คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับศาล/ผู้พิพากษา
ศาลจังหวัดสมุทรสาคร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 294 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3716/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาชอบด้วยกฎหมายเมื่อศาลขยายเวลาให้ยื่นคำร้องอนุญาตฎีกาได้ และศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกได้
โจทก์ร่วมยื่นฎีกาพร้อมคำร้องขออนุญาตฎีกาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้ ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องขออนุญาตฎีกาว่า พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 มิใช่เป็นกรณีที่ต้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกา แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเห็นสมควรให้โจทก์ร่วมดำเนินการยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาให้ถูกต้องภายใน 15 วัน มิฉะนั้นถือว่าโจทก์ร่วมทิ้งคำร้อง อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรขยายระยะเวลายื่นฎีกาออกไปอีก 15 วัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 19 สิงหาคม 2566 โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขออนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงอันเป็นคำร้องที่ถูกต้องวันที่ 18 สิงหาคม 2566 ภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้ เมื่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คำสั่งรับฎีกาโจทก์ร่วมของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4360/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพันจำเลย แม้มีข้อโต้แย้งเรื่องการแบ่งทรัพย์มรดก และการใช้สิทธิของบุคคลอื่น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ว. โจทก์ที่ 1 ยื่นคำคัดค้านอ้างว่าตนมีสิทธิได้รับมรดกแทนที่ ส. ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับ ว. ศาลในคดีดังกล่าวได้ทำการไกล่เกลี่ยโดยจำเลยที่ 1 เข้าร่วมไกล่เกลี่ยด้วย แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ จำเลยที่ 3 จึงขอถอนคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก แสดงว่าจำเลยทั้งสามกับฝ่ายโจทก์ยังคงมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการจัดการแบ่งมรดกของ ว. ซึ่งยังตกลงกันไม่ได้ ประกอบกับจำเลยที่ 3 เบิกความตอบคำถามค้านว่าหลังจากมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ 1 ได้มาบอกจำเลยที่ 3 ว่ามีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ทั้งสาม โดยจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ในช่องที่ระบุชื่อของจำเลยที่ 3 อันเป็นการลงลายมือชื่อแทนจำเลยที่ 3 ต้องถือว่าจำเลยที่ 3 ทราบเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ทั้งสาม โดยจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อของตนแทนจำเลยที่ 3 แล้ว อีกทั้งหลังจากที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 ด้วยการชำระเงินในนามของจำเลยทั้งสามจำนวน 1,100,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม โดยเป็นเงินมรดกของ ค. ซึ่งอยู่ในบัญชีของ ว. และจำเลยทั้งสามมีสิทธิได้รับมรดกดังกล่าว กับจำเลยที่ 2 นำเงินมาอีกส่วนหนึ่งด้วย ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้โต้แย้งคัดค้านต่อโจทก์ทั้งสามว่าไม่ได้รู้เห็นหรือไม่ยินยอมในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หรือปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 3 รู้เห็นและยินยอมโดยปริยายให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อของตนแทนจำเลยที่ 3 ในสัญญาประนีประนอมยอมความ สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ให้ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญายอมด้วย
ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาอ้างว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 414 ซึ่งเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 56705 ตามที่ระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้ตกเป็นของโจทก์ทั้งสามทั้งหมด แต่ ศ. และ ร. ในฐานะทายาทมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งด้วย โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยทั้งสามนั้น หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้างก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์ทั้งสามและ ศ. กับ ร. ที่จะไปว่ากล่าวกันต่างหาก แต่สัญญาประนีประนอมยอมความก็ยังคงมีผลผูกพันโจทก์ทั้งสามกับจำเลยทั้งสามอยู่ หาได้มีผลให้โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ดังที่จำเลยทั้งสามฎีกาอ้างไม่
ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาอ้างว่า สัญญาประนีประนอมยอมความไม่เป็นสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกที่สมบูรณ์ และโจทก์ทั้งสามยอมรับว่าถูกพินัยกรรมของ ว. ตัดสิทธิจากกองทรัพย์มรดกของ ว. แล้ว การที่โจทก์ทั้งสามใช้สิทธิของบุคคลอื่นมาทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เพื่อประโยชน์ของตนเองโดยไม่มีอำนาจ ทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีผลบังคับ โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง และสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 3 ไม่ได้หมายความรวมถึงที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 414 นั้น จำเลยทั้งสามไม่ได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้ในคำให้การ จึงไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท ถือเป็นเรื่องที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งไม่ใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบมาตรา 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 160/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันและผู้จำนองหลังแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
แม้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 10 ในฐานะผู้จำนองทรัพย์สินของตนเพื่อประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยจดทะเบียนจำนองเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ภายหลังจากวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ (วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558) จึงไม่จำต้องรับผิดในหนี้ที่ประกันเกินราคาที่ดินจำนองในเวลาบังคับจำนองหรือเอาทรัพย์จำนองหลุดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 727/1 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามสัญญาค้ำประกันว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2557 ก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2558 มีผลใช้บังคับ (ใช้บังคับวันที่ 15 กรกฎาคม 2558) ข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมจึงยังคงใช้บังคับได้ และไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 681/1 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) และมาตรา 727/1 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) แม้ข้อสัญญาดังกล่าวจะมีผลให้ผู้ค้ำประกันรับผิดเกินราคาทรัพย์สินที่จำนองเนื่องจาก พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2558 ไม่ได้บัญญัติถึงการใช้บังคับมาตรา 681/1 (ที่แก้ไขใหม่) และมาตรา 727/1 (ที่แก้ไขใหม่) ไว้เป็นอย่างอื่น โจทก์จึงชอบที่จะบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4396/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท - การกระทำผิดฐานพนัน, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, และการปรับบทกฎหมายที่ถูกต้อง
ความผิดฐานร่วมกันเล่นการพนันและฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 15 มีเจตนาเล่นการพนันและฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลาเดียวกัน อันเป็นเจตนาเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 15 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่หลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 15 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน เป็นการไม่ชอบ และการที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนัน ย่อมเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอีกบทหนึ่งด้วย โดยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้ปรับบทกฎหมายลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ด้วยทั้งที่โจทก์บรรยายฟ้องและจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จึงเป็นการไม่ชอบ ส่วนจำเลยที่ 2 ความผิดฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ ฐานร่วมกันเล่นการพนันและฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยที่ 2 มีเจตนาเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ เล่นการพนัน และฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลาเดียวกัน อันเป็นเจตนาเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหลายบท มิใช่หลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน เป็นการไม่ชอบเช่นเดียวกัน กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 และกรณีเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 15 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1215/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องขับไล่, ค่าเสียหาย, และผลกระทบจากคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย
ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ บริษัท อ. เป็นบริษัทร้างซึ่งนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนตามความในมาตรา 1273/3 แห่ง ป.พ.พ. บริษัท อ. ย่อมสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนโดยผลแห่งกฎหมาย และเป็นกรณีที่ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 22 หมวด 6 ว่าด้วยการถอนทะเบียนบริษัทจำกัดร้าง มิใช่การเลิกบริษัทที่จะต้องมีการชำระบัญชีตามบทบัญญัติในหมวด 4 ส่วนที่ 8 ซึ่งจะต้องดำเนินการชำระบัญชีตามบทบัญญัติในหมวด 5 แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท อ. แต่เมื่อกรณีบริษัทร้างมิใช่การเลิกบริษัทที่จะต้องมีการชำระบัญชี จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท อ. โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีบริษัท อ. อย่างไรก็ตาม ตามคำฟ้อง นอกจากโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะดังกล่าวแล้ว โจทก์ยังฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะส่วนตัวให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในผลแห่งการทำละเมิดด้วยการครอบครองและนำที่ดินพิพาทของโจทก์พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกให้บุคคลภายนอกเช่าโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ด้วย ซึ่งหากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะส่วนตัวต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในผลแห่งการทำละเมิดดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม
โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันทำละเมิดด้วยการครอบครองที่ดินพิพาทและนำที่ดินพิพาทออกให้บุคคลภายนอกเช่าโดยไม่มีสิทธิและไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จำเลยทั้งสามมิได้ปฏิเสธว่าไม่ได้ครอบครอง แต่อ้างว่าการครอบครองอาศัยสิทธิของบริษัท อ. ส่วนการนำที่ดินพิพาทออกให้เช่ากระทำในฐานะตัวแทนบริษัท อ. จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาท เมื่อศาลวินิจฉัยว่า บริษัท อ. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยทั้งสามไม่อาจอ้างการครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิบริษัท อ. อีกต่อไปได้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสามย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นส่วนตัว
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 2 เด็ดขาด เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 อำนาจในการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) และมาตรา 25 ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องขอให้บังคับขับไล่ รื้อถอนและเรียกค่าเสียหาย ซึ่งส่วนที่มีคำขอบังคับขับไล่และรื้อถอนเป็นหนี้กระทำการมิใช่คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ตกอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 22 (3) แต่ส่วนที่มีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าเสียหายในส่วนที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 อันเป็นวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 2 เด็ดขาด จึงเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลาย โจทก์จะต้องนำหนี้ค่าเสียหายส่วนนี้ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามมาตรา 27 และมาตรา 91 และโจทก์จะได้รับชำระหนี้ค่าเสียหายส่วนนี้เพียงใดย่อมเป็นไปตามกระบวนการในคดีล้มละลาย เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่เข้าว่าคดีในส่วนนี้ การพิจารณาคดีส่วนนี้ไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป ต้องจำหน่ายคดีเฉพาะส่วนนี้ออกจากสารบบความ สำหรับค่าเสียหายนับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น เป็นหนี้เงินที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว จึงเป็นหนี้ที่โจทก์ไม่อาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดส่วนนี้ได้ แต่โจทก์จะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในหนี้ค่าเสียหายส่วนนี้ได้เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลุดพ้นจากการล้มละลายและต้องบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้มาภายหลังพ้นจากการล้มละลายเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4014/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค้ามนุษย์จากแรงงานต่างด้าว: การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็กและแรงงานต่างด้าวที่ถูกบังคับใช้แรงงาน
"การอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล" ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4 เป็นนิยามที่มุ่งหมายถึงการกระทำอย่างอื่นที่มีลักษณะของการบีบบังคับเพื่อหาผลประโยชน์ในรูปแบบอื่นของการเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม
ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กและเป็นลูกจ้างต้องทำงานตั้งแต่เวลา 2 หรือ 3 นาฬิกา จนถึง 18 นาฬิกา เฉลี่ยวันละ 15 ชั่วโมง ต่อวันทุกวัน และได้รับค่าจ้างเฉลี่ยแล้วไม่ถึง 200 บาท ต่อวัน ซึ่งเทียบกับเวลาทำงานแล้วถือว่าต่ำมาก ทั้งหากทำงานไม่ครบกำหนดเวลาก็จะไม่ได้ค่าจ้าง โดยไม่มีวันหยุดปกติและไม่ได้ค่าล่วงเวลาและค่าจ้างพิเศษ มีเวลาพักระหว่างทำงานในช่วงรับประทานอาหารเช้าและกลางวันครั้งละไม่เกิน 15 ถึง 30 นาที และต้องทำงานเหมือนผู้ใหญ่ แสดงให้เห็นถึงเจตนาเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมและเป็นการขูดรีดโดยจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์อันเป็นมูลค่าส่วนเกินจากการทำงานปกติของลูกจ้างโดยให้ทำงานเกินเวลาและเกินความคุ้มค่าการทำงานของลูกจ้างอย่างมาก แต่ลูกจ้างกลับได้รับค่าจ้างในอัตราค่าจ้างที่ต่ำกว่าปริมาณงานที่ทำ โดยอาศัยเงื่อนไขว่าหากทำงานไม่ครบเวลาทำงานต่อวันจะไม่ได้รับค่าจ้างในวันนั้นมาเป็นวิธีการบังคับให้ผู้เสียหายไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยอมทำงานให้ได้ค่าจ้างครบ อันเป็นการบีบบังคับเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมเข้าองค์ประกอบของเจตนาที่แสวงหาประโยชน์โดยวิธีการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานกระทำการค้ามนุษย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3949/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แจ้งความเท็จ-จดทะเบียนบริษัท: ผู้เสียหาย-อำนาจฟ้อง-การแย่งอำนาจจัดการ
ความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 และแจ้งให้เจ้าพนักงานจดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 267 โจทก์ได้บรรยายไว้ในตอนท้ายของฟ้องข้อ 2 ว่า ข้อความที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมรายการในทะเบียนบริษัทและคำรับรองการจดทะเบียนล้วนเป็นความเท็จ เพราะแท้ที่จริงแล้วโจทก์ไม่เคยทราบถึงการบอกกล่าวนัดประชุมเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 และไม่ได้เข้าประชุมเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2561 จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมครบจำนวน 3 คน และนับจำนวนหุ้นได้ 40,000 หุ้น ตามที่จำเลยทำคำรับรอง อันเป็นการบรรยายชี้ชัดลงไปแล้วว่าข้อความใดเป็นจริงและข้อความใดเป็นเท็จ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้วเมื่อจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียนว่าได้มีการบอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นและจัดให้มีการประชุม เป็นเหตุให้นายทะเบียนหลงเชื่อว่ามีการประชุมจริงจึงรับจดทะเบียนแก้ไขให้จำเลยแต่เพียงผู้เดียวเป็นกรรมการลงชื่อผูกพันบริษัทได้ ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นและกรรมการของบริษัทเป็นว่าไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทอีกต่อไปแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายตามป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 ได้โจทก์และจำเลยร่วมกันก่อตั้งบริษัท อ. มีโจทก์ จำเลยและ ด. ญาติของจำเลยเป็นผู้ถือหุ้น อันมีลักษณะเป็นบริษัทของครอบครัว การกระทำของจำเลยที่อ้างส่งเอกสารเท็จและแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียนเพื่อให้รับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทไว้ในสารบบรายการจดทะเบียนของบริษัท จึงเป็นเพียงการแย่งเอาอำนาจการบริหารจัดการบริษัทมาเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว ส่วนทรัพย์สินอื่น ๆ ของบริษัท รวมตลอดถึงหุ้นก็ยังคงเป็นของบริษัท และผู้ถือหุ้นรายเดิมในสัดส่วนจำนวนหุ้นเท่าเดิม ข้อเท็จจริงไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่า เป็นการกระทำเพื่อลวงให้โจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2884/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของลูกหนี้จากการส่งมอบสินค้าชำรุดบกพร่อง ทำให้สินค้าสำเร็จรูปเสียหาย ศาลลดค่าเสียหายตามส่วน
การที่จำเลยส่งสินค้าประเภทกระป๋องและฝากระป๋องไม่เหมาะสมแก่การใช้บรรจุอาหารตามความมุ่งหมายของโจทก์ เป็นเหตุให้สินค้าประเภทอาหารทะเลบรรจุกระป๋องของโจทก์ที่ผลิตโดยใช้สินค้าประเภทกระป๋องและฝากระป๋องของจำเลยเกิดความเสียหายจากการกัดกร่อนของสนิมแลคเกอร์เคลือบพองและอื่น ๆ ย่อมถือได้ว่า จำเลยในฐานะลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนอันเกิดแต่การนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215 ซึ่งการเรียกเอาค่าเสียหายนั้นได้แก่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ และเรียกค่าสินไหมทดแทนได้แม้กระทั่งเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะคาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 เงินค่าเสียหายซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตเป็นค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ของจำเลย ส่วนค่าใช้จ่ายที่โจทก์จ้างผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์ความเสียหายเพราะเหตุที่จำเลยปฏิเสธความรับผิด และค่าจัดเก็บสินค้าระหว่างที่มีข้อพิพาทระหว่างกัน เป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ซึ่งจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะคาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว จึงเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยในฐานะลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1673/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางอาญาของหุ้นส่วนผู้จัดการต่อความผิดของนิติบุคคล: พยานหลักฐานต้องแสดงการสั่งการหรือกระทำความผิดโดยตรง
พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอฟังว่า ในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 90/5 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ.2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4146/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ วิ่งราวทรัพย์: จำเลยทราบธุรกิจเป็นหุ้นส่วน แต่หลอกซื้อแล้วไม่จ่ายเงิน ถือความผิดสำเร็จ
จำเลยเข้าไปที่ร้านโดนัทที่เกิดเหตุแล้วบอก ส. พนักงานขายว่า "โดนัทที่เหลืออยู่ขอเหมาหมด" เมื่อ ส. นำโดนัทบรรจุใส่กล่องและนำกล่องใส่ถุงพลาสติก และคิดเงินว่าจำนวน 1,440 บาท จำเลยพูดว่า "ทำไมต้องจ่าย เพราะเป็นหุ้นส่วนบริษัท หนูรู้มั้ยว่าพี่เป็นใคร ถ้าไม่รู้ให้โทรไปถาม อ. บอกเค้าว่า น้องชายเค้าที่เป็นเจ้าของตัวจริงจะเอาไปทานบ้าง อีกไม่กี่วันร้านก็ปิดไม่ใช่เหรอ" และหยิบเอาขนมโดนัทเดินออกจากร้านที่เกิดเหตุ เมื่อจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่า ธุรกิจโดนัทที่ร้านเกิดเหตุเป็นธุรกิจในรูปหุ้นส่วน อ. เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งที่ย่อมรับผิดชอบในผลกำไรขาดทุน และทราบว่า อ. เป็นผู้บริหารธุรกิจขายโดนัทจนห้ามมิให้ ท. ที่เป็นน้องชายของจำเลยมายุ่งได้ เงินลงทุนของครอบครัวจำเลยที่ร้านเกิดเหตุหมดไปแล้ว และเป็นภาระหนี้สินที่ ส. และ ล. บิดามารดาจำเลยต้องไปดำเนินการเอากับ อ. ต่างหาก ดังนั้น พฤติการณ์ของจำเลยลักษณะหลอกว่าจะเหมาขนมโดนัททั้งหมดและเอาขนมโดนัทไปโดยจงใจไม่จ่ายเงินย่อมทำให้ ส. พนักงานขาย ต้องรับผิดในราคาขนมโดนัทดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์แล้ว ส่วนการที่จำเลยยังถือถุงขนมโดนัทอยู่ภายในศูนย์การค้าด้วยท่าทางการเดินเป็นปกติ ไม่มีลักษณะท่าทางกำลังวิ่งหลบหนี ทั้ง ส. ไม่ได้เรียกพนักงานรักษาความปลอดภัยให้ตามจำเลยมาจ่ายเงิน หาทำให้ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ที่สำเร็จแล้วไม่เป็นความผิดไม่
of 30