คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับศาล/ผู้พิพากษา
ศาลอาญา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,558 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 976/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หมิ่นประมาททางออนไลน์: ศาลฎีกายืนโทษจำเลยฐานใส่ความโจทก์ให้เสียชื่อเสียงผ่าน Facebook และ YouTube
ป.อ. มาตรา 332 (2) เป็นบทกฎหมายที่ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจสั่งให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ได้เองตามความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ไม่ว่าโจทก์จะมีคำขอหรือไม่ และคำว่า "หนังสือพิมพ์" ย่อมปริวรรตไปตามยุคสมัย มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์ขึ้นโดยใช้กระดาษ แต่ยังมีความหมายรวมถึงข้อมูลข่าวสารเป็นตัวหนังสือที่ประชาชนทั่วไปสามารถอ่านเข้าใจได้ ซึ่งเผยแพร่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ด้วย คดีนี้จำเลยกระทำผิดด้วยการเผยแพร่ภาพเคลื่อนไหวและข้อความเสียงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ผ่านทางเว็บไซต์ยูทูบและเฟซบุ๊กซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเลยเผยแพร่ได้เป็นจำนวนมาก และอาจมีการเผยแพร่ซ้ำหรือเผยแพร่ต่อไปอีกอย่างกว้างขวาง การเยียวยาความเสียหายแก่โจทก์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทที่ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย เพื่อทำให้ชื่อเสียงของโจทก์กลับคืนดีด้วยการเผยแพร่คำพิพากษาโดยย่อผ่านทางเว็บไซต์ข่าวออนไลน์อีกช่องทางหนึ่งด้วย จึงเห็นสมควรให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อในหนังสือพิมพ์ที่แพร่หลาย 2 ฉบับ เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน กับให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อผ่านทางเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ที่แพร่หลายอีก 2 เว็บไซต์ด้วย โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 89/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานฉ้อโกงทางคอมพิวเตอร์และการกระทำเป็นกรรมเดียว
คดีนี้แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องแยกการกระทำผิดของจำเลยกับพวกมาเป็นข้อ ๆ โดยมีคำขอท้ายฟ้องตาม ป.อ. มาตรา 91 และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีจากข้อเท็จจริงตามฟ้องแล้วปรากฏว่า จำเลยกับพวกมีเจตนาประการเดียวคือมุ่งประสงค์ที่จะหลอกลวงผู้เสียหายที่ 3 โอนเงินชำระค่าสินค้าที่จำเลยที่ 1 ตกลงสั่งซื้อนั้นเอง ความผิดฐานร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ฐานร่วมกันแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วนซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ฐานโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ฐานร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นฐานร่วมกันปลอมเอกสารและฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอม จึงเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 90 หาใช่เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันตามมาตรา 91 ตามที่โจทก์อ้างในฎีกา
ส่วนปัญหาที่ว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยสถานหนักหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวโจทก์มิได้อุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยมิชอบในศาลอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่งและมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5161/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ-กรรมเดียว: คดีอาญาเชื่อมโยงกัน ศาลสั่งระงับคดีจำเลยเนื่องจากเคยถูกตัดสินแล้ว
เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่แล้วพิพากษายกคำพิพากษาเดิมและพิพากษาใหม่เป็นยกฟ้องตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 13 (1) แล้ว สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาใหม่ดังกล่าวต้องพิจารณาตามมาตรา 15 ซึ่งบัญญัติว่า "เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 13 แล้ว พนักงานอัยการผู้ร้องหรือโจทก์ในคดีเดิมซึ่งเป็นคู่ความมีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ดังนี้ (1) ถ้าคำพิพากษานั้นเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษานั้นต่อศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด..." ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวแล้วคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุด จำเลยที่ 8 ไม่อาจฎีกาต่อไปได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 8 มาจึงเป็นการไม่ชอบ อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2651/2560 ของศาลแขวงพระนครเหนือ ที่บริษัท พ. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 8 คดีนี้ (คือจำเลยที่ 9 ในคดีดังกล่าว) กับพวก ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ส่วนคดีนี้พนักงานอัยการโจทก์กล่าวหาว่า จำเลยที่ 8 ร่วมกับพวก กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 8 กับพวก ร่วมกันกระทำความผิด 3 กรรม แม้การกล่าวข้อความหมิ่นประมาทจะกระทำขึ้นหลายคราวต่างวันต่างเวลาแต่การกระทำในแต่ละคราวมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันคือ เพื่อให้บริษัท พ. หลงเชื่อและตกลงเข้าทำสัญญารับเหมาก่อสร้างกับส่งมอบเงินจำนวน 50 ล้านบาท ให้จำเลยที่ 8 กับพวก อันถือเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียว การกระทำของจำเลยที่ 8 กับพวก จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวมิใช่หลายกรรม เมื่อได้ความว่าคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2651/2560 ของศาลแขวงพระนครเหนือนั้น ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 8 ไปแล้วเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 จึงเป็นกรณีที่การกระทำของจำเลยที่ 8 ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ถือเป็นเหตุตามกฎหมายที่จำเลยที่ 8 มิต้องรับโทษ และเป็นเหตุในลักษณะคดีซึ่งย่อมมีผลถึงผู้ร่วมกระทำความผิดทุกคน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 15 (1) ทำให้คดีต้องห้ามฎีกา แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 215 และ 225 ทั้งเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและให้สอดคล้องกับผลในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2105/2561 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2618/2561 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์แยกฟ้องจำเลยอื่นตามคำสั่งศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องเนื่องจากเป็นฟ้องช้ำซึ่งคดีถึงที่สุดไปแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4909/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำแนกกรรมความผิดฐานเผยแพร่สื่อลามกอนาจารเด็ก: แยกกรรมหรือไม่?
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ 1.1 จำเลยทั้งสองเพื่อความประสงค์แห่งการค้า หรือโดยการค้า เพื่อการแจกจ่ายหรือเพื่อการแสดงอวดแก่ประชาชน ร่วมกันทำ ผลิต มีไว้ นำเข้าหรือยังให้นำเข้าในราชอาณาจักร หรือส่งออกหรือยังให้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พาไปหรือยังให้พาไปหรือทำให้แพร่หลายโดยประการใด ๆ ซึ่งสื่อลามกอนาจารเด็ก และยังร่วมกันนำข้อมูลคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็กที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยนำวิดีโอแสดงภาพและเสียงเด็กในลักษณะโป๊เปลือยและมีการร่วมประเวณี อัปโหลดเผยแพร่ลงบนเว็บไซต์ที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้สร้างและดูแล 1.2 ภายหลังจากที่กระทำความผิดดังกล่าว เพื่อจะช่วยการทำให้แพร่หลาย หรือการค้าสื่อลามกอนาจารเด็ก จำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณาหรือไขข่าวโดยประการใด ๆ ว่าสื่อลามกอนาจารเด็กนั้นสามารถรับชมได้ผ่านทางเว็บไซต์ที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้สร้างและดูแล ทั้งยังได้ร่วมกันเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์สื่อลามกอนาจารเด็กดังกล่าว โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันมีลักษณะลามกและประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ โดยจำเลยทั้งสองใช้บัญชีเฟซบุ๊กและอีเมลเป็นช่องทางในการติดต่อโฆษณาแก่ประชาชนทั่วไปว่าสื่อลามกอนาจารเด็กสามารถรับชมได้ผ่านทางเว็บไซต์ที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้สร้างและดูแล ทั้งยังให้บุคคลทั่วไปสามารถติดต่อลงโฆษณาสินค้าหรือบริการในเว็บไซต์ดังกล่าวได้โดยมีค่าใช้จ่าย อันเป็นการค้าสื่อลามกอนาจารเด็กของจำเลยทั้งสอง จากคำบรรยายฟ้องข้อ 1.1 เห็นว่า การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเป็นการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (4) ซึ่งนำไปสู่การแพร่หลายแก่ประชาชนโดยเข้าถึงผ่านทางเว็บไซต์ที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้น อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 287/2 (1) ทำให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองเจตนาทำให้แพร่หลายซึ่งสื่อลามกอนาจารเด็กอันเป็นความประสงค์หลัก การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 287/2 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ส่วนคำบรรยายฟ้องข้อ 1.2 นั้น เห็นว่า แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะอันลามกซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (5) มาด้วย แต่ตามพฤติการณ์กระทำความผิดข้อนี้เป็นการโฆษณาชักจูงให้ประชาชนเข้าชมสื่อลามกอนาจารเด็กผ่านเว็บไซต์ของจำเลยทั้งสอง และให้บุคคลลงโฆษณาสินค้าและบริการในเว็บไซต์ดังกล่าวอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 287/2 (3) การกระทำของจำเลยทั้งสองหาใช่เป็นการเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะอันลามกโดยตรงแต่อย่างใดไม่ เพียงแต่การกระทำของจำเลยทั้งสองมีเจตนาพิเศษเพื่อช่วยการทำให้แพร่หลายและการค้าเท่านั้น การร่วมกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองข้อนี้จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 287/3 เพียงบทเดียว ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (5) เมื่อคดีนี้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดออกเป็นสองข้อต่างหากจากกัน โดยการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.2 เป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่การกระทำความผิดข้อ 1.1 สำเร็จแล้ว และมีพฤติการณ์กระทำความผิดกับองค์ประกอบความผิดที่แตกต่างจากกัน อีกทั้งจำเลยทั้งสองกระทำความผิดครั้งหลังโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่จำเลยทั้งสองเพื่อการค้าและดึงดูดให้ประชาชนรับชมเว็บไซต์ของจำเลยทั้งสองมากขึ้น อันเป็นการเพิ่มความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิดไปด้วย แม้จำเลยทั้งสองยังคงมีเจตนาพิเศษเพื่อทำให้แพร่หลายและเพื่อการค้าเช่นเดียวกัน แต่ไม่อาจถือเอาเจตนาพิเศษเพียงประการเดียวมาวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวได้ การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองในข้อ 1.2 ถือได้ว่าเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดในข้อ 1.1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4072/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานสมคบองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติกับการกระทำความผิดฐานดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน เป็นความผิดต่างกรรมกัน
ความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่มีการสมคบโดยรวมตัวกันเป็นคณะบุคคลกระทำการชักชวน ว. ให้รับตั้งครรภ์แทนผู้อื่น โดยจะให้เงินเป็นการตอบแทนเพื่อกระทำความผิดฐานดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยความผิดดังกล่าวจะกระทำในเขตแดนของรัฐมากกว่าหนึ่งรัฐ ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงอันเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ส่วนความผิดฐานดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า เกิดขึ้นเมื่อจำเลยทั้งสองกับพวกให้ ว. ไปรับการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลแล้วนำเอาตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิผสมกับไข่ใส่เข้าไปในรังไข่ของ ว. ซึ่งสามารถแยกการกระทำและเจตนาในการกระทำความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติกับความผิดฐานดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้าออกจากกันได้ ความผิดทั้งสองฐานนี้ จึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3618/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับโทษปรับกรณีจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลตาม พ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าว แม้บริษัทเลิกกิจการแล้ว
คดีเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 8 (3), 37 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงมีผลบังคับนับตั้งแต่วันดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 188 แต่คำพิพากษาศาลชั้นต้นมิได้กำหนดโทษปรับในกรณีผู้กระทำความผิดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 37 จึงเป็นคำพิพากษาที่ยังไม่ครบถ้วน การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า หากจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลให้ปรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 วันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ ก็เพื่อให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมีผลบังคับแล้วมีเงื่อนไขในการบังคับโทษครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จึงต้องชำระค่าปรับนับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 จนถึงวันที่ 2 มีนาคม 2563 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3444/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการ การพิสูจน์ข้อเท็จจริงและองค์ประกอบความผิด
จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่ง สำนักงานสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่งแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่รับผิดชอบในการจดทะเบียนรูปพรรณพ่อม้า แม่ม้า และลูกม้าที่นำเข้าหรือเกิดในประเทศไทย รวมทั้งจัดทำเอกสารบรรยายรูปพรรณและบันทึกข้อมูลจำเพาะสำหรับใช้ในการตรวจรูปพรรณม้า เมื่อหนังสือตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 และเอกสารการจดบันทึกทะเบียนลูกม้าลงในสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่งแห่งประเทศไทย ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำขึ้น แม้ข้อความในเอกสารบางส่วนอาจเป็นข้อความเท็จหรือไม่ก็ตาม แต่ก็หาทำให้จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานปลอมเอกสารดังกล่าวไม่ เพราะจำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำเอกสารดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2993/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลือกตั้งกรรมการบริษัทที่ไม่ถูกต้องตามข้อบังคับ และความรับผิดชอบของผู้บริหาร
ในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 วันที่ 2 พฤษภาคม 2560 ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ในที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้วิธีการลงคะแนนตามมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 แทนวิธีการตามที่กำหนดในข้อบังคับบริษัทข้อที่ 20 แต่ก็มีผู้ถือหุ้นบางส่วนรวมทั้งโจทก์ยังคงคัดค้านการใช้วิธีการลงคะแนนตามมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ซึ่งไม่ถูกต้องตามข้อบังคับ ทั้งเมื่อยังไม่มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับของบริษัทในกรณีดังกล่าว จำเลยที่ 1 จะอ้างเอาเหตุที่ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ในที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้วิธีการลงคะแนนตามมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 แล้วดำเนินการลงมติเลือกตั้งกรรมการด้วยวิธีการดังกล่าวหาได้ไม่ ประกอบกับการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกคำสั่งกล่าวโทษจำเลยที่ 1 เหตุที่ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับบริษัทข้อที่ 20 ทำให้กลุ่มของจำเลยที่ 1 ได้รับเลือกเป็นกรรมการ อีกทั้งยังปรากฏว่าศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมเกี่ยวกับวาระเลือกตั้งกรรมการบริษัทในวันดังกล่าว จึงบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บริหารบริษัทไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 89/7 ทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการฝ่าฝืนดังกล่าว อันเป็นความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคหนึ่ง แต่กรณียังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำไปโดยทุจริตอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2623/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คดีค้ามนุษย์ต้องไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์เท่านั้น หากผิดขั้นตอน ศาลฎีกายกคำพิพากษา
บทบัญญัติในมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 บัญญัติให้การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีค้ามนุษย์ต้องอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์ การที่โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นขอคืนของกลางในคดีค้ามนุษย์ แต่คดีได้รับการพิจารณาพิพากษาจากศาลอุทธรณ์ ซึ่งมิใช่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์ กระบวนพิจารณาในชั้นอุทธรณ์จึงไม่ถูกต้อง และไม่ก่อสิทธิแก่ผู้ร้องที่จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำร้องขอคืนของกลาง ศาลฎีกาจึงต้องยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกฎีกาของผู้ร้องเพื่อให้ศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์พิจารณาพิพากษาคดีนี้ใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1193/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหลีกเลี่ยงอากรนำเข้าและเจตนาฉ้อภาษี ศาลพิจารณาความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร และใช้กฎหมายใหม่ที่เป็นคุณ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243, 253 ซึ่งการกระทำความผิดตามข้ออ้างในคำฟ้องข้อ 1.1 ของโจทก์เป็นการกระทำในขณะ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ใช้บังคับ โดยความหมายในมาตรา 2 คำว่า "อากร" ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 หมายถึงค่าอากรในทางศุลกากรเท่านั้น หาหมายรวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นภาษีอากรฝ่ายสรรพากร ภาษีสรรพสามิต และภาษีมหาดไทยด้วยไม่ อย่างไรก็ตาม แม้คำฟ้องของโจทก์ข้อ 1.1 ไม่มีจำนวนอากรขาเข้าที่จำเลยทั้งสามต้องเสียเพิ่ม แต่เมื่อคำฟ้องข้อ 1.1 บรรยายด้วยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดใด ๆ เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้ารถยนต์ใช้แล้วครบชุดสมบูรณ์โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษี ซึ่งจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ และ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ยังบัญญัติให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดอยู่ จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ด้วย
ภายหลังจำเลยทั้งสามกระทำความผิดได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ใช้บังคับ ซึ่งอัตราโทษใหม่ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยทั้งสามในส่วนที่เป็นคุณตาม ป.อ. มาตรา 3
of 256