พบผลลัพธ์ทั้งหมด 232 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1780/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิเจ้าหนี้กองมรดกในการยึดทรัพย์มรดก แม้มีการโอนทรัพย์ให้ทายาทแล้ว
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1734 บัญญัติว่า "เจ้าหนี้กองมรดกชอบแต่จะได้รับการชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น" การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์และต่อมาจำเลยถึงแก่ความตาย ถือได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกของจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะที่โจทก์ฟ้องและต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม ที่ดินพิพาทยังมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของจำเลย ดังนี้ แม้ที่ดินพิพาทจะโอนใส่ชื่อ พ. ทายาทจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แล้วก็ตาม แต่ พ. เพิ่งรับโอนที่ดินพิพาทมาหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมและคดีอยู่ในระหว่างการบังคับคดี ตราบใดที่โจทก์เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ ให้ถือว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 การที่ พ. รับโอนที่ดินพิพาทมาไม่มีผลทำให้ที่ดินพิพาทพ้นจากสภาพการเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของจำเลยที่จะต้องรับผิดชำระหนี้สินของจำเลยให้แก่เจ้าหนี้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดกย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากที่ดินพิพาทโดยไม่จำต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจยึดที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยมาบังคับคดีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 715/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยข้อเท็จจริงเนื่องจากศาลชั้นต้นรับฎีกาที่ไม่ชอบตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง, 279 วรรคสาม และวรรคสี่ ประกอบมาตรา 285 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้ว ฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนและเป็นผู้สืบสันดาน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม คงจำคุกกระทงละ 4 ปี 8 เดือน รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 12 ปี 24 เดือน ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน โดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก 2 ปี ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน โดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นใดซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศของเด็กนั้น โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุกกระทงละ 4 ปี 8 เดือน รวม 38 กระทง เป็นจำคุก 152 ปี 304 เดือน รวมจำคุกทุกกระทง 166 ปี 328 เดือน แม้รวมโทษทุกกระทงแล้วลงโทษจำคุกจำเลย 50 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 91 (3) ก็ตาม แต่เมื่อโทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องทุกข้อหา เพราะจำเลยสำคัญผิดหรือหลงผิดในสิ่งที่ตนมิได้กระทำ จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายเพียง 5 ครั้ง แต่มิได้กระทำชำเราผู้เสียหาย และพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดอื่นนอกจากความผิดฐานอนาจารดังกล่าว การวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในปัญหาดังกล่าวจำต้องอาศัยข้อเท็จจริงจากพฤติการณ์แห่งคดีและจากพยานหลักฐานที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจรับฟังมาเป็นข้อชี้ขาดตัดสินคดี จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3003/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำนำข้าวเปลือก/ข้าวสาร: สัญญาไม่ระงับ หากทรัพย์ยังอยู่ในการครอบครองของผู้รับจำนำ
จำเลยที่ 1 นำข้าวเปลือกและข้าวสารไปจำนำเป็นประกันหนี้ตามสัญญาสินเชื่อของจำเลยที่ 1 กับโจทก์ แล้วโจทก์ทำสัญญาเช่าโกดังของจำเลยที่ 1 เป็นที่เก็บรักษาทรัพย์จำนำ แม้จำเลยที่ 1 ผู้จำนำมีสิทธิเข้าออกโกดังที่เก็บรักษาทรัพย์จำนำได้ตลอดเวลา แต่สัญญาจำนำไม่ได้ให้สิทธิจำเลยที่ 1 นำทรัพย์จำนำออกไปใช้ประโยชน์ในกิจการของจำเลยที่ 1 ได้ การนำทรัพย์จำนำออกจากสถานที่เก็บรักษาเพื่อการไถ่ถอนทรัพย์จำนำก็ดี การนำทรัพย์จำนำไปขาย จำหน่าย จ่าย โอน หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดภาระผูกพันหรือบุริมสิทธิใด ๆ กับทรัพย์จำนำก็ดี หรือการนำทรัพย์จำนำเข้าออกจากสถานที่เก็บรักษาก็ดี ล้วนแต่ต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากโจทก์ก่อนทั้งสิ้น และไม่ถือว่าทรัพย์จำนำกลับคืนไปสู่การครอบครองของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด สัญญารักษาทรัพย์จำนำก็ระบุให้ผู้รักษาทรัพย์จำนำดูแลและรักษาทรัพย์จำนำเพื่อประโยชน์ของโจทก์และแทนโจทก์เท่านั้น อีกทั้งยังระบุไว้ชัดเจนว่าผู้รักษาทรัพย์จำนำมิได้ทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และไม่ได้ครอบครองและดูแลรักษาทรัพย์จำนำแทนจำเลยที่ 1 รวมทั้งผู้รักษาทรัพย์จำนำไม่มีสิทธิเคลื่อนย้าย นำทรัพย์จำนำออกไปใช้ประโยชน์หรือก่อให้เกิดภาระใด ๆ แก่ทรัพย์จำนำได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากโจทก์ก่อน ข้อสัญญาดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า คู่สัญญาประสงค์ให้ทรัพย์จำนำอยู่ในครอบครองของโจทก์ตลอดเวลา โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำทรัพย์จำนำไปใช้ประโยชน์ในทางใด ๆ ในกิจการของจำเลยที่ 1 ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากโจทก์ก่อนเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 1 นำทรัพย์จำนำออกไปใช้ประโยชน์ในกิจการของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ยอมให้ทรัพย์จำนำกลับคืนไปสู่ครอบครองของจำเลยที่ 1 สัญญาจำนำจึงหาระงับสิ้นไปไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1081/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดฐานค้าสัตว์ป่าคุ้มครองกับการมีสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองเป็นความผิดต่างกรรมกัน
นอกจากจำเลยจำหน่ายซากเป็ดแดง 54 ซาก ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อแล้ว หลังจากนั้นเมื่อเจ้าพนักงานผู้จับกุมไปตรวจค้นที่บ้านของจำเลยยังพบนกอีโก้ง 2 ตัว ที่ยังมีชีวิตอยู่ในกรงขังภายในบริเวณบ้านของจำเลย การที่จำเลยมีนกอีโก้งซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองของจำเลยโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีไว้เพื่อการค้า จึงเป็นการกระทำโดยมีจุดมุ่งหมายหรือเจตนาในการกระทำความผิดต่างกัน ประกอบกับความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 บัญญัติแยกไว้คนละมาตรา โดยความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองและซากสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอยู่ในมาตรา 17 และมาตรา 92 ส่วนความผิดฐานค้าซากสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่ในมาตรา 29 และมาตรา 89 วรรคหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการแยกเป็นคนละความผิดต่างกระทงกัน การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน กรณีไม่ต้องด้วยบทนิยามของคำว่า "ค้า" ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4460/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดอาญาฐานพยายามฆ่า, มีอาวุธปืน, ยิงปืนโดยใช่เหตุ และค่าชดใช้สินไหมทดแทนจากการวิวาท
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืน ตาม ป.อ. มาตรา 80, 288, 371 และ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชนตาม ป.อ. มาตรา 376 ด้วย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าว ทั้งการกระทำความผิดตามมาตรา 376 ก็มิใช่การกระทำซึ่งรวมอยู่ในความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง อันศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดตามที่พิจารณาได้ความได้ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 376 เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก อันเป็นการมิชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3169/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิครอบครองที่ดิน: การได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย, การครอบครองเพื่อตนเอง, และผลกระทบต่อการจดทะเบียน
ที่ดินพิพาทมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 535 จึงมีเพียงสิทธิครอบครอง ส. เป็นผู้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส. จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 และมีสิทธิขายที่ดินพิพาทและมอบการครอบครองแก่โจทก์ได้ การที่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 535 มีชื่อ อ. เป็นผู้มีสิทธิครอบครองเป็นเพียงข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ส่วนความเป็นจริงผู้ใดจะมีสิทธิครอบครองต้องพิจารณาว่าผู้ใดเข้ายึดถือครอบครอง อ.ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทย่อมไม่มีสิทธิครอบครอง ไม่อาจขายที่ดินพิพาทแก่กระทรวงการคลังได้ และการที่กระทรวงการคลังจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ครอบครองทำประโยชน์มาเป็นจำเลยที่ 1 เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน มิได้มีการเข้าครอบครองยึดถือที่ดินเพื่อตนตามความเป็นจริง แม้จำเลยที่ 1 เป็นสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บรรดาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ที่ ส.ป.ก. ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ หรือได้มาโดยประการอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่ให้ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุและให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม" แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้มุ่งหมายให้จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์แตกต่างจากเจ้าของทรัพย์สินทั่วไปที่มีสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 การที่จำเลยที่ 1 โดยกระทรวงการคลังจัดซื้อที่ดินพิพาทจากผู้ที่มิได้เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครอง จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทเช่นเดียวกัน จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนดพิพาทได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1961-1962/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแก้ไขฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลต้องให้โอกาสแก้ไขก่อนยกฟ้อง
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง หรือยกฟ้องหรือไม่ประทับฟ้อง" และมาตรา 158 บัญญัติว่า "ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี ฯลฯ (7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง" แต่จำเลยทั้งสองไม่ได้ลงชื่อผู้อุทธรณ์ ฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะต้องมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยทั้งสองผู้ยื่นฟ้องอุทธรณ์แก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ด่วนพิจารณาไม่รับวินิจฉัยและยกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองโดยไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เห็นควรให้ศาลชั้นต้นจัดการให้จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อในช่องผู้อุทธรณ์ในฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้อง แล้วให้ส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1026/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลในคดีเยาวชน: การพิจารณาโทษและการแก้ไขคำพิพากษาเมื่อศาลเดิมไม่ใช่ศาลเยาวชน
แม้ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 5 มีอายุ 15 ปีเศษ ถือเป็นเยาวชนก็ตาม แต่ขณะกระทำความผิดและวันที่โจทก์ยื่นฟ้องในวันที่ 7 เมษายน 2547 ในท้องที่จังหวัดพิจิตรที่จำเลยที่ 5 มีถิ่นที่อยู่ปกติและท้องที่ที่กระทำความผิดยังไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลชั้นต้นคือศาลจังหวัดพิจิตรเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาตาม ป.วิ.อ. จึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 58 (3) แม้ต่อมาในระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเปิดทำการแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลจังหวัดพิจิตรตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2549 ก็ตาม แต่การพิจารณาพิพากษาคดีในชั้นอุทธรณ์จนชั้นฎีกาต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อ. ดังนั้นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 21 ปี 3 เดือน จึงเป็นคำพิพากษาของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาตาม ป.วิ.อ. มิใช่คำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวที่จะขอให้กำหนดโทษใหม่หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาเกี่ยวกับการลงโทษตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 99 ต่อมา พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกยกเลิกไป โดย พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 3 แม้มาตรา 137 แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 บัญญัติว่า เมื่อได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแล้วและต่อมาความปรากฏต่อศาลเอง หรือปรากฏจากรายงานของผู้อำนวยการสถานพินิจ หรือผู้ดูแลหรือผู้ปกครองสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 หรือปรากฏจากคำร้องของบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลซึ่งเด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ด้วย หรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 ว่าข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ตามมาตรา 115 หรือมาตรา 119 ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ให้ศาลมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับการลงโทษหรือวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนได้ก็ตาม แต่คำพิพากษาหรือคำสั่งให้ลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนดังกล่าวต้องเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวตั้งแต่ต้น และศาลที่มีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับการลงโทษหรือวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จะต้องเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวซึ่งพิพากษาหรือมีคำสั่งคดีนั้นเอง หรือศาลคดีเยาวชนและครอบครัวซึ่งมีเขตอำนาจในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนนั้นกำลังรับโทษหรือถูกควบคุมตัวอยู่ ด้วยเหตุนี้ ศาลจังหวัดพิจิตรซึ่งเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 6 และศาลฎีกาไม่ใช่ศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว จึงไม่ใช่ศาลที่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงโทษตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้วของจำเลยที่ 5 ตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ และมิใช่กรณีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดที่ศาลจะต้องกำหนดโทษเสียใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 692/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิจัดการศพ: ทรัพย์สินสมณเพศตกเป็นของวัด ผู้รับผลประโยชน์มากที่สุดมีอำนาจจัดการศพ
การจัดการทำศพเป็นกิจการซึ่งไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ตาย การจะทำให้บังเกิดผลบังคับได้ตามกฎหมายต้องแสดงเจตนาโดยทำเป็นพินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 แต่คำสั่งเสียด้วยวาจาของผู้มรณภาพที่ให้โจทก์เป็นผู้จัดการทำศพไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์การทำพินัยกรรมด้วยวาจาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1663 ย่อมไม่บังเกิดผลบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อผู้มรณภาพมิได้ทำพินัยกรรมตั้งผู้จัดการมรดก และทรัพย์สินของผู้มรณภาพได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ ย่อมตกเป็นสมบัติของวัดจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1623 ส่วนโจทก์และน้องคนอื่นของผู้มรณภาพ แม้เป็นทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 3 ตามมาตรา 1629 (3) ก็ไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้มรณภาพ ย่อมไม่อาจมอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพผู้มรณภาพ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยสิทธิโดยธรรมตามผลของมาตรา 1623 อันเป็นจำนวนมากที่สุด จึงเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการทำศพผู้มรณภาพตาม ป.พ.พ. มาตรา 1649 วรรคสอง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องส่งมอบศพผู้มรณภาพแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3395/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิการรับเงินประโยชน์ตอบแทนพิเศษของข้าราชการ แม้มีการทักท้วงภายหลัง การยกเลิกคำสั่งไม่ชอบ เพราะโจทก์ไม่มีอำนาจ
เงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษ (เงินรางวัลประจำปี) ที่จำเลยรับไปแล้วนั้น เป็นเงินที่จำเลยมีสิทธิได้โดยชอบด้วยกฎหมายและโจทก์มีหน้าที่จะต้องเบิกจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่จำเลย หลังจากจำเลยรับเงินดังกล่าวไปแล้ว แม้ต่อมาสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 11 และสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดพิจิตรจะมีหนังสือทักท้วงไปยังโจทก์ว่าการเบิกจ่ายเงินดังกล่าวไม่ถูกต้อง โดยแจ้งว่าเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษ (เงินรางวัลประจำปี) ต้องเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ไม่สามารถเบิกจ่ายจากเงินสะสมได้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้เงินที่จำเลยรับไปแล้วเป็นเงินที่ไม่ชอบ เพราะเงินดังกล่าวเป็นเงินที่จำเลยมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย การที่เจ้าหน้าที่การเงินของโจทก์เบิกเงินดังกล่าวจากเงินสะสมซึ่งสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดพิจิตรอ้างว่าไม่ถูกต้องตามระเบียบ ก็เป็นการทำงานที่บกพร่องของเจ้าหน้าที่การเงินของโจทก์เอง หาได้เกี่ยวข้องกับจำเลยแต่อย่างใดไม่ และการยกเลิกคำสั่งของเทศบาลตำบลวังกรดที่อนุมัติให้จำเลยได้รับเงินประโยชน์ดังกล่าว โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์มีอำนาจตามกฎหมายข้อใดที่จะยกเลิกคำสั่งดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นการตัดสิทธิจำเลยที่จะได้รับเงินทั้งที่จำเลยมีสิทธิได้รับเงินนั้นโดยชอบด้วยกฎหมายและโจทก์เองก็ได้อนุมัติให้จำเลยรับเงินดังกล่าวแล้ว ดังนั้น จำเลยยังคงมีสิทธิที่จะยึดถือเงินทั้งสองจำนวนไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกเงินทั้งสองจำนวนคืนจากจำเลย เป็นกรณีที่โจทก์จะต้องดำเนินการทางบัญชีเบิกจ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษจากกองเงินงบประมาณที่ถูกต้องตามระเบียบการจ่ายเงินชดใช้คืนแก่กองเงินงบประมาณที่เจ้าหน้าที่การเงินของโจทก์เบิกผิดพลาดไป หาใช่มาฟ้องเรียกเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยเช่นนี้ไม่