คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับศาล/ผู้พิพากษา
ศาลจังหวัดสิงห์บุรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 133 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3549/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสัญญาซื้อขายทองคำ: ไม่ใช่อายุความ 2 ปี แต่เป็น 10 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ขายทองคำผ่านระบบอินเทอร์เน็ต แต่จำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบทองคำที่ทำการขายทุกรายการภายในกำหนดเวลา 3 วันทำการนับแต่วันที่จำเลยส่งคำสั่งขายแต่ละรายการ โจทก์จึงใช้สิทธิตามสัญญาดำเนินการล้างฐานะเพื่อบังคับชำระหนี้โดยหักกลบลบหนี้เพื่อทอนบัญชีระหว่างจำนวนเงินค่าทองคำที่จำเลยสั่งขายกับจำนวนเงินค่าทองคำที่ได้จากการบังคับซื้อกลับ ซึ่งตามสัญญาซื้อขายทองคำแท่ง ข้อ 5.1 ระบุว่า หากปรากฏพฤติการณ์ดังต่อไปนี้ไม่ว่าข้อใดข้อหนึ่ง ให้ภาระหนี้สินทั้งหมดของลูกค้าในบัญชีของลูกค้าถึงกำหนดชำระโดยพลัน และให้บริษัทสามารถดำเนินการการล้างฐานะซื้อขายทองคำได้ทันที...(1) เมื่อลูกค้าผิดนัดไม่ชำระค่าซื้อและ/หรือขายทองคำ และ/หรือผิดนัดการวางหลักประกัน และ/หรือผิดนัดชำระหนี้ใด ๆ ตามสัญญานี้ ภายในระยะเวลา และ/หรือเงื่อนไขข้อตกลงในสัญญานี้ หรือตามข้อกำหนดของบริษัท และ/หรือไม่ชำระเงินจำนวนใด ๆ ภายใต้สัญญานี้ตามจำนวนที่ต้องชำระเมื่อถึงกำหนดชำระ และข้อ 5.3 วรรคสอง ระบุว่า ในกรณีที่บริษัทล้างฐานะรายการซื้อขายทองคำของลูกค้าแล้ว ทำให้เกิดส่วนต่างของราคาทองคำที่ซื้อขาย และ/หรือผลขาดทุน และ/หรือ มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ลูกค้ายินดีรับผิดชอบชำระส่วนต่าง และ/หรือผลขาดทุน และ/หรือค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้กับบริษัททันทีที่ได้รับการทวงถามจากบริษัท พร้อมด้วยค่าเสียหายและดอกเบี้ยและ/หรือเบี้ยปรับ ในอัตราที่บริษัทกำหนดนับจากวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้บริษัทครบถ้วน การที่จำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบทองคำให้โจทก์ตามกำหนด โจทก์จึงใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 5.1 (1) เพื่อดำเนินการล้างฐานะซื้อขายทองคำอันทำให้เกิดส่วนต่างของราคาทองคำที่ซื้อขายที่จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาข้อ 5.3 วรรคสอง ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องดังกล่าวจึงเป็นการเรียกเอาค่าเสียหายจากส่วนต่างของราคาทองคำเนื่องจากจำเลยมิได้ส่งมอบทองคำให้แก่โจทก์ภายในกำหนดตามข้อตกลงในสัญญาดังกล่าว สิทธิเรียกร้องในลักษณะนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งมีกำหนด 10 ปี มิใช่อายุความ 2 ปี ดังที่จำเลยฎีกาฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 474/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมีเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลแก้ไขคำพิพากษาให้ลงโทษฐานครอบครองกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตแทน
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า เครื่องกระสุนปืนเล็กกลของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนสามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิตและวัตถุได้ และเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 เท่านั้น โดยไม่บรรยายฟ้องให้เห็นว่า เครื่องกระสุนปืนดังกล่าวเป็นชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง กรณีจึงไม่อาจฟังว่าเครื่องกระสุนปืนของกลางเป็นชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามกฎกระทรวงดังกล่าว ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 ตามฟ้อง แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครอง ย่อมรวมถึงการมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนด้วย ถือได้ว่าความผิดตามที่โจทก์ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้ในตัวเอง จึงไม่ใช่ความผิดที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ แม้ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 บัญญัติความผิดทั้งสองฐานไว้ในคนละมาตรา แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายฟ้องฟังได้ว่า จำเลยมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลย่อมลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตซึ่งมีบทลงโทษเบากว่าได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6614/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงวิ่งเต้นแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเป็นโมฆะ, การคืนเงินถือเป็นลาภมิควรได้, โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยรับจะดำเนินการวิ่งเต้นให้โจทก์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธร โจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่าจำเลยจะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยตนเองหรือผ่านบุคคลอื่นเพื่อแทรกแซงการใช้ดุลพินิจของผู้มีอำนาจแต่งตั้ง โดยมีเงินที่ได้รับจากโจทก์เป็นค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ การที่โจทก์ตกลงมอบเงินให้ตามข้อเสนอของจำเลย แต่โจทก์ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การคืนทรัพย์อันเกิดจากโมฆะกรรม ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตาม มาตรา 172 วรรคสอง การที่โจทก์มอบเงินให้จำเลยไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นการกระทำตามอำเภอใจ เสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ทั้งยังเป็นการชำระหนี้อันฝ่าฝืนศีลธรรมอันดี จึงไม่อาจเรียกร้องเงินคืนได้ตาม มาตรา 407 และ 411

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6833/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินมีโฉนด โดยผู้ครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องเกิน 10 ปี
ผู้ร้องทั้งสองบรรยายข้อเท็จจริงในคำร้องขอทำนองว่า ผู้ร้องทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตแนวของโฉนดที่ดินที่ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยผู้ร้องทั้งสองเข้าใจมาตลอดว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนเองหรือเป็นที่ดินที่ผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองนำโฉนดที่ดินมาแสดงและอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทในฐานะผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน ผู้ร้องทั้งสองจึงร้องขอว่า ผู้ร้องทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ต่อผู้คัดค้านทั้งสอง ดังนี้ คำร้องขอของผู้ร้องทั้งสองจึงเป็นการบรรยายข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และสามารถอ่านเข้าใจเจตนาของผู้ร้องทั้งสองในการยื่นคำร้องขอในคดีนี้ได้ว่า ไม่ใช่การบรรยายข้อเท็จจริงที่เป็นการร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินของตนเองหรือขัดกันเอง แต่เป็นการร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของผู้คัดค้านทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8287/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแต่งตั้งทนายความหลังเริ่มพิจารณาคดี: ไม่ถือเป็นเหตุให้ต้องย้อนสำนวน หากจำเลยไม่เสียเปรียบ
เจตนารมณ์ของ ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง เพื่อให้จำเลยมีทนายความช่วยเหลือในการต่อสู้คดีที่มีอัตราโทษจำคุก แม้ปรากฏว่าก่อนศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังและสอบคำให้การจำเลย ศาลชั้นต้นไม่ได้ถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ แต่ในวันนัดฟังคำพิพากษา จำเลยได้แต่งตั้งทนายความ และทนายจำเลยก็ได้ทำหน้าที่ทนายจำเลยตลอดมาจนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยเสียเปรียบในเชิงคดี ทั้งจำเลยก็มิได้เปลี่ยนแปลงคำให้การของจำเลยแต่ประการใด ถือได้ว่าจำเลยยังคงให้การรับสารภาพ คดีจึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสอบจำเลยเรื่องทนายความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5505/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยิงปืนเข้าบ้านแม้ไม่ตรงตัวบุคคล แต่เล็งเห็นผลถึงอันตรายถึงแก่ชีวิต ถือเป็นความพยายามฆ่า
การที่จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งมีสภาพร้ายแรงยิงเข้าไปที่ขอบหน้าต่างด้านบนของห้องของบ้านเกิดเหตุ โดยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเมื่อกระสุนปืนกระทบขอบหน้าต่างแล้วจะหักเหไปในทิศทางใด จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนอาจแฉลบไปถูกผู้ที่อยู่ภายในห้องถึงแก่ชีวิตได้ จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5146/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานสนับสนุนการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและการกระทำความผิดเกี่ยวกับเอกสารราชการ
ป.อ. มาตรา 84 วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ..." นั่นคือ ให้ถือเสมือนว่าผู้ใช้เป็นตัวการ เป็นการร่วมกระทำความผิดด้วยกันตามมาตรา 83 ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ..." แต่กรณีที่ผู้กระทำความผิดด้วยตนเองโดยไม่ร่วมกับผู้อื่นนั้น ไม่เรียกว่าตัวการ ดังนั้น หากร่วมกระทำความผิดกับผู้อื่น แต่ผู้ร่วมกระทำคนใดคนหนึ่งขาดคุณสมบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้นั้น อันเนื่องมาจากเป็นความผิดเฉพาะตัวผู้ที่มีคุณสมบัติเฉพาะตามที่กฎหมายบัญญัติเป็นองค์ประกอบของความผิดไว้ ดังเช่นมาตรา 162 (1) (2) ผู้นั้นก็เป็นตัวการไม่ได้ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสาร จำเลยที่ 1 จึงขาดคุณสมบัติเฉพาะตัวตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในฐานเป็นตัวการเพราะใช้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดตามมาตรา 162 (1) (2) ได้ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ใช้ก็เป็นได้แต่ผู้สนับสนุนเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3588-3589/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำสืบประเด็นค่าเสียหายที่ไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้น ถือเป็นการนำสืบนอกประเด็นและต้องห้ามอุทธรณ์
ปัญหาว่า โจทก์ทั้งสองไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนค่ารักษาพยาบาล ค่าทนทุกข์ทรมานและค่าเสียหายอื่นหรือไม่ มิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้ให้การไว้ จึงไม่ใช่ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี ข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่ว่าโจทก์แถลงข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณา จึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4166/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางอาญาและแพ่งของจำเลยที่ 3 ที่ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และ 2 แม้ผู้เสียหายมิได้อุทธรณ์
แม้ผู้เสียหายทั้งสองซึ่งยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเป็นคำขอในส่วนคดีแพ่ง มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาในส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ต้องวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดต่อผู้ร้องทั้งสองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ด้วย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7515/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางอาญาและแพ่งจากการร่วมกันทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส อันเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดต่อผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายด้วย แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้ยกขึ้นวินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้การพิพากษาคดีส่วนแพ่งเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา โดยเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 ร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายตามจำนวนที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด
of 14