คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับศาล/ผู้พิพากษา
ศาลแพ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7,636 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4252/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคัดค้านอนุญาโตตุลาการ: สิทธิในการยื่นคำร้องต่อศาลแม้มีข้อตกลงอนุญาโตตุลาการ
แม้ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง และที่ผู้ร้องกับผู้คัดค้านตกลงกันร่วมกันให้ใช้ข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำหรับการดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ ซึ่งตามข้อบังคับดังกล่าวข้อ 23 วรรคหนึ่ง อันถือเป็นกรณีที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้ โดยผู้ร้องและผู้คัดค้านต้องผูกพันกระบวนการคัดค้านอนุญาโตตุลาการตามข้อบังคับดังกล่าวก็ตาม แต่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคสอง ตอนต้น หมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่มีการวินิจฉัยคำคัดค้านของอนุญาโตตุลาการโดยวิธีการตามข้อบังคับของสถาบันอนุญาโตตุลาการข้างต้น หรือเป็นกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นซึ่งต้องดำเนินการตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง หากการคัดค้านไม่บรรลุผล คู่พิพาทฝ่ายที่คัดค้านย่อมสามารถยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลได้ และข้อบังคับข้อ 23 หมายความเพียงว่า เป็นที่สุดสำหรับกระบวนพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการเท่านั้น หาใช่การตัดสิทธิคู่พิพาทฝ่ายที่คัดค้านมิให้สิทธิทางศาลตามที่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคสอง บัญญัติไว้แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3681/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องผู้จัดการมรดกร่วม กรณีมีมติร่วมกันฟ้องเรียกทรัพย์คืน
ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มรดก ลักษณะ 4 วิธีการจัดการและปันทรัพย์มรดก หมวด 1 ผู้จัดการมรดก ว่าด้วยการจัดตั้งผู้จัดการมรดกคนเดียวหรือหลายคน และวิธีการจัดการมรดก ซึ่งมาตรา 1726 บัญญัติเกี่ยวกับกรณีผู้จัดการมรดกหลายคนซึ่งต้องตกลงกันด้วยเสียงข้างมาก เมื่อตกลงกันได้แล้วจึงดำเนินการรวบรวมจำหน่ายทรัพย์มรดกเป็นตัวเงิน ทำการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กองมรดก กับการแบ่งปันทรัพย์มรดก ตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 2 ว่าด้วยการรวบรวมจำหน่ายทรัพย์มรดกเป็นตัวเงิน และการชำระหนี้กับแบ่งปันทรัพย์มรดก ซึ่งมาตรา 1736 วรรคสอง บัญญัติว่า ในระหว่างเวลาเช่นว่านั้น ผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ เช่นฟ้องคดีหรือแก้ฟ้องในศาลและอื่น ๆ ดังนี้ จะเห็นได้ว่า การกระทำในทางธรรมชาติของการจัดการมรดกโดยผู้จัดการมรดกหลายคนนั้น บางกรณีไม่อาจกระทำได้ด้วยผู้จัดการมรดกพร้อมกันทุกคน เช่น การครอบครองทรัพย์มรดก การจัดทำบัญชีทรัพย์มรดก การขอถอนผู้จัดการมรดก และไม่จำต้องกระทำการพร้อมกันทุกคน เช่น การทำนิติกรรม การรับชำระหนี้จากลูกหนี้ การชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ การฟ้องร้องและการต่อสู้คดี เป็นต้น ทั้งตามบทกฎหมายก็มิได้บัญญัติว่าการกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกหลายคนนั้น ต้องร่วมกันทำหรือร่วมกันลงชื่อในนิติกรรมพร้อมกันทุกคนทุกคราวไป เพียงแต่ต้องกระทำการด้วยตนเอง เว้นแต่จะกระทำการโดยตัวแทนได้ตามอำนาจที่ให้ไว้ชัดแจ้งหรือโดยปริยายในพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาล เนื่องเพราะผู้จัดการมรดกทุกคนต้องร่วมรับผิดต่อทายาทและบุคคลภายนอกดังเช่นตัวแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1720 และ 1723 ฉะนั้น การกระทำใดของผู้จัดการมรดกคนหนึ่งหรือหลายคนโดยมีผู้เห็นด้วยเป็นส่วนมาก หรือได้รับความยินยอมของผู้จัดการมรดกคนอื่นแล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นการจัดการมรดกร่วมกันโดยเสียงข้างมาก หาจำต้องให้ผู้จัดการมรดกเสียงส่วนข้างน้อยเข้าร่วมจัดการด้วยไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากศาลมีคำสั่งตั้ง บ. ซึ่งเป็นผู้ร้อง และโจทก์ซึ่งเป็นผู้คัดค้าน ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของ ว. ผู้ตาย ตามคำสั่งศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ พ 364/2562 แล้ว ต่อมา บ. ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนโจทก์ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก และฝ่ายโจทก์ยื่นคำคัดค้านและขอให้ศาลมีคำสั่งถอน บ. ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกเช่นกัน ศาลนัดไต่สวนคำร้อง และปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแพ่ง ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2562 ว่า นัดไต่สวนคำร้องวันนี้ ผู้ร้อง ป. ผู้รับมอบอำนาจผู้ร้อง ทนายผู้ร้อง ผู้คัดค้าน และทนายผู้คัดค้านมาศาล โดยได้ความตามคำร้องขอแก้ไขคำร้อง ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ของ บ. ผู้ร้องโดย อ. ทนายความผู้ร้อง เป็นผู้ลงนามในคำร้องและเป็นผู้เรียงคำร้องดังกล่าว ในหน้าที่ 5 มีข้อความว่า "กรณีผู้คัดค้านกล่าวอ้างว่า มีทรัพย์สินหลายรายการอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอกนั้น ซึ่งทรัพย์สินตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างเหล่านั้น ไม่ปรากฏชื่อของผู้คัดค้านหรือชื่อของผู้ตายเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด ดังนั้น การใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินดังกล่าวคืนสู่กองมรดกนั้น ผู้คัดค้านสามารถใช้สิทธิทางกฎหมายเพื่อติดตามเอาทรัพย์สินคืนในนามส่วนของตนเองได้โดยตรง ผู้ร้องยินดีให้ความร่วมมือและไม่คัดค้านแต่ประการใด" นอกจากนี้ในคำร้องดังกล่าวในหน้าที่ 3 มีข้อความอีกว่า "...ปัจจุบันผู้ร้องและทายาทโดยธรรมของผู้ตายทุกคน พักอาศัยอยู่ที่ต่างประเทศ โดยผู้ร้องพักอาศัยอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ผู้ร้องได้แต่งตั้งให้ทนายความ และบุคคลอื่นให้เป็นผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินการจัดการรวบรวมทรัพย์มรดกตามคำสั่งศาลนี้แทนผู้ร้องโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพื่อความสะดวกในการจัดการมรดกร่วมกันกับผู้คัดค้านแทนผู้ร้อง และผู้คัดค้านสามารถติดต่อทนายความหรือผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้องได้ตลอดเวลา.." จากข้อความดังกล่าว จึงฟังได้ว่า บ. ได้แต่งตั้งให้ ป. เป็นผู้รับมอบอำนาจของตนในการดำเนินคดี และมีการแต่งตั้ง อ. เป็นทนายความของตน ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการมรดกของผู้ตาย ถือได้ว่า บ. ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมได้แต่งตั้งให้ทนายความและบุคคลอื่น ให้เป็นผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินการจัดรวบรวมทรัพย์มรดกตามคำสั่งศาลนี้แทนตนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ทั้งนี้ ก็เพื่อความสะดวกในการจัดการมรดกร่วมกันกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วม อีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเวลาก่อนวันที่ 14 กันยายน 2562 ที่จะมีการประชุมผู้จัดการมรดก ดังนั้น เมื่อได้ความตามบันทึกการประชุม ระบุว่า "..ผู้จัดการมรดกของ ว. ตามคำสั่งศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ พ 364/2562 โดยมีผู้ร่วมประชุมคือ 1) นางสาว ร. (ซึ่งก็คือโจทก์) และ 2) อ. และ ป. ตัวแทน บ." ซึ่งก็คือทนายความและผู้รับมอบอำนาจของ บ. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับโจทก์ในกองมรดกของผู้ตาย ได้ทำหน้าที่ของตนในฐานะเป็นตัวแทนของ บ. ในการประชุมผู้จัดการมรดกดังกล่าวนั่นเอง เมื่อพิจารณาประกอบบันทึกการประชุมผู้จัดการมรดก เพื่อปรึกษาการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย กลุ่มที่ 3 ซึ่งอยู่ในชื่อตัวแทน 4 คน ที่ยังไม่สามารถเรียกคืนได้และอีกหนึ่งคนตกลงคืนแล้ว ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติให้ดำเนินการฟ้องเรียกทรัพย์คืน โดยฝ่ายทายาทไม่ประสงค์จะเข้าร่วม ในท้ายรายงานการประชุมดังกล่าวได้แนบบัญชีทรัพย์สินในกลุ่มที่ 3 ระบุชื่อจำเลยจำนวน 2 รายการ คือ อันดับที่ 19 ที่ดินและบ้านพิพาท และอันดับที่ 20 เงินพิพาท จึงถือได้ว่า อ. ทนายความ และ ป. ผู้รับมอบอำนาจของ บ. เป็นตัวแทนของ บ. ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วม ได้ร่วมประชุมจัดการมรดกและมีมติให้มีการดำเนินคดีแก่ผู้ที่ถือครองทรัพย์สินซึ่งเป็นมรดกคืนสู่กองมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1723 และเกี่ยวกับคดีนี้ก็คือการร่วมรู้เห็นและยินยอมให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ เพื่อรวบรวมทรัพย์สินของผู้ตายเข้าสู่กองมรดกนำไปแบ่งปันให้แก่ทายาทตามกฎหมาย อันถือได้ว่าเป็นการจัดการมรดกร่วมกันโดยเสียงข้างมากตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1726 ข้างต้นแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกที่ดินและบ้านพร้อมเงินพิพาทส่วนของผู้ตายคืนจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3196/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการพิจารณาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ขัดกัน และการบังคับคดีตามคำพิพากษา
คำร้องของโจทก์ที่ 1 มีคำขอให้ประธานศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นผู้สั่งกำหนดว่าจะให้ถือตามคําพิพากษาศาลฎีกาที่ขัดกันคดีใด เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดกำหนดให้ประธานศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นผู้ชี้ขาดคำพิพากษาศาลฎีกาที่ขัดกัน ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะปฏิเสธไม่ส่งคำร้องนั้นแล้วมีคำสั่งยกคำร้องเสียได้ กรณีนี้เป็นเรื่องของอำนาจร้องจึงเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะต้องตรวจและพิจารณาสั่งคำร้องไปตามลำดับชั้นศาล ศาลชั้นต้นหาได้มีคำสั่งยกคำร้องโดยก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยชี้ขาดว่าให้ถือตามคำพิพากษาศาลฎีกาคดีใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2629/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตั้งผู้จัดการมรดกใหม่หลังผู้จัดการมรดกเดิมเสียชีวิต และการไม่เป็นฟ้องซ้อน
คำฟ้องหรือคำร้องขอใดจะเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) นั้นคู่ความในคดีแรกและคดีหลังต้องมีฐานะเป็นโจทก์ แม้ผู้คัดค้านที่ 2 จะเคยยื่นคำคัดค้านโดยขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ต่อมาผู้คัดค้านที่ 2 จึงยื่นคำร้องขอเป็นคดีนี้ อันถือได้ว่าผู้คัดค้านที่ 2 อยู่ในฐานะโจทก์ดังที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างในฎีกาก็ตาม แต่คดีหมายเลขดำที่ พ 6364/2563 นั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ถูกผู้คัดค้านที่ 1 ฟ้อง ผู้คัดค้านที่ 2 จึงอยู่ในฐานะจำเลย ไม่ต้องด้วยกรณี ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกจะต้องจัดการร่วมกันโดยถือเอาเสียงข้างมากตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 เมื่อผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ความเป็นผู้จัดการมรดกของบุคคลนั้นย่อมสิ้นสุดลงโดยสภาพ แต่ผู้จัดการมรดกที่เหลือยังคงฐานะผู้จัดการมรดกอยู่ตามคำสั่งศาล เพียงแต่ไม่อาจจัดการมรดกต่อไปได้เท่านั้นเพราะจะฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1726 กรณีมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง (2) ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกเพื่อเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมเข้ามาในคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2558/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บุคคลวิกลจริตทำนิติกรรมให้ที่ดินโมฆียะ โจทก์บอกล้างได้ภายในกำหนด
แม้โจทก์จะมีความสามารถตามกฎหมาย แต่ไม่มีความสามารถที่จะดูแลตนเองหรือผลประโยชน์ของตนเองได้ในความเป็นจริงอันอาจเป็นเพียงบางช่วงเวลา ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติทางจิตใจหรือความผิดปกติทางร่างกายที่มีผลกระทบต่อจิตใจ โจทก์สามารถประกอบกิจวัตรได้เพียงทางกายภาพบางช่วงเวลาเท่านั้น แต่โจทก์ยังมีภาวะผิดปกติทางจิตที่มีความผิดปกติทางความคิด อารมณ์ พฤติกรรมบางอย่างมากจนไม่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง หากดูจากภายนอกย่อมไม่อาจทราบได้ว่าแท้จริงแล้วโจทก์เป็นผู้ป่วยทางจิตเวชอยู่ ไม่อาจตัดสินใจเรื่องใดในทางสมเหตุสมผลได้เหมือนคนปกติ และหลายครั้งที่ผู้ป่วยทางจิตเวชต้องทำอัตวินิบาตกรรม เนื่องจากไม่อาจทนทุกข์ทรมานกับโรคที่เป็นอยู่จนไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไปเพราะมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทไม่สมดุล กรณีของโจทก์แพทย์จึงต้องใช้ยาต้านเศร้าร่วมด้วยนอกเหนือจากยาคลายวิตกกังวลและยานอนหลับเพื่อปรับอารมณ์ของโจทก์ให้เกิดความสมดุลมากขึ้น ขณะที่โจทก์ทำนิติกรรมจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยนั้น โจทก์ขาดการรักษาและไม่ได้รับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลานานเชื่อว่า โจทก์ยังคงมีความวิตกกังวลสูง ฟุ้งซ่าน คิดในเรื่องไม่สมเหตุสมผล สภาพภายในจิตใจของโจทก์ยังคงทุกข์ทรมานอย่างมากจนไม่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง เจตนาที่แสดงออกมาจึงวิปริต เมื่อโจทก์ไม่มีความสามารถที่จะดูแลตนเองหรือผลประโยชน์ของตนเองได้ในความเป็นจริง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติทางจิตใจ โจทก์จึงเป็นบุคคลวิกลจริตแล้ว ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 175 (4) นั้น บุคคลวิกลจริตผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 30 จะบอกล้างนิติกรรมเสียได้ในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกลแล้ว
โจทก์มีอาการดีขึ้นและสติสัมปชัญญะเหมือนเช่นคนปกติจนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ดังเดิมอันเป็นเวลาที่โจทก์อาจให้สัตยาบันได้เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2561 ต่อมาประมาณต้นปี 2562 โจทก์โทรศัพท์ทวงถามให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาททั้งสามแปลงคืนให้แก่โจทก์ ถือเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าโจทก์บอกล้างโมฆียกรรมนั้นแล้ว ซึ่งเมื่อนับแต่เวลาที่โจทก์อาจให้สัตยาบันได้ถึงช่วงเวลาดังกล่าวไม่เกินกำหนดเวลาหนึ่งปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 181 เมื่อโจทก์บอกล้างโมฆียกรรมโดยชอบย่อมมีผลทำให้นิติกรรมที่โจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทแก่จำเลยโดยเสน่หาตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2019/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายเชิงลงโทษต้องคำนวณจากค่าเสียหายที่แท้จริง ศาลมิอาจสั่งจ่ายค่าเสียหายเชิงลงโทษหากไม่ได้กำหนดค่าเสียหายที่แท้จริงเสียก่อน
การกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษที่ศาลจะสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ได้นั้น จะกระทำได้ต่อเมื่อศาลได้กำหนดให้มีการชดใช้ค่าเสียหายที่แท้จริงเสียก่อนเพื่อนำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ แต่คดีนี้ศาลพิพากษาให้จำเลยคืนเงินตามสัญญาซื้อขายห้องชุดแก่ผู้บริโภค พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยรับเงินไป โดยให้ผู้บริโภคจดทะเบียนห้องชุดพิพาทคืนแก่จำเลยอันเป็นผลมาจากสัญญาซื้อขายห้องชุดเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง มิได้เป็นการกำหนดค่าเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยผิดสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคท้าย ศาลจึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2017/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาซื้อขายหุ้น-การอนุมัติโอนหุ้นธนาคาร-ความรับผิดตามสัญญา
โจทก์ฟ้องบังคับตามบันทึกข้อตกลงโดยมีคำขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบหุ้น 1,260 หุ้น คืนแก่โจทก์ กับให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น จัดทำและยื่นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ดังนั้น การที่จะบังคับตามคำขอของโจทก์ดังกล่าว จึงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 4 และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย โดย ป.พ.พ. มาตรา 1134 บัญญัติให้บริษัทออกใบหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเมื่อมีข้อบังคับของบริษัทอนุญาตไว้ มาตรา 1138 บัญญัติให้บริษัทจำกัดต้องมีสมุดจดทะเบียนผู้ถือหุ้นมีรายการตามที่กำหนด และมาตรา 1139 วรรคสอง บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของกรรมการที่จะส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ที่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ทั้งหมดในเวลาที่ประชุม และรายชื่อผู้ที่ขาดจากเป็นผู้ถือหุ้นนับแต่วันประชุมสามัญครั้งที่แล้วไปยังนายทะเบียนอย่างน้อยปีละครั้ง จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นหน้าที่ของบริษัทจำเลยที่ 4 หรือกรรมการของจำเลยที่ 4 ซึ่งกระทำการในนามบริษัทจำเลยที่ 4 ที่จะต้องออกใบหุ้น และดำเนินการเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้แก่โจทก์เพื่อให้การโอนหุ้นตามบันทึกข้อตกลงมีผลสมบูรณ์ ดังนี้ แม้จำเลยที่ 4 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทำบันทึกข้อตกลงในคดีอาญา โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องบริษัทจำเลยที่ 4 ให้ร่วมดำเนินการตามคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1951/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความผิดสัญญา การบังคับคดีรื้อถอนทรัพย์สิน
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารพร้อมขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง อ้างว่าสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน คือสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและแก๊ส รวมทั้งอาคารพักพนักงานจำนวน 2 ชั้น ฯลฯ จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยเป็นผู้ขออนุญาตและปลูกสร้างเอง การที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยอยู่ในที่ดินอีก 13 เดือน แม้ไม่ได้ระบุถึงกรณีให้รื้อถอนหรือขนย้ายถังแก๊สใต้ดิน ถังน้ำมันใต้ดิน และอื่น ๆ ไว้ด้วยก็ตาม แต่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็มิได้ตกลงให้ทรัพย์สินของจำเลยบนที่ดินพิพาทตกเป็นของโจทก์ ไม่มีเหตุที่โจทก์จะเก็บถังน้ำมัน ถังเก็บแก๊สแอลพีจี และสิ่งปลูกสร้างของจำเลยไว้ ตามพฤติการณ์แห่งคดี เห็นได้ว่า ขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยต้องการย้ายทรัพย์สินของตนออกจากที่ดินพิพาท และโจทก์ต้องการให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินของจำเลยออกไปจากที่ดินเช่นกัน เมื่อจำเลยไม่ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทจึงเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์บังคับคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1406-1407/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อนุญาโตตุลาการ: คำชี้ขาดชอบด้วยกฎหมายเมื่อพิพาทอยู่ในขอบเขตสัญญาและไม่เกินข้อตกลงเสนอข้อพิพาท
การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า พฤติการณ์เป็นการถูกกลฉ้อฉลถึงขนาดจึงเป็นโมฆียะเป็นเหตุให้ผู้ร้องมีสิทธิบอกล้างบันทึกข้อตกลงได้ เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีและระบุเหตุผลแห่งการวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.อนุโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 37 วรรคสอง การอุทธรณ์ทำนองว่า การทำบันทึกข้อตกลงเป็นไปด้วยความสมัครใจ จึงมีผลสมบูรณ์ใช้ได้ตามกฎหมายและมิได้ตกเป็นโมฆียะ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและเนื้อหาในประเด็นที่คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัย โดยไม่ปรากฏว่าคณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยขัดต่อวิธีพิจารณาหรือฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่เข้าเหตุที่จะอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สัญญาพิพาทที่ระบุให้ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากสัญญานี้ คู่สัญญาตกลงระงับข้อพิพาทด้วยการอนุญาโตตุลาการ ณ สถาบันอนุญาโตตุลาการ (กรุงเทพมหานคร) จึงเป็นการกำหนดขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการไว้อย่างกว้าง เมื่อผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทให้ผู้คัดค้านชำระเงินประกันผลงานและเงินค่างานงวดสุดท้ายอันเนื่องมาจากการว่าจ้างก่อสร้างตามสัญญาดังกล่าว ซึ่งผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่าไม่ต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่ผู้ร้อง ถือเป็นกรณีมีข้อพิพาทเกิดขึ้นตามสัญญาพิพาทดังกล่าว จึงอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการที่คณะอนุญาโตตุลาการจะวินิจฉัยได้และไม่ใช่คำชี้ขาดที่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ส่วนประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงว่ามีผลใช้บังคับตามกฎหมายหรือไม่นั้น เมื่อบันทึกข้อตกลงทำขึ้นเนื่องจากผู้ร้องเรียกร้องเงินประกันผลงานและเงินค่างานงวดสุดท้าย ย่อมถือเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องและเกิดขึ้นจากสัญญาจ้างก่อสร้างซึ่งต้องวินิจฉัยถึงสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างก่อสร้างเช่นเดียวกัน ผู้ร้องย่อมมีสิทธิเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการและคณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดในส่วนบันทึกข้อตกลงดังกล่าวด้วย ซึ่งเป็นอำนาจในการวินิจฉัยขอบเขตอำนาจของตนรวมถึงความมีอยู่และความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 24

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1335/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการคุ้มครองชั่วคราวระหว่างกระบวนการคัดค้านอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ
ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 19 วรรคสาม อนุญาโตตุลาการอาจถูกคัดค้านได้ หากปรากฏข้อเท็จจริงซึ่งเป็นเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระ หรือการขาดคุณสมบัติตามที่คู่พิพาทตกลงกัน โดยคู่พิพาทฝ่ายที่ประสงค์จะคัดค้านต้องดำเนินการตามกระบวนการที่ได้ตกลงกันไว้ หรือในกรณีที่ไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นต้องดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง หากการคัดค้านโดยวิธีตามที่คู่พิพาทตกลงกันหรือตามวิธีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ไม่บรรลุผล หรือในกรณีที่มีอนุญาโตตุลาการเพียงคนเดียว คู่พิพาทฝ่ายที่คัดค้านอาจยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคสอง และเมื่อศาลไต่สวนคำคัดค้านนั้นแล้วให้มีคำสั่งยอมรับหรือยกเสียซึ่งคำคัดค้านนั้น และในระหว่างการพิจารณาของศาล คณะอนุญาโตตุลาการซึ่งรวมถึงอนุญาโตตุลาการซึ่งถูกคัดค้านอาจดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการต่อไปจนกระทั่งมีคำชี้ขาดได้ ทั้งนี้ เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จากบทบัญญัติข้างต้นเห็นได้ว่า แม้ผู้ร้องทั้งสองจะยื่นคำร้องคัดค้านคำวินิจฉัยของผู้วินิจฉัยต่อศาลชั้นต้นตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคสอง แล้ว แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศ. ซึ่งเป็นอนุญาโตตุลาการที่ผู้คัดค้านแต่งตั้งก็อาจดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการต่อไปได้หากศาลไม่มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ดังนี้ การที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งหยุดการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการไว้ชั่วคราวเพื่อรอฟังผลการไต่สวนคำร้องคัดค้านคำวินิจฉัยของผู้วินิจฉัย แม้จะอ้างในหัวคำร้องว่าเป็นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งหยุดการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการไว้ชั่วคราวเป็นการด่วน แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาตามคำร้องแล้วเห็นได้ว่าเป็นการขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 20 วรรคสอง ตอนท้าย ทั้งยังมีลักษณะเป็นการขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของตนขณะดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง อันเป็นสิทธิที่คู่สัญญาที่ทำสัญญาอนุญาโตตุลาการไว้อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มิใช่การขอคุ้มครองชั่วคราวตาม ป.วิ.พ. ดังที่ผู้คัดค้านอ้างในอุทธรณ์ ผู้ร้องทั้งสองจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในคดีนี้ได้ตามกฎหมายดังกล่าว
of 764