คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับศาล/ผู้พิพากษา
ศาลจังหวัดแม่สอด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 54 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5668/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ที่ไม่ชัดเจนโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกามีสิทธิไม่รับพิจารณา
อุทธรณ์ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งถึงข้อโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ด้วยเหตุผลใด และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร ซึ่งจะเป็นประเด็นในการวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นการคัดลอกคำให้การของจำเลยทั้งสามมาเกือบทั้งสิ้น มิได้โต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นไว้โดยชัดแจ้งดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันจะพึงรับไว้พิจารณา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ทั้งการที่ศาลอุทธรณ์จะดำเนินกระบวนพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 240 (2) นั้น อุทธรณ์ดังกล่าวต้องเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายเสียก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1781/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายที่ดินหลังทำสัญญาประนีประนอมยอมความเรื่องค่าเช่า ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหาย
ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีฟ้องหย่าและแบ่งสินสมรสเรื่องก่อน กำหนดให้ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย และจำเลยตกลงแบ่งเงินค่าเช่าที่เกิดจากการให้เช่าที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในอัตรา 40 ส่วน ใน 100 ส่วน ของค่าเช่าที่เกิดจากการให้เช่าจากบริษัท ป. หรือบริษัทอื่นที่ประกอบกิจการด้านอุตสาหกรรมตลอดไปจนกว่าโจทก์จะถึงแก่ความตาย ก่อให้เกิดหนี้ผูกพันระหว่างกันที่จำเลยจะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามเงื่อนไขที่กำหนด แม้ไม่มีข้อกำหนดใดห้ามมิให้จำเลยขายที่ดินพิพาทในอันที่โจทก์จะนำมาใช้อ้างว่าจำเลยกระทำผิดข้อสัญญาประนีประนอมยอมความได้ และจำเลยในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิขายที่ดินพิพาทได้อย่างอิสระก็ตาม แต่เมื่อในเวลาที่จำเลยขายที่ดินพิพาทนั้นโจทก์ยังไม่ถึงแก่ความตายอันเป็นเงื่อนไขซึ่งเป็นสาระสำคัญของข้อตกลงที่โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งของเงินค่าเช่าจนกว่าจะถึงแก่ความตาย ย่อมเป็นการทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยจะทำได้ เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ต้องรับผิดชอบ จำเลยจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เพื่อค่าเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5172/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐานในคดีอาญา: การควบคุมตัวผู้เสียหาย/พยาน และการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ
การที่ผู้เสียหายทั้งหกมาเบิกความภายหลังแม้จะขัดแย้งกับคำให้การชั้นสอบสวนและคำเบิกความชั้นสืบพยานก่อนฟ้อง แต่ก็เป็นการเบิกความเพื่อพิสูจน์ความจริงให้กระจ่างชัดว่ามีเหตุผลอย่างไรทำไมถึงให้การชั้นสอบสวนและเบิกความต่อศาลชั้นต้นฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงไว้เช่นนั้น หาใช่เป็นการเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลยดังที่โจทก์ฎีกาไม่ แม้คดีอยู่ระหว่างสืบพยานจำเลย ซึ่งโดยพลการหรือคู่ความฝ่ายใดร้องขอ ศาลมีอำนาจสืบพยานเพิ่มเติมจะสืบเองหรือส่งประเด็นก็ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 228 และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 120 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ถ้าคู่ความฝ่ายใดอ้างว่าคำเบิกความของพยานคนใดที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างไม่ควรรับฟัง โดยเหตุผลซึ่งศาลเห็นว่ามีมูล ศาลอาจยอมให้คู่ความฝ่ายนั้นนำพยานหลักฐานมาสืบสนับสนุนข้ออ้างของตนได้แล้วแต่จะเห็นควร คดีนี้จำเลยนำสืบปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่า ผู้เสียหายทั้งหกและเด็กหญิง อ. ให้การชั้นสอบสวนและเบิกความชั้นสืบพยานก่อนฟ้องไปโดยถูกควบคุมตัว ข่มขู่ ไม่ให้กลับบ้านและพบบิดามารดา คำให้การชั้นสอบสวนและคำเบิกความดังกล่าวไม่ควรรับฟัง เมื่อทนายจำเลยแถลงขอสืบพยานผู้เสียหายทั้งหก หากศาลเห็นว่าเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่สามารถพิสูจน์ความจริงได้และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลก็ชอบที่จะอนุญาตให้จำเลยนำผู้เสียหายทั้งหกเข้าเบิกความตามมาตราดังกล่าวข้างต้น และมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาได้ หาจำต้องให้จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาลก่อนดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4715/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษบทฉกรรจ์ มาตรา 160 ตรี/2 พ.ร.บ.จราจรทางบก ไม่ใช่การเพิ่มโทษซ้ำซ้อน ศาลอุทธรณ์วางโทษถูกต้อง
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 ตรี/2 วรรคหนึ่ง เป็นเพียงเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 160 ตรี วรรคหนึ่ง ได้รับโทษหนักขึ้นที่เรียกว่าบทฉกรรจ์เท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติเรื่องการเพิ่มโทษ และศาลอุทธรณ์ภาค 6 วางโทษแก่จำเลยใหม่ตามที่โจทก์อุทธรณ์โดยพิจารณาถึงบทบัญญัติของมาตรา 160 ตรี/2 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ประกอบด้วยอยู่แล้ว ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่ได้ระบุให้เพิ่มโทษหนึ่งในสามก่อนลดโทษมานั้น จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้เช็คพิพาทด้วยการเฉลี่ยหนี้หลายฉบับ ไม่ถือเป็นการชำระหนี้เต็มจำนวน ทำให้คดีไม่เลิกกัน และการนับโทษในคดีอาญา
แม้ได้ความตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 จำเลยทั้งสองวางเงิน 240,000 บาท ต่อศาลชั้นต้น โดยอ้างว่าเป็นการชำระหนี้ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามมูลหนี้เช็คพิพาท ทำให้ความผิดตามเช็คพิพาทฉบับนี้ระงับไปแล้วนั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 25 มกราคม 2565 ว่า ศาลชั้นต้นสอบถามโจทก์เกี่ยวกับเงินที่จำเลยทั้งสองวางเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์นั้น โจทก์แถลงว่าจะรับไว้โดยเป็นการเฉลี่ยเพื่อชำระหนี้ตามเช็คทุกฉบับ คำแถลงของโจทก์ดังกล่าวแสดงว่า เงินที่จำเลยทั้งสองชำระนั้นโจทก์มิได้รับไว้เป็นการชำระหนี้เฉพาะเจาะจงตามเช็คพิพาทดังที่จำเลยทั้งสองอ้าง แต่เป็นการรับไว้เพื่อเฉลี่ยชำระหนี้ตามเช็คที่โจทก์ฟ้องทุกฉบับ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้เต็มตามมูลหนี้เช็คพิพาทครบถ้วนแล้ว หนี้ตามเช็คพิพาทฉบับดังกล่าวจึงมิได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงมิได้เลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2810/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงแปลงหนี้เป็นทุน-เจตนาสละสิทธิ-การบังคับคดีไม่ชอบ
การทำหนังสือสัญญาธุรกิจระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. และการทำคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์และคำร้องขอถอนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 มีความเกี่ยวพันและเป็นลำดับสืบเนื่องกันมา ถือได้ว่า อ. เป็นตัวแทนของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 จึงมีผลผูกพันโจทก์ในฐานะตัวการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 โจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้กล่าวถึงหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ไว้ในหนังสือสัญญาธุรกิจ และโจทก์ยื่นคำร้องโดยระบุข้อความว่า ขอถอนฟ้อง ประกอบกับโจทก์ร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงินลงทุนทั้งหมด ส่วนโจทก์เป็นผู้บริหารกิจการโดยมิได้ออกเงินลงทุนเพิ่มเติม แสดงให้เห็นว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ประสงค์จะให้คดียุติลงอย่างแท้จริง โดยนำหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้แปลงเป็นทุนในการทำธุรกิจร่วมกัน และโจทก์ยอมสละสิทธิในหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1
การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาธุรกิจและยื่นคำร้องขอถอนฟ้องและคำร้องขอถอนอุทธรณ์ จึงเป็นข้อตกลงในชั้นบังคับคดีที่โจทก์ยอมรับในศาลแล้ว เมื่อโจทก์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยแปลงเป็นทุนในการทำธุรกิจร่วมกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาธุรกิจครบถ้วนแล้ว หนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ย่อมระงับสิ้นไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยยึดและอายัดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปได้ หมายบังคับคดีและการบังคับคดีที่ศาลชั้นต้นดำเนินการจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1784/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอายัดสิทธิเรียกร้องต้องทำต่อคู่สัญญาทันที การอายัดผ่านบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่คู่สัญญาไม่ชอบ
สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ที่จะเรียกให้บุคคลภายนอกชำระหนี้ตามสัญญาว่าจ้างเลขที่ T 078/2560 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 บุคคลภายนอกที่จะต้องชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 คือ จังหวัดตาก ผู้ว่าจ้าง ซึ่งเป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้าง ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ใช่บุคคลภายนอกที่จะต้องชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 เนื่องจากไม่ใช่คู่สัญญา อีกทั้งผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระหนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องให้จังหวัดตาก บุคคลภายนอกชำระหนี้ตามสัญญาว่าจ้าง แต่การอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีส่งหนังสือแจ้งคำสั่งอายัดไปยังผู้คัดค้านที่ 1 ตามคำร้องขอของโจทก์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2560 และ 7 มีนาคม 2560 โดยไม่ได้ส่งหนังสือแจ้งคำสั่งอายัดไปยังจังหวัดตากเลย แม้หลังจากนั้นผู้คัดค้านที่ 1 แจ้งการอายัดไปยังจังหวัดตากแล้ว ก็ไม่ใช่เป็นการส่งหนังสือแจ้งคำสั่งอายัดตามกฎหมายจึงไม่มีผลบังคับ
แม้ฎีกาโจทก์ในตอนแรกระบุว่า นายอำเภอแม่สอด ก็เข้าใจได้ว่า คือ อำเภอแม่สอด ผู้คัดค้านที่ 1 นั้นเอง เนื่องจากไม่สามารถแปลได้ว่า คือ ธ. นายอำเภอแม่สอดในขณะนั้น เนื่องจาก ธ. ทำสัญญาว่าจ้างในฐานะนายอำเภอแม่สอด ได้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ไม่ใช่ในฐานะส่วนตัว เมื่อเป็นเช่นนี้ การอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 โดยเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงเป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคหนึ่ง (เดิม) ถือว่าสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ที่จะเรียกให้จังหวัดตาก บุคคลภายนอก ชำระหนี้ตามสัญญาว่าจ้างยังไม่มีการอายัด ดังนั้นการที่โจทก์มายื่นคำร้องผ่านทางผู้คัดค้านที่ 1 ขอให้จังหวัดตากปฏิบัติตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้มาเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยไม่ต้องฟ้องคดีเพื่อบังคับชำระหนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 321 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาข้ามขั้นตอนที่จะต้องมีการอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ก่อน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดตาก มีการดำเนินการผ่านทางผู้คัดค้านที่ 1 ทั้งหมด จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำสั่ง อาศัย ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) และ 252 จึงต้องยกคำสั่งศาลชั้นต้นในส่วนนี้และศาลฎีกาก็มีอำนาจสั่งยกคำร้องของโจทก์ในส่วนนี้ได้เลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6331/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายฝากทับทิมไม่ใช่ยักยอก หากจำเลยผิดสัญญาคืนเงิน ศาลมีอำนาจสั่งคืนได้แม้ไม่มีความผิดอาญา
โจทก์ร่วมมอบทับทิมให้จำเลยไปขายโดยกำหนดราคาขั้นต่ำไว้ จำเลยจะขายในราคาที่สูงกว่าก็ได้ จำเลยเพียงแต่มีหน้าที่นำเงินตามราคาที่โจทก์ร่วมกำหนดไว้มาชำระคืนให้แก่โจทก์ร่วมเท่านั้น ลักษณะเช่นนี้จำเลยย่อมมีสิทธิขายทับทิมอย่างเป็นของของตนเอง หาใช่เป็นตัวแทนไปขายในนามของโจทก์ร่วมไม่ แม้จะมีข้อตกลงให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยในอัตราร้อยละ 3 ของเงินที่ขายทับทิมได้ ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยเปลี่ยนแปลงไป เมื่อจำเลยขายทับทิมได้แล้วไม่ส่งเงินให้แก่โจทก์ร่วมจนครบถ้วน ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาทางแพ่งต่อโจทก์ร่วมเท่านั้น การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ เมื่อพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานยักยอกเงิน 500,000 บาท ของโจทก์ร่วม และขอให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ร่วมด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ดังนี้ แม้จำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานยักยอก แต่จำเลยรับว่าต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมตามที่พนักงานอัยการโจทก์ขอได้ หาจำต้องให้โจทก์ร่วมไปฟ้องเรียกเงินดังกล่าวจากจำเลยเป็นคดีแพ่งอีกไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6444/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดก – ทายาทมีสิทธิรับส่วนแบ่งตามสัดส่วน แม้มีการชำระเงินบางส่วนไปแล้ว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกของ ด. แบ่งปันกันเอง โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันอ้างว่า ด. มีบุตร 3 คน ซึ่งเป็นความเท็จ และร่วมกันแบ่งทรัพย์มรดกของ ด. โดยไม่แบ่งปันให้แก่โจทก์และบุตร จำเลยทั้งสามสมควรที่จะถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดก และมีคำขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ตามส่วนให้แก่โจทก์และบุตร ตามคำฟ้องและอุทธรณ์ของโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกของ ด. แบ่งปันกันเอง โดยไม่แบ่งปันให้แก่โจทก์และบุตร จำเลยทั้งสามสมควรที่จะถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดก และมีคำขอที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ตามส่วนให้แก่โจทก์และบุตร ตามคำฟ้องและอุทธรณ์ของโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสามแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ให้แก่โจทก์และบุตร ย่อมมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 และไม่อาจถือว่าโจทก์ฟ้องขอแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ประกอบกับเหตุแห่งการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกตามฟ้องเกิดขึ้นหลัง ด. ตายเกินกว่าระยะเวลา 1 ปีแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีได้แม้เกินระยะเวลา 1 ปี นับแต่ ด. ถึงแก่ความตาย ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5839/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้ค่าก่อสร้างด้วยเช็ค การพิสูจน์ภาระหน้าที่ และความน่าเชื่อถือของหลักฐาน
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองใช้เงินตามเช็คที่สั่งจ่ายให้แก่โจทก์ โดยระบุรายละเอียดของเช็คพิพาท และแนบสำเนาภาพถ่ายเช็คพิพาทมาท้ายฟ้อง พร้อมทั้งคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ย คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ครบถ้วนแล้ว ส่วนมูลหนี้ตามเช็คพิพาทจะเป็นการชำระหนี้อะไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
เมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าก่อสร้าง จำเลยทั้งสองให้การรับว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทแก่โจทก์จริง แต่อ้างว่าเป็นการออกเช็คเพื่อให้โจทก์นำไปเป็นหลักประกันค่ายืมวัสดุก่อสร้าง ทั้งจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้ค่าก่อสร้างแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองปฏิเสธว่าเช็คพิพาททั้งหกฉบับไม่มีมูลหนี้ จำเลยทั้งสองจึงมีภาระการพิสูจน์ให้รับฟังได้ตามข้อกล่าวอ้างของตน
of 6