พบผลลัพธ์ทั้งหมด 677 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4656/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
กรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์สินที่ได้มาจากการอยู่กินฉันสามีภริยา แม้ไม่มีการจดทะเบียนสมรส
โจทก์และจำเลยตกลงอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาด้วยใจสมัคร แม้จะไม่มีการสู่ขอ ไม่มีสินสอดทองหมั้น ไม่ได้จัดพิธีแต่งงานกันตามประเพณี และไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ไม่ก่อให้เกิดสิทธิหน้าที่ในทางทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันเป็นสินสมรสเช่นอย่างสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการอยู่ร่วมกันเช่นนี้มิใช่เป็นเหมือนหุ้นส่วนและไม่เข้าลักษณะของบทกฎหมายว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัท เนื่องเพราะมิใช่ข้อตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 1012 แต่ทรัพย์สินที่ทำมาหามาได้ร่วมกันระหว่างที่อยู่ด้วยกันฉันสามีภริยานั้น ย่อมเป็นกรรมสิทธิ์รวมหรือเจ้าของรวมซึ่งต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 4 ทรัพย์สิน ลักษณะ 2 หมวด 3 ว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม มาตรา 1357 ที่บัญญัติว่า ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 406/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะโดยสุจริต ไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาทตามมาตรา 329(3) ป.อ.
การที่จำเลยพิมพ์ข้อความ "#ท่าน ม.หัวหน้าพรรค ท. #ขอติดตามความคืบหน้ากรณีแต่งตั้งปลัดกระทรวงที่อยู่ระหว่างการถูกสอบ #ขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ออกเมื่อ 27 มีนาคม 2561 #ใครรับผิดชอบเรื่องนี้ผ่านมา 2 ปีแล้วจะปล่อยให้ความไม่ถูกต้องอยู่แบบนี้หรือ #ขอขอบคุณภาพและข่าวจากสำนักข่าวไทยอสมท ท่าน สส. ม. เรื่องนี้ท่านต้องติดตามนะครับว่าสรุปแล้วเป็นอย่างไรเท่าที่ทราบมีการตั้งกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงแล้ว กรรมการสรุปแล้วว่ามีความผิดจริงแต่เป็นความผิดเล็กน้อย ขอโทษนะครับถ้าเป็นมาตรฐานความผิดที่ ปปช. ลงดาบมาตลอดสำหรับการใช้รถหลวง ใช้เวลาหลวงไปใช้ในกิจการส่วนตัว ปปช. ไม่ไล่ออกก็ให้ออกครับไม่ใช่ความผิดเล็กน้อยแบบนี้ คงต้องอาศัยท่าน สส. ม. สส. ขวัญใจประชาชนติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้ด้วยครับ"... ในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก เห็นว่าตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นตำแหน่งราชการสูงสุดของข้าราชการประจำกระทรวงอุตสาหกรรม จึงนับว่าเป็นบุคคลสำคัญที่อยู่ในสายตาของสาธารณะการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความรู้ความสามารถ ตลอดจนจริยธรรมและคุณธรรม และการติดตามผลการปฏิบัติงานในหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวโดยสุจริตย่อมเป็นเรื่องปกติที่ประชาชนทั่วไปสามารถกระทำได้ การที่จำเลยติดตามผลการสอบสวนข้อเท็จจริงภายในกระทรวงอุตสาหกรรม หรือมีหนังสือร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินหรือคณะกรรมการ ปปช. เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการของปลัดกระทรวง พิมพ์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์การแต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวในเว็บไซต์เฟซบุ๊กย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการแจ้งให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายใช้ดุลพินิจตรวจสอบบุคคลสาธารณะ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยนำเสนอข้อมูลในเว็บไซต์เฟซบุ๊กโดยไม่สุจริตอย่างไร ต้องการสร้างความเสียหายหรือประสงค์ให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง เพราะเหตุใดตามหน้าที่ภาระการพิสูจน์ของโจทก์ตามกฎหมายในคดีอาญา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตาม ป.อ. มาตรา 329 (3) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4954/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การวินิจฉัยประเด็นนอกคำคู่ความและข้อเท็จจริงที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีในประเด็นเรื่องการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทโดยสุจริต และศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวไว้ ทั้งการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง จะต้องได้ความว่าเจ้าของโรงเรือนปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินของตนเองแต่มีบางส่วนของโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น ส่วนที่รุกล้ำต้องเป็นส่วนน้อยและส่วนที่อยู่ในที่ดินของตนนั้นต้องเป็นส่วนใหญ่ มิฉะนั้นจะเรียกว่าสร้างโรงเรือนรุกล้ำมิได้ ซึ่งข้อเท็จจริงคดีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยเข้าไปปลูกสร้างโรงเรือนต่าง ๆ ในที่ดินโฉนดเลขที่ 4478 โดยอาศัยสิทธิของ บ. ทั้งหมด และไม่มีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของจำเลยเลย กรณีจึงไม่อาจปรับด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1312 ได้ ดังนั้นการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่หยิบยกประเด็นเรื่องความสุจริตตามบทมาตราดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น และไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา เพราะมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4117/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดโดยไม่มีมูลและประวิงการชำระหนี้ ผู้ร้องต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย
แม้ผู้ร้องจะได้ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งความคืบหน้าของคดีที่ผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์ได้ไปยังภูมิลำเนาหรือสำนักงานทำการใหม่ คือ เลขที่ 124 ซึ่งเป็นบ้านพักอาศัยของกรรมการและที่ตั้งของผู้ร้องตามหนังสือรับรองก็ตาม แต่ในคำร้องดังกล่าวผู้ร้องระบุอ้างแต่เพียงว่ามีเหตุขัดข้องในการแจ้งให้ผู้ร้องทราบผลคดี ทำให้ทราบในระยะเวลากระชั้นชิดเท่านั้น มิได้ประสงค์ที่จะให้ที่อยู่ที่แจ้งใหม่เป็นภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานเพียงแห่งเดียวของผู้ร้องแต่อย่างใด กรณีจึงยังต้องถือว่า อาคารเลขที่ 13/47 เป็นภูมิลำเนาอีกแห่งหนึ่งของผู้ร้องตาม ป.พ.พ.มาตรา 69 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งประกาศขายทอดตลาดใหม่ครั้งที่ 2 ให้แก่ผู้ร้องที่อาคารเลขที่ 13/47 ดังกล่าวโดยวิธีปิดหมาย จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ริบเงินมัดจำ ศาลชั้นต้นเห็นว่ากรณีมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องของผู้ร้องไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า จึงมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินหรือหลักประกันเพื่อประกันความเสียหาย ผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ศาลชั้นต้นจึงยกคำร้อง คำสั่งดังกล่าวย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ.มาตรา 296 วรรคห้า (เดิม) แต่ผู้ร้องกลับอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นทั้ง ๆ ที่คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นที่สุดแล้ว ซึ่งที่สุดแล้วศาลฎีกาได้มีคำสั่งไม่รับฎีกาและพิพากษายกฎีกา หลังจากนั้นผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดใหม่ครั้งที่ 2 นัดวันที่ 20 ตุลาคม 2559 อีก แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน และศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกาและไม่รับฎีกาของผู้ร้อง พฤติการณ์ของผู้ร้องที่ดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าว เป็นเหตุให้บริษัท ค. ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดใหม่ครั้งที่ 2 ต้องขอขยายระยะเวลาวางเงินออกไป และไม่อาจนำเงินที่เหลือมาวางชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงทำให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่สามารถจ่ายเงินให้แก่โจทก์ได้ ดังนี้ ถือเป็นการประวิงให้ชักช้าโดยไม่มีมูลมีผลให้การขายทอดตลาดไม่เสร็จสิ้น และผู้ซื้อทรัพย์รายใหม่ไม่อาจชำระราคาทรัพย์พิพาทอันเป็นผลมาจากการกระทำของผู้ร้อง หาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตไม่ และเมื่อก่อให้เกิดความเสียหาย ผู้ร้องจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ริบเงินมัดจำ ศาลชั้นต้นเห็นว่ากรณีมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องของผู้ร้องไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า จึงมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินหรือหลักประกันเพื่อประกันความเสียหาย ผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ศาลชั้นต้นจึงยกคำร้อง คำสั่งดังกล่าวย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ.มาตรา 296 วรรคห้า (เดิม) แต่ผู้ร้องกลับอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นทั้ง ๆ ที่คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นที่สุดแล้ว ซึ่งที่สุดแล้วศาลฎีกาได้มีคำสั่งไม่รับฎีกาและพิพากษายกฎีกา หลังจากนั้นผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดใหม่ครั้งที่ 2 นัดวันที่ 20 ตุลาคม 2559 อีก แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน และศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกาและไม่รับฎีกาของผู้ร้อง พฤติการณ์ของผู้ร้องที่ดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าว เป็นเหตุให้บริษัท ค. ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดใหม่ครั้งที่ 2 ต้องขอขยายระยะเวลาวางเงินออกไป และไม่อาจนำเงินที่เหลือมาวางชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงทำให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่สามารถจ่ายเงินให้แก่โจทก์ได้ ดังนี้ ถือเป็นการประวิงให้ชักช้าโดยไม่มีมูลมีผลให้การขายทอดตลาดไม่เสร็จสิ้น และผู้ซื้อทรัพย์รายใหม่ไม่อาจชำระราคาทรัพย์พิพาทอันเป็นผลมาจากการกระทำของผู้ร้อง หาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตไม่ และเมื่อก่อให้เกิดความเสียหาย ผู้ร้องจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4111/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เบิกความเท็จในคดีแพ่งหลังศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณา ไม่ถือว่าเบิกความเท็จ
ความผิดฐานเบิกความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177 บัญญัติว่า "ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษ..." เห็นได้ว่า การที่จะเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จนั้น นอกจากต้องได้ความว่า บุคคลที่ถูกฟ้องเข้าเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาลแล้ว ยังต้องได้ความด้วยว่าความเท็จที่เบิกความนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ได้ความจากโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองเบิกความเท็จต่อศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2280/2562 ว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นตัวแทน ฉ. และไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ แต่โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า ในคดีแพ่งดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ยื่นอุทธรณ์และขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองยื่นคำแก้อุทธรณ์ว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงพิพากษาเพิกถอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และยกอุทธรณ์ของโจทก์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่และมีคำสั่งตามรูปคดี ดังนั้นเมื่อจำเลยทั้งสองยื่นคำเบิกความและเข้าเบิกความเป็นพยานต่อศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2280/2562 ซึ่งโจทก์นำมาเป็นมูลเหตุในการฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 แล้ว อันมีผลให้ศาลอุทธรณ์ ภาค 5 พิพากษาเพิกถอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป ซึ่งรวมทั้งคำเบิกความเป็นพยานของจำเลยทั้งสอง และยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่เคยยื่นคำเบิกความและเข้าเบิกความเป็นพยานต่อศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวมาก่อนเลย จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า คำเบิกความของจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดีอันจะมีมูลเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177 หรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3114/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผลของคำสั่งรับฟื้นฟูกิจการต่อคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ: ต้องงดการพิจารณาตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย
เมื่อมีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้วย่อมมีผลต่อการดำเนินคดีแพ่งแก่ลูกหนี้ โดยต้องบังคับตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่ง ม. 90/12 (4) ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือเสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิดหรือได้รับความเสียหายให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้ามูลแห่งหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย ในกรณีที่มีการฟ้องคดีหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดไว้ก่อนแล้ว ให้งดการพิจารณาไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
คดีนี้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องไว้เพื่อพิจารณาแล้ว ในระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อไม่ปรากฏว่าศาลล้มละลายกลางที่รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จึงต้องด้วยกรณีที่คณะอนุญโตตุลาการต้องงดการพิจารณาไว้จนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนหรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดโดยไม่ได้งดการพิจารณาไว้จึงเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 (4) อันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นเหตุให้ต้องเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
คดีนี้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องไว้เพื่อพิจารณาแล้ว ในระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อไม่ปรากฏว่าศาลล้มละลายกลางที่รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จึงต้องด้วยกรณีที่คณะอนุญโตตุลาการต้องงดการพิจารณาไว้จนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนหรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดโดยไม่ได้งดการพิจารณาไว้จึงเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 (4) อันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นเหตุให้ต้องเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1302/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ขยายเวลาไถ่ขายฝากตาม พ.ร.บ.คุ้มครองประชาชนฯ และผลกระทบต่อสิทธิการไถ่ของลูกหนี้
แม้สัญญาขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยจะทำขึ้นก่อน พ.ร.บ.คุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ แต่เมื่อกำหนดไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝาก คือวันที่ 20 เมษายน 2562 เป็นกำหนดไถ่ที่มีหรือเหลือระยะเวลาน้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่ 17 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ กรณีย่อมต้องด้วยบทเฉพาะกาลมาตรา 20 ที่กำหนดให้สัญญาขายฝากซึ่งทรัพย์สินที่ขายฝากเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัยที่ได้ทำไว้ก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับและยังไม่ครบกำหนดเวลาไถ่ให้มีผลผูกพันคู่สัญญาต่อไปตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันทำสัญญาขายฝาก เว้นแต่กรณี (3) ให้นําความในมาตรา 17 มาใช้บังคับกับสัญญาขายฝากที่มีผลบังคับอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ และในกรณีที่กำหนดเวลาไถ่ในสัญญาขายฝากมีหรือเหลือระยะเวลาน้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ ให้ขยายกำหนดเวลาการไถ่ออกไปเป็นเวลาหกเดือนนับแต่วันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ กำหนดไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงต้องขยายระยะเวลาออกไปอีก 6 เดือนนับแต่วันที่ พ.ร.บ. นี้มีผลใช้บังคับ ทำให้จะครบกำหนดไถ่ในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 และเมื่อมาตรา 17 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ก่อนวันครบกำหนดเวลาไถ่ไม่น้อยกว่าสามเดือนแต่ไม่มากกว่าหกเดือน ให้ผู้ซื้อฝากแจ้งเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังผู้ขายฝากเพื่อให้ผู้ขายฝากทราบกำหนดเวลาไถ่และจำนวนสินไถ่ หากผู้ซื้อฝากละเลยไม่ดำเนินการดังกล่าว มาตรา 17 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้ขายฝากมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากได้ภายในหกเดือนนับแต่วันครบกำหนดไถ่ที่ระบุไว้ในสัญญาขายฝากโดยผู้ขายฝากมีหน้าที่ชําระสินไถ่ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญา เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าก่อนวันครบกำหนดเวลาไถ่ที่ขยายระยะเวลาออกไปโดยผลของกฎหมายตามที่กล่าวมาจำเลยผู้ซื้อฝากได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ผู้ขายฝากทราบถึงกำหนดเวลาไถ่และจำนวนสินไถ่ก่อนวันครบกำหนดเวลาไถ่ไม่น้อยกว่าสามเดือนแต่ไม่มากกว่าหกเดือนตามบทบัญญัติมาตรา 17 วรรคหนึ่ง กำหนดไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากจึงต้องขยายไปอีกหกเดือนนับแต่วันครบกำหนดไถ่ตามมาตรา 17 วรรคสอง กล่าวคือ ขยายออกไปอีกจนถึงวันที่ 17 เมษายน 2563 การที่โจทก์ขอไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากต่อจำเลยเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 จึงยังอยู่ภายในกำหนดไถ่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 920/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรับผิดของผู้รับประกันภัยในคดีประมาทเลินเล่อ ผู้ตายมีส่วนประมาท ความรับผิดเป็นพับ
แม้จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ต้องนำสืบให้ได้ความตามคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ ทั้งจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทมากกว่าหรือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรณีที่ต้องฟังพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายในประเด็นพิพาทว่าจำเลยที่ 1 ประมาทแต่เพียงฝ่ายเดียวตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องหรือไม่ ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ประมาทฝ่ายเดียว และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยซึ่งต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทมากกว่าจำเลยที่ 1 หรือประมาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยที่ 1 และความเสียหายของโจทก์เป็นพับ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ได้ การอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว ถือเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ แม้จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ฝ่ายเดียว ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ได้ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 159/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
นิติบุคคลค้ำประกันเกินวัตถุประสงค์ สัญญาเป็นโมฆะ การให้สัตยาบันต้องทำหลังเกิดนิติกรรม
จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ไม่มีวัตถุประสงค์การค้ำประกันการชำระหนี้ของผู้อื่น ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 66 ผู้แทนนิติบุคคลต้องกระทำกิจการหรือนิติกรรมภายในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลจึงจะมีผลผูกพันนิติบุคคล เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่มีวัตถุประสงค์ในการค้ำประกันหนี้ของผู้อื่นสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 จึงเป็นเรื่องนอกขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 3 ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ให้ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว
การให้สัตยาบันแก่นิติกรรมที่นิติบุคคลกระทำนอกขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลเป็นการให้การรับรองนิติกรรมที่ไม่มีผลผูกพันให้มีผลผูกพันนิติบุคคลและบังคับกันได้ซึ่งอาจกระทำโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย โดยสภาพการให้สัตยาบันจึงต้องกระทำภายหลังที่ได้กระทำนิติกรรมนั้นแล้ว กรณีไม่อาจถือเอาการกระทำนิติกรรมนั้นเองเป็นการให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นในขณะเดียวกันได้ มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นว่านิติกรรมที่อยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลจะมีผลผูกพันนิติบุคคลนั้นทุกกรณี ซึ่งมิใช่เจตนารมณ์ของกฎหมายในการกำหนดวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลให้แตกต่างไปจากบุคคลธรรมดา การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 3 ในสัญญาค้ำประกันจึงไม่เป็นการให้สัตยาบันแก่การค้ำประกัน สัญญาค้ำประกันจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3
การให้สัตยาบันแก่นิติกรรมที่นิติบุคคลกระทำนอกขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลเป็นการให้การรับรองนิติกรรมที่ไม่มีผลผูกพันให้มีผลผูกพันนิติบุคคลและบังคับกันได้ซึ่งอาจกระทำโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย โดยสภาพการให้สัตยาบันจึงต้องกระทำภายหลังที่ได้กระทำนิติกรรมนั้นแล้ว กรณีไม่อาจถือเอาการกระทำนิติกรรมนั้นเองเป็นการให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นในขณะเดียวกันได้ มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นว่านิติกรรมที่อยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลจะมีผลผูกพันนิติบุคคลนั้นทุกกรณี ซึ่งมิใช่เจตนารมณ์ของกฎหมายในการกำหนดวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลให้แตกต่างไปจากบุคคลธรรมดา การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 3 ในสัญญาค้ำประกันจึงไม่เป็นการให้สัตยาบันแก่การค้ำประกัน สัญญาค้ำประกันจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 53/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผู้เสียหายเบิกความเท็จ: ราษฎรที่ได้รับความเสียหายโดยตรงมีสิทธิเป็นโจทก์ร่วมได้
ผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จ ตาม ป.อ. มาตรา 177 หาใช่จะมีแต่เฉพาะเจ้าพนักงานเท่านั้นไม่ ราษฎรที่ได้รับความเสียหายโดยตรงเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าวก็เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) การที่จำเลยเบิกความเป็นพยานในคดีที่โจทก์ร่วมเป็นผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ ว. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และแต่งตั้งโจทก์ร่วมเป็นผู้พิทักษ์ โดยจำเลยเบิกความเป็นใจความว่า ว. มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ สามารถโต้ตอบมีเหตุผลและสามารถตัดสินใจด้วยตนเอง จำบุคคลใกล้ชิดและเรื่องราวต่าง ๆ ช่วยเหลือตนเองได้ ไม่ได้ป่วยเป็นโรคร้ายแรง และไม่มีอาการฟั่นเฟือน อันเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิหรือส่วนได้เสียของโจทก์ร่วมโดยตรง โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของจำเลย จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จในคดีนี้โดยตรง และมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดีนี้ได้