที่จำเลยทั้งสองจะขายให้แก่บริษัท จ. หรือมีพฤติกรรมใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองน่าจะทราบเรื่องดังกล่าวและปกปิดไม่แจ้งเรื่องให้บริษัท จ. ทราบ อันจะถือได้ว่าจำเลยทั้งสองมีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท จ. ด้วย จึงฟังได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่โจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว การชำระหนี้ของโจทก์ให้แก่บริษัท จ. ตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเดิม จึงเป็นการชำระหนี้ในส่วนที่โจทก์เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายเองทั้งสิ้น โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของบริษัท จ. ที่จะมีสิทธิไล่เบี้ยจำเลยทั้งสองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4181/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องคดีทรัพย์สินหลังถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด: เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว
ศาลล้มละลายกลางอ่านคําพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 6 ธันวาคม 2560 ให้พิทักษ์ทรัพย์จําเลยเด็ดขาด ดังนั้น นับแต่จําเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจในการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจําเลยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 (3) จําเลยจึงไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินของจําเลยได้อีก การที่จําเลยยื่นคําร้องฉบับลงวันที่ 26 มิถุนายน 2561 และวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งงดการบังคับคดีของศาลจังหวัดพัทยา และอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 8 สิงหาคม 2561 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งคำสั่งต่าง ๆ ของศาลชั้นต้นอันสืบเนื่องมาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวด้วย แม้ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจําเลยจะยื่นคําร้องขอเข้าว่าคดีแทนจําเลยและขอให้พิจารณาคดีต่อไป ก็หาทำให้กลับเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายในภายหลังไม่ จําเลยจึงไม่มีอำนาจยื่นคําร้องฉบับลงวันที่ 26 มิถุนายน 2561 และวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 และอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 8 สิงหาคม 2561
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3803/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หนี้ร่วมสามีภริยาตามสัญญาเช่าซื้อ: หนังสือยินยอมถือเป็นการให้สัตยาบัน
ในขณะที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับรู้และยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อและหากจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาหรือความรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 2 ยินยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม หนังสือดังกล่าวถือว่าเป็นการให้สัตยาบันแก่หนี้ตามสัญญาเช่าซื้อที่ภริยาก่อขึ้นและเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาที่จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) กรณีหาใช่โจทก์มีเจตนาให้จำเลยที่ 2 สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือยินยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่บัญญัติให้ข้อตกลงที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ใหม่) ประกอบมาตรา 150
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3441/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความสัญญาบัตรเครดิต/สินเชื่อส่วนบุคคล กรณีไม่ใช่การเรียกเก็บเงินทดรองจ่าย แต่เป็นการกู้ยืม
จำเลยให้การว่า จำเลยใช้บริการสินเชื่อประเภทบัตรกดเงินสดจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างจากจำเลย รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไปเป็นกรณีที่จำเลยให้การว่าหนี้ตามสัญญาสินเชื่อบุคคลกรุงศรี สไมล์ แคช ไลน์ ขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) คดีจึงมีประเด็นเพียงว่า หนี้ตามสัญญาสินเชื่อบุคคลกรุงศรี สไมล์ แคช ไลน์ ขาดอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (7) หรือไม่ เท่านั้น แม้จำเลยจะอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความในทำนองว่า หนี้ส่วนนี้ขาดอายุความ 5 ปี ก็ไม่ทำให้เกิดประเด็นขึ้นเพราะเป็นเรื่องนอกคำให้การ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า หนี้ตามสัญญาสินเชื่อบุคคลกรุงศรี สไมล์ แคช ไลน์ ขาดอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (2) จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ไม่ฎีกาในเรื่องนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
ส่วนที่จำเลยให้การในตอนท้ายต่อมาว่า นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2556 ถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2561 โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องแต่ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับให้จำเลยชำระเงินภายในกำหนดดังกล่าว สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความนั้น คำให้การในส่วนนี้ไม่ได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ชัดแจ้งว่าขาดอายุความเรื่องใด ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ 5 ปี ได้ความว่า สินเชื่อบุคคลกรุงศรี สไมล์ แคช ไลน์ เป็นกรณีที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) อนุมัติสินเชื่อเป็นวงเงินกู้ประเภทหมุนเวียนแบบมีกำหนดการชำระคืนขั้นต่ำและหรือแบบมีการกำหนดชำระคืนแน่นอน ซึ่งการเบิกรับเงินกู้สามารถเบิกถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติโดยใช้บัตรกดเงินสดที่ธนาคารออกให้หรือให้ธนาคารนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากหรือวิธีการอื่น ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยจากเงินกู้นับแต่วันที่ขอเบิกถอนเงินแต่ละครั้ง รูปคดีจึงเป็นสัญญาบริการสินเชื่อหาใช่เป็นเรื่องผู้ประกอบธุรกิจรับทำงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างรวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไปก่อนแล้วมาเรียกเก็บจากจำเลยภายหลัง สิทธิเรียกร้องเช่นนี้กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มิใช่ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (7) ฟ้องโจทก์สำหรับหนี้สินเชื่อบุคคลกรุงศรี สไมล์ แคช ไลน์ จึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนที่จำเลยให้การในตอนท้ายต่อมาว่า นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2556 ถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2561 โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องแต่ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับให้จำเลยชำระเงินภายในกำหนดดังกล่าว สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความนั้น คำให้การในส่วนนี้ไม่ได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ชัดแจ้งว่าขาดอายุความเรื่องใด ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ 5 ปี ได้ความว่า สินเชื่อบุคคลกรุงศรี สไมล์ แคช ไลน์ เป็นกรณีที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) อนุมัติสินเชื่อเป็นวงเงินกู้ประเภทหมุนเวียนแบบมีกำหนดการชำระคืนขั้นต่ำและหรือแบบมีการกำหนดชำระคืนแน่นอน ซึ่งการเบิกรับเงินกู้สามารถเบิกถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติโดยใช้บัตรกดเงินสดที่ธนาคารออกให้หรือให้ธนาคารนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากหรือวิธีการอื่น ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยจากเงินกู้นับแต่วันที่ขอเบิกถอนเงินแต่ละครั้ง รูปคดีจึงเป็นสัญญาบริการสินเชื่อหาใช่เป็นเรื่องผู้ประกอบธุรกิจรับทำงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างรวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไปก่อนแล้วมาเรียกเก็บจากจำเลยภายหลัง สิทธิเรียกร้องเช่นนี้กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มิใช่ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (7) ฟ้องโจทก์สำหรับหนี้สินเชื่อบุคคลกรุงศรี สไมล์ แคช ไลน์ จึงไม่ขาดอายุความ