พบผลลัพธ์ทั้งหมด 15 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1695/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม กรณีเอกสารไม่ใช่เอกสารราชการ ศาลแก้ไขโทษและฐานความผิด
จำเลยนำแบบพิมพ์แจ้งการจ้างคนต่างด้าว ซึ่งเป็นแบบพิมพ์ของทางราชการมากรอกข้อความขึ้นเองและลงลายมือชื่อปลอมของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่เอกชนทำขึ้นเพื่อยื่นต่อทางราชการ เจ้าพนักงานมิได้เป็นผู้ทำเอกสาร และมิใช่เอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ จึงไม่ใช่เอกสารราชการ จำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารธรรมดาและใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1301/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อตกลงทบดอกเบี้ยเข้าต้นเงิน: ชอบด้วยกฎหมายหากไม่ใช่เบี้ยปรับสูงเกินไป
การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญากู้ยืมตกลงกันเป็นหนังสือให้เอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้น เป็นข้อตกลงที่มีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง ไม่อยู่ในบังคับของข้อห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง และข้อตกลงดังกล่าวกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าต้องกระทำเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระครบหนึ่งปีแล้วเท่านั้น ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นโมฆะ ฉะนั้น ตราบใดที่จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระดอกเบี้ย โจทก์ย่อมมีสิทธินำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินและคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ทุกครั้งที่มีการค้างชำระดอกเบี้ยถึงหนึ่งปีเช่นนั้น แม้ว่าจะครบกำหนดชำระคืนและลูกหนี้ผิดนัดแล้วก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดในรูปดอกเบี้ยทบต้นไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนและใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงโดยกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ครั้งเดียวนั้นชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1003/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแปลงหนี้ใหม่จากหนี้เดิมหลายประเภท (เงินกู้, ทองคำ, ค่าแชร์) และดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่
หนี้ตามสัญญากู้เงินพิพาทเกิดจากการนำหนี้เงินกู้ 100,000 บาท หนี้ยืมทองคำ และหนี้ค่าแชร์มารวมกัน แม้หนี้เงินกู้เดิมไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมแต่จำเลยยังมีหน้าที่ต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์เพียงแต่โจทก์ไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีจำเลยได้ อย่างไรก็ตาม คู่กรณีสามารถตกลงกันทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นเพื่อบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินได้ ทั้งการส่งมอบเงินกู้ไม่จำเป็นต้องส่งมอบเงินในวันทำสัญญา สามารถส่งมอบก่อนหรือหลังทำสัญญาก็ได้ และจำเลยรับว่าเป็นหนี้เงินกู้ 100,000 บาท ดังกล่าวจริง หนี้ส่วนนี้จึงสมบูรณ์ ส่วนหนี้ยืมทองคำ แม้มีการไถ่ถอนทองคำคืนโจทก์ แต่ก็เป็นการกระทำภายหลังที่มีการทำสัญญากู้ยืมเงินแล้ว ทั้งโจทก์และจำเลยมีการตรวจสอบยอดหนี้ในส่วนนี้ว่ายังมีหนี้ค้างชำระกันอีก หนี้ในส่วนนี้จึงสมบูรณ์เช่นกัน สำหรับหนี้ค่าแชร์เมื่อนำมารวมกับหนี้เงินกู้และหนี้ยืมทองคำแล้วจัดทำเป็นหนังสือสัญญากู้เงินพิพาท จำเลยยอมรับว่ามีการทำสัญญากู้ยืมเงินพิพาทจริง ส่วนจะเป็นโมฆะตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 หรือไม่ นั้น จำเลยเป็นฝ่ายกล่าวอ้าง จำเลยมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าในช่วงเวลาเดียวกันโจทก์มีการจัดให้เล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวง หรือมีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน และมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าหนี้ค่าแชร์ที่นำมารวมเป็นหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินมีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าสามแสนบาท เมื่อจำเลยไม่นำสืบจึงฟังไม่ได้ว่าหนี้ค่าแชร์ที่โจทก์เป็นนายวงเป็นโมฆะ และเมื่อมีการนำหนี้ทั้งสามประเภทมารวมกันเป็นหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินพิพาท เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยตกลงก่อหนี้ขึ้นมาใหม่โดยมีเจตนาให้หนี้เดิมระงับอันมีลักษณะเป็นการเปลี่ยนสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 425/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำนองเพื่อประกันหนี้บุคคลอื่น: สิทธิจำนองจำกัดวงเงินและดอกเบี้ย, ศาลมีอำนาจสั่งค่าฤชาธรรมเนียม
ผู้รับโอนโดยซื้อทรัพย์พิพาทจากการขายทอดตลาด ซึ่งมีเงื่อนไขให้ติดจำนองมาด้วยโดยมิได้เป็นลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ย่อมมีสิทธิไถ่ถอนจำนองได้ด้วยการรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินซึ่งหมายถึงราคาทรัพย์จำนองในเวลาที่ผู้รับโอนขอไถ่ถอนจำนอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 736 และมาตรา 738 แต่เจ้าหนี้มีสิทธิบอกปัดไม่รับคำเสนอและต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันมีคำเสนอเพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นตามมาตรา 739 เมื่อจำเลยเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินโดยติดจำนองซึ่งมิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ตามข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนอง และไม่มีข้อตกลงในการแปลงหนี้โดยเปลี่ยนตัวจำเลยมาเป็นลูกหนี้แทน บ. ลูกหนี้ และ จ. ผู้จำนอง จึงไม่เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นหรือลูกหนี้ร่วมได้ ความรับผิดของจำเลยย่อมมีเพียงทรัพย์สินซึ่งจำนองที่ตนรับโอนมาซึ่งตราเป็นประกันการชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น กรณีนี้จำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ตามวงเงินจำนองกับดอกเบี้ยของวงเงินจำนองและค่าอุปกรณ์อื่นตามมาตรา 715 ด้วย เมื่อปรากฏว่าหนังสือสัญญาจำนองเป็นประกันระบุว่า จ. จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้กู้ยืมของ บ. อันเป็นการจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระตามมาตรา 709 ที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหรือเวลาหนึ่งเวลาใดในภายหน้าเป็นต้นทุนขั้นสูงสุด 52,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยไม่เกินอัตราร้อยละ 19 ต่อปี สิทธิจำนองจึงย่อมครอบเพียงต้นเงิน 52,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้และค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนองเท่านั้น กรณีจึงไม่จำต้องกำหนดราคาอันสมควรกับทรัพย์จำนองพิพาทเพราะไม่เกิดประโยชน์แก่รูปคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 610/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิในการฎีกาของผู้รับจำนองในคดีเพิกถอนคำสั่งริบเงินมัดจำการขายทอดตลาดที่ดิน
เดิมผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดและคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้ริบเงินมัดจำ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินที่ถูกขายทอดตลาดยื่นคำคัดค้านคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสองฉบับ ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้ริบเงินมัดจำ ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้ริบเงินมัดจำแล้วให้ขายทอดตลาดใหม่ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำเงินค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือมาชำระแล้วผู้ร้องไม่ชำระ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีคำสั่งริบเงินมัดจำและให้นำทรัพย์ออกขายทอดตลาดใหม่ เป็นเหตุให้ผู้ร้องมายื่นคำร้องเป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นยกคำร้องโดยไม่ไต่สวน ผู้คัดค้านจึงมิได้เข้ามาเป็นคู่ความเกี่ยวกับคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้ริบเงินมัดจำของผู้ร้องมาตั้งแต่แรก ประกอบกับผู้คัดค้านเป็นเพียงผู้รับจำนองที่ดินที่ขายทอดตลาดซึ่งในการขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดโดยติดจำนองไปด้วย สิทธิของผู้คัดค้านในฐานะผู้รับจำนองยังคงมีอยู่ครบถ้วน คำร้องของผู้ร้องที่ขอเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้ริบเงินมัดจำตลอดจนคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไม่ได้กระทบสิทธิของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในคดีไม่มีสิทธิฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์