คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับศาล/ผู้พิพากษา
ศาลจังหวัดสวรรคโลก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 109 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 404/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ผิดกฎหมาย: สมาชิกไม่ใช่ผู้เสียหาย, ไม่มีอำนาจฟ้องฐานยักยอก
กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ว. มีวัตถุประสงค์ให้สมาชิกออมเงินแล้วนำเงินฝากของสมาชิกไปให้สมาชิกกู้ยืม โดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 บาท ต่อเดือน แล้วนำดอกเบี้ยมาจ่ายเป็นสวัสดิการให้แก่สมาชิก ดอกเบี้ยดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 24 บาท ต่อปี เกินกว่าร้อยละ 15 บาท ต่อปี ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ในขณะนั้น และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ที่ใช้บังคับภายหลัง ดังนี้ วัตถุประสงค์ในการดำเนินการกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ว. จึงต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 สมาชิกทุกรายที่เข้าร่วมฝากเงินและกู้ยืมรวมทั้งชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าว หรือเมื่อผิดนัด ยินยอมให้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยการนำต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระที่ฝ่าฝืนกฎหมายรวมเข้ากันแล้วคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ต่อไปซึ่งเกินกว่าระเบียบข้อบังคับกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ว. (ฉบับปรับปรุง 2549) ข้อ 23 รวมถึงการส่งมอบเงินฝาก รับเงินกู้ยืม เงินกำไรหรือปันผล ดอกเบี้ยของสมาชิกในทุกขั้นตอนตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว เป็นการร่วมกันกระทำการอันต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ทั้งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนซ้ำซ้อน โจทก์ร่วมและผู้เสียหายซึ่งเป็นสมาชิกจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ไม่มีสิทธิร้องทุกข์ในความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวอันยอมความกันได้ตาม ป.อ. มาตรา 356 พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง และพนักงานอัยการโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5392/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: ผู้เสียหายต้องเป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรง คดีไม่มีมูลแม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้อง
การที่จำเลยอ้างสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างมารดาโจทก์กับจำเลยเป็นพยานหลักฐานประกอบคำเบิกความของจำเลยในคดีแพ่ง ผู้เสียหายที่แท้จริงในความผิดฐานใช้เอกสารปลอมคือมารดาโจทก์เพราะการอ้างเอกสารดังกล่าวอาจมีผลให้มารดาโจทก์แพ้คดี โจทก์เป็นเพียงผู้เข้าเป็นคู่ความแทนที่มารดาโจทก์ในคดีแพ่ง มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้คดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลเสร็จไปแทนผู้ตายเท่านั้น โจทก์มิใช่บุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดของจำเลย ทั้งมิใช่บุคคลผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 4, 5, 6
แม้ศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้องแล้ว และป.วิ.อ. มาตรา 170 บัญญัติว่า คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด กรณีดังกล่าวเพียงแต่หมายถึงคู่ความไม่อาจอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นให้คดีมีมูลได้ แต่หากคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์และเห็นว่าโจทก์มิใช่ผู้เสียหาย คดีไม่มีมูลความผิด ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานดังกล่าวได้ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5392/2564 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: ผู้เสียหายที่แท้จริง vs. ผู้จัดการมรดก กรณีใช้เอกสารปลอม
บุคคลซึ่งจะมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล ต้องเป็นพนักงานอัยการหรือผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 และผู้เสียหายหมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6 ตามมาตรา 2 (4)
จำเลยอ้างสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่าง จ. กับจำเลยเป็นพยานหลักฐานประกอบคำเบิกความของจำเลยในคดีแพ่ง ผู้เสียหายที่แท้จริงคือ จ. เพราะการที่จำเลยอ้างส่งเอกสารดังกล่าวอาจมีผลทำให้ จ. แพ้คดี โจทก์เป็นเพียงผู้เข้าเป็นคู่ความแทน จ. ในคดีแพ่ง มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้คดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลเสร็จไปแทนผู้ตายเท่านั้น โจทก์จึงมิใช่บุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลย ทั้งมิใช่บุคคลผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6 อีกด้วย ประกอบกับพยานหลักฐานในสำนวนไม่ปรากฏว่า คดีแพ่งดังกล่าวถึงที่สุดโดยศาลมีคำพิพากษาว่าสัญญาซื้อขายระหว่าง จ. กับจำเลยเป็นสัญญาปลอมดังข้อต่อสู้ของ จ. โจทก์ในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของ จ. จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาคดีนี้เพราะเหตุจากการที่จำเลยอ้างส่งสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่าง จ. กับจำเลยเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งดังกล่าว และแม้คดีนี้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า ความผิดฐานใช้เอกสารปลอม มีมูลความผิดตาม ป.อ. มาตรา 268 ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา และ ป.วิ.อ. มาตรา 170 บัญญัติว่าคำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด กรณีดังกล่าวเพียงแต่หมายถึงคู่ความไม่อาจอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูลได้ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 และศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่า โจทก์มิใช่ผู้เสียหาย คดีไม่มีมูลความผิดฐานใช้เอกสารปลอม ตาม ป.อ. มาตรา 268 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานดังกล่าวได้เพราะปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2071/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญากู้ยืมเงินเพื่อปล่อยกู้ต่อโดยคิดดอกเบี้ยเกินอัตรา ศาลฎีกาพิพากษากลับให้ผู้กู้ชำระหนี้
ตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง พ.ศ.2558 ข้อ 14 วรรคสองกำหนดว่า จำเลยฎีกาอาจยื่นคำแก้ฎีกาต่อศาลชั้นต้นได้ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันฟังคำสั่ง คดีนี้ขณะโจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา ศาลชั้นต้นได้ส่งสำเนาคำร้องและคำฟ้องฎีกาให้จำเลยแล้ว เมื่อจำเลยทราบนัดวันฟังคำสั่งศาลฎีกาโดยชอบแล้วหากจำเลยประสงค์จะยื่นคำแก้ฎีกาต่อศาลชั้นต้นต้องยื่นภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันฟังคำสั่งศาลฎีกาตามข้อ 14 วรรคสอง ไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาคำฟ้องฎีกาให้จำเลยแก้ซ้ำอีก การที่โจทก์ไม่ได้นำส่งสำเนาภายในระยะเวลาดังกล่าวถือไม่ได้ว่าโจทก์จงใจเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีในการนำส่งสำเนาคำฟ้องฎีกาให้จำเลยตามคำสั่งศาลชั้นต้น โจทก์ไม่ได้ทิ้งฟ้องฎีกา เมื่อครบกำหนดระยะเวลาแก้ฎีกาแล้วจำเลยไม่ยื่นคำแก้ฎีกาจึงถือว่าจำเลยไม่ติดใจยื่นคำแก้ฎีกา
จำเลยกู้ยืมเงิน 1,800,000 บาท จากโจทก์แล้วนำเงินจำนวนดังกล่าวไปให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินต่อ โดยขณะให้ยืมนั้นโจทก์และจำเลยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยจะนำเงินไปให้บุคคลอื่นกู้ต่อโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดซึ่งเป็นการกระทำความผิดอาญาตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) (เดิม) ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 นิติกรรมการกู้ยืมระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ต้นเงินที่จำเลยกู้ยืมเงินไปนั้นสามารถแยกออกจากวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงินที่จำเลยต้องการเงินไปปล่อยกู้ต่อโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดที่เป็นโมฆะได้ ต้นเงินที่กู้ยืมไปจึงหาเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีไม่ กรณีมีผลเพียงโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้กู้ยืมที่เป็นต้นเหตุให้โจทก์จ่ายต้นเงินตามสัญญากู้เงินจึงต้องรับผิดคืนต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยผิดนัด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8699/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดทางเพศต่อเด็ก: การพิพากษาคดีและการพิจารณาความบกพร่องทางจิต
จำเลยเรียกผู้เสียหายซึ่งเล่นอยู่กับเพื่อนให้ไปพบจำเลยที่ห้องเรียนวิทยาศาสตร์และห้องน้ำชาย แสดงว่าจำเลยเป็นผู้เลือกที่จะกระทำกับผู้เสียหายและเลือกสถานที่กระทำความผิด ที่ล้วนแต่เป็นที่ลับตาคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากกระทำชำเราผู้เสียหายที่ห้องน้ำชายแล้ว จำเลยยังบอกผู้เสียหายว่า จำเลยจะออกจากห้องน้ำไปก่อนให้ผู้เสียหายนับ 1 ถึง 200 แล้วจึงออกจากห้องน้ำ บ่งชี้ว่าจำเลยรู้สำนึกในการกระทำความผิดของตน รู้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง จึงหาทางกลบเกลื่อนและหลบซ่อนจากการรู้เห็นของผู้อื่น อันเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบและยังสามารถบังคับตนเองได้ จึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำความผิดในขณะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน แต่ยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ที่ศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ตาม ป.อ. มาตรา 65

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5201/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามในปัญหาข้อเท็จจริง - คำรับสารภาพ - ข้ออุทธรณ์ใหม่ - การรับฟังพยานหลักฐาน
คดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาว่า พนักงานสอบสวนกระทำการไม่สุจริต สมคบกับผู้เสียหายที่ 1 บิดเบือน ปรุงแต่งข้อเท็จจริงทำให้คำให้การของผู้เสียหายทั้งสองสอดคล้องกัน ปรักปรำใส่ร้ายจำเลยโดยมีมูลเหตุจูงใจและผลประโยชน์ร่วมกัน เป็นการสอบสวนไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้าง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพและโจทก์ไม่ต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ ศาลรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องตามคำรับสารภาพ จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำความผิด เป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์และขัดแย้งกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2396/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต และผลของการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อที่ได้จากคดีอาญาต่อคดีแพ่ง
จำเลยที่ 1 ได้นำสัญญายืมถังบรรจุก๊าซฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาแล้วมีการส่งสัญญายืมถังบรรจุก๊าซไปตรวจพิสูจน์ที่กองพิสูจน์หลักฐานเปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อของ ส. แล้วลงความเห็นว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน ตามเอกสารท้ายคำร้องของจำเลย การที่โจทก์นำสัญญายืมถังบรรจุก๊าซมาฟ้องคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต แม้ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งเป็นข้อยกเว้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ที่บัญญัติว่า "ในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้น เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะยกข้อเหล่านั้นขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปก็ได้" แต่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้ศาลยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีได้โดยไม่ต้องมีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างตามบทกฎหมายดังกล่าวจะต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้มาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ คดีนี้จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ว่า ส. ไม่ได้ลงชื่อในสัญญายืมถังบรรจุก๊าซ คดีจึงไม่มีประเด็นว่าสัญญายืมถังบรรจุก๊าซเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ แม้ต่อมามีการนำเอกสารดังกล่าวไปฟ้องคดีอาญา ก็เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดจากพยานนอกประเด็นพิพาทไม่เกี่ยวกับที่คู่ความจะต้องนำสืบและเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกระบวนพิจารณา ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 ศาลจะรับฟังมาเป็นปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5755/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกป่าสงวนฯ และการพิจารณาคดีแพ่งที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาย้อนสำนวนเพื่อสอบคำให้การจำเลย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 516,699 บาท แต่ศาลชั้นต้นยังมิได้สอบคำให้การส่วนแพ่งของจำเลย กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองดำเนินการในส่วนนี้ให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8203/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลยุติธรรมอิสระจากคำชี้ขาด กกต. ในคดีเลือกตั้ง – ค่าเสียหายการเลือกตั้งใหม่
การใช้อำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นไปตามบริบทเฉพาะในส่วนของการจัดการการเลือกตั้งตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรฐานของดุลพินิจก็เป็นไปตามกฎหมายเลือกตั้ง ดังเช่นกรณีมาตรา 97 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว หากภายหลังมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการใดๆ โดยไม่สุจริตเพื่อให้ตนเองได้รับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้นั้น และผลของการพิจารณาชี้ขาดก็เป็นไปตามกฎหมายเลือกตั้ง แต่เมื่อมีการนำคดีมาฟ้องที่ศาลยุติธรรม ศาลยุติธรรมย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในบริบทของกระบวนพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม ไม่มีกฎหมายใดกำหนดบังคับให้ศาลยุติธรรมจะต้องผูกพันตามคำชี้ขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา มาตรฐานในการวินิจฉัยคดีของศาลยุติธรรมก็แตกต่างจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฉะนั้นศาลยุติธรรมย่อมมีคำวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2864/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินจากการทำประโยชน์ – การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ – การเพิกถอนโฉนดที่ดิน – สิทธิของทายาท
ว. ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยเป็นการเข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขดังที่กฎหมายบัญญัติ หากกระทำผิดเงื่อนไขรัฐจะเอาคืนเสียเมื่อใดก็ได้ ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ว. แม้ที่ดินพิพาทยังเป็นของรัฐ แต่ ว. ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ ว. จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ตามมาตรา 1367 ที่สามารถใช้ยันกับราษฎรหรือประชาชนทั่วไปได้ และ ว. อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหากปฏิบัติครบถ้วนตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 สิทธิของ ว. ที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมีลักษณะทำนองเดียวกับสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งสามารถโอนและรับมรดกกันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 และมาตรา 1411 เมื่อ ว. ถึงแก่ความตาย สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมเป็นกองมรดกของ ว. ตามมาตรา 1600 ตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ว. ตามมาตรา 1599 ส่วนบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทนั้น ว. เป็นผู้ปลูกสร้างโดยได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่และทำประโยชน์จากรัฐตามกฎหมายดังกล่าว บ้านจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 บ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. เมื่อ ว. ถึงแก่ความตายย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท
ว. ยังไม่ได้ขอให้ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง เพื่อนำไปขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามมาตรา 11 วรรคสอง ว. ถึงแก่ความตายเสียก่อน จำเลยไม่ใช่ทายาทของ ว. แต่กลับกล่าวอ้างว่าเป็นทายาทแล้วขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จากนั้นได้ขอออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์และดำเนินการออกโฉนดที่ดินเป็นชื่อของตน เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและเป็นการไม่ชอบ กระทบสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ว. ที่มีสิทธิตามกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนโฉนดที่ดินได้ แต่การที่โจทก์จะให้ใส่ชื่อโจทก์แทนจำเลยโดยไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินนั้นไม่อาจกระทำได้ เพราะโจทก์จะต้องไปดำเนินการตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอนโดยถูกต้องก่อน
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 สั่งค่าฤชาธรรมเนียมไม่ครบถ้วนโดยสั่งเฉพาะค่าทนายความ จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 167
of 11