คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 118

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 436 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9450/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลาออกโดยสมัครใจของลูกจ้าง แม้ถูกตำหนิและสอบถามเรื่องพฤติกรรมส่วนตัว ไม่ถือเป็นการเลิกจ้าง
การที่ อ. และ ล. ซึ่งมีฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ทราบเรื่องที่โจทก์ออกไปเที่ยวเตร่กับลูกค้าชาวต่างประเทศและยืมเงินจากลูกค้า แม้การกระทำของโจทก์จะไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือทำให้จำเลยเสียหาย แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ชอบที่บุคคลทั้งสองจะตำหนิโจทก์ที่มีพฤติการณ์ดังกล่าวในฐานะผู้บังคับบัญชาซึ่งจะต้องปกครองดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้มีความประพฤติที่เหมาะสมได้ แม้บุคคลทั้งสองจะตำหนิโจทก์รุนแรงไปบ้างและกล่าวให้โจทก์พิจารณาตัวเองก็หาเป็นการข่มขู่โจทก์แต่อย่างใดไม่ ทั้งการที่ อ. และ ล. หลอกโจทก์ว่าลูกค้าแจ้งให้จำเลยทราบว่าโจทก์ยืมเงินจากลูกค้าก็เป็นวิธีการแสวงหาข้อเท็จจริงจากโจทก์ว่า โจทก์ได้ยืมเงินจากลูกค้าจริงตามที่บุคคลทั้งสองรับทราบเรื่องหรือไม่ จึงหาเป็นการหลอกลวงให้โจทก์ลาออกไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์เลือกที่จะลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลย ซึ่งเป็นการลาออกโดยความสมัครใจของโจทก์เอง หาใช่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9021/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างโดยปริยายจากเหตุอนาจาร นายจ้างต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของกรรมการผู้จัดการหรือไม่
จำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อ้างว่าถูก ช. กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์กระทำอนาจารจนจำเลยไม่อาจทนอยู่ปฏิบัติงานได้ ถือได้ว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลย โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าโจทก์ไม่เคยกระทำการอันไม่เป็นธรรม จำเลยออกจากงานโดยไม่บอกกล่าวให้โจทก์ทราบ คดีจึงมีประเด็นว่า ช. กระทำอนาจารจำเลยจริงหรือไม่ และการกระทำของ ช. ถือได้ว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยหรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าแม้จะฟังได้ว่า ช. กระทำอนาจารจำเลยจริงก็เป็นเพียงการกระทำความผิดในทางอาญาและเป็นการกระทำโดยส่วนตัวของ ช. ไม่ใช่กระทำในหน้าที่การงานแทนโจทก์ไม่เกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงาน จึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวไม่นอกเหนือไปจากฟ้องแย้งและคำให้การแก้ฟ้องแย้ง
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสองบัญญัติว่า การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด ดังนั้น เมื่อการกระทำอนาจารของ ช. ที่กระทำต่อโจทก์เป็นเรื่องความประพฤติส่วนตัว ไม่ใช่การกระทำในหน้าที่การงานในฐานะเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทโจทก์ ทั้งมิได้เป็นการกระทำเพื่อไม่ให้จำเลยทนทำงานได้อีกต่อไป จึงไม่เป็นการเลิกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7354/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่เลิกจ้างเมื่อนายจ้างไม่เพิ่มเงินเดือนและลูกจ้างไม่ต่อสัญญา ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้าง
โจทก์หาได้กระทำการใด ๆ เพื่อมิให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้แต่อย่างใดไม่ การที่โจทก์ไม่ตกลงเพิ่มเงินเดือนแก่ลูกจ้างตามความประสงค์ของลูกจ้างเนื่องจากพิจารณาเห็นว่าตามสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันโจทก์ไม่สามารถจะเพิ่มค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างได้ ซึ่งเป็นเหตุให้ลูกจ้างไม่ทำสัญญาจ้างฉบับที่ 4 กับโจทก์จนสัญญาจ้างฉบับที่ 3 สิ้นสุดลง ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำการดังกล่าวเพื่อไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไป เพราะโจทก์มิได้ลดเงินเดือนหรือค่าจ้างของลูกจ้างและโจทก์มีความประสงค์ที่จะให้ลูกจ้างทำงานต่อไปในอัตราเงินเดือนเดิม แต่ลูกจ้างกลับเป็นฝ่ายที่ไม่ไปทำงานกับโจทก์เองหลังจากสัญญาจ้างสิ้นสุดลงกรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์เลิกจ้างลูกจ้าง โจทก์ไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7238-7239/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นโทษโดยไม่ได้รับความยินยอม ไม่อาจเลิกจ้างได้
จำเลยประกอบกิจการขายเครื่องประดับเพชรพลอย โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นลูกจ้างมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายมีอำนาจบังคับบัญชาและให้คำแนะนำแก่พนักงานขายซึ่งมีจำนวนประมาณ 150 คน จำเลยมีคำสั่งยกเลิกตำแหน่งผู้จัดการและผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายและมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองไปทำหน้าที่ในการขายและช่วยเหลือการขายของพนักงาน การที่จำเลยมีคำสั่งยกเลิกตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขาย ซึ่งโจทก์ทั้งสองทำงานในตำแหน่งดังกล่าวและมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองไปทำงานในหน้าที่พนักงานขายทั้งให้ลดเงินเดือนโจทก์ทั้งสอง เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นโทษแก่โจทก์ทั้งสอง เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้ให้ความยินยอม จำเลยย่อมไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าวได้ตามลำพังเนื่องจากมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง คำสั่งของจำเลยที่ให้ยกเลิกตำแหน่งของโจทก์ทั้งสองและให้ไปทำงานในหน้าที่พนักงานขายจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามนัย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 ไม่มีผลบังคับแก่โจทก์ทั้งสอง แม้โจทก์ทั้งสองไม่ยินยอมปฏิบัติตาม คำสั่งดังกล่าวก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนต่อคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยในกรณีร้ายแรง หรือโจทก์ทั้งสองละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเพราะเหตุดังกล่าวจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6879/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องไม่เคลือบคลุม กรณีลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ ศาลยืนคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งจ่ายค่าชดเชย
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลยอันเป็นพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งตามมาตรา 124 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เมื่อพิจารณาคำฟ้องประกอบกับสำเนาคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเอกสารท้ายฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องแล้ว พอถือได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่า ค. และ ง. ลูกจ้างไม่มาทำงานตั้งแต่วันที่ 14 ถึง 16 ตุลาคม 2542 ซึ่งเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3116/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมายแรงงาน: การรวมสัญญาจ้างช่วงเพื่อคำนวณค่าชดเชย
ตามสัญญาจ้างระหว่างจำเลยและโจทก์จำเลยมีเจตนาที่จะจ้างโจทก์ทำงานให้จำเลยตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2538ถึงวันที่ 31 มกราคม 2542 ติดต่อกันไป แต่มีการแบ่งเป็นสัญญาช่วงสั้น ๆ หลายช่วงโดยมีการกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาเป็นช่วง ๆ ต่อเนื่องกันไป เพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้ทำงานติดต่อกันโดยจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย จึงต้องด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 20ที่ให้นับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิของลูกจ้างนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2783/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประเด็นข้อพิพาทการเลิกจ้างและการทุจริตต่อหน้าที่ ศาลแรงงานมีอำนาจวินิจฉัยปรับบทความผิดอาญาฐานปลอมเอกสารได้
โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด จำเลยให้การว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ ข้ออ้างและข้อเถียงที่คู่ความไม่รับกันจึงอยู่ที่ว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นข้อพิพาทที่ศาลแรงงานกลางจดไว้ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้ทำการทุจริต จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด ผลแห่งการเลิกจ้างจึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 และ ป.พ.พ. มาตรา 583 การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์อันเป็นผลการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้จึงไม่เป็นการพิพากษานอกประเด็น
ในคดีแรงงานได้มี พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 บัญญัติเรื่องประเด็น ข้อพิพาทไว้แล้วโดยเฉพาะ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมได้
จำเลยได้ให้การต่อสู้ว่าการที่โจทก์ทำบันทึกขอเบิกเงินค่ามัดจำเสื้อฟอร์มของ น. คืนและทำใบเบิกจ่ายเงินเสนอผู้บังคับบัญชาระบุว่า น.ขอเบิกเงินค่ามัดจำเสื้อฟอร์มคืนโดยลงชื่อ น. ในใบเบิกจ่ายเงินช่องผู้ขอเบิกทั้ง ๆ ที่ น. ไม่มีสิทธิเบิกและไม่ได้ขอเบิกเงินดังกล่าว เป็นทั้งการทุจริตต่อหน้าที่และการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่ นายจ้างโดยการปลอมเอกสารใบเบิกจ่ายเงิน เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้กระทำการตามที่จำเลยกล่าวอ้างจึงชอบที่จะต้องวินิจฉัยปรับบทด้วยว่าการกระทำของโจทก์เป็นการปลอมเอกสารใบเบิกจ่ายเงินอันเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างตามที่จำเลยให้การต่อสู้ไว้หรือไม่ด้วย การที่ศาลแรงงานกลางไม่วินิจฉัยปรับบทดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาเรื่องการวินิจฉัยปรับบทเป็นปัญหาข้อกฎหมายและคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียเลยว่าการกระทำของโจทก์เป็นความผิดอาญาฐานปลอมเอกสารหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2137/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกไม่อยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน การเลิกจ้างเนื่องจากอายุครบ 60 ปีเข้าข่ายเลิกจ้าง
พระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ. 2510มาตรา 6,7 และมาตรา 9(1) และ (2) เพียงแต่บัญญัติว่าองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกจำเลยเป็นนิติบุคคลโดยเป็นองค์การของรัฐเพื่อการกุศล ได้รับเงินอุดหนุนจากงบเงินอุดหนุนของกระทรวงกลาโหมและเงินที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นครั้งคราวแต่ไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้จำเลยเป็นราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนท้องถิ่นทั้งตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2503 มาตรา 8 จำเลยก็ไม่ได้เป็นส่วนราชการของกระทรวงกลาโหมจำเลยจึงมิได้เป็นราชการส่วนกลางราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนท้องถิ่น ที่จะได้รับการยกเว้นไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดที่ห้ามมิให้หน่วยงานขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกจำเลยดำเนินกิจการเพื่อหารายได้อันเป็นการแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ ทั้งการที่สำนักงานกิจการศาลหลักเมืองนำรายได้อันเกิดจากการจำหน่ายดอกไม้ ธูปเทียนพวงมาลัยผ้าแพรสมทบกับเงินบริจาคจากผู้บริจาคต่าง ๆส่งให้แก่จำเลยนำไปใช้จ่ายเพื่อการกุศล ก็เป็นการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของจำเลยนั่นเอง มิได้ดำเนินการนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ของจำเลยการดำเนินกิจการดังกล่าวจึงเป็นการแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ
ข้อบังคับสภาทหารผ่านศึกว่าด้วยลูกจ้างองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ. 2521 ให้ถือปฏิบัติตามข้อบังคับสภาทหารผ่านศึกว่าด้วยพนักงานองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ. 2536ซึ่งกำหนดว่าพนักงานของจำเลยจะต้องออกจากงานเมื่อสิ้นปีงบประมาณของปีที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์นั้น หมายถึงให้จำเลยดำเนินการให้พนักงานที่ขาดคุณสมบัติเนื่องจากอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ออกจากงานนั่นเอง การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุที่โจทก์มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์เป็นการไม่ให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างทำงานต่อไป จึงเป็นการเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1830/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาห้ามวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ที่จำเลยให้การรับสารภาพ และปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องตามช่วงเวลาที่กระทำผิด
โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นนายจ้างของลูกจ้างผู้มีชื่อจำนวน 55 คน ได้กระทำผิดด้วยการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างดังกล่าว จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังตามที่โจทก์บรรยาย มาในคำฟ้อง จำเลยจะฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงให้ผิดไปจากที่ปรากฏในคำฟ้องซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพแล้วไม่ได้ ทั้งข้อเท็จจริงที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาก็เป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่การกระทำความผิดเกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับจึงต้องปรับบทให้ถูกต้องตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับในขณะกระทำความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1824-1825/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่สืบเนื่องจากคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทยให้ถอดถอนกรรมการ ถือเป็นการเลิกจ้างโดยชอบธรรม
การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งถอดถอนโจทก์ออกจากกรรมการของธนาคารพาณิชย์จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเนื่องจากจำเลยดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน ซึ่งเป็นอำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะออกคำสั่งดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 24 ตรีซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505(ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2540 มาตรา 4 และให้ถือว่าเป็นการออกคำสั่งโดยมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นของจำเลยด้วย ทำให้โจทก์ไม่ได้ทำงานให้แก่จำเลยเป็นการอีกต่อไป จึงถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์
of 44