คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับศาล/ผู้พิพากษา
ศาลจังหวัดฝาง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 24 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 227/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินกองทุนหมู่บ้านฯ เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ห้ามยึดบังคับคดี
จำเลยเป็นกองทุนหมู่บ้านตามมาตรา 3 ประกอบมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547 โดยการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านต้องจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติดังกล่าว หรือกองทุนหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ว่าด้วยการจัดตั้งและการบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำเลยมิได้เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตาม ป.พ.พ. จึงมิใช่นิติบุคคลเอกชน แต่เป็นนิติบุคคลมหาชนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ตามมาตรา 5 วรรคสอง (1) เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มรายได้ และลดรายจ่าย หรือสำหรับส่งเสริมและพัฒนาไปสู่การสร้างสวัสดิภาพและสวัสดิการ หรือประโยชน์ส่วนรวมอื่นให้แก่ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง (2) เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเร่งด่วนสำหรับประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนเมือง (3) รับฝากเงินจากสมาชิกและจัดหาทุนจากแหล่งเงินทุนอื่น เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ (4)... (5)... ทั้งการดำเนินการของกองทุนหมู่บ้านต้องเป็นไปตามระเบียบหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติกำหนด และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีผู้รักษาการตามมาตรา 29 กองทุนหมู่บ้านมีเงินและทรัพย์สินในการดำเนินการตามมาตรา 6 ได้แก่ (1) เงินที่คณะกรรมการกองทุนและชุมชนเมืองแห่งชาติจัดสรรให้ (2) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล (3) เงินที่สมาชิกนำมาลงหุ้นหรือฝากไว้กับกองทุน (4) เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่กองทุนหมู่บ้านได้รับบริจาคโดยปราศจากเงื่อนไขหรือข้อผูกพันใด ๆ (5) ดอกผล รายได้หรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุนหมู่บ้าน ทั้งนี้ มาตรา 11 บัญญัติให้เป็นหน่วยงานของรัฐ และมีวัตถุประสงค์ตาม มาตรา 11 วรรคสอง โดยมาตรา 12 บัญญัติให้ทุนและทรัพย์สินในการดำเนินกิจการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติประกอบไปด้วย (1) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาตามมาตรา 31 ซึ่งโอนมาจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ฎ.จัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2544 มีฐานะเป็นองค์การมหาชน กองทุนหมู่บ้านและชุมชนแห่งชาติตามมาตรา 11 และกองทุนหมู่บ้านจำเลยที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 5 จึงเป็นหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐประเภทหนึ่ง ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อจัดทำภารกิจของรัฐในการสร้างศักยภาพและความเข็มแข็งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนและองค์กรชุมชนในหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรตอบแทน โดยเงินทุนและทรัพย์สินในการดำเนินการส่วนหนึ่งเป็นเงินอุดหนุนจากงบประมาณของรัฐ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน หรือแม้จะมีเงินบริจาคเข้ามาด้วย เงินบริจาคดังกล่าวต้องไม่มีเงื่อนไขหรือข้อผูกพัน เนื่องจากเป็นการบริจาคเพื่อมาช่วยเหลือการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐ หรือแม้จะมีทรัพย์สินในส่วนที่เป็นรายได้ เช่นดอกผลหรือประโยชน์อย่างอื่น แต่เมื่อตัวกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐ ทรัพย์สินที่เป็นรายได้ของกองทุนย่อมเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน การที่มาตรา 14 บัญญัติว่า กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ก็เพียงเพื่อไม่ให้ต้องนำรายได้ส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ เพื่อความคล่องตัวทางการเงิน อันเป็นการยกเว้นหลักทั่วไปตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ดังนั้น เงินฝากในบัญชีเลขที่ 05067074XXXX เป็นเงินที่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติจัดสรรให้จำเลยเพื่อเป็นเงินอุดหนุน จึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ไม่อาจยึดหรืออายัดได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 301 (5) ส่วนเงินฝากในบัญชีเลขที่ 05067074XXXX เป็นเงินที่สมาชิกของจำเลยนำมาลงหุ้นและฝากเพื่อการออมตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านเพื่อสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนและองค์กรชุมชนในหมู่บ้าน อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐ โดยจำเลยมิได้มีเจตนารมณ์ในการรับฝากเงินเพื่อหากำไรในทางธุรกิจหรือพาณิชยกรรม เงินจำนวนดังกล่าวที่ฝากไว้กับผู้คัดค้านในบัญชีของจำเลย จึงเป็นเงินของสมาชิก มิใช่เงินของจำเลยที่จะยึดหรืออายัดเพื่อบังคับคดีชำระหนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 303 และมาตรา 316

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4019/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สมคบกันเพื่อจำหน่ายยาเสพติด การครอบครองเพื่อจำหน่าย และการส่งมอบระหว่างผู้กระทำผิด
จำเลยกับ ป. ส่งข้อความทางแอปพลิเคชันเมสเซนเจอร์โต้ตอบกัน เนื่องจาก ศ. ไปขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจาก ป. ที่บ้านจำเลย แต่ ป. ไม่ทราบว่าจำเลยซุกซ่อนไว้ที่ใด บ่งชี้ว่า ป. ทราบดีว่าจำเลยเก็บเมทแอมเฟตามีนไว้ภายในบ้านและ ป. ต้องการนำเมทแอมเฟตามีนไปจำหน่ายให้แก่ ศ. ซึ่งจำเลยก็ประสงค์ให้ ป. นำเมทแอมเฟตามีนที่เก็บไว้ไปจำหน่ายให้แก่ ศ. เช่นกัน พฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันเป็นความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ส่วนการที่จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ป. เสพที่บ้านจำเลยและให้ ป.จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแก่ลูกค้าผู้ซื้อไปด้วย จึงเป็นการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยกัน ไม่ถือว่าเป็นการจำหน่าย เพราะคำว่า จำหน่าย ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 หมายถึง การจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอกที่มิใช่ผู้กระทำความผิดด้วยกัน จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5151/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แจ้งความเท็จต้องรู้ว่าข้อความเท็จ การแจ้งความตามเหตุการณ์ที่เข้าใจไม่ถือเป็นความผิด
แม้พนักงานสอบสวนจะดำเนินคดีแก่โจทก์ในความผิดข้อหายักยอก แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าวโดยเห็นว่าหลักฐานไม่พอก็ตาม คำสั่งของพนักงานอัยการดังกล่าวเป็นเพียงความเห็นที่พิจารณาสั่งไปตามพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันคดีนี้ให้ต้องพิจารณาไปตามนั้น เพราะการกระทำที่จะเป็นความผิดข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ นอกจากจะต้องแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแล้ว ผู้กระทำจะต้องรู้ว่าข้อความที่แจ้งนั้นเป็นเท็จด้วย แต่คดีนี้จำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นแก่จำเลย โดยมีเหตุการณ์ทำให้จำเลยเข้าใจว่าต้องดำเนินคดีแก่โจทก์ ส่วนการจะตั้งข้อหาดำเนินคดีแก่โจทก์หรือไม่ ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน หาได้เกิดจากการกระทำของจำเลยโดยตรง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6812/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีอาญาเกี่ยวกับสัญชาติไทย และการรอการลงโทษจำคุกจากพฤติการณ์แห่งคดี
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า ร. ปลัดอำเภอรักษาการในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตร มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร บัตรประจำตัวประชาชนและการทะเบียนอื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการปกครอง ส่วนร้อยตรี ช. รับราชการในตำแหน่งนายอำเภอ มีหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการในอำเภอ ตลอดจนควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของสำนักทะเบียนอำเภอ เมื่อระหว่างวันที่ 21 สิงหาคม 2544 ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2544 ร. และร้อยตรี ช. อาศัยโอกาสที่ตนเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดังกล่าว ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือ ย. ซึ่งเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยให้เป็นผู้มีสัญชาติไทย โดยการเพิ่มชื่อ ย. ในทะเบียนบ้านและดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้ ย. โดยมีจำเลยทั้งสามให้ความสนับสนุน ช่วยเหลือ และให้ความสะดวกแก่ ร. และร้อยตรี ช. ในการกระทำความผิด และในวันเดียวกัน ย. ซึ่งเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยได้มายื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนต่อเจ้าพนักงานซึ่งรับผิดชอบงานบัตรประจำตัวประชาชน ให้หลงเชื่อว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยจริง ตามพฤติการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามมุ่งประสงค์ให้เพิ่มชื่อ ย. ในทะเบียนบ้านและให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ ย. ในที่สุดนั่นเอง กระบวนการในการกระทำความผิดดังกล่าวสำเร็จลงด้วยการออกบัตรประจำตัวประชาชนในวันที่ 27 สิงหาคม 2544 ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในวันที่ 25 สิงหาคม 2554 ซึ่งยังไม่เกินกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6404/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกงจากการแสดงเอกสารเท็จเพื่อรับจ้าง หากผู้เสียหายได้รับประโยชน์จากการกระทำหลังเกิดเหตุ ก็ไม่ทำให้ความผิดอาญาหมดไป
การที่จำเลยทั้งสองประสงค์ให้ร้าน ก. ของจำเลยทั้งสองได้รับงานรับจ้างทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. จึงหลอกลวงนำหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ก. ที่มีข้อความว่า ธนาคารยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินให้ตามสิทธิเรียกร้องของโรงพยาบาล ช. ผู้ว่าจ้าง ในกรณีที่ร้านของจำเลยทั้งสองผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ หรือต้องชำระค่าปรับหรือค่าใช้จ่ายใดๆ หรือร้านของจำเลยทั้งสองผู้รับจ้างมิได้ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ใดๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้างมาแสดง แต่ความจริงแล้วธนาคารมิได้ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสอง อันเป็นการหลอกลวงผู้เสียหายและการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสองทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. และได้ทรัพย์สินเป็นค่าจ้างจากการทำงาน 108,000 บาท ถือว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงแล้ว แม้ภายหลังจำเลยทั้งสองจะเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาลจริงและได้รับค่าจ้างดังกล่าว ก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทำความผิดอาญาของจำเลยทั้งสองที่เกิดขึ้นแล้วกลับกลายเป็นไม่มีความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10521/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของคำสั่ง คสช. 37/2557 ต่อโทษอาวุธปืน: ศาลฎีกาแก้ไขโทษตามกฎหมายใหม่
แม้จำเลยจะไม่ได้หยิบยกคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 37/2557 เรื่อง ให้ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามนำส่งมอบ ซึ่งสั่ง ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2557 มาอ้างในระหว่างการพิจารณาคดีและคดีนี้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วก็ตาม แต่จำเลยกำลังรับโทษตามคำพิพากษาดังกล่าวอยู่ หากปรากฏตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่าจำเลยไม่ต้องรับโทษในการกระทำของจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอต่อศาลให้กำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังได้ เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 ภายหลังกระทำความผิดดังกล่าวระหว่างการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 ได้มีคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 37/2557 เรื่อง ให้ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่สำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามนำส่งมอบ กำหนดให้ผู้ที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดสำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามไว้ในครอบครองนำมามอบให้นายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2557 ไม่ต้องรับโทษ จึงต้องถือว่าในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวกฎหมายได้ยกเว้นโทษให้แก่ผู้มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนสำหรับใช้เฉพาะแต่การสงครามไว้ในความครอบครองแล้ว กรณีเป็นเรื่องที่มีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำของจำเลยไม่ต้องรับโทษ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8862/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการบังคับใช้ พ.ร.บ.จราจรฯ มาตรา 43 ทวิ: การเสพยาเสพติดให้โทษและความครอบคลุมของข้อกำหนดอธิบดี
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุบัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา" ซึ่งคำว่า "ทั้งนี้" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า ตามที่กล่าวมานี้ ดังนี้ คำว่า ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงครอบคลุมถึงเสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ซึ่งเป็นข้อความที่กล่าวไว้ก่อนคำว่า ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย มิใช่ครอบคลุมเฉพาะกรณีวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทดังที่โจทก์ฎีกาเท่านั้น เมื่ออธิบดีกรมตำรวจออกข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีน ตามข้อกำหนดกรมตำรวจ เรื่อง กำหนดชื่อและประเภทของวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและประเภทของรถที่ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจตรวจสอบผู้ขับขี่ ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2537 โดยยังไม่ได้ออกข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพโคเคอีนและมอร์ฟีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1597/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย: การพิสูจน์ตัวการร่วมและการสนับสนุน
จำเลยลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยเป็นผู้รับคำสั่งซื้อและจัดหาเมทแอมเฟตามีนไว้ วันเกิดเหตุจำเลยมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้ จ. และ ส. นำไปส่งให้ ว. ลูกค้าของจำเลยที่อยู่กรุงเทพมหานครทางไปรษณีย์และจำเลยขับรถจักรยานยนต์ติดตามไปดูการส่งเมทแอมเฟตามีนของ จ. และ ส. จำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกับ จ. และ ส. ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หาใช่เป็นกรณีที่จำเลยใช้ให้ จ. และ ส. กระทำความผิดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15952/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักกลบลบหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ตามคำพิพากษาและการรับฝากเงิน จำเลยมีสิทธิหักกลบลบได้
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์กับมารดาโจทก์เปิดบัญชีร่วมกันประเภทบัญชีเงินฝากประจำและฝากเงินไว้ต่อธนาคารจำเลยสาขาฝาง ว. ทำสัญญากู้และรับเงินกู้ไปจากจำเลย โดยจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน และ ส. กับโจทก์ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับ ว. อย่างลูกหนี้ร่วม ว. ผิดนัดผิดสัญญา จำเลยฟ้อง ว. ส. และโจทก์ให้รับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาให้ ว. ส. และโจทก์ร่วมกันชำระหนี้ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้บังคับคดีเอาจากทรัพย์จำนอง หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของบุคคลทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่จำเลยจนครบ จำเลยนำหนี้ที่เป็นเจ้าหนี้อยู่นั้นฟ้องบุคคลทั้งสามเป็นคดีล้มละลาย ต่อมาจำเลยพบว่าโจทก์กับมารดาโจทก์มีบัญชีเงินฝากดังกล่าวอยู่ที่จำเลยสาขาฝาง จำเลยจึงดำเนินการหักเงินจากบัญชีดังกล่าวมาชำระหนี้จำเลย ต่อมาจำเลยถอนฟ้องคดีล้มละลาย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธินำเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ฝากไว้ต่อจำเลยมาหักกับหนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์เป็นหนี้จำเลยอยู่หรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องและคำให้การคดีนี้เป็นเรื่องจำเลยหักกลบลบหนี้กับโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 และ 342 ซึ่งโจทก์และจำเลยมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้ที่จะต้องชำระเงินแก่กันอันเป็นมูลหนี้ที่มีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน กล่าวคือโจทก์เป็นหนี้จำเลยที่จะต้องชำระเงินแก่จำเลยตามคำพิพากษา ส่วนจำเลยก็เป็นหนี้โจทก์ที่จะต้องชำระเงินที่โจทก์ฝากไว้แก่โจทก์ จำเลยย่อมหักกลบลบหนี้ได้ และตามข้อเท็จจริงที่รับฟังมาดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยแสดงเจตนาต่อโจทก์ขอหักกลบลบหนี้และได้ดำเนินการหักกลบลบหนี้แล้ว การหักกลบลบหนี้ย่อมมีผลสมบูรณ์ตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าว ซึ่งไม่ได้กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้แต่ประการใดว่า การหักกลบลบหนี้ระหว่างกันนั้นจะต้องตกลงกันหรือได้รับอนุญาตหรือได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งหรือต้องแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีก่อน เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตนาไม่ให้นำหนี้ที่มีอยู่แก่กันนั้นมาหักกลบลบกัน จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กันได้ แม้โจทก์ไม่เคยตกลงและไม่อนุญาตให้จำเลยหักเงิน จำเลยหักเงินของโจทก์ไปเองโดยไม่แจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่โจทก์ฟ้องและนำสืบก็หาเป็นการละเมิดหรือผิดสัญญารับฝากเงินตามที่โจทก์ฟ้องไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15533/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาขัดต่อความสงบเรียบร้อย/ศีลธรรม: การช่วยเหลือเลื่อนตำแหน่งข้าราชการตำรวจโดยไม่ชอบ
เป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่าการบริหารองค์กรไม่ว่าบริหารภาครัฐหรือเอกชน การคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่ง การโยกย้าย หรือการพิจารณาความดีความชอบจะต้องใช้หลักคุณธรรม และเป็นไปตามระเบียบแบบแผน เพื่อให้ได้คนดีเข้ามาทำหน้าที่นั้นเป็นประโยชน์ต่อองค์กร สังคมและประเทศชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะมีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน และยังเป็นกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นหรือเสาหลักแห่งกระบวนการยุติธรรมที่จะต้องสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ถ้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีตำรวจที่ประพฤติมิชอบ ย่อมก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยและวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย ไม่มีข้อความตอนใดที่โจทก์ขอให้จำเลยทำให้ผู้มีอำนาจเข้าใจในตัวโจทก์ถูกต้อง กลับให้จำเลยไปพูดกับผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่รู้จักกันเกี่ยวกับความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์อย่างเต็มที่ โดยสัญญาแบบผู้มีความรับผิดชอบให้ได้รับตำแหน่งสูงสุด และหากโจทก์ขอความช่วยเหลือ จำเลยจะต้องให้ความสะดวกและช่วยเหลือโจทก์ได้มีตำแหน่งสูงขึ้นโดยไม่คำนึงถึงกฎหมาย ระเบียบแบบแผนและวิธีการของทางราชการ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะไม่อาจบังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
of 3