คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ม. 4

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 297/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อสินค้ามีเครื่องหมายการค้าแล้วไปขายต่อ ไม่เป็นการละเมิดสิทธิเครื่องหมายการค้า
แม้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 44 จะให้การคุ้มครองสิทธิของโจทก์ที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า "WAHL" ตามที่จดทะเบียนไว้ก็ตามก็เป็นเพียงคุ้มครองให้โจทก์ที่ 1 เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าปัตตะเลี่ยนตามที่จดทะเบียนไว้ และมีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้อื่นนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ไปใช้โดยมิชอบเท่านั้น และเมื่อพิจารณาประกอบกับบทบัญญัติในมาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่กำหนดให้เครื่องหมายการค้า หมายความว่า เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น อันมีวัตถุประสงค์เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายกาค้ากับสินค้าของผู้อื่นและเพื่อระบุว่าสินค้านั้นเป็นของเจ้าของเครื่องหมายการค้าอันเป็นประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าของตน ซึ่งการที่มีผู้ซื้อสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าเพื่อนำไปจำหน่ายต่อไปก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาในการประกอบการค้าดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 ได้จำหน่ายสินค้าปัตตะเลี่ยนวอห์ลของตนไปในครั้งแรกซึ่งเป็นการใช้สิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้า โดยโจทก์ที่ 1 ได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องหมายการค้าจากราคาสินค้าปัตตะเลี่ยนวอห์ลที่จำหน่ายไปเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์ที่ 1จึงไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้ซื้อสินค้าปัตตะเลี่ยนวอห์ลซึ่งประกอบการค้าตามปกตินำสินค้าดังกล่าวที่ซื้อมาออกจำหน่ายต่อไปอีก แม้กล่องบรรจุสินค้าของโจทก์ที่ 1 ที่จำเลยซื้อจากผู้ขายซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ที่ 1 ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์และนำมาจำหน่ายจะมีซองกระดาษที่มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ห่อหุ้มกล่อง กับข้อความว่า "ของแท้ต้องมีใบรับประกัน 1 ปี" และมีใบรับประกันที่มีเครื่องหมายการค้าเดียวกันระบุชื่อที่อยู่ของบริษัท พ. ว่าเป็นศูนย์บริการ ก็ยังคงแสดงว่า สินค้าปัตตะเลี่ยนที่อยู่ในกล่องนั้นเป็นของโจทก์ที่ 1 อยู่นั่นเอง โดยบริษัท พ. เป็นเพียงผู้ให้บริการรับซ่อมปัตตะเลี่ยนเท่านั้นมิได้มีลักษณะเป็นการใช้ข้อความหรือเครื่องหมายที่แสดงว่าสินค้าดังกล่าวเป็นของบริษัท พ. หรือเป็นของจำเลยผู้นำมาจำหน่ายแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ซื้อสินค้าปัตตาเลี่ยนวอห์ลของโจทก์ที่ 1 จากตัวแทนของโจทก์ที่ 1 ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 1 จึงไม่เป็นการใช้เครื่องหมายการค้าอันเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 608/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: เครื่องหมายไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามกฎหมาย แม้จดทะเบียนในต่างประเทศก็ไม่อาจรับจดทะเบียนในไทยได้
แม้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 18 วรรคหนึ่ง จะให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นที่สุดก็ตาม แต่หากคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลเพื่อให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวได้
โจทก์ขอจดทะเบียนการค้าคำว่า "JAVACAFE" ซึ่งสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของคำดังกล่าวนอกจากอักษรโรมันติดกัน 8 พยางค์แล้ว สำเนียงเรียกขานก็ถือเป็นสาระสำคัญด้วยเพราะสามารถทำให้ประชาชนทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่มีเสียงเรียกขานของสินค้าดังกล่าวแตกต่างจากสินค้าอื่น คำว่า "JAVACAFE" สามารถแยกออกเป็น "JAVA"เรียกขานว่า "จาวา"หมายถึงชื่อเกาะในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งประชาชนทั่วไปรู้จักดีว่าหมายถึงเกาะชวา ซึ่งประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 5ฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กำหนดให้ชื่อเมืองท่า จังหวัด... เกาะ เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 7 วรรคสอง (2) ดังนั้น "JAVA" หรือ"จาวา"จึงเป็นคำไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะส่วนคำว่า"CAFE"เรียกขานว่า"คาเฟ่" หมายถึงกาแฟ หรือภัตตาคารขนาดเล็ก ถือเป็นคำสามัญไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะเช่นเดียวกันแม้จะนำทั้งสองคำมาเขียนติดกันเป็น "JAVACAFE" เรียกขานว่า "จาวาคาเฟ่" และจะแปลไม่ได้ แต่ก็สามารถสื่อความหมายให้คนทั่วไปเข้าใจว่าหมายถึงกาแฟที่มีแหล่งกำเนิดมาจากเกาะชวาในประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ดังนั้น ตัวอักษรโรมันที่สะกดเป็นคำทั้งหมดไม่ว่าจะออกสำเนียงแยกหรือเป็นคำหรือรวมกัน เสียงเรียกขานก็ไม่แตกต่างกัน และสื่อความหมายให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่เล็งถึงลักษณะและแหล่งกำเนิดของสินค้านั้นโดยตรง จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 7 วรรคสอง
การที่เครื่องหมายการค้าคำว่า "JAVACAFE" ของโจทก์ได้รับการจดทะเบียนมาแล้วในหลายประเทศนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละประเทศที่จะวางหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร และความเห็นของนายทะเบียนในประเทศนั้น ๆ ไม่อาจนำมาเป็นเหตุผลให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยไม่ต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2817/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำเข้าสินค้ามีเครื่องหมายการค้า การละเมิดสิทธิ และการคุ้มครองเครื่องหมายการค้า
โจทก์ที่ 1 ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ผลิตสินค้าปัตตะเลี่ยนโดยใช้เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย คำว่า "WAHL" โจทก์ที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าปัตตะเลี่ยน ทำให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้อื่นนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 ไปใช้โดยมิชอบ วัตถุประสงค์ของการใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าก็เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าของผู้อื่นและเพื่อระบุว่าสินค้านั้นเป็นของเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ซึ่งเป็นประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าของตนการที่มีผู้ซื้อสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าเพื่อนำไปจำหน่ายต่อไป ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาในการประกอบการค้า เมื่อผู้ผลิตสินค้าที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าได้จำหน่ายสินค้าของตนในครั้งแรก ซึ่งได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องหมายการค้านั้นจากราคาสินค้าที่จำหน่ายไปเสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้ผู้ซื้อสินค้าซึ่งประกอบการค้าปกตินำสินค้านั้นออกจำหน่ายอีกต่อไป โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้จำเลยนำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงที่จำเลยซื้อจากตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ที่ 1 ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์มาจำหน่ายในประเทศไทยได้
แม้กล่องบรรจุสินค้าปัตตะเลี่ยนซึ่งมีเครื่องหมายการค้าคำว่า "WAHL" จะมีซองกระดาษที่มีเครื่องหมายการค้าเดียวกันห่อหุ้มกล่องและมีใบรับประกันที่มีเครื่องหมายการค้าเดียวกันระบุชื่อที่อยู่ของจำเลยว่าเป็นศูนย์บริการ ก็เป็นเครื่องหมายการค้าที่แสดงว่าสินค้าปัตตะเลี่ยนในกล่องหรือหีบห่อนั้นเป็นสินค้าของโจทก์ที่ 1 จำเลยเพียงแต่เป็นผู้ให้บริการรับซ่อมปัตตะเลี่ยนให้เท่านั้น มิใช่แสดงว่าจำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ 1 การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "WAHL"ของโจทก์ที่ 1
โจทก์ที่ 2 เป็นผู้นำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า"WAHL" ของโจทก์ที่ 1 จากประเทศสหรัฐอเมริกามาจำหน่ายในประเทศไทยโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ตั้งให้โจทก์ที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว โจทก์ที่ 2 จึงเป็นเพียงผู้นำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจากโจทก์ที่ 1 มาจำหน่ายในประเทศไทยผู้หนึ่งเท่านั้น จึงฟังไม่ได้ว่า การที่จำเลยนำเข้าซึ่งสินค้าปัตตะเลี่ยนที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "WAHL" เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 2ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4559/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความเหมือนหรือความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้า ต้องพิจารณาองค์ประกอบทั้งหมดควบคู่กัน และพฤติการณ์แห่งการใช้
เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นรูปจระเข้มีตัวหนังสืออักษรภาษาไทยว่าแกรนด์แสลม และตัวหนังสืออักษรโรมันว่า GRANDSLAMยื่นขอจดทะเบียนใช้กับสินค้าในจำพวก 48 รายการสินค้ายาสีฟันน้ำยาสระผม ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปจระเข้และมีตัวหนังสืออักษรโรมันว่า LACOSTE ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วสำหรับสินค้าจำพวก 48 รายการสินค้าน้ำหอม น้ำหอมชโลมตัวหลังอาบน้ำ น้ำหอมหลังโกนหนวด และน้ำหอมทาผิว แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยจะมีรูปจระเข้เป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งและอาจเรียกได้ว่าตราจระเข้เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าจะเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่ต้องพิจารณาส่วนประกอบต่าง ๆ ทั้งหมดเข้าด้วยกัน จะพิจารณาเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งตามลำพังหาได้ไม่ เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีตัวหนังสืออักษรโรมันเป็นชื่อยี่ห้อสินค้าอ่านออกเสียงว่า ลาคอสท์ประกอบด้วยจระเข้อยู่เหนือตัวหนังสือดังกล่าว ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยนอกจากตัวหนังสืออักษรโรมันแล้ว ยังมีตัวหนังสืออักษรภาษาไทยอ่านได้ชัดเจนว่า แกรนด์แสลม อยู่เหนือตัวหนังสืออักษรโรมันด้วย อันเป็นการบอกให้ทราบแน่ชัดว่าสินค้าของจำเลยเรียกชื่อยี่ห้อว่า แกรนด์แสลม ชื่อยี่ห้อและการอ่านออกเสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงแตกต่างจากของโจทก์เป็นอันมากย่อมเป็นที่สังเกตของสาธารณชนทั่วไป และไม่ทำให้สาธารณชนทั่วไปที่ซื้อสินค้ายี่ห้อ แกรนด์แสลม เข้าใจผิดว่าสินค้านั้นเป็นสินค้ายี่ห้อลาคอสท์ของโจทก์ ส่วนคำว่าจระเข้หรือรูปจระเข้ก็มิใช่สิ่งบ่งเฉพาะ เป็นเพียงคำหรือชื่อสามัญทั่วไปโจทก์ไม่มีสิทธิจะสงวนรูปจระเข้ดังกล่าวไปไว้ใช้สำหรับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทั้งเครื่องหมายการค้าของจำเลยใช้กับสินค้าคนละชนิดกับของโจทก์สาธารณชนย่อมไม่เกิดความสับสนหรือหลงผิดในเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายเครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ดังนี้ไม่อาจเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 282/2516 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกันจนก่อให้เกิดความสับสนและความเสียหายต่อเจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิม
เครื่องหมายการค้าคำว่า 'COLGATE' 'GARDOL' และ'GARDENT'ของโจทก์ กับเครื่องหมายการค้าคำว่า 'COLDENT' ของจำเลยต่างขอจดทะเบียนในประเภทเครื่องหมายคำ โดยใช้ตัวอักษรโรมันธรรมดาการใช้อักษรตลอดจนการออกสำเนียงในการอ่านคล้ายคลึงกันคำในพยางค์หน้าของเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีคำว่า'COL'เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าคำว่า 'COLGATE' ของโจทก์และคำในพยางค์ท้ายมีคำว่า 'DENT' เช่นเดียวกับคำในพยางค์ท้ายของเครื่องหมายการค้าคำว่า 'GARDENT' ของโจทก์ เครื่องหมายการค้าของจำเลยส่อให้เห็นถึงการจงใจเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์แม้จะเป็นการจดทะเบียนในประเภทเครื่องหมายคำสำหรับสินค้าจำพวก 48ทั้งจำพวก ก็อาจทำให้ผู้ซื้อสินค้าเกิดความสับสนหรือหลงผิดว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยคือเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้ซื้อที่ไม่ทันสังเกต หรือเป็นผู้ที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษหรือรู้เพียงเล็กน้อย จึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนตามนัยแห่งมาตรา 16พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3)พ.ศ.2504 มาตรา 4
จำเลยผลิตและจำหน่ายยาสีฟันซึ่งบรรจุอยู่ในกล่องสลากพื้นสีแดง ประกอบอักษรโรมันขนาดใหญ่สีขาวคำว่า 'COLDENT'และอักษรโรมันขนาดย่อมคำว่า 'ANTI-ENZYME TOOTH PASTEซึ่งมีรูปลักษณะของกล่อง การวางตัวอักษร ลักษณะของตัวอักษรสีของกล่อง และสีตัวอักษร คล้ายกับสลากกล่องเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ตามหนังสือคู่มือรับจดทะเบียน การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และ 421
โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับค่าเสียหายไว้ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายคือทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์เสื่อมความนิยม โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการจำหน่ายสินค้าลงไปบ้างเป็นเงิน 20,000 บาท เป็นฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว หาเคลือบคลุมไม่
จำเลยผลิตยาสีฟัน 'COLDENT' ออกจำหน่ายตลอดมาจนปัจจุบันแม้จำเลยจะเริ่มผลิตมาตั้ง 10 ปีแล้ว การละเมิดสิทธิของโจทก์ที่จำเลยกระทำก็คงมีอยู่ตลอดเรื่อยไปทั้งโจทก์ยังได้นำคดีมาฟ้องจำเลยภายใน 90 วัน นับแต่วันได้รับทราบคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า คดีของโจทก์จึงหาขาดอายุความไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 569/2482

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลียนแบบเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความหลงผิดของผู้ซื้อสินค้า
การวินิจฉัยว่าจะมีการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าหรือไม่ต้องเทียบเครื่องหมายทั้ง 2 ประกอบกับคำพะยานซึ่งแสดงว่าผู้ซื้อสินค้าจะหลงว่าสินค้าอันหนึ่งเป็นอีกอันหนึ่งหรือไม่,
ประมวลวิธีพิจารณาอาญา ม. 248,
คดีฟ้องขอห้ามมิให้ใช้เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้และไม่ได้ตั้งทุนทรัพย์มาเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ ๆ ฎีกาได้แต่ปัญหาข้อกฎหมาย, พฤตติการณ์ที่ถือว่าฎีกาของโจทก์เถียงในปัญหาข้อเท็จจริง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 289/2480

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องมีลักษณะเฉพาะ ยี่ห้อทั่วไปไม่สามารถจดทะเบียนได้
ซื้อยี่ห้อจะขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าไม่ได้ เว้นแต่มีลักษณอื่นบ่งฉะเพาะเป็นพิเศษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 224/2480

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ความเป็นเครื่องหมายการค้าเพื่อความผิดตาม ม.237 จำเป็นต้องมีการสืบหลักฐานยืนยัน
กรณีที่จะเป็นผิดตาม ม.237 นั้นโจทก์จะต้องสืบให้ได้ความว่า รูปเครื่องหมายที่โจทก์ใช้ปิดสินค้านั้นเป็นเครื่องหมายการค้า มิฉะนั้นจะลงโทษจำเลยไม่ได้ วิธีพิจารณาอาญา พะยาน หน้าที่นำสืบ