คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 118

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 436 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3196/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเกษียณอายุและสิทธิค่าชดเชย: สัญญาจ้างสิ้นสุดเมื่ออายุครบ 55 ปี แม้มีการทำงานต่อ
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดให้ลูกจ้างที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เกษียณอายุโดยจำเลย (นายจ้าง) จะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อนเกษียณอายุไม่น้อยกว่า 90 วัน เมื่อโจทก์ (ลูกจ้าง) อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ โจทก์จึงพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยและสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ส่วนการแจ้งล่วงหน้าก่อนเกษียณอายุตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นแต่เพียงการกำหนดหน้าที่ให้จำเลยปฏิบัติ ไม่ใช่เงื่อนไขให้จำเลยเลือกปฏิบัติว่าจะให้ลูกจ้างคนใดเกษียณอายุหรือไม่ การที่จำเลยยังคงให้โจทก์ทำงานต่อไปเป็นการทำสัญญาจ้างแรงงานขึ้นใหม่กับโจทก์ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่กำหนดว่าจำเลยอาจพิจารณาจ้างพนักงานที่ครบเกษียณอายุให้ทำงานต่อไปคราวละ 1 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8627/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงอนุญาโตตุลาการในสัญญาบริการ, สิทธิฟ้องร้องต่อศาลแรงงาน, การแบ่งแยกข้อพิพาท
ตามสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษาระบุใจความว่า "ข้อสัญญานี้จะได้รับการตีความภายใต้กฎหมายของอัลเบอร์ต้า ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดแจ้งข้อพิพาทเป็นลายลักษณ์อักษรให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งอนุญาโตตุลาการอิสระหนึ่งคนจะได้รับการแต่งตั้งโดยการตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่ายภายในสามสิบวันนับแต่แจ้งข้อพิพาท" กรณีดังกล่าวจึงเป็นการตกลงที่จะให้มีอนุญาโตตุลาการหนึ่งคนเป็นผู้ระงับข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาโดยตีความตามกฎหมายของอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษา การที่จะต้องแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ระงับข้อพิพาท จึงต้องเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษาซึ่งหากมีปัญหาเกี่ยวกับการตีความสัญญาก็จะต้องเป็นไปภายใต้กฎหมายของอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา และเป็นผลให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะนำข้อพิพาทดังกล่าวไปฟ้องต่อศาลแรงงานกลางก่อนที่จะใช้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดไม่ได้ตามที่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 บัญญัติไว้ เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ แต่ตามคำฟ้องโจทก์ส่วนที่อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย โจทก์ทำงานติดต่อกันเกินกว่าสามปีจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน และจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์โดยจงใจหรือโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จึงขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมเงินเพิ่มและค่าชดเชย อันเป็นการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9, 17, 70 และมาตรา 118 และขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 จึงมิใช่เป็นการฟ้องเกี่ยวกับกรณีพิพาทซึ่งเกิดจากสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษา แต่อย่างใด โจทก์จึงมีสิทธินำคดีส่วนนี้มาฟ้องต่อศาลแรงงานได้
สำหรับคำฟ้องโจทก์ที่โจทก์ขอเรียกค่าขาดประโยชน์จากการทำงานที่เหลืออยู่ตามสัญญาจึงเป็นการฟ้องเกี่ยวกับกรณีพิพาทตามสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษา จึงต้องเป็นไปตามข้อสัญญาที่จะต้องให้อนุญาโตตุลาการอิสระหนึ่งคนที่ได้รับการแต่งตั้งโดยการตกลงร่วมกันระหว่างโจทก์กับจำเลยได้ชี้ขาดก่อนตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีส่วนนี้มาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8211/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินช่วยเหลือค่ารถยนต์สำหรับผู้บริหาร ไม่ถือเป็นค่าจ้างที่ต้องนำไปคำนวณค่าชดเชย
จำเลยเคยจัดรถยนต์ประจำตำแหน่งให้แก่โจทก์ซึ่งทำงานในตำแหน่งผู้จัดการภาคใต้ ต่อมาจำเลยยกเลิกรถยนต์ประจำตำแหน่งของโจทก์เนื่องจากมีอายุการใช้งานเกิน 5 ปี ตามนโยบายของจำเลย แล้วจำเลยได้จ่ายเงินให้โจทก์ในอัตราเดือนละ 20,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2545 อันเป็นวันหลังจากที่เรียกรถยนต์ประจำตำแหน่งคืนจากโจทก์เป็นต้นไป เพื่อให้โจทก์นำเงินดังกล่าวไปซื้อหรือเช่ารถยนต์สำหรับใช้งานแทนรถยนต์ประจำตำแหน่งที่เรียกคืน และจำเลยจะจัดรถยนต์ประจำตำแหน่งให้พนักงานตำแหน่งระดับผู้จัดการแผนกขึ้นไปเท่านั้น ดังนั้น รถยนต์ประจำตำแหน่งจึงเป็นสวัสดิการที่จำเลยจัดให้แก่พนักงานที่ทำงานในตำแหน่งดังกล่าว เมื่อจำเลยเรียกรถยนต์ประจำตำแหน่งคืนแล้วจ่ายเงินเดือนละ 20,000 บาท ให้แก่โจทก์เพื่อซื้อหรือเช่ารถยนต์สำหรับใช้งานแทนรถยนต์ประจำตำแหน่ง จึงเป็นการจ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการเช่นเดียวกัน มิใช่เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายเดือน แม้จะจ่ายเงินดังกล่าวเป็นจำนวนแน่นอนเท่าๆ กันทุกเดือน ก็มิใช่ค่าจ้างที่จะต้องนำไปรวมคำนวณจ่ายเป็นค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5933/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาไม่ขัดต่อกฎหมาย และมีผลผูกพันตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
การบอกเลิกสัญญาจ้างของนายจ้างเป็นการกระทำของนายจ้างที่ไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง เมื่อมาตรา 118 วรรคสอง ไม่ได้บัญญัติว่าการเลิกจ้างต้องกระทำเป็นหนังสือ การที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาจึงมีผลเป็นการเลิกจ้างตามบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนที่มาตรา 17 วรรคสาม บัญญัติให้นายจ้างระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกจ้างนั้นเป็นการบัญญัติถึงวิธีการบอกเลิกสัญญาจ้างในกรณีที่ทำเป็นหนังสือ ไม่ได้ห้ามการบอกเลิกสัญาจ้างด้วยวาจา การบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาจึงไม่ขัดต่อมาตรา 17 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5131/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างระหว่างทดลองงาน นายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง ไม่มีข้อยกเว้นว่าการเลิกจ้างในระหว่างการทดลองงานตามสัญญาจ้างทดลองงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างไม่ได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าเป็นหนังสือให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 ไม่ได้บัญญัติยกเว้นให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งถูกเลิกจ้างในระหว่างการทดลองงานหรือตามสัญญาจ้างทดลองงานจึงต้องนับระยะเวลาการทำงานตั้งแต่วันเข้าทำงานเป็นลูกจ้างจนถึงวันเลิกจ้างเป็นระยะเวลาทำงานเพื่อเป็นฐานในการจ่ายค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5131/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างทดลองงานที่ต่ออายุโดยไม่กำหนดวันสิ้นสุด มีผลเป็นสัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
จำเลยที่ 1 รับโจทก์เข้าทำงานโดยให้ทดลองงาน ซึ่งตามสัญญาทดลองการจ้างแรงงานข้อ 1 ระบุว่า ผู้จ้างตกลงจ้างผู้รับจ้างเป็นประชาสัมพันธ์ทดลองงานของโรงเรียนตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2547 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2547 และตามหนังสือการสังเกตการณ์ผลงาน โจทก์ได้คะแนนรวมจากการประเมินผลงาน 11 คะแนน จาก 35 คะแนน หนังสือดังกล่าวระบุว่า คุณมีการผิดพลาดในงานเอกสารและทำงานล่าช้า คุณควรมีการปรับปรุงการทำงาน ทางโรงเรียนจะพิจารณาการผ่านงานของคุณในครั้งที่สองและแจ้งให้คุณทราบอีกครั้งเมื่อสิ้นสุดภาคเรียน จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์ทดลองงานต่อไปหลังจากที่ครบกำหนดตามสัญญาทดลองการจ้างแรงงานไปจนถึงสิ้นสุดภาคเรียนโดยไม่ได้กำหนดวันที่ให้ชัดเจนว่าจะสิ้นสุดการทดลองงานวันใด การที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทำงานต่อมาจึงไม่แน่นอนว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงเมื่อใดจึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา การบอกเลิกสัญญาจ้างจึงอยู่ในบังคับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง ซึ่งไม่มีข้อยกเว้นว่าการเลิกจ้างในระหว่างทดลองงานไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าจำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (1) ไม่ได้บัญญัติข้อยกเว้นให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในระหว่างการทดลองงานหรือตามสัญญาจ้างทดลองงาน จึงต้องนับระยะเวลาการทำงานตั้งแต่วันเข้าทำงานไม่ว่าจะมีการทดลองงานหรือไม่จนถึงวันเลิกจ้าง หากลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันแล้วถูกเลิกจ้างโดยมิใช่กรณีหนึ่งกรณีใดที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังกล่าว เมื่อโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2547 แล้วถูกเลิกจ้างในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพักงานมิใช่การเลิกจ้าง สิทธิในการได้รับค่าชดเชย
คำฟ้องโจทก์เพียงแต่กล่าวอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ มิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยสั่งพักงานตามที่อุทธรณ์มา อุทธรณ์โจทก์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ทั้งไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง การเลิกจ้างจะต้องเป็นการที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปโดยเด็ดขาดโดยไม่จ่ายค่าจ้างให้ด้วย ซึ่งทำให้สภาพความเป็นนายจ้างและลูกจ้างสิ้นสุดลง ไม่ใช่เรื่องการให้ลูกจ้างหยุดงานเพียงชั่วคราว ซึ่งสภาพการเป็นนายจ้างและลูกจ้างยังไม่สิ้นสุดลง การที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์จึงเป็นการให้โจทก์หยุดงานชั่วคราว มิใช่จำเลยไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไปโดยเด็ดขาด จึงไม่เป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรคสอง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8002-8012/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสิ้นสุดสัญญาจ้างและสิทธิในค่าชดเชย กรณีลูกจ้างไม่ประสงค์ต่อสัญญา
ก่อนที่สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดกับจำเลยจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยได้ประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบว่าบริษัท ก. ได้ขยายระยะเวลาว่าจ้างจำเลยออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 และให้ลูกจ้างทั้งหมดเข้าทำสัญญาจ้างแรงงานกับจำเลยต่อไปจนครบกำหนดระยะเวลาที่บริษัท ก. ขยายออกไป แต่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดได้ทำบันทึกเสนอต่อฝ่ายบุคคลของจำเลยว่าไม่ประสงค์ต่อสัญญากับจำเลยและคืนบัตรลูกจ้างในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 อันเป็นวันสิ้นสุดสัญญาจ้างแล้วไม่ไปทำงานอีกเลย จำเลยมิได้กระทำการใดๆ เพื่อมิให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7335/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างงานชั่วคราวที่เข้าข่ายเป็นการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน แม้สัญญาจะสิ้นสุดตามกำหนดระยะเวลา
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ทำสัญญาจ้างโจทก์ต่อไปอีก ถือว่าเลิกจ้าง ณ วันสิ้นสุดสัญญานั้น มิได้มีการแจ้งเหตุเลิกจ้างอื่นนอกไปจากนี้ แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้าง มิได้ยกเหตุเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ดังนี้ เป็นการวินิจฉัยแล้วว่า จำเลยที่ 1 มิได้ยกเหตุที่ว่าโจทก์กระทำความผิดโดยทุจริตต่อหน้าที่ และกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง ซึ่งเป็นเหตุเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 ขึ้นเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ดังกล่าวขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ ตามมาตรา 17 วรรคสาม ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยประเด็นตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยชอบแล้ว
ข้อยกเว้นที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นอกจากต้องเป็นลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นแล้ว ต้องเป็นการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้าง ซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานหรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสามและวรรคสี่ จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์เพียงว่าสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไม่แน่นอน และจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลานั้น โดยไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า เป็นการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลยที่ 1 หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาล ดังนี้ ไม่ว่าจะวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ไปในทางใด ก็ไม่มีผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6250/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างงานต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี ถือเป็นการจ้างงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย
โจทก์เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านกฎหมาย มีหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหากฎหมายแก่ฝ่ายกฎหมายหรือฝ่ายอื่นของจำเลย แก่ธนาคารสาขาของจำเลย บริษัทในเครือของจำเลย และแก่กรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลย อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในธุรกิจการธนาคารปกติของจำเลย งานของโจทก์เป็นการให้ความรู้ ความเห็น เพื่อช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถใช้ดุลพินิจได้รัดกุม ถูกต้อง มีคุณภาพ และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย แม้โจทก์จะสามารถแสดงความคิดเห็นให้คำปรึกษา แนะนำ และให้ข้อเสนอแนะได้อย่างอิสระตามความรู้ความสามารถในวิชาชีพกฎหมายของโจทก์โดยไม่จำต้องมีผู้บังคับบัญชาคอยควบคุมสั่งการ และลงเวลาเข้าทำงาน แต่โจทก์ก็ต้องเข้าปฏิบัติงานในที่ทำงานของจำเลยพร้อมที่จะทำหน้าที่เมื่อมีคำปรึกษาหารือเข้ามา ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลยและอยู่ใต้บังคับบัญชาของกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลย แม้โจทก์จะไม่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มพิเศษ เงินรางวัล เงินบำเหน็จหรือสวัสดิการต่าง ๆ ที่พนักงานอื่นได้รับ แต่โจทก์ก็ได้รับเงินค่าตอบแทนตามสัญญาเป็นรายเดือน การลากิจลาป่วยก็ต้องรายงานต่อกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลย ไม่สามารถหยุดงานได้ตามอำเภอใจของโจทก์ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานต้องอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ 12 ฉบับ ระยะเวลาตามสัญญาจ้างฉบับแรกถึงฉบับที่ 10 มีระยะเวลาฉบับละ 1 ปี โดยสัญญาฉบับแรกนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2536 ครบสัญญาวันที่ 30 กันยายน 2537 และฉบับต่อ ๆ มาเริ่มระยะเวลาต่อเนื่องกันไปถึงฉบับที่ 10 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 30 กันยายน 2546 ฉบับที่ 11 เริ่มสัญญาต่อเนื่องไปมีกำหนด 1 เดือน และฉบับที่ 12 มีกำหนด 2 เดือน สิ้นสุดสัญญาวันที่ 31 ธันวาคม 2546 รวมระยะเวลาตามสัญญา 10 ปี 3 เดือน แต่งานที่โจทก์ทำเป็นการให้ความรู้ ความเห็น เพื่อช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานของจำเลยสามารถใช้ดุลพินิจได้ถูกต้อง รัดกุม มีคุณภาพ และป้องกันความเสียหาย โดยโจทก์มีหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหากฎหมายในการปฏิบัติงานปกติของธุรกิจการธนาคารของจำเลยหรือบริษัทในเครือทั้งสิ้น จึงมิใช่การจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลยซึ่งมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานไว้ในสัญญา แม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยมีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการจ้างไว้และเลิกจ้างเมื่อสิ้นสุดตามกำหนดระยะเวลานั้น ก็ไม่ทำให้โจทก์เป็นลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยทั้ง 12 ฉบับ มีสาระสำคัญของสัญญาเป็นอย่างเดียวกัน งานที่ทำมีลักษณะอย่างเดียวกัน สัญญาที่ทำมีระยะเวลาต่อเนื่องกันไป จึงต้องนับระยะเวลาการทำงานต่อเนื่องติดต่อกันไป โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันครบ 10 ปี จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 100,000 บาท ย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชย 1,000,000 บาท ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (5) จำเลยไม่จ่ายให้แก่โจทก์จึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ซึ่งถือเป็นวันเลิกจ้าง ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในระหว่างเวลาผิดนัดอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
of 44