พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,200 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5682/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาต้องห้าม: การฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตจากศาลล่าง
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (3) (5) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ จำคุก 1 ปี 6 เดือน ให้เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 เป็นจำคุก 1 ปี 12 เดือน และลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 12 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 93 (13) เป็นจำคุก 1 ปี 5 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 13 เดือน 15 วัน และให้กักกันจำเลยมีกำหนด 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษตาม ป.อ. มาตรา 41 (8) การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ในเรื่องการเพิ่มโทษจำเลย จากเดิมที่ศาลชั้นต้นเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 เป็นเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 93 (13) โดยมิได้แก้บทมาตราแห่งความผิดตามฟ้อง ซึ่งเป็นการแก้เฉพาะเรื่องโทษ แม้จะให้กักกันจำเลยมีกำหนด 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษ ตาม ป.อ. มาตรา 41 (8) แต่การกักกันไม่ใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดเดิมไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยขอให้ลงโทษจำเลยสถานเบาเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นฎีกาใน ปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว เว้นแต่ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือ ลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือรับรองในฎีกาว่า มีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ซึ่งคดีนี้เป็นคดีอาญาทั่วไปมิได้มีบทบัญญัติให้การฎีกาจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา การฎีกาจึงอยู่ในบังคับตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 216 และมาตรา 221 ที่กำหนดให้จำเลยต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือ ทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ คดีนี้ปรากฏว่าจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาอนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยมิได้ยื่นเป็นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาศาลล่างทั้งสองดังกล่าวอนุญาตให้ฎีกา คำร้องขออนุญาตฎีกาของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 เมื่อจำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 221 แห่งกฎหมายข้างต้น จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4770/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
กรรมสิทธิ์เงินฝาก ความเสียหายจากการปลอมแปลงเอกสาร และอำนาจฟ้องคดีลักทรัพย์
เงินที่โจทก์นำมาฝากเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร ท. อยู่ในความครอบครองของธนาคาร ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร ท. ซึ่งธนาคารผู้รับฝากย่อมมีสิทธิในการบริหารจัดการเงินฝากจำนวนดังกล่าว ธนาคารผู้รับฝากคงมีหน้าที่เพียงต้องคืนเงินตามจำนวนที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกค้านำเข้าฝากไว้เท่านั้น ธนาคารผู้รับฝากไม่จำเป็นต้องคืนเงินเป็นจำนวนอันเดียวกับที่โจทก์ฝากไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 เงินจำนวนดังกล่าวที่จำเลยรับไปจึงเป็นเงินของธนาคาร ท. ผู้รับฝาก มิใช่เงินของโจทก์ การที่จำเลยทำใบถอนเงินที่ปลอมขึ้นมาเบิกถอนจากบัญชีเงินฝากของโจทก์แล้วเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปเข้าบัญชีธนาคารของจำเลย ธนาคาร ท. ผู้รับฝากจึงเป็นผู้เสียหายโดยตรง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่แท้จริงในความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3373/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องค่าธรรมเนียมค้ำประกัน, ผู้ค้ำประกัน, ดอกเบี้ยผิดนัด, และผลกระทบจาก พรบ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่อประเภทวงเงินกู้โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 20,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 มอบหลักประกัน คือ บุคคลค้ำประกัน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันจำนวน 20,000,000 บาท เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 บสย. ทำหนังสือค้ำประกันหนี้ตามสัญญารับชำระหนี้ (กรณีกู้เงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน) ของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 20,000,000 บาท ต่อโจทก์ โดยหนังสือค้ำประกันดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตราบเท่าที่โจทก์จัดการให้ บสย. ได้รับชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันล่วงหน้าเป็นรายปีต่อเนื่องกันทุกปี ต่อมาโจทก์ชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันแทนจำเลยที่ 1 ไปก่อน รวม 2 ครั้ง คือ วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 และวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 ครั้งละ 350,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ชำระแทนไป รวมเป็นต้นเงินค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกัน 700,000 บาท ดอกเบี้ย 184,339.72 บาท รวมเป็นเงิน 884,339.72 บาท อันเป็นการบรรยายฟ้องให้เห็นถึงนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในหนี้ค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกัน บสย. ว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลหนี้ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันของ บสย. ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระ แต่ไม่ชำระและโจทก์ได้ชำระแทนไปก่อน
หนังสือค้ำประกันมีข้อความระบุว่า หนังสือค้ำประกันมีผลบังคับใช้ตราบเท่าที่ผู้ให้กู้ (โจทก์) จัดการให้ บสย. ได้รับชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันล่วงหน้าเป็นรายปีต่อเนื่องกันทุกปี จึงแสดงให้เห็นว่าหนังสือค้ำประกันดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ต่อเมื่อ บสย. ได้รับชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน และเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ผู้กู้ที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าว แม้โจทก์มิได้นำสืบโดยตรงว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าธรรมเนียม จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์ทดรองจ่ายแทนโดยจำเลยที่ 1 ต้องชำระคืนให้แก่โจทก์ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ดำเนินการให้มีหนังสือค้ำประกันของ บสย. เป็นหลักประกันก็ย่อมประสงค์ให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจาก บสย. ในฐานะผู้ค้ำประกัน เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้กู้เข้าจัดการให้ บสย. ได้รับชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ก็เพื่อให้หนังสือค้ำประกันมีผลใช้บังคับต่อเนื่องอันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ยังคงมีหลักประกันเพื่อเป็นประกันหนี้ตามสัญญารับชำระหนี้ (กรณีกู้เงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน) วงเงิน 20,000,000 บาท ที่มีอยู่กับโจทก์ ประกอบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การลอย ๆ ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกัน โดยไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบสนับสนุน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันแทนจำเลยที่ 1 ไปรวม 2 ครั้ง คือ วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 จำนวน 350,000 บาท และวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 จำนวน 350,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินทดรองจ่ายที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระเงินค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันดังกล่าว รวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายไปในแต่ละปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 816 วรรคหนึ่ง
สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดนั้น ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงหรือสัญญาให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราดังกล่าว แต่เมื่อมิได้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ โจทก์คงคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 (เดิม) นับแต่วันที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายไป ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกัน นั้น ตามสัญญาค้ำประกันหนี้สัญญารับชำระหนี้ไม่มีข้อความว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงยอมรับผิดในมูลหนี้อันเกิดจากการที่โจทก์ออกเงินทดรองจ่ายค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันไป จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันดังกล่าว
หนังสือค้ำประกันมีข้อความระบุว่า หนังสือค้ำประกันมีผลบังคับใช้ตราบเท่าที่ผู้ให้กู้ (โจทก์) จัดการให้ บสย. ได้รับชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันล่วงหน้าเป็นรายปีต่อเนื่องกันทุกปี จึงแสดงให้เห็นว่าหนังสือค้ำประกันดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ต่อเมื่อ บสย. ได้รับชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน และเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ผู้กู้ที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าว แม้โจทก์มิได้นำสืบโดยตรงว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าธรรมเนียม จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์ทดรองจ่ายแทนโดยจำเลยที่ 1 ต้องชำระคืนให้แก่โจทก์ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ดำเนินการให้มีหนังสือค้ำประกันของ บสย. เป็นหลักประกันก็ย่อมประสงค์ให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจาก บสย. ในฐานะผู้ค้ำประกัน เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้กู้เข้าจัดการให้ บสย. ได้รับชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ก็เพื่อให้หนังสือค้ำประกันมีผลใช้บังคับต่อเนื่องอันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ยังคงมีหลักประกันเพื่อเป็นประกันหนี้ตามสัญญารับชำระหนี้ (กรณีกู้เงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน) วงเงิน 20,000,000 บาท ที่มีอยู่กับโจทก์ ประกอบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การลอย ๆ ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกัน โดยไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบสนับสนุน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันแทนจำเลยที่ 1 ไปรวม 2 ครั้ง คือ วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 จำนวน 350,000 บาท และวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 จำนวน 350,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินทดรองจ่ายที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระเงินค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันดังกล่าว รวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายไปในแต่ละปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 816 วรรคหนึ่ง
สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดนั้น ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงหรือสัญญาให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราดังกล่าว แต่เมื่อมิได้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ โจทก์คงคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 (เดิม) นับแต่วันที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายไป ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกัน นั้น ตามสัญญาค้ำประกันหนี้สัญญารับชำระหนี้ไม่มีข้อความว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงยอมรับผิดในมูลหนี้อันเกิดจากการที่โจทก์ออกเงินทดรองจ่ายค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันไป จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2104/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิพากษาแก้เป็นยกฟ้อง จำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันฆ่าและเกี่ยวข้องกับอาวุธปืน เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้าย โจทก์คงมีคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกันกระทำผิดด้วยกัน แต่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายบังคับโดยเด็ดขาดห้ามมิให้รับฟังคำซัดทอดนั้นและข้อเท็จจริงตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ก็เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 บอกเล่าถึงความเป็นไปในการกระทำความผิด มิใช่กระทำไปโดยมุ่งต่อผลเพื่อให้จำเลยที่ 1 พ้นผิดแล้วให้จำเลยที่ 2 รับผิดเพียงลำพัง คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 จึงรับฟังได้ แต่อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่า พยานซัดทอด หรือพยานที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้านนั้น ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง สำหรับคดีนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นถึงพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีและไม่มีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์มีพันตำรวจโท พ. พนักงานสอบสวน เบิกความว่า ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพก็ตาม แต่คำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวมิใช่พยานหลักฐานที่มีแหล่งที่มาเป็นอิสระต่างหากจากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ทั้งไม่มีคุณค่าเชิงพิสูจน์ที่สามารถสนับสนุนให้คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย อันถือว่าเป็นพยานหลักฐานประกอบอื่นตามความหมายของพยานหลักฐานประกอบที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227/1 วรรคสอง กรณีจึงไม่ใช่พยานหลักฐานประกอบอื่นที่สนับสนุนให้คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 มีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานบุคคลอื่นมานำสืบเกี่ยวกับการร่วมกันกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 อีก เช่นนี้ คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุผลอันหนักแน่น ไม่อาจนำมารับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ขับรถยนต์ของกลางให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตายถึงแก่ความตายหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง
เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์เป็นที่สงสัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ขับรถยนต์ของกลางให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตายถึงแก่ความตายดังวินิจฉัยข้างต้นแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แม้ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องในความผิดสองฐานนั้นได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน
เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์เป็นที่สงสัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ขับรถยนต์ของกลางให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตายถึงแก่ความตายดังวินิจฉัยข้างต้นแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แม้ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องในความผิดสองฐานนั้นได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1953/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผู้ครอบครองรถยินยอมให้คนเมาขับ ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถที่โจทก์รับประกันภัยยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถในขณะเกิดเหตุ ทั้งที่ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 เมาสุราซึ่งจากผลการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์จำเลยที่ 1 มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 102 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายและกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์กำหนด เมื่อจำเลยที่ 1 มีอาการมึนเมาแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถโดยจำเลยที่ 2 นั่งโดยสารมาในรถที่จำเลยที่ 1 ขับด้วย จำเลยที่ 2 ย่อมทราบดีว่าการขับรถในขณะเมาสุราอาจทำให้ผู้ขับขี่หย่อนสมรรถภาพในการควบคุมบังคับรถให้อยู่ในทิศทางและช่องเดินรถของตน ทั้งไม่อาจควบคุมความเร็วของรถให้ช้าลงหรือหยุดรถเมื่อจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นได้ การที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถดังกล่าวย่อมเล็งเห็นว่าจะเกิดอุบัติเหตุได้ กรณีถือว่าจำเลยที่ 2 ผู้ครอบครองรถไม่ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอในการควบคุมดูแลรถซึ่งอยู่ในความครอบครอง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคคลภายนอกที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกันด้วย จำเลยที่ 2 จึงมีส่วนประมาทก่อให้เกิดเหตุละเมิดครั้งนี้ และต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบุคคลภายนอกด้วย นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถที่โจทก์รับประกันภัยในขณะเมาสุราเป็นการผิดเงื่อนไขและความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ข้อ 7.6 เมื่อโจทก์ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อบุคคลภายนอก และได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความรับผิดที่จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกไปแล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้จ่ายไปนั้นคืนให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดในข้อ 8 ข้อสัญญาพิเศษ อันเป็นเงื่อนไขการยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1858/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องซ้ำ: คำพิพากษาถึงที่สุดผูกพันคู่ความ ห้ามฟ้องประเด็นเดิมอีก
คดีก่อนมีประเด็นว่า โจทก์ทั้งเจ็ดมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสิบห้าออกไปจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสิบห้าได้หรือไม่ ซึ่งที่ดินพิพาทในคดีก่อนก็คือที่ดินพิพาทแปลงเดียวกันกับคดีนี้ แม้คดีนี้โจทก์จะเปลี่ยนรูปคดีจากเรื่องขับไล่และเรียกค่าเสียหายเป็นการเรียกทรัพย์คืนและเรียกค่าเสียหาย แต่ก็มีคำขอให้จำเลยออกไปจากสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาทแปลงเดิมเหมือนคดีก่อน ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับว่า ประเด็นข้อนี้มีอยู่แล้วในคดีก่อนเป็นแต่ศาลยังมิได้วินิจฉัย เพราะศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปตามคำท้า แม้ในคดีก่อนศาลจะมิได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีโดยตรง เนื่องจากคู่ความตกลงท้ากันเฉพาะผลคดีแพ่งเรื่องอื่นเป็นข้อแพ้ชนะ แต่เมื่อศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีก่อนไปตามคำท้าของคู่ความให้โจทก์แพ้คดีโดยพิพากษายกฟ้องไปแล้ว คำพิพากษาคดีก่อนย่อมผูกพันคู่ความว่าจำเลยมีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยให้ออกไปจากที่ดินพิพาทเป็นคดีนี้ได้อีก มิฉะนั้นผู้ที่แพ้คดีตามคำท้าก็จะนำคดีมาฟ้องร้องใหม่อีกโดยไม่จบสิ้น อีกทั้งคู่ความในคดีก่อนและคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกัน และคดีก่อนได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว โจทก์จึงต้องห้ามมิให้นำคดีที่มีประเด็นเดียวกันและคดีถึงที่สุดแล้วมาฟ้องใหม่อีกเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 อีกด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1824/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาล: มูลคดีสัญญาซื้อขายเกิดขึ้นได้ทั้งที่สำนักงานโจทก์และสถานที่จำเลย
ในการเสนอคำฟ้องนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า "คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่" คำว่า "มูลคดี" หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง มูลคดีของเรื่องนี้เป็นเรื่องสัญญาซื้อขาย การที่จำเลยที่ 2 หรือพนักงานร้าน บ. ของจำเลยที่ 2 โทรศัพท์สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 356 บัญญัติให้ถือว่าเป็นคำเสนอแก่บุคคลผู้อยู่เฉพาะหน้าด้วยเช่นกันนั้น คงมีผลแต่เพียงว่า การที่บุคคลคนหนึ่งทำคำเสนอไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งทางโทรศัพท์ดังกล่าว หากมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองไว้ เสนอ ณ ที่ใดเวลาใดก็ย่อมจะสนองรับได้แต่ ณ ที่นั้นเวลานั้นเท่านั้น มิได้บัญญัติไปถึงกับให้ถือว่าขณะนั้นทั้งผู้เสนอและผู้สนองอยู่ในสถานที่เดียวกันด้วย ข้อเท็จจริงยังคงต้องฟังว่า ขณะมีการเจรจาตกลงทำสัญญาซื้อขายรายนี้ จำเลยที่ 2 หรือพนักงานร้าน บ. ของจำเลยที่ 2 เจรจาอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนโจทก์เจรจาอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ดังนั้น ทั้งจังหวัดสมุทรปราการที่โจทก์อยู่และจังหวัดกาญจนบุรีที่จำเลยที่ 2 อยู่ จึงต่างเป็นสถานที่ก่อให้เกิดสัญญาซื้อขายรายนี้ร่วมกัน โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลชั้นต้น (ศาลแขวงสมุทรปราการ) อันเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลได้ การที่จำเลยที่ 2 ผู้เสนอได้รับคำสนองรับจากโจทก์นั้นเป็นแต่เพียงข้อพิจารณาว่าสัญญาเกิดขึ้นแล้วหรือไม่เท่านั้น มิได้ทำให้สถานที่ที่จำเลยที่ 2 อยู่เป็นสถานที่มูลคดีเกิดเพียงแห่งเดียวแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1714/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไม่กระทบถึงคดีอาญาถึงที่สุด แม้ศาลมีคำสั่งให้ยกฟ้องในส่วนอาญา
คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาดตามบทบัญญัติมาตรา 170 แห่ง ป.วิ.อ. ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ฎีกา หมายถึงเฉพาะคำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลเท่านั้น แต่หากเป็นการคัดค้านเรื่องผิดระเบียบ คู่ความฝ่ายที่ได้รับความเสียหายอาจยกขึ้นกล่าวอ้างได้ และศาลชั้นต้นอาจมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 จึงไม่ต้องห้ามจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแต่อย่างใด และไม่ทำให้คดีในส่วนอาญาถึงที่สุด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1653/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผู้จัดการมรดกที่เป็นทายาท ทำนิติกรรมโอนมรดกไม่ต้องได้รับความยินยอมจากทายาทอื่น
บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1722 ที่ว่าผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ เว้นแต่พินัยกรรมจะอนุญาตไว้ หรือได้รับอนุญาตจากศาล เป็นกรณีที่ใช้บังคับเฉพาะผู้จัดการมรดกที่มิได้เป็นทายาท แต่สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาลแล้วยังเป็นหนึ่งในทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของ ส. การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของ ส. ให้แก่ตนเองเป็นส่วนตัวในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทด้วย จึงเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่มีอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาทหรือได้รับอนุญาตจากศาล จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำการอันเป็นการปฏิปักษ์ต่อกองมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 อันจะมีผลทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 888/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เงื่อนไขคุมความประพฤติในการเยียวยาโจทก์ต้องชัดเจนและเป็นไปได้ กรณีคดีเช็ค
จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (1) (2) และ (5) ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้รอการกำหนดโทษและคุมความประพฤติของจำเลยที่ 2 ไว้ มีกำหนด 2 ปี และกำหนดเงื่อนไขในการเยียวยาโจทก์ร่วม โดยให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงินตามเช็คที่ค้างชำระอยู่แก่โจทก์ร่วมภายในระยะเวลารอการกำหนดโทษ โดยให้ชำระทุก 3 เดือน นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นต้นไป โดยนำมาวางต่อศาลชั้นต้นหรือโดยวิธีการที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรกำหนดตาม ป.อ. มาตรา 56 วรรคสอง (10) แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้ระบุว่าจำนวนยอดหนี้ตามเช็คพิพาทที่ค้างชำระอยู่เป็นจำนวนเท่าใด จึงเป็นการยากที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้ ทั้งจำเลยทั้งสองได้โต้แย้งมาโดยตลอดว่าได้มีการชำระหนี้เงินต้นบางส่วนแก่โจทก์ร่วมแล้ว โดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของโจทก์ร่วมหลายครั้งตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 แม้ศาลล่างทั้งสองจะฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้ต้นเงิน แต่จำนวนยอดหนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์ร่วมมีเพียงใดนั้น โจทก์ร่วมจะต้องไปฟ้องร้องบังคับเป็นคดีแพ่งต่างหาก ซึ่งในการพิจารณาคดีแพ่งดังกล่าวศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีนี้อันเป็นคดีอาญา เนื่องจากการฟ้องร้องคดีแพ่งดังกล่าวเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 แต่อย่างใด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า คดีแพ่งดังกล่าวมิใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ไม่อยู่ในบังคับบัญญัติมาตรา 46 แห่ง ป.วิ.อ. การกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติในการเยียวยาโจทก์ร่วมจึงไม่เป็นไปตามควรแก่กรณี