คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 118

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 436 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3306/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ค่าชดเชย ดอกเบี้ย และวันหยุดพักผ่อนประจำปี
ระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย หมวดที่ 10 ระเบียบวินัยและมาตรการในการลงโทษทางวินัย ข้อ 14 กำหนดโทษสำหรับพนักงานที่กระทำผิดวินัยไว้ทั้งสิ้น 7 ประการ โดยไม่มีเรื่องการลงโทษปรับเงิน แต่การที่โจทก์ลงโทษปรับเงินผู้ใต้บังคับบัญชานั้นเกิดจากมติของที่ประชุมพนักงานขาย อีกทั้งโจทก์เบิกความยอมรับว่า ในการทำงานโจทก์ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย และทราบว่าจำเลยมีปรัชญาและสำนึกในการปฏิบัติงาน รวมทั้งโจทก์ได้ลงชื่อในเอกสารความผูกพันส่วนตัวของข้าพเจ้าต่อ "ปรัชญาและสำนึกในการปฏิบัติงาน" (The spirit & The Letter หรือ S&L) ไว้ด้วย แสดงให้เห็นว่า โจทก์ทราบอย่างดีว่าจำเลยให้ความสำคัญกับการที่พนักงานของจำเลยทุกคนซึ่งรวมถึงตัวโจทก์จะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการทำงานซึ่งรวมถึงการลงโทษพนักงานที่กระทำความผิดอย่างเคร่งครัด การที่โจทก์ประชุมพนักงานขายแล้วมีมติให้ลงโทษปรับพนักงานที่กระทำความผิด ซึ่งเป็นโทษที่ไม่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับการทำงานของจำเลยเป็นการกระทำโดยพลการ จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่การจะพิจารณาว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่นั้น ต้องคำนึงถึงลักษณะของการกระทำ พฤติการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เป็นแต่ละกรณีไปว่าเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ เมื่อโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการภาค มีหน้าที่ดูแลพนักงานขายและบริหารยอดขาย และทางสอบสวนของจำเลยไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่บ่งชี้ว่าโจทก์นำเงินของผู้ใต้บังคับบัญชาที่ปรับมาได้ไปใช้เพื่อประโยชน์ของโจทก์หรือบุคคลอื่นอย่างชัดเจน ทั้งข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่โต้แย้งว่า พนักงานที่ถูกลงโทษปรับเงินเป็นพนักงานที่กระทำความผิดหรือปฏิบัติงานคลาดเคลื่อน บกพร่องจริง การลงโทษปรับประมาณครั้งละ 300 บาท แสดงว่าโจทก์ลงโทษปรับเงินเพื่อต้องการให้พนักงานปฏิบัติให้ถูกต้องตามหน้าที่และระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง และเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เคยตักเตือนเป็นหนังสือมาก่อน จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (5)
โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนับแต่วันเลิกจ้าง เมื่อจำเลยไม่ชำระภายในกำหนด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้าง โจทก์ยังคงเหลือวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิจำนวน 1.5 วัน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่เลิกจ้างตามส่วนให้แก่โจทก์ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง โดยโจทก์มีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าวเมื่อพ้นกำหนดสามวันนับแต่วันที่เลิกจ้าง ตามมาตรา 70 วรรคสอง เมื่อจำเลยไม่ชำระภายในกำหนด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นเวลาเมื่อพ้นกำหนดสามวันนับแต่วันที่เลิกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3121/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างคนประจำเรือมีกำหนดระยะเวลา สิทธิการได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
โจทก์กับจำเลยทำสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือ 2 ฉบับ ฉบับแรกตกลงว่าจ้างโดยเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2558 ถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2559 สัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับที่ 2 ตกลงว่าจ้างโดยเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2559 ถึงวันที่ 16 มีนาคม 2560 ตามสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับแรก จำเลยตกลงว่าจ้างโจทก์ทำงานบนเรือในตำแหน่งต้นกล มีหน้าที่หลักด้านเทคนิคของเรือ ตรวจซ่อมเครื่องจักร วางแผนงานกำหนดหน้าที่งานให้แก่คนประจำเรือแผนกช่างกล ประจำอยู่บนเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศของจำเลย โดยสัญญาดังกล่าวมีข้อความระบุว่า "...สัญญาว่าจ้างฉบับนี้เป็นไปตามมาตรฐาน MLC A2.1.4...." กับระบุรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อและชื่อสกุล วันเดือนปีเกิด สถานที่เกิดและที่อยู่ปัจจุบันของโจทก์ ชื่อและที่อยู่ของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของเรือ สัญชาติของเรือ สถานที่และวันเดือนปีที่ทำสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือ ตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ในการจ้างงาน อัตราค่าจ้างและค่าตอบแทนอื่น ๆ วันเริ่มการว่าจ้างและวันสิ้นสุดการว่าจ้าง เงื่อนไขการสิ้นสุดของสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือ รวมทั้งสิทธิประโยชน์จากการคุ้มครองการประกันสังคมและสุขภาพที่จำเลยเป็นผู้จัดหาให้โจทก์และสิทธิของโจทก์ในการได้รับการส่งตัวกลับ ซึ่งมีลักษณะและรายละเอียดทำนองเดียวกับหลักเกณฑ์เรื่องสภาพการจ้างงานของคนประจำเรือตาม พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มาตรา 43 ที่กำหนดให้ข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือจะต้องมีรายการดังกล่าว อันเป็นมาตรฐานสากลของการทำงานบนเรือเดินทะเล ประกอบกับเหตุผลประการหนึ่งในการประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว คือ การทำงานของลูกจ้างและคนประจำเรือเกี่ยวข้องกับกิจการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศที่ต้องนำมาตรฐานสากล คือ อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2549 (Maritime Labour Convention, 2006) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) มาปฏิบัติต่อแรงงานทางทะเลเป็นกรณีเฉพาะ จึงแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยว่าประสงค์ให้สัญญาดังกล่าวมีมาตรฐานการทำงานทางทะเลสอดคล้องกับมาตรฐานสากลของการทำงานของคนประจำเรือตามอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2549 (Maritime Labour Convention, 2006) ด้วย
โจทก์เริ่มต้นทำงานกับจำเลยตามสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับแรกตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2558 และประเทศไทยได้มีการอนุวัติการกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานทางทะเลแห่งอนุสัญญาดังกล่าวโดยการตรา พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ขึ้นมาใช้บังคับสำหรับแรงงานทางทะเลเป็นกรณีเฉพาะ แม้ขณะวันเริ่มต้นทำงานของโจทก์ตามสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับแรกไม่อาจนำ พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มาใช้บังคับต่อกันได้ก็ตามแต่เมื่อระหว่างที่สัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับแรกยังมีผลผูกพันคู่สัญญาอยู่นั้น พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ได้มีผลใช้บังคับแล้ว การที่จำเลยตกลงว่าจ้างโจทก์ให้ทำงานในตำแหน่งต้นกลประจำอยู่บนเรือของจำเลยและได้รับค่าจ้างตามสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับแรก จึงถือเป็นการทำข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือตามบทนิยามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว
โจทก์ฟ้องเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ากับค่าชดเชยอันเป็นการเรียกร้องตามสิทธิและหน้าที่ที่จะพึงมีตามกฎหมายในการเลิกจ้างซึ่งจะต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่เลิกจ้าง ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับการเลิกจ้างตามสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับแรกจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับพ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ส่วนสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับที่ 2 นั้น โจทก์เริ่มต้นทำงานตามสัญญาดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2559 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่ พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มีผลใช้บังคับแล้ว สิทธิและหน้าที่ที่จะพึงมีตามกฎหมายในการเลิกจ้างตามสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับที่ 2 จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 เช่นกัน
เมื่อ พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การจ้างงานระหว่างเจ้าของเรือกับคนประจำเรือตามพระราชบัญญัตินี้ไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน" และไม่ปรากฏว่า พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ได้บัญญัติในส่วนของค่าชดเชยไว้เป็นการเฉพาะ หรือบัญญัติให้คนประจำเรือได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือมีบทบัญญัติอื่นที่ยกเว้นไม่ให้นำพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับแก่ข้อตกลงจ้างงานของคนประจำเรือที่ได้ทำไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ ดังนั้น จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558
การที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นการทำงานและระยะเวลาสิ้นสุดไว้ตาม พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มาตรา 43 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และมาตรา 44 วรรคหนึ่ง กับก่อนที่จำเลยจะตกลงจ้างคนประจำเรือทุกครั้งจำเลยจะต้องจัดทำการอบรมทดสอบร่างกายจิตใจและความรู้ความสามารถในการทำงานบนเรือรวมถึงความรู้เกี่ยวกับกฎข้อบังคับระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเรือเดินทะเลเพื่อคัดเลือกบุคคลที่มีความพร้อม หากพิจารณาแล้วเห็นว่า บุคคลใดมีความพร้อมผ่านเกณฑ์ จำเลยจะตกลงว่าจ้างให้ทำงานในครั้งต่อไป ประกอบกับการทำงานบนเรือเดินทะเลที่มีลักษณะและสภาพของงานแตกต่างจากการทำงานของลูกจ้างทั่วไป การที่จำเลยต้องทำการอบรมทดสอบร่างกายจิตใจและความรู้ความสามารถในการทำงานบนเรือก่อนที่จะตกลงจ้างคนประจำเรือทุกครั้ง แสดงให้เห็นว่าจำเลยประสงค์ที่จะจ้างคนประจำเรือมีกำหนดระยะเวลาเป็นคราว ๆ ไป
สัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับที่ 2 ข้อ 4 ที่กำหนดว่า หากสัญญาว่าจ้างสิ้นสุดลงในขณะที่เรือมิได้อยู่ในเมืองท่า ให้ถือว่าสัญญาฉบับนี้ได้รับการต่ออายุออกไปอีกเป็นระยะเวลาไม่เกินสามเดือน และบริษัทจะดำเนินการจัดส่งคนประจำเรือกลับยังภูมิลำเนาเดิมในเมืองท่าที่สะดวกในการเดินทางกลับ ไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ว่าสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับที่ 2 เป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน แต่คงหมายความเพียงว่าเมื่อสัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาไว้สิ้นสุดลงในขณะที่เรือมิได้อยู่ในเมืองท่า ก็ให้ต่ออายุสัญญาว่าจ้างออกไปอีกระยะหนึ่งเพื่อจำเลยจะได้ดำเนินการจัดส่งคนประจำเรือกลับภูมิลำเนาเดิมของคนประจำเรือเท่านั้น อันเป็นการคุ้มครองคนประจำเรือว่าก่อนที่จะส่งคนประจำเรือซึ่งอยู่ในระหว่างการเดินเรือกลับภูมิลำเนานั้น คนประจำเรือมีสิทธิได้รับค่าจ้างต่อไปอีกระยะหนึ่งแต่ไม่เกินสามเดือน ดังนี้ สัญญาว่าจ้างคนประจำเรือระหว่างโจทก์กับจำเลยฉบับที่ 2 จึงไม่ใช่สัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน
เมื่อสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับที่ 2 ระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างและมีการสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ หรือสิ้นสุดลงตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ตาม พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มาตรา 44 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1856/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาคดีแรงงาน: การรับรองความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง และการมอบหมายให้ทำงานแทน
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเกินไปกว่าพยานหลักฐาน เนื่องจากตามหลักฐานการจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์ เอกสารหมาย ล.46 ประกอบกับที่ อ. พยานจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์โดยศาลอนุญาตว่าบริษัท ว. เป็นผู้ดำเนินการจ่ายค่าจ้าง จึงฟังข้อเท็จจริงได้เพียงว่า บริษัท ว. เป็นผู้ดำเนินการจ่ายค่าจ้างเท่านั้น เงินที่นำมาจ่ายเป็นค่าจ้างอาจเป็นของจำเลยก็ได้ กับที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิได้ทำงานตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยและทำงานอย่างอิสระ ไม่ถูกต้องเพราะตามลักษณะงานของโจทก์ที่ต้องอยู่ที่ฐานขุดเจาะน้ำมันมีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากงานอื่น ๆ กับที่ อ. เบิกความว่าพนักงานที่ทำงานอยู่ที่ฐานขุดเจาะน้ำมันจะมีการกำหนดวันทำงานหรือวันหยุดแตกต่างจากพนักงานประจำสำนักงานได้ เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีนี้ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทในประเด็นแรกว่า "โจทก์กับจำเลยมีนิติสัมพันธ์ฉันลูกจ้างกับนายจ้างระหว่างกันหรือไม่" และตามคำให้การของจำเลยนอกจากจะให้การต่อสู้ว่าจำเลยไม่ใช่นายจ้างของโจทก์แล้ว ยังให้การต่อสู้ว่าจำเลยไม่ใช่ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้างอีกด้วย ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางจะวินิจฉัยในประเด็นว่าโจทก์กับจำเลยมีนิติสัมพันธ์ฉันลูกจ้างกับนายจ้างระหว่างกันหรือไม่ตามที่กำหนดไว้ดังกล่าว นอกจากจะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นนายจ้างผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์หรือไม่แล้ว ยังต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนบริษัท อ. หรือไม่ด้วย เมื่อศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นหลัง คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงไม่ครบทุกประเด็นแห่งคดี ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง
เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในประเทศไทย ส่วนบริษัท อ. มีภูมิลำเนาและจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในประเทศสิงคโปร์ จำเลยกับบริษัท อ. จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน แม้จำเลยกับบริษัท อ. มี ป. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยกับบริษัท อ. กับมีบริษัท ฮ. เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทจำเลย และบริษัท อ. ก็ไม่ทำให้จำเลยกลายเป็นสำนักงานสาขาของบริษัท อ. ไปได้เพราะในทางนิตินัยกฎหมายบัญญัติให้ผู้ถือหุ้นกับนิติบุคคลนั้นแยกออกต่างหากจากกัน โจทก์ยอมรับว่าทำสัญญาจ้างกันในนามของบริษัท อ. ส่วนจำเลยไม่ได้ร่วมลงชื่อเป็นคู่สัญญาด้วย ทั้งการที่โจทก์มาทำงานกับจำเลยในประเทศไทย เป็นการมาทำงานตามคำสั่งของบริษัท อ. ส่วนการที่จำเลยเป็นผู้ติดต่อขอใบอนุญาตทำงานให้แก่โจทก์ การหักภาษี ณ ที่จ่าย และการหักเงินประกันสังคมก็ดี ล้วนแต่เป็นการดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ให้โจทก์สามารถทำงานในประเทศไทยได้เท่านั้น พฤติการณ์เช่นนี้ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานใด ๆ แทนบริษัท อ. ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 เมื่อจำเลยไม่ใช่นายจ้างโจทก์แล้ว ไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8335/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงอนุญาโตตุลาการกับสิทธิเรียกร้องหลังเลิกจ้าง: ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาได้
สัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 8 ระบุว่าให้ใช้กฎหมายประเทศไทยบังคับกับสัญญาฉบับนี้ ข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดขึ้นอันเกี่ยวข้องกับสัญญาฉบับนี้ ให้ระงับโดยวิธีอนุญาโตตุลาการตามกฎหมายประเทศไทย และสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 9 ระบุว่าให้ใช้กฎหมายประเทศสวีเดน บังคับกับสัญญาฉบับนี้ข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดขึ้นอันเกี่ยวข้องกับสัญญาฉบับนี้ ให้ระงับโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการตามกฎหมายประเทศสวีเดน แสดงว่าโจทก์และจำเลยประสงค์จะให้มีการระงับข้อพิพาทระหว่างกันโดยวิธีอนุญาโตตุลาการสำหรับข้อโต้แย้งที่เกิดจากสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงาน แต่โจทก์ฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการใช้สิทธิที่เกิดขึ้นภายหลังจากสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยเลิกกันอันเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 รวมทั้งที่ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการกลับภูมิลำเนาก็เกิดขึ้นภายหลังจากที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว ไม่ใช่เป็นการฟ้องเกี่ยวกับกรณีพิพาทซึ่งเกิดจากสัญญาจ้างแรงงาน และเป็นผลให้ไม่ต้องนำกฎหมายของประเทศสวีเดนมาใช้บังคับตามสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางได้โดยไม่ต้องเสนอต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8759/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การย้ายสถานประกอบการมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของลูกจ้าง สิทธิในการได้รับค่าชดเชยพิเศษ
กรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง หมายถึงนายจ้างได้ปิดสถานที่ซึ่งใช้ประกอบกิจการเป็นประจำแห่งเดิมแล้วย้ายไปเปิดในที่แห่งใหม่อันมิใช่สถานที่ซึ่งใช้ประกอบกิจการเป็นประจำอยู่ก่อนแล้ว เมื่อจำเลยใช้อู่ปากน้ำเป็นสถานที่จอดเก็บรถยนต์โดยสารประจำทางปรับอากาศ สาย ปอ.507 ในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขับรถจะต้องเริ่มต้นมาที่อู่ปากน้ำ เวลา 3 นาฬิกา ซึ่งเป็นกะแรกเพื่อลงชื่อก่อนทำงานแล้วรับรถขับออกจากอู่ไปยังปลายทางสายใต้ใหม่แล้วขับวนกลับมาที่อู่ปากน้ำ เมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จแล้วโจทก์จะต้องนำรถไปเติมน้ำมันและนำรถไปจอดเก็บไว้ที่อู่ปากน้ำจึงกลับบ้านได้ เมื่อจำเลยได้ปิดสถานที่ประกอบกิจการเป็นประจำแห่งเดิมที่อู่ปากน้ำแล้วย้ายไปใช้อู่สายใต้ใหม่อันมิใช่สถานที่ที่จำเลยใช้ประกอบกิจการประจำอยู่ก่อนแล้วเป็นสถานที่ประกอบกิจการประจำแห่งใหม่ของจำเลย จึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นแล้ว เมื่อโจทก์มีบ้านอยู่ที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีระยะทางห่างจากอู่ปากน้ำ 3 กิโลเมตร และห่างจากอู่สายใต้ใหม่ 58 กิโลเมตร โดยโจทก์พักอาศัยอยู่กับพี่สาวที่มีอายุ 56 ปี ซึ่งเจ็บป่วยบ่อยและโจทก์ต้องดูแล เมื่อพิจารณาประกอบการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ที่จำเลยเปลี่ยนให้โจทก์จะต้องเริ่มต้นมาทำงานโดยมาลงชื่อก่อนทำงานที่อู่สายใต้ใหม่แล้วรับรถขับจากอู่สายใต้ใหม่ไปยังปลายทางที่อู่ปากน้ำ แล้วขับวนมาที่อู่สายใต้ใหม่ และเมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จแล้วต้องนำรถไปเติมน้ำมันและนำไปจอดเก็บที่อู่สายใต้ใหม่จึงจะกลับบ้านได้แล้ว แสดงว่าหากโจทก์ต้องทำงานตามที่จำเลยย้ายสถานประกอบกิจการจากอู่ปากน้ำไปที่อู่สายใต้ใหม่ ย่อมมีความลำบากและเสียเวลาในการเดินทางมากกว่าเดิม อันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีเวลาพักผ่อนน้อยลงกว่าเดิมและไม่มีเวลาดูแลครอบครัวเช่นเดิม เป็นการเพิ่มภาระและก่อความเดือดร้อนแก่โจทก์หรือครอบครัว ถือได้ว่ามีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือครอบครัว หากโจทก์ไม่ประสงค์ไปทำงานด้วยย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 118 เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์ไปทำงานด้วยโดยได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างให้มีผลในวันที่ 9 ธันวาคม 2550 จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษดังกล่าว
ค่าชดเชยพิเศษตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง ลูกจ้างมีสิทธิได้รับไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 118 เมื่อโจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาครบ 10 ปีขึ้นไป โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (5) เป็นเงิน 145,175 บาท เมื่อคิดเป็นค่าชดเชยพิเศษคือร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับจะได้เป็นเงิน 72,587.50 บาท การที่ศาลแรงงานกลางเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความและอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษเป็นเงิน 72,587.50 บาท แก่โจทก์ แม้เกินไปจากที่โจทก์มีคำขอบังคับ แต่เป็นการกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษตามจำนวนเงินที่ถูกต้องแท้จริง จึงเป็นการพิพากษาที่ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18406-18412/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาจ้างครูเอกชน ค่าชดเชย, ค่าตอบแทน, ค่าที่พัก และข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
การคุ้มครองแรงงานเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับครูใหญ่และครูสำหรับนายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนนั้น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 4 และมาตรา 6 ประกอบกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 กำหนดไว้ว่ามิให้ใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 บังคับแก่นายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับครูใหญ่และครู ดังนั้นการคุ้มครองแรงงานของครูของนายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนจึงอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ซึ่งขณะเกิดเหตุพิพาทคดีนี้คือ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ตามบทกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนดังกล่าวได้กำหนดการคุ้มครองแรงงานในส่วนที่เกี่ยวกับครูไว้ในมาตรา 86 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า กิจการของโรงเรียนในระบบเฉพาะในส่วนของผู้อำนวยการ ครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่ผู้อำนวยการ ครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและวรรคสองบัญญัติว่า การคุ้มครองการทำงาน การจัดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองการทำงานและประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของผู้อำนวยการครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนในระบบ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดและขณะเกิดเหตุพิพาทคดีนี้ คณะกรรมการดังกล่าวซึ่งหมายถึงคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนยังมิได้ ออกระเบียบดังกล่าวมาใช้บังคับ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 จึงกำหนดรับรองไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 166 ว่า ในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศเพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.นี้ให้นำกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศที่ออกตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 มาใช้บังคับโดยอนุโลม เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ. นี้ ระเบียบดังกล่าวที่ว่าคือ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 จำเลยที่ 1 เป็นโรงเรียนนานาชาติตามความหมายของโรงเรียนนานาชาติที่ถือเป็นโรงเรียนในระบบประเภทหนึ่งตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง กำหนดประเภทและระดับของโรงเรียนในระบบที่ออกตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 17 และถือเป็นโรงเรียนในระบบตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 4 ดังนั้น กิจการในโรงเรียนของจำเลยที่ 1 และการคุ้มครองการทำงานของโจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นครูจึงอยู่ภายใต้บังคับตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 มาตรา 166 ประกอบระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 การคุ้มครองแรงงานเกี่ยวกับค่าชดเชยจึงเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 หมวด 4 การเลิกสัญญาการเป็นครูและค่าชดเชย เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคหนึ่ง เมื่อระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 กำหนดให้การคุ้มครองการทำงานเกี่ยวกับค่าชดเชยตามข้อ 35 (2) ว่า ลูกจ้างที่เป็นครูชาวต่างประเทศที่ออกเพราะเหตุที่ครบกำหนดตามสัญญาจ้างจะไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ซึ่งแตกต่างกับการคุ้มครองแรงงานเกี่ยวกับค่าชดเชยสำหรับลูกจ้างทั่วไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แสดงว่าระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ให้ประโยชน์ตอบแทนน้อยกว่า พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อันเป็นการไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคหนึ่ง ระเบียบดังกล่าวเกี่ยวกับค่าชดเชยในส่วนนี้จึงใช้บังคับไม่ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานเป็นครูสอนหนังสือ โดยทำสัญญาจ้างเป็นรายปีการศึกษาและโจทก์ทั้งเจ็ดออกจากการเป็นครูเพราะเหตุครบกำหนดตามสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2552 ถือเป็นการถูกจำเลยทั้งสองเลิกสัญญาโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งเจ็ดกระทำผิดใดอันจะเข้าข้อยกเว้นที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยในเหตุข้ออื่นตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 35 โจทก์ทั้งเจ็ดจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามข้อ 32 และข้อ 33 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับใบอนุญาตและเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 24 เนื่องจาก พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนเอกชนในระบบมีฐานะเป็นผู้แทนของโรงเรียนและการดำเนินกิจการของโรงเรียนให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการให้มีคณะกรรมการบริหารเพื่อบริหารกิจการโรงเรียนโดยที่ไม่ได้กำหนดเรื่องความรับผิดของผู้รับใบอนุญาตไว้เป็นการเฉพาะต่างหาก ดังนั้นจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 ประกอบมาตรา 820 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 1 ในขอบอำนาจ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เมื่อค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคสองและมาตรา 166 ประกอบระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 4 ได้กำหนดความในคำนิยามว่า เป็นเงินที่จ่ายให้ครูเมื่อเลิกสัญญาการเป็นครู ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายให้โจทก์ทั้งเจ็ดนับแต่วันเลิกสัญญาโจทก์ทั้งเจ็ดคือ นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2552 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่จ่ายนับแต่วันดังกล่าวถือว่าผิดนัด จึงต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในต้นเงินค่าชดเชยของโจทก์แต่ละคนในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคสอง และมาตรา 166 ประกอบระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 13 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนที่โจทก์ทั้งเจ็ดขอเงินเพิ่มนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่จ่ายค่าชดเชยอ้างเหตุตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 8 วรรคหนึ่ง และข้อ 35 (2) ไม่ถือว่าจงใจไม่จ่ายค่าชดเชยโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่ม
เมื่อกิจการในโรงเรียนของจำเลยที่ 1 และการคุ้มครองการทำงานของโจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นครูของจำเลยที่ 1 อันเป็นกิจการที่เป็นนายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน อยู่ภายใต้บังคับตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 มาตรา 166 ประกอบระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 หมวด 2 เวลาทำการของครู ซึ่งแยกต่างหากจากการคุ้มครองแรงงานของนายจ้างซึ่งประกอบกิจการทั่วไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ได้ให้คำนิยามของคำว่า "วันหยุด" ในข้อ 4 ว่า หมายความว่า วันที่กำหนดให้ครูหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันปิดภาคเรียน วันที่โรงเรียนสั่งให้หยุดหรือวันที่กำหนดให้หยุด และได้กำหนด ให้ความคุ้มครองไว้ในข้อ 15 ว่า ในปีการศึกษาหนึ่ง ครูมีวันหยุดทำงานดังนี้ (1) วันหยุดประจำสัปดาห์ตามที่ได้รับอนุญาต (2) วันหยุดภาคเรียน (3) วันหยุดตามประเพณี (4) วันหยุดตามประกาศหรือคำสั่งของทางราชการ และ (5) วันที่โรงเรียนสั่งให้หยุด ซึ่งการคุ้มครองเกี่ยวกับวันหยุดของลูกจ้างที่เป็นครูสำหรับนายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนจะมีสิทธิใดอันจะได้รับการคุ้มครองจึงต้องเป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 หมวด 2 เวลาทำการของครูเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าการคุ้มครองเกี่ยวกับวันหยุดตามระเบียบดังกล่าวมิได้กำหนด ให้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่ครู ดังนั้นโจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีหรือได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเช่นแรงงานทั่วไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่โจทก์ทั้งเจ็ดอ้างว่าเป็นการได้รับประโยชน์ตอบแทนเกี่ยวกับการหยุดที่น้อยกว่ากฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานตามที่ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้นั้น หากเปรียบเทียบถึงการคุ้มครองเกี่ยวกับสิทธิในวันหยุดของโจทก์ทั้งเจ็ดกับการคุ้มครองแรงงานทั่วไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แล้ว ต่างก็มีสิทธิหยุดประจำสัปดาห์และหยุดตามประเพณีเช่นกัน ส่วนที่แตกต่างในสิทธิคือการที่แรงงานทั่วไปได้รับสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี แม้โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีสิทธิดังกล่าวซึ่งเป็นไปตามการคุ้มครองแรงงานสำหรับนายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนก็ตาม แต่ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ก็กำหนด ให้ครูมีสิทธิหยุดในวันปิดภาคเรียน ซึ่งแรงงานทั่วไปไม่มีสิทธิดังกล่าว รวมทั้งให้สิทธิหยุดในวันที่โรงเรียนสั่งให้หยุดหรือในวันที่ราชการกำหนดให้หยุดอีกด้วย ดังที่ปรากฏว่าปีการศึกษา 2551 ถึง 2552 กิจการในโรงเรียนของจำเลยที่ 1 กำหนดให้โจทก์ทั้งเจ็ดทำงานในวันเปิดภาคเรียนหรือเรียกว่า Student Days จำนวนไม่เกิน 188 วัน และมีสิทธิหยุดในวันปิดภาคเรียนด้วย จึงมิได้เป็นการได้รับประโยชน์ตอบแทนเกี่ยวกับการหยุดที่น้อยกว่ากฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานตามที่ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้แต่อย่างใด
สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งเจ็ดกับจำเลยทั้งสองระหว่างปีการศึกษา 2550 ถึง 2551 และปีการศึกษา 2551 ถึง 2552 เรื่องการเติบโตในอาชีพ กำหนดทำนองว่า ลูกจ้างมีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตอบแทนการเติบโตทางอาชีพ ปีละ 20,000 บาท และสะสมต่อได้ถึง 80,000 บาท ค่าตอบแทนสะสมจากปีก่อนจะต้องใช้ก่อนเริ่มต้นปีสุดท้ายของสัญญาและค่าตอบแทนปีสุดท้ายจะต้องใช้ภายในภาคการศึกษาแรกของปีสุดท้ายที่สัญญาจ้างสิ้นสุด เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดตกลงยินยอมลงชื่อต่ออายุสัญญาจ้างครั้งสุดท้ายระหว่างปลายเดือนพฤษภาคม 2551 ถึงต้นเดือนมิถุนายน 2552 โดยให้ใช้เงื่อนไขตามสัญญาจ้างข้างต้น โจทก์ทั้งเจ็ดชอบที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อตกลงการเบิกค่าตอบแทนพัฒนาความก้าวหน้าในวิชาชีพตามสัญญาจ้าง ทั้งไม่มีเหตุแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองได้ทำข้อตกลงตามสัญญาจ้างดังกล่าวเอาเปรียบโจทก์ทั้งเจ็ดเกินสมควรแต่อย่างใด ข้อตกลงตามสัญญาจ้างดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะทำให้จำเลยทั้งสองได้เปรียบโจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นลูกจ้างเกินสมควรถึงขนาดเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 5 ข้อตกลงตามสัญญาจ้างดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับ เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดไม่ได้ใช้สิทธิภายในกำหนดเวลาตามข้อตกลงในสัญญาจ้างดังกล่าว จึงย่อมสิ้นสิทธิและไม่มีสิทธิมาเรียกร้องเอาในค่าตอบแทนพัฒนาความก้าวหน้าในวิชาชีพแล้ว
โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 รับทราบข้อตกลงตามสัญญาจ้างที่ทำกับจำเลยทั้งสองแต่แรกว่า จำเลยทั้งสองจะจ่ายค่าที่พักให้ถึงเดือนมิถุนายนของปีที่ยกเลิกสัญญาจ้างหรือถึงวันที่สัญญาเช่าสิ้นสุดแล้วแต่ว่าอย่างไหนเกิดก่อน ซึ่งโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ยินยอมต่ออายุสัญญาจ้างกับจำเลยทั้งสองเรื่อยมาและไม่เคยโต้แย้งคัดค้านข้อตกลงตามสัญญาจ้างดังกล่าวมาก่อน ทั้งไม่มีเหตุแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองได้ทำข้อตกลงตามสัญญาจ้างดังกล่าวเอาเปรียบโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 เกินสมควรแต่อย่างใด ข้อตกลงตามสัญญาจ้างดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะทำให้จำเลยทั้งสองได้เปรียบโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ซึ่งเป็นลูกจ้างเกินสมควรถึงขนาดเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 5 ข้อตกลงตามสัญญาจ้างดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับ เมื่อตามข้อตกลงในสัญญาจ้างดังกล่าวมีข้อตกลงให้สิทธิโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ได้รับค่าที่พักถึงเดือนมิถุนายนของปี 2552 ซึ่งเป็นปีที่ยกเลิกสัญญาจ้าง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 จึงไม่มีสิทธิได้รับและเรียกร้องเอาค่าที่พักเดือนกรกฎาคม 2552

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17023/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทแรงงาน: การจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ดอกเบี้ยผิดนัด และการแก้ไขคำฟ้อง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 ถึงวันที่การเลิกจ้างมีผลในวันที่ 8 ธันวาคม 2553 พร้อมระบุจำนวนเงินค่าจ้างค้างจ่ายทั้งหมด จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างย่อมตรวจสอบได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวโจทก์ทำงานให้แก่จำเลยหรือไม่ จำเลยจ่ายค่าจ้างโจทก์แล้วหรือยังและค้างจ่ายค่าจ้างตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด การที่จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าไม่ได้ค้างจ่ายค่าจ้างก็ย่อมเป็นผลจากการตรวจสอบรายละเอียดการทำงานและการจ่ายค่าจ้างแล้ว ทั้งรายละเอียดค่าจ้างค้างจ่ายแต่ละเดือนนั้น โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ถือว่าคำฟ้องได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ทำให้จำเลยเข้าใจและต่อสู้คดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 70 หรือค่าชดเชยตามมาตรา 118 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี" ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในหนี้ค่าจ้างและค่าชดเชยไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงมิอาจนำอัตราดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับได้ เมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างผิดนัดไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง
การที่ศาลแรงงานกลางสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 จะต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ก่อนจึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ ที่จำเลยแถลงคัดค้านคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์เป็นเพียงการคัดค้านก่อนที่ศาลแรงงานกลางจะมีคำสั่ง แต่ภายหลังจากที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องแล้ว จำเลยมิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวของศาลแรงงานกลาง ถือว่าจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลแรงงานกลางไว้ อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2666/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลาออกหลังถูกเลิกจ้าง ยุติสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย แม้จะอ้างเหตุเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์อ้างเหตุว่าโจทก์ทุจริตค่าน้ำมันรถ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งเลิกจ้างต่อผู้บังคับบัญชาระดับบริหารตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ระหว่างพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทำหนังสือขอลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยด้วยความสมัครใจและรับเงินช่วยเหลือ 100,000 บาท จากจำเลย
แม้หนังสือลาออกของโจทก์ (ที่กระทำขึ้นภายหลังจากจำเลยมีหนังสือเลิกจ้าง) ไม่เป็นเหตุให้สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลง แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับพฤติกรรมของโจทก์ที่ตกลงยินยอมรับเงินช่วยเหลือจากจำเลย 100,000 บาท ไปแล้วในภายหลังโดยปราศจากข้อโต้แย้งคัดค้านอื่นใดทั้งสิ้น เป็นกรณีที่โจทก์ยินยอมกับจำเลยเพื่อยุติเรื่องการเลิกจ้างที่อ้างเหตุว่าโจทก์ทุจริตค่าน้ำมันรถ เท่ากับโจทก์ไม่ประสงค์จะเรียกร้องเกี่ยวกับการเลิกจ้างอีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2660/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม, ค่าชดเชย, สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า, และการหักเงินรางวัลอายุงาน
จำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างจ่ายเงินค่าเบี้ยกันดารและค่าเช่าที่พักให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างเมื่อโจทก์ต้องไปทำงานในต่างจังหวัด หากโจทก์กลับเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานครแล้วจำเลยที่ 1 ไม่จ่ายให้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 จ่ายเงินทั้งสองประเภทให้แก่โจทก์เป็นสวัสดิการ ไม่ใช่จ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ เงินค่าเบี้ยกันดารและค่าเช่าที่พักจึงไม่เป็นค่าจ้าง
โจทก์แจ้งความประสงค์ให้จำเลยที่ 1 แบ่งจ่ายค่าจ้างเดือนละ 2 ครั้ง ในวันที่ 15 และวันสิ้นเดือนของทุกเดือน จำเลยที่ 1 ตกลง เกิดเป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างในการจ่ายค่าจ้างให้เป็นไปตามกำหนดนั้น สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีกำหนดระยะเวลาจำเลยที่ 1 บอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์วันที่ 29 กรกฎาคม 2547 เป็นผลให้สัญญาจ้างเลิกกันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปคือวันที่ 15 สิงหาคม 2547 เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทันทีตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2547 โดยไม่ได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2547 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2547 รวม 18 วัน
แผนรางวัลอายุงานเป็นสภาพการจ้างที่ผูกพันจำเลยที่ 1 กับพนักงานที่รวมถึงโจทก์ด้วย ตามระเบียบแผนรางวัลอายุงานจำเลยที่ 1 มีสิทธิลดเงินรางวัลอายุงานลงได้เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่โจทก์ได้รับจากแหล่งต่างๆ รวมทั้งการเลิกจ้างในทุกกรณี โดยไม่มีข้อยกเว้นกรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยอันเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเพราะการเลิกจ้าง จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธินำค่าชดเชยไปหักออกจากเงินรางวัลอายุงานที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14031-14032/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าชดเชยและเงินบำเหน็จจากการเลิกจ้าง, การพิสูจน์เหตุเลิกจ้าง, การรักษาการในตำแหน่ง, และขอบเขตอำนาจศาลฎีกา
สัญญาประกันการทำงานและการจดทะเบียนจำนองที่ดินเพื่อประกันการทำงานของโจทก์ทั้งสอง (ลูกจ้าง) เป็นนิติกรรมระหว่างจำเลย (นายจ้าง) กับ ธ. และระหว่างจำเลยกับ จ. แม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยสิ้นสุดลงแล้วโจทก์ทั้งสองก็มิได้ถูกโต้แย้งเกี่ยวกับหลักประกันดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยปลดจำนองที่ดินซึ่งเป็นหลักประกันการทำงานของโจทก์ทั้งสอง
ตามระเบียบว่าด้วยพนักงานและลูกจ้าง พ.ศ.2545 ของจำเลย ในกรณีลูกจ้างออกจากตำแหน่งเพราะตายจำเลยก็จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ทายาทของลูกจ้าง อีกทั้งลูกจ้างที่มีสิทธิจะได้รับเงินบำเหน็จต้องทำงานด้วยความสงบเรียบร้อยเป็นเวลาติดต่อกันมาไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินบำเหน็จจึงมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายแตกต่างจากค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 ถือว่าเงินบำเหน็จเป็นเงินประเภทอื่น มิใช่ค่าชดเชย จำเลยจึงต้องจ่ายเงินบำเหน็จแยกต่างหากจากค่าชดเชย
of 44