คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับศาล/ผู้พิพากษา
ศาลจังหวัดอ่างทอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 213 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2112/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาหลอกลวงไม่ใช่การเล่นแชร์ แม้มีการอ้างอิงรูปแบบการเล่นแชร์เพื่อหลอกลวง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดข้อหาเป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวงและมีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน โดยเป็นนายวงแชร์และจัดให้มีการเล่นแชร์พร้อมกับวงแชร์อื่นหลายวงมากกว่าสามวง และมีสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน แต่ในคำฟ้องโจทก์ที่บรรยายพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยให้เห็นว่า จำเลยเพียงแต่อ้างการจัดให้มีการเล่นแชร์มาเป็นข้อหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินค่างวดแชร์จากผู้เสียหายหรือผู้อื่น จำเลยมิได้มีเจตนาจัดให้มีการเล่นแชร์ตามข้อกล่าวอ้างอันเป็นองค์ประกอบความผิดต่อ พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (1) (2) จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการเล่นแชร์ตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4 แม้จำเลยให้การรับสารภาพ แต่เมื่อพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องมีเจตนาแท้จริงคือหลอกลวงฉ้อโกงประชาชนด้วยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าเป็นวงแชร์ที่ให้ผลตอบแทนโดยไม่มีเจตนาจ่ายผลตอบแทนจริงและไม่มีการเปียหรือประมูลแชร์แต่อย่างใด ที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องไม่อาจถือเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดข้อหาดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4451-4453/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารและร่วมกันลักทรัพย์ การหักวันคุมขังและการนับโทษ
ป.อ. มาตรา 22 วรรคแรก ไม่ได้บัญญัติให้ศาลต้องหักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษาเสมอไป ศาลมีดุลพินิจที่จะพิจารณาว่าสมควรหักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกหรือไม่ในแต่ละคดี เพียงแต่บัญญัติบังคับไว้ว่า หากเห็นว่าไม่สมควรหักก็ให้ศาลกล่าวไว้ในคำพิพากษา
จำเลยที่ 8 ถูกขังระหว่างสอบสวนและระหว่างพิจารณาในคดีสำนวนนี้และสำนวนอื่นในเวลาเดียวกันตามหมายขัง 134 คดี เป็นการขังซ้อนกันไป เมื่อศาลได้หักจำนวนวันที่จำเลยที่ 8 ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกในคดีกลุ่มอื่นแล้ว การที่จะหักจำนวนวันที่จำเลยที่ 8 ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกในสำนวนนี้อีกจึงเป็นการหักที่ซ้ำซ้อนซึ่งทำให้การบังคับโทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เป็นไปตามความจริง ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจโดยกล่าวไว้ในคำพิพากษาว่า ไม่หักวันคุมขังคดีนี้ออกจากโทษจำคุกตามคำพิพากษาคดีนี้ เนื่องจากหักวันคุมขังในกลุ่มคดีอื่นที่จำเลยที่ 8 ถูกคุมขังแล้ว จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีและยุติธรรมดีแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3172/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมโดยอายุความ: การใช้ทางโดยเข้าใจว่าเป็นสาธารณะ ไม่ถือเป็นการใช้โดยปรปักษ์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2544 จำเลยทั้งสี่ให้สภาตำบลศรีพรานทำถนนดินระหว่างที่ดินของโจทก์และจำเลยทั้งสี่โดยงบประมาณของสภาตำบลศรีพราน ต่อมาก็นำงบประมาณมาทำเป็นถนนคอนกรีตเพื่อให้เป็นเส้นทางเดินของโจทก์ จำเลยทั้งสี่ และประชาชนทั่วไปเพื่อออกสู่ทางสาธารณะ ทั้งในชั้นพิจารณาโจทก์นำสืบว่า องค์การบริหารส่วนตำบลศรีพรานเป็นผู้ก่อสร้างถนนพิพาทตั้งแต่ปี 2548 แสดงว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทโดยเข้าใจว่าเป็นทางสาธารณะมาตั้งแต่ต้น การใช้สิทธิผ่านทางพิพาทของโจทก์จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการใช้โดยปรปักษ์ต่อจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ตั้งทางพิพาท เพื่อให้ได้สิทธิภาระจำยอมแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่ได้ภาระจำยอมโดยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382 แม้หากจะฟังว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทเกินกว่า 10 ปี ทางพิพาทก็ไม่เป็นภาระจำยอมเพื่ออสังหาริมทรัพย์แก่ที่ดินของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4923/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับจากข้อตกลงรถยนต์คันแรก ศาลยืนตามดุลยพินิจลดอัตราดอกเบี้ย
ตามคำขอใช้สิทธิและเงื่อนไขสำหรับรถยนต์ใหม่คันแรกที่กำหนดว่า กรณีผู้ขอใช้สิทธิมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขสละสิทธิการโอนรถยนต์ใหม่คันแรกภายใน 5 ปี ให้ครบถ้วนจะต้องนำเงินที่ได้รับไปส่งคืน โดยยินยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้น เป็นกรณีที่โจทก์เรียกดอกเบี้ยจากจำเลยหลังจากผิดนัดชำระหนี้ ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าถือเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าเป็นเบี้ยปรับและใช้ดุลพินิจปรับลดเป็นอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้น เหมาะสมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2419/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษซ้ำซ้อนในคดีความผิดเกี่ยวเนื่องกัน ศาลต้องคำนึงถึงบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2)
คดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 2165/2561 ถึง 2171/2561 ของศาลชั้นต้นมีลักษณะแห่งคดี และความผิดเป็นอย่างเดียวเกี่ยวพันกัน จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกัน โจทก์จึงอาจจะฟ้องคดีทั้งแปดสำนวนเป็นคดีเดียวกันได้ แต่โจทก์แยกฟ้องคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 2165/2561 ถึง 2171/2561 โดยศาลชั้นต้นมิได้สั่งรวมการพิจารณาคดีนี้เข้ากับคดีหมายเลขแดงที่ 2165/2561 ถึง 2171/2561 ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทุกกรรมและจำคุกจำเลยมีกำหนด 20 ปี เต็มตามที่กำหนดไว้ใน ป.อ. มาตรา 91 (2) ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2165/2561 ถึง 2171/2561 ของศาลชั้นต้นแล้ว ศาลชั้นต้นย่อมไม่อาจนำโทษของจำเลยในคดีนี้ไปนับต่อกับโทษของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 2165/2561 ถึง 2171/2561 ของศาลชั้นต้นได้ เพราะจะทำให้จำเลยต้องรับโทษจำคุกเกินกำหนดที่ ป.อ. มาตรา 91 (2) บัญญัติไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2267/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจัดการศพ: พิจารณาความเหมาะสมตามสถานะพระภิกษุและศรัทธาของประชาชน
โจทก์บรรยายสภาพแห่งข้อหาว่า โจทก์เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับพระครู อ. ซึ่งถึงแก่มรณภาพขณะบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดจำเลยที่ 1 ที่มีจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าอาวาส และมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า เมื่อพระครู อ. ถึงแก่มรณภาพ โจทก์ติดต่อขอรับสังขารของพระครู อ. เพื่อนำไปฌาปนกิจตามประเพณี แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอม จำเลยทั้งสองให้การว่า ก่อนถึงแก่มรณภาพ พระครู อ. สั่งเสียลูกศิษย์ให้เก็บสังขารไว้ให้บรรพชนรุ่นหลังกราบสักการะ เนื้อหาแห่งคดีเป็นเรื่องสิทธิในการจัดการศพของผู้ตาย ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสองมีหน้าที่จัดการศพผู้ตาย แม้ศาลชั้นต้นชี้สองสถานโดยกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เพียงว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ แต่การที่โจทก์จะมีอำนาจฟ้องหรือไม่ อยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 55 ว่าโจทก์ถูกจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิจัดการศพผู้ตายหรือไม่ และในการวินิจฉัยชี้ขาดของศาลต้องพิจารณาฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานทั้งมวลที่ปรากฏในสำนวนว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสองเป็นบุคคลต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ให้มีหน้าที่จัดการศพผู้ตายหรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยทั้งสองว่า ก่อนถึงแก่มรณภาพพระครู อ. มีทรัพย์สินรถยนต์ส่วนบุคคลเป็นมรดกตกทอดแก่วัดจำเลยที่ 1 เนื่องจากมิได้ร้องขอแก้ไขภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด มีผลเพียงว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ได้ปรากฏขึ้นจากการกล่าวอ้างในคำให้การของจำเลยทั้งสองเท่านั้น หากศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงส่วนนี้เพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดคดีได้ถูกต้องแท้จริงก็มีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ผู้ใดได้รับมรดกของผู้ตายมากที่สุดซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีว่าโจทก์หรือจำเลยทั้งสองมีหน้าที่จัดการศพผู้ตาย จึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานโดยชอบเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในการชี้ขาดคดี
พระครู อ. มีทายาทเหลืออยู่เพียงคนเดียวคือโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้หนึ่งที่มีอำนาจหน้าที่จัดการศพของพระครู อ. ได้ แต่เมื่อตามสถานะของผู้ตายซึ่งได้บวชเป็นพระภิกษุตั้งแต่อายุ 25 ปี และมรณภาพอายุ 75 ปี รวมเวลาที่อยู่ในสมณเพศนานถึง 50 พรรษา หลังจากพระครู อ. ถึงแก่มรณภาพแล้ว ญาติพี่น้องรวมทั้งจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันจัดงานสวดพระอภิธรรมศพเป็นเวลา 15 วัน โดยวัดจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายแล้วบรรจุเก็บสังขารของพระครู อ. ไว้บำเพ็ญกุศลทุกวันพระเป็นเวลา 100 วันพระ และได้ความตามรายงานการประชุมเกี่ยวกับการจัดการศพพระครู อ. ว่า มีประชาชนศรัทธามาสักการะสังขารของพระครู อ. เป็นจำนวนมาก แสดงว่าพระครู อ. เป็นพระที่ประชาชนเลื่อมใสศรัทธา ยิ่งไปกว่านั้น การที่พระครู อ. บวชเป็นพระภิกษุตลอดมา แสดงว่าพระครู อ. มีศรัทธาอุทิศตนเพื่ออยู่ในพุทธศาสนา ซึ่งมีวัดเป็นสถานรวมกิจกรรมของสงฆ์และการประกอบพิธีทางศาสนาของประชาชน การที่โจทก์เป็นผู้จัดการศพของพระครู อ. น่าจะไม่สอดคล้องกับความศรัทธาของประชาชนผู้เลื่อมใสเคารพนับถือแก่พระครู อ. จึงเป็นการสมควรที่วัดจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับสรีระสังขารของพระครู อ. ต่อไป โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าโจทก์หรือวัดจำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับมรดกของผู้ตายมากที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 85/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ใช้ให้ฆ่าและชิงทรัพย์ ศาลฎีกาพิพากษาโทษประหารชีวิต ลดเหลือจำคุกตลอดชีวิต
แม้คำให้การชั้นสอบสวนของ จ. จะระบุว่า จำเลยพูดขอร้อง จ. ว่าจำเลยจะทำอย่างไรดีช่วยจำเลยด้วย ซึ่งหากจำเลยไม่มีเจตนาที่จะใช้ จ. ไปฆ่าผู้ตายทั้งสองแล้วจำเลยก็น่าจะพูดในทำนองขอร้องให้ จ. ไปทำร้ายผู้ตายทั้งสองซึ่งเป็นการเพียงพอแล้ว มิใช่พูดทำนองให้ จ. ฆ่าผู้ตายทั้งสองเมื่อใดก็ได้ ถ้อยคำที่ จ. เล่าให้พนักงานสอบสวนฟังและพนักงานสอบสวนบันทึกลงในคำให้การดังกล่าว พอแปลได้ชัดว่า จำเลยมีเจตนาที่จะให้ จ. ไปฆ่าผู้ตายทั้งสอง ไม่ใช่เป็นการปรับทุกข์หรือปรึกษาหารือระหว่างจำเลยกับ จ. ในฐานะคนคุ้นเคย รักใคร่ชอบพอกันแต่อย่างใด แต่เป็นการพูดจาในลักษณะหว่านล้อม โน้มน้าวขอร้องโดยมีความประสงค์ที่จะให้ จ. ฆ่าผู้ตายทั้งสองโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและชิงทรัพย์ผู้ตายทั้งสอง อันเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดแล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จ. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสองและชิงทรัพย์ไปในลักษณะต่อเนื่องคราวเดียวแสดงให้เห็นถึงเจตนาของ จ. ว่า จ. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสองเพื่อประสงค์ต่อผลในการฆ่าผู้ตายทั้งสองและประสงค์จะเอาทรัพย์ของผู้ตายทั้งสองไปเพื่อเป็นค่าดำเนินการด้วย ตามที่จำเลยแจ้งต่อ จ. ว่าจะต้องฆ่าผู้ตายทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากัน และผู้ตายทั้งสองมีทรัพย์สินอยู่ในที่เกิดเหตุสามารถชิงไปได้ มิได้มีเจตนาฆ่าผู้ตายที่ 1 และชิงทรัพย์ไป แล้วเกิดเจตนาฆ่าผู้ตายที่ 2 แล้วชิงทรัพย์ ขึ้นภายหลังเพิ่มขึ้นอีก ลักษณะเจตนาในการกระทำความผิดจึงเป็นอันเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่ความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8586/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีค่าปรับหลังได้รับอภัยโทษ: การยึดทรัพย์สินยังชอบด้วยกฎหมาย แม้ได้รับอภัยโทษในส่วนโทษกักขัง
ตามบทบัญญัติของกฎหมาย ผู้ใดต้องโทษปรับตามคำพิพากษาของศาล และไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับหรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 29 (เดิม) เมื่อจำเลยมิได้ชำระค่าปรับ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อบังคับเป็นค่าปรับจึงเป็นการดำเนินการไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่จำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 มาตรา 5 บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษเด็ดขาด ในกรณีที่ผู้นั้นยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุก หรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับให้ได้รับการปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องรับโทษเท่านั้น แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการยึดทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อนำมาขายทอดตลาดชำระเป็นค่าปรับด้วย การยึดทรัพย์สินเพื่อบังคับเป็นค่าปรับจึงมิได้รับการพระราชทานอภัยโทษไปแต่อย่างใด ส่วนการบังคับโทษปรับตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 21 แม้จะเป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับภายหลังจากคดีของจำเลยถึงที่สุดแล้วก็ตามก็เป็นเพียงการกำหนดแนวทางหรือวิธีปฏิบัติในการบังคับโทษปรับให้ชัดเจนขึ้น โดยให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดี กับให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้สำนักงาน ป.ป.ส. มีอำนาจตรวจสอบทรัพย์สินและให้ถือเป็นเจ้าหนี้คำพิพากษาเท่านั้น กรณีหาใช่เป็นการนำกฎหมายย้อนหลังมาบังคับแก่ทรัพย์สินของจำเลยทำให้จำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรมไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2469/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษต่อจากคดีอื่น: ศาลใช้ดุลพินิจได้แม้เลขคดีในคำขอจะผิดพลาด แต่จำเลยเข้าใจตรงกัน
ป.อ. มาตรา 22 วรรคหนึ่ง เป็นบทกำหนดหลักเกณฑ์ในการบังคับโทษจำคุกว่าให้เริ่มนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา โดยมีข้อยกเว้นในกรณีที่ศาลจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น การใช้ดุลพินิจให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่น จึงเป็นข้อยกเว้นไม่ให้เริ่มนับแต่วันมีคำพิพากษา โจทก์มีคำขอให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2554 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรี และฟ้องโจทก์ก็บรรยายด้วยว่าระหว่างสอบสวนจำเลยถูกจำคุกอยู่ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2555 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรีที่เรือนจำจังหวัดอ่างทอง จำเลยเป็นคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2554 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรี เห็นได้ชัดเจนว่า โจทก์พิมพ์เลข พ.ศ. ของคดีที่ขอให้นับโทษต่อผิดพลาดถือเป็นเรื่องเล็กน้อย ตามสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2555 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรีท้ายฎีกาโจทก์ ก็ระบุว่าเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2555 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรี โดยจำเลยมิได้แก้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่น แม้จำเลยให้การรับว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2554 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรี ที่มีเลข พ.ศ. คลาดเคลื่อน แต่จำเลยย่อมเข้าใจได้ว่าเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 191/2555 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรี ศาลย่อมใช้ดุลพินิจให้เริ่มนับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 191/2555 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7110/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบรถบรรทุกจากความผิดน้ำหนักเกินกฎหมายทางหลวง มีผลกระทบต่อความปลอดภัย
จำเลยใช้รถบรรทุกลากจูงและรถบรรทุกกึ่งพ่วงของกลางมีน้ำหนักบรรทุกรวมน้ำหนักรถเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ถึง 10,400 กิโลกรัม เพื่อประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ทางหลวงแผ่นดิน ทั้งยังมีผลกระทบต่อผู้ร่วมใช้เส้นทางสัญจรไปมาที่ต้องเสี่ยงต่ออันตรายอันเกิดจากสภาพแห่งท้องถนนที่ได้รับความเสียหาย ทำให้ยากต่อการควบคุมให้รถแล่นไปได้อย่างปลอดภัย ซึ่งอาจมีผลก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่นได้ ดังนั้น รถบรรทุกลากจูงและรถบรรทุกกึ่งพ่วงของกลางซึ่งใช้ในการกระทำความผิดจึงเป็นทรัพย์ที่สมควรต้องริบ
of 22