คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 744 (4)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 314/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความบังคับคดีจำนอง: สิทธิจำนองยังคงอยู่ แม้พ้นระยะเวลาบังคับคดี
ผู้รับจำนองซึ่งทรงทรัพยสิทธิจำนองย่อมมีสิทธิบังคับจำนองแม้หนี้ที่ประกันหรือสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความ เพียงแต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่าห้าปีไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และ 745 แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายสารบัญญัติ เมื่อคดีเข้าสู่ศาล กระบวนพิจารณาก็ต้องบังคับตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. ดังนั้น เมื่อ ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง มาตรา 274 บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องร้องขอให้บังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งหมายถึงตั้งแต่มีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ และจำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตั้งแต่งวดแรกวันที่ 30 มิถุนายน 2543 ดังนี้ การร้องขอให้บังคับคดีโดยการยึดทรัพย์สินจำนองจึงต้องกระทำภายในสิบปีนับแต่วันที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองของจำเลยล่วงพ้นระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2543 แล้ว โจทก์จึงสิ้นสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินจำนองของจำเลย อย่างไรก็ตาม ทรัพยสิทธิจำนองยังคงอยู่ และโจทก์สามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์สินจำนองต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13104/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดี จำเป็นต้องมีข้อโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ หรือมีเหตุใช้สิทธิทางศาล กรณีจำนองถูกต้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ผู้ที่จะยื่นฟ้องคดีต่อศาลจะต้องถูกโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายหรือจะต้องใช้สิทธิทางศาล กล่าวคือ ต้องมีกฎหมายรองรับว่ามีสิทธิหรือหน้าที่จะต้องใช้สิทธิทางศาล ฟ้องโจทก์บรรยายว่า โจทก์แย่งสิทธิครอบครองในที่ดินและบ้านพิพาทจาก พ. ผู้เป็นเจ้าของภายหลังจากที่ พ. จดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ไว้แก่จำเลยก่อนที่จำเลยฟ้องบังคับให้ พ. ชำระหนี้และดำเนินการบังคับคดียึดที่ดินพร้อมบ้านพิพาทออกขายทอดตลาดแก่ผู้มีชื่ออันมีผลให้สัญญาจำนองระงับตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 (3) (4) เท่ากับโจทก์รับว่าจำเลยจดทะเบียนรับจำนองจาก พ. ผู้เป็นเจ้าของไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยจึงเป็นเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิเหนือที่ดินและบ้านพิพาท ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อชำระหนี้แก่ตนได้ การที่โจทก์จะเข้าแย่งการครอบครองหรือได้สิทธิครอบครองในภายหลังหรือไม่ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการทำให้ผู้จำนองหลุดพ้นหรือเป็นการถอนจำนอง อันมีผลให้สัญญาจำนองระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 (3) (4) ดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ทั้งตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์โดยผิดต่อกฎหมายหรือใช้สิทธิอันเป็นการมิชอบด้วยกฎหมายประการใด การกระทำของจำเลยตามคำฟ้องของโจทก์ จึงเป็นกรณีที่ไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์หรือมีเหตุที่โจทก์จะต้องใช้สิทธิทางศาล โจทก์จึงไม่มีสิทธิยื่นฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9212/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการโอนทรัพย์สินและการจำนองก่อนล้มละลาย: สิทธิของเจ้าหนี้บุริมสิทธิและการกระทำที่ไม่สุจริต
แม้ผู้คัดค้านที่1จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่ธนาคารก.ก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลายแต่เมื่อผู้คัดค้านที่1ได้ไถ่ถอนจำนองโดยชำระหนี้ให้แก่ธนาคารก.ผู้รับจำนองเดิมถูกต้องครบถ้วนแล้วบุริมสิทธิจำนองของธนาคารก.ที่มีอยู่เหนือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างย่อมระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา744(4)การที่ผู้คัดค้านที่1ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่ผู้คัดค้านที่2ในวันเดียวกันกับที่ไถ่ถอนจำนองดังกล่าวย่อมถือว่าเป็นการจำนองรายใหม่หาใช่เป็นการโอนสิทธิจำนองหรือรับช่วงสิทธิจากการจำนองรายเดิมแต่อย่างใดไม่ดังนั้นแม้การที่ผู้คัดค้านที่2ได้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนเพียงใดก็ตามแต่เมื่อการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่1กระทำโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทนภายในระยะเวลาสามปีก่อนขอให้ลูกหนี้ล้มละลายซึ่งศาลเพิกถอนได้แล้วและการจำนองดังกล่าวได้กระทำภายหลังจากที่มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลายผู้คัดค้านที่2จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา116 ตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอนก็ยังถือว่าเป็นการโอนที่ชอบอยู่กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการผิดนัดนับแต่วันยื่นคำร้องอันเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านที่1ต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ยผู้ร้องคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9212/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองที่ดินหลังล้มละลาย: สิทธิของผู้รับจำนองรายใหม่ และผลของการโอนที่ดินไม่สุจริต
แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่ธนาคาร ก. ก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย แต่เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ได้ไถ่ถอนจำนองโดยชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร ก. ผู้รับจำนองเดิมถูกต้องครบถ้วนแล้ว บุริมสิทธิจำนองของธนาคาร ก. ที่มีอยู่เหนือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างย่อมระงับสิ้นไป ตาม ป.พ.พ.มาตรา 744 (4) การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ในวันเดียวกันกับที่ไถ่ถอนจำนองดังกล่าวย่อมถือว่าเป็นการจำนองรายใหม่ หาใช่เป็นการโอนสิทธิจำนองหรือรับช่วงสิทธิจากการจำนองรายเดิมแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น แม้การที่ผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1 กระทำโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทนภายในระยะ-เวลาสามปีก่อนขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย ซึ่งศาลเพิกถอนได้แล้ว และการจำนองดังกล่าวได้กระทำภายหลังจากที่มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย ผู้คัดค้านที่ 2 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 116
ตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอนก็ยังถือว่าเป็นการโอนที่ชอบอยู่ กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการผิดนัดนับแต่วันยื่นคำร้องอันเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านที่ 1 ต้องรับผิดเรื่องดอกเบี้ย ผู้ร้องคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3419/2534 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การระงับจำนองต้องมีการชำระหนี้หรือวางทรัพย์ การไม่ฟ้องบังคับจำนองไม่ถือเป็นการระงับจำนองโดยอัตโนมัติ
โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้ทำหนังสือขอไถ่ถอนจำนองไปถึงจำเลยแต่จำเลยไม่ยอมรับข้อเสนอจนพ้นกำหนด 1 เดือน จำเลยไม่นำคดีฟ้องต่อศาลเพื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนอง ดังนี้ การที่จำเลยไม่ฟ้องคดี แม้จะถือเท่ากับว่า จำเลยสนองรับคำเสนอขอไถ่ถอนจำนองของโจทก์โดยปริยายตามมาตรา 739,741 แล้วก็ตาม แต่จำนองจะระงับไปโดยเหตุการไถ่ถอนตามมาตรา 744(4) ก็ต่อเมื่อโจทก์ใช้เงินแก่จำเลยตามจำนวนที่โจทก์เสนอจะใช้เท่ากับจำนวนเงินที่จดทะเบียนจำนองพร้อมดอกเบี้ย หรือโจทก์ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปวางทรัพย์ณ สำนักงานวางทรัพย์แล้ว ซึ่งฟ้องโจทก์ก็หาได้ปรากฏถึงสภาพแห่งข้อหาที่ถือว่าเป็นสาระสำคัญเช่นว่านี้ไม่ เหตุตามคำฟ้องของโจทก์มิใช่กรณีใดกรณีหนึ่งซึ่งจะถือว่าสัญญาจำนองระงับไปดัง ที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนระงับจำนอง.