คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
กิตติพงษ์ ศิริโรจน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 319 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 701-813/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างและการจ่ายค่าชดเชยพิเศษกรณีพิพาทแรงงาน ศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นการหักเงินช่วยเหลือจากค่าชดเชย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ไม่ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า "เทคโนโลยี" ไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องพิจารณาตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ซึ่งให้คำจำกัดความของคำว่า "เทคโนโลยี" ไว้ว่า "วิทยาการที่นำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติ อุตสาหกรรม เป็นต้น" จึงต้องพิจารณาว่าการที่จำเลยเปลี่ยนแปลงระบบรับส่งสัญญาณโทรทัศน์จากระบบแอนะล็อกเป็นระบบดิจิทัลเป็นการนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติ อุตสาหกรรม หรือไม่ เมื่อการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกและระบบดิจิทัล คือ การรับส่งสัญญาณผ่านอุปกรณ์ไมโครเวฟหรือผ่านสัญญาณไฟเบอร์ออปติกไปยังเสาส่งสัญญาณของสถานีเครือข่ายเพื่อส่งสัญญาณต่อไปจนถึงผู้รับชมทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด อันเป็นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในกิจการโทรทัศน์ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้และความบันเทิงอย่างทั่วถึง การรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกและระบบดิจิทัลจึงเป็นเทคโนโลยีประเภทหนึ่ง ตามมาตรา 121 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และเมื่อพิจารณาประกอบกับแผนการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิทัลตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติแล้ว ก็แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงระบบรับส่งสัญญาณโทรทัศน์จากระบบแอนะล็อกเป็นระบบดิจิทัลเป็นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างหนึ่ง ทั้งเมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันว่า การรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัลมีการพัฒนาขึ้นจากเดิมในระบบแอนะล็อกทั้งในด้านคุณภาพการส่งสัญญาณกับภาพและเสียงในการรับชมมีความคมชัดมากขึ้น ทำให้มีการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ได้จำนวนช่องรายการที่มากกว่า อันถือเป็นความก้าวล้ำทางวิทยาการอีกระดับหนึ่ง ดังนั้น การที่จำเลยเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ในส่วนของสถานีเครือข่ายจากเดิมในระบบแอนะล็อกที่จำเลยเป็นผู้ดำเนินการเองในสถานีเครือข่ายทั้ง 37 สถานี เป็นระบบดิจิทัลด้วยวิธีการไปใช้บริการโครงข่ายจาก ททบ.5 แทน เพื่อให้ระบบรับส่งสัญญาณโทรทัศน์เป็นระบบดิจิทัลที่สามารถรับส่งสัญญาณได้มากขึ้นและคุณภาพดีขึ้น จึงถือเป็นการปรับปรุงการบริการในธุรกิจรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ของจำเลยโดยการเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีตามมาตรา 121 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และเมื่อมาตรา 121 มิได้บัญญัติว่า กรณีจะปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการ อันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้างนั้นจะต้องเกิดจากความประสงค์หรือริเริ่มของนายจ้างเท่านั้น ประกอบกับเจตนารมณ์ของมาตรา 121 ประสงค์ที่จะคุ้มครองลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการที่นายจ้างปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการ อันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี ดังนั้น แม้นายจ้างจะไม่ได้เป็นผู้คิดหรือริเริ่มที่จะปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการ โดยการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี แต่หากต่อมานายจ้างเป็นผู้กระทำให้เกิดการปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการ อันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีและเป็นเหตุให้ต้องเลิกจ้างลูกจ้าง ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวก็ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 121 โดยไม่จำกัดว่ามีสาเหตุมาจากนายจ้างต้องการปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการด้วยตนเอง หรือเกิดจากสาเหตุอื่นใด
แม้โจทก์ที่เป็นลูกจ้างตำแหน่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมีลักษณะงานซึ่งรับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวกับอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อมต่างกับลักษณะงานในตำแหน่งงานช่างเทคนิคก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า เมื่อจำเลยเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีระบบการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์จากระบบแอนะล็อกเป็นระบบดิจิทัล ทำให้จำเลยไม่อาจดำเนินการในส่วนของสถานีเครือข่ายต่อไปและต้องส่งมอบคืนหรือรื้อถอนอาคารสถานที่สถานีเครือข่ายทั้ง 37 สถานี และเลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมดที่ทำงานในสถานีเครือข่ายทั้ง 37 สถานี ซึ่งเป็นช่างเทคนิคและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ย่อมทำให้ลูกจ้างในตำแหน่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้รับผลกระทบโดยตรง เมื่อมาตรา 121 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่นายจ้างนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีมาใช้แทนการทำงานของลูกจ้างดังกล่าว การพิจารณาว่าลูกจ้างคนใดได้รับผลกระทบโดยตรงหรือไม่นั้น จึงหาได้พิจารณาแต่เฉพาะหน้าที่ความรับผิดชอบของลูกจ้างว่ามีหน้าที่เกี่ยวกับเครื่องจักรหรือการใช้อุปกรณ์เครื่องรับส่งสัญญาณโทรทัศน์แต่เพียงอย่างเดียวไม่ การพิจารณาว่าลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างได้รับผลกระทบโดยตรงหรือไม่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป เมื่อปรากฏว่าในคดีนี้จำเลยเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์เป็นระบบดิจิทัลในส่วนของสถานีเครือข่ายจากเดิมที่จำเลยเป็นผู้ดำเนินการเองเป็นการเช่าใช้บริการโครงข่ายจาก ททบ.5 แทน มิใช่การนำเฉพาะเครื่องจักรหรืออุปกรณ์เกี่ยวกับการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลมาใช้แทนเครื่องจักรหรืออุปกรณ์การรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกในสถานีเครือข่ายของจำเลย อันจะส่งผลกระทบกับลูกจ้างที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับเครื่องจักรหรืออุปกรณ์รับส่งสัญญาณโทรทัศน์เท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดังกล่าวทำให้จำเลยไม่ต้องดำเนินการในส่วนของสถานีเครือข่ายทั้ง 37 สถานี ด้วยตนเองอีกต่อไป แล้วเปลี่ยนไปใช้สถานที่อื่นซึ่งเป็นสถานีโครงข่ายของ ททบ.5 แทน และส่งมอบคืนหรือรื้อถอนอาคารสถานที่ สถานีเครือข่ายทั้ง 37 สถานี แล้วเลิกจ้างลูกจ้างที่ทำงานในสถานีเครือข่ายทุกคนรวมทั้งลูกจ้างที่ทำหน้าที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยด้วย ลูกจ้างทุกคนที่ทำงานในสถานีเครือข่ายไม่ว่าจะทำงานในตำแหน่งใด หรือมีหน้าที่ใด ย่อมได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งสิ้น การที่จำเลยเลิกจ้างลูกจ้างที่ทำหน้าที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการอันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้ หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีด้วย
แม้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 121 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้นายจ้างแจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้างและรายชื่อลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงาน และลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันที่จะเลิกจ้างก็ตาม แต่มาตรา 121 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง นอกจากจะได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 แล้ว ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหกสิบวัน..." ซึ่งตามมาตรานี้บัญญัติให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าก็ต่อเมื่อนายจ้างไม่ได้แจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าหรือแจ้งล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบน้อยกว่าระยะเวลาหกสิบวันก่อนวันที่จะเลิกจ้างเท่านั้น มิได้บัญญัติไว้ให้รวมถึงการแจ้งให้พนักงานตรวจแรงงานทราบด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยแจ้งการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าก่อนวันที่จะเลิกจ้างไม่น้อยกว่าหกสิบวันแล้ว ย่อมถือว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 121 วรรคหนึ่งแล้ว จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวตามมาตรา 121 วรรคสอง การที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้าตามมาตรา 121 วรรคหนึ่ง ก็เพื่อให้ลูกจ้างที่จะถูกเลิกจ้างรับรู้เพื่อเตรียมตัววางแผนในการดำเนินชีวิต ส่วนการกำหนดให้นายจ้างแจ้งให้พนักงานตรวจแรงงานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐทราบล่วงหน้านั้น ก็เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เข้าไปดูแลและรับรู้การเลิกจ้างเพื่อที่จะช่วยคุ้มครองสิทธิของลูกจ้าง แม้การที่นายจ้างไม่ได้แจ้งการเลิกจ้างดังกล่าวให้พนักงานตรวจแรงงานทราบตามมาตรา 121 วรรคหนึ่ง จะเป็นความผิดตามมาตรา 146 ก็ตาม แต่ก็เป็นบทลงโทษในทางอาญาแก่นายจ้าง การที่นายจ้างไม่แจ้งให้พนักงานตรวจแรงงานทราบหาทำให้ลูกจ้างเกิดสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วยไม่
การที่จำเลยต้องเลิกจ้างโจทก์กับพวกซึ่งเป็นลูกจ้างประจำสถานีเครือข่ายทั้งหมดเป็นผลจากการปฏิบัติตามนโยบายของหน่วยงานของรัฐที่ควบคุมโดยตรงจึงมีเหตุจำเป็นตามสมควร ทั้งเมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงมาว่าจำเลยรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ทั้งระบบแอนะล็อกและระบบดิจิตอลคู่ขนานกันมาตั้งแต่ปี 2557 ก่อนยุติการส่งสัญญาณระบบแอนะล็อกในปี 2560 จำเลยประกาศแจ้งแผนการยุติการส่งสัญญาณผ่านสถานีเครือข่ายทั้ง 37 สถานี ตามนโยบายและที่ได้รับอนุมัติจาก กสทช. ให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าแล้ว และมีการเลิกจ้างลูกจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้านานพอสมควร ย่อมถือว่าจำเลยเปิดโอกาสให้โจทก์กับพวกรับรู้สถานการณ์และเตรียมตัวล่วงหน้าเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทั้งจำเลยได้เลิกจ้างลูกจ้างที่ทำงานประจำสถานีเครือข่ายทั่วประเทศทั้งหมด โดยไม่มีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งหรือเจาะจงเลิกจ้างคนใดคนหนึ่ง การเลิกจ้างโจทก์ทั้งหมดจึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 506/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีค้ามนุษย์ที่ค้างพิจารณา: การบังคับใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดี และการรับฎีกาโดยความเห็นชอบของอัยการสูงสุด
แม้โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ภายหลังวันที่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 ใช้บังคับ แต่ก่อนฟ้องคดีต่อศาลและก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นสืบพยานรายผู้เสียหายไว้ล่วงหน้าแล้ว ย่อมถือว่าคดีนี้เป็นคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 ใช้บังคับ จึงต้องนำ ป.วิ.อ. ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 ใช้บังคับมาใช้บังคับต่อไปตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 มาตรา 48 การฎีกาของโจทก์ย่อมเป็นไปตาม ป.วิ.อ. ไม่ใช่ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 ซึ่งฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามต้องห้ามคู่ความฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 แต่ตามหนังสือรับรองของอัยการสูงสุดแนบท้ายคำร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณา รับรองว่าฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสามมีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย พอถือได้ว่าอัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย จึงให้รับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 โดยโจทก์ไม่ต้องขออนุญาตฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 471/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องขับไล่: สิทธิเจ้าของที่ดินฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกหลังศาลพิพากษาถึงที่สุด
ในคดีหมายเลขดำที่ ม.395/2549 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายอาญาด้วยการใช้อุปกรณ์งัดประตูรั้วบ้านและประตูบ้านของโจทก์และบุกรุกเข้าไปครอบครองบ้านของโจทก์โดยละเมิด ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยกับพวกชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหามาจากจำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายอาญาเป็นละเมิดต่อโจทก์ และขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ม.395/2549 นั้น โจทก์ยังไม่ได้เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินพิพาท เนื่องจากยังเป็นประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำลังพิจารณาอยู่ในคดีหมายเลขดำที่ 8822/2548 ว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นเจ้าของบ้านและที่ดินพิพาท ส่วนการที่โจทก์ในคดีนี้ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินพิพาทตามที่ศาลฎีกาได้พิพากษาชี้ขาดมาในคดีหมายเลขดำที่ 8822/2548 แล้ว จำเลยเข้ามาอยู่ในบ้านพิพาทโดยไม่มีสิทธิ ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไป ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้มาจากโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามที่ศาลฎีกาได้พิพากษาชี้ขาดมา โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยและบริวารอยู่ในบ้านและที่ดินของโจทก์อีกต่อไป ดังนั้นการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ จึงไม่ใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีซ้ำในความหมายของ ป.วิ.พ. มาตรา 144 และขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ยังมีคดีหมายเลขดำที่ 8822/2548 กำลังพิจารณาอยู่ว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นเจ้าของบ้านและที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีหมายเลขดำที่ ม.395/2549 ชั่วคราวก่อน เพื่อรอฟังผลการชี้ขาดในคดีหมายเลขดำที่ 8822/2548 ก่อน ขณะนั้นโจทก์ยังไม่ได้รับการตัดสินว่าเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาท จึงไม่อยู่ในฐานะที่สามารถฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารได้ การที่จะให้โจทก์ฟ้องจำเลยในมูลละเมิดแล้วให้โจทก์มีคำขอบังคับให้ขับไล่จำเลยเข้ามาด้วย ย่อมไม่ชอบ เพราะข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเป็นคนละเรื่องกัน ส่วน ป.วิ.พ. มาตรา 142 นั้น ก็เป็นบทบัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจได้ว่าในคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ ถ้าศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลยก็ได้ ไม่ใช่บทบัญญัติที่บังคับให้โจทก์ต้องมีคำขอให้บังคับเข้ามาในคำฟ้องแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์ในคดีนี้สภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแตกต่างจากคดีหมายเลขดำที่ ม.395/2549 จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน โจทก์เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาศาลฎีกา ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านและที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 264/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องคดีเบียดบังผลกำไรห้างหุ้นส่วน ต้องระบุจำนวนผลกำไรและส่วนแบ่งมรดกที่ชัดเจน
เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า ป. บิดาโจทก์กับจำเลย ซึ่งเป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการค้าไม้และจำหน่ายโลงศพมีผลกำไรจากการประกอบกิจการซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนต้องแบ่งปันกัน และจำเลยเบียดบังผลกำไรในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. ไปโดยทุจริต ผลกำไรอันจำเลยเบียดบังไปมีจำนวนเท่าใดย่อมถือเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดอันเป็นมูลกรณีของความผิด โจทก์จึงต้องแสดงในฟ้องให้ชัดเจนว่าเมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันเนื่องจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งตายแล้ว สินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนที่เหลืออยู่ภายหลังการชำระหนี้ที่กฎหมายกำหนดลำดับก่อนหลังไว้ อันถือเป็นผลกำไรของห้างหุ้นส่วนนั้นมีอยู่จำนวนเท่าใด และผลกำไรในส่วนของ ป. ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเบียดบังเอาไปโดยทุจริตมีอยู่เท่าใด เพื่อที่จำเลยจะได้ตรวจสอบและต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้องว่าผลกำไรนั้นหากมีอยู่จริง ใช่ตามจำนวนที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาหรือไม่ โจทก์จะบรรยายฟ้องเพียงว่าห้างหุ้นส่วนมีผลกำไรแล้วสืบพยานในภายหลังเพื่อแสดงให้เห็นจำนวนผลกำไรในส่วนของ ป. หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 29/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญาแผ่นดิน: การสอบสวนโดยไม่มีคำร้องทุกข์ และการวินิจฉัยพยานหลักฐาน
ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง บัญญัติเพียงว่า เฉพาะคดีความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้นที่พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนได้จะต้องมีคำร้องทุกข์เสียก่อน เมื่อคดีความผิดที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดอาญาแผ่นดินทุกฐานความผิด พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนโดยลำพังตนเองหากพบว่ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น โดยเฉพาะคดีนี้ ผู้เสียหายโทรศัพท์แจ้งเหตุต่อพนักงานสอบสวน เท่ากับว่าได้มีการกล่าวโทษซึ่งทำให้พนักงานสอบสวนทราบว่ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นแล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจเริ่มต้นการสอบสวนได้ในทันทีด้วยการออกไปตรวจสถานที่เกิดเหตุและรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 130 บัญญัติไว้ ถือได้ว่าคดีนี้มีการสอบสวนในความผิดตามฟ้องโดยชอบแล้ว พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4500-4541/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าล่วงเวลาในงานขนส่งทางบก: การจ่ายค่าจ้างตามผลงาน ถือเป็นการจ่ายค่าล่วงเวลาครบถ้วนแล้ว
กิจการของจำเลยและงานที่โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำเป็นงานขนส่งทางบก การจ้างแรงงานระหว่างจำเลยกับโจทก์ทั้งสี่สิบสองจึงต้องอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 22 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ด้วยเหตุที่งานขนส่งทางบกมีสภาพการจ้างและลักษณะการทำงานแตกต่างกับการจ้างแรงงานทั่วไป งานขนส่งทางบกเป็นงานที่ต้องให้เกิดความปลอดภัยไม่เฉพาะแก่ผู้ขับขี่ยานพาหนะ แต่เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและผู้ใช้รถใช้ถนนด้วย ซึ่งตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 2 กำหนดว่า "ให้นายจ้างกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดการทำงานปกติของลูกจ้างในงานขนส่งทางบกวันหนึ่งไม่เกินแปดชั่วโมง" และข้อ 3 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า "ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะทำงานล่วงเวลาเว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกจ้าง" และวรรคสอง กำหนดว่า "ในกรณีที่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างตามวรรคหนึ่งแล้ว นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้วันหนึ่งไม่เกินสองชั่วโมง เว้นแต่มีความจำเป็นอันเกิดจากเหตุสุดวิสัย อุบัติเหตุ หรือปัญหาการจราจร" อันเป็นการกำหนดเวลาทำงานของลูกจ้างในงานขนส่งทางบกวันหนึ่งไม่เกิน 8 ชั่วโมง และห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา เว้นแต่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกจ้าง โดยจะทำงานล่วงเวลาได้วันหนึ่งไม่เกิน 2 ชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยกับโจทก์ทั้งสี่สิบสองตกลงกำหนดเวลาทำงานกันวันละ 24 ชั่วโมง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ในข้อ 2 และข้อ 3 ดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาว่า โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำงานเกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมง โดยทำงานล่วงเวลาวันหนึ่งเกินกว่า 2 ชั่วโมง อันเป็นการทำงานล่วงเวลาเกินกำหนดเวลาทำงานล่วงเวลาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสี่สิบสองทำงานล่วงเวลาดังกล่าวไปแล้ว โจทก์ทั้งสี่สิบสองย่อมมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 6 ที่กำหนดว่า "ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างในงานขนส่งทางบกทำงานล่วงเวลา ในวันทำงานและทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างดังกล่าว" ซึ่งการจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ตามข้อ 6 ดังกล่าว คงกำหนดไว้เฉพาะการจ่ายค่าตอบแทนที่คำนวณจากค่าจ้างตามระยะเวลา มิได้มีการกำหนดถึงการจ่ายค่าตอบแทนที่คำนวณจากค่าจ้างตามผลงานแต่ละหน่วยที่ลูกจ้างทำได้ แม้โจทก์ทั้งสี่สิบสองจะได้รับค่าจ้างจากการขับขี่ยานพาหนะตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย แต่ก็ย่อมมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้เช่นเดียวกับหลักการที่กำหนดไว้ในข้อ 6 เช่นเดียวกัน จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาแก่โจทก์ทั้งสี่สิบสองเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำได้ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ในวันและเวลาทำงานปกติ โจทก์ทั้งสี่สิบสองได้รับค่าจ้างโดยคำนวณตามผลงานที่ทำได้คือเป็นเงินร้อยละ 12 ของรายได้จากการขับรถรับส่งผู้โดยสารทั้งเดือน และกรณีที่จำเลยให้โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและทำงานล่วงเวลาในวันหยุด โจทก์ทั้งสี่สิบสองก็จะได้รับค่าตอบแทนการทำงานสำหรับการทำงานดังกล่าวเป็นเงินร้อยละ 12 ของรายได้จากการขับรถรับส่งผู้โดยสารเช่นเดียวกัน จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้จ่ายค่าตอบแทนสำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและทำงานล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบสองครบถ้วนแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและทำงานในวันหยุดให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบสองอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4249/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการอุทธรณ์ในคดีแรงงาน: การโต้แย้งดุลพินิจ vs. ข้อกฎหมาย และการกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ศาลแรงงานภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงว่า ตามสัญญาจ้างระบุค่าจ้างไว้ชัดเจนว่า โจทก์ตกลงรับค่าจ้างเดือนละ 60,000 บาท จึงฟังได้ว่า โจทก์มีเงินเดือนเดือนสุดท้ายเป็นเงิน 60,000 บาท ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า แม้ค่าจ้างอีก 40,000 บาท จะไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาจ้าง แต่จำเลยตกลงจ่ายเงินส่วนนี้ให้แก่โจทก์ตามจดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเมล ตัวอย่างการชำระค่าจ้าง และใบสำคัญจ่ายเจ้าหนี้ เป็นการหยิบยกข้อเท็จจริงตามพยานเอกสารอื่นขึ้นโต้แย้ง อันเป็นอุทธรณ์ที่มุ่งประสงค์ให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ยังได้รับค่าตอบแทนอื่นที่กำหนดจำนวนแน่นอนอีกเดือนละ 40,000 บาท ซึ่งเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 8 อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
การรับสภาพหนี้อันจะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้รับสภาพต่อเจ้าหนี้ว่าจะชำระหนี้ให้ซึ่งจะต้องกระทำโดยลูกหนี้เองหรือโดยตัวแทนของลูกหนี้เท่านั้น บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับค่าจ้างค้างจ่ายของโจทก์เป็นเอกสารที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและบัญชีของจำเลยเป็นผู้จัดทำขึ้นแล้วจัดเก็บอยู่ในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในฐานข้อมูลของจำเลย แม้โจทก์ได้รับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับค่าจ้างค้างจ่ายดังกล่าวของโจทก์ แต่ไม่ปรากฏว่ากรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยเป็นผู้จัดส่ง หรือแต่งตั้งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและบัญชีหรือลูกจ้างคนหนึ่งคนใดของจำเลย เป็นตัวแทนส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับค่าจ้างค้างจ่ายดังกล่าวไปยังโจทก์เพื่อเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยทำไว้ให้แก่โจทก์ตามสิทธิเรียกร้องเพื่อให้ชำระหนี้ หรือเป็นการกระทำใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง อายุความตามสิทธิเรียกร้องค่าจ้างค้างชำระจึงไม่สะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 เรียกค่าจ้างที่ค้างชำระอยู่ก่อนวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 ด้วย สิทธิเรียกร้องค่าจ้างที่ค้างชำระอยู่ก่อนวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 จึงขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9)
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ได้กำหนดขั้นตอนให้ศาลแรงงานพิจารณาสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง แต่ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้แทน ซึ่งการที่นายจ้างจะรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปนั้นมิใช่พิจารณาเพียงนายจ้างอาจรับลูกจ้างเข้าทำงานต่อไปได้เท่านั้น ยังต้องพิจารณาด้วยว่า นายจ้างกับลูกจ้างนั้นมีความเข้าใจอันดีต่อกันและกลับไปทำงานร่วมกันโดยไม่เป็นปัญหาแก่ทั้งสองฝ่าย หากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ จึงจะกำหนดค่าเสียหายให้แทน ซึ่งการกำหนดค่าเสียหายนี้ศาลแรงงานจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอย่างอื่นเกี่ยวกับลูกจ้างดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ประกอบการพิจารณาด้วย เมื่อศาลแรงงานภาค 8 เห็นว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ แต่ไม่ได้พิพากษาสั่งให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง แสดงว่าศาลแรงงานภาค 8 เห็นว่าโจทก์กับจำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ศาลแรงงานภาค 8 จะต้องกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์แทน การที่ศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยว่า ก่อนหน้านั้น จำเลยประสบปัญหาทางการเงินอย่างมากและมีการฟื้นฟูกิจการ จึงเห็นสมควรไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์นั้น เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ได้คำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง และเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ อันเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์แล้ว แต่ไม่กำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 หรือไม่นั้น เป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย จึงไม่เป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
การกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นดุลพินิจซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษและศาลฎีกาไม่อาจกำหนดเองได้ ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 8 กำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49
จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของ และศาลแรงงานภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของ ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน โดยกล่าวถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลักษณะการทำงานของโจทก์ เวลาทำงาน วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดพักผ่อนประจำปี สิทธิในการรับเงินโบนัส และการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นการหยิบยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ที่ไม่ปรากฏในคำให้การและยังเป็นอุทธรณ์ที่มุ่งประสงค์จะให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษรับฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า ลักษณะการทำงานของโจทก์ เวลาทำงาน วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดพักผ่อนประจำปี สิทธิในการรับเงินโบนัส และการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย ซึ่งเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 8 เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในข้อกฎหมายว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4245-4248/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลูกจ้างได้รับค่าจ้างรายเดือน จำเลยผิดนัดชำระ มีหน้าที่จ่ายเงินเพิ่มตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
โจทก์ทั้งสี่เป็นลูกจ้างได้รับค่าจ้างรายเดือนในอัตราที่แน่นอน โดยจำเลยมีหน้าที่โอนค่าจ้างเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ทั้งสี่ทุกวันสิ้นเดือน อันเป็นการกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน จำเลยจึงมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างสำหรับเดือนมกราคม 2560 โดยการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ทั้งสี่ในวันที่ 31 มกราคม 2560 เมื่อจำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง ไม่ปรากฎว่ากิจการของจำเลยขาดทุนจนไม่มีเงินหมุนเวียนที่จะนำมาจ่ายค่าจ้าง เมื่อจำเลยได้จ่ายค่าจ้างเดือนมกราคม 2560 ให้แก่ลูกจ้างอื่นทุกคนแล้วแสดงว่าจำเลยมีความพร้อมที่จะจ่ายค่าจ้างเดือนดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่ได้ด้วย ทั้งจำเลยมิได้โต้แย้งเรื่องจำนวนค่าจ้างเดือนมกราคม 2560 ที่จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายให้โจทก์ทั้งสี่ก่อนหรือภายในวันที่ 31 มกราคม 2560 อันเป็นวันที่ครบกำหนดจ่ายค่าจ้าง การที่จำเลยเพิ่งอ้างเหตุไม่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสี่ในภายหลังว่า ยังมีปัญหาว่าจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างเดือนมกราคม 2560 ให้แก่โจทก์ทั้งสี่หรือไม่ก็ดี โจทก์ทั้งสี่จะต้องคืนทรัพย์สินและเอกสารของจำเลยหรือไม่ก็ดี และจะนำค่าจ้างดังกล่าวไปหักกลบลบหนี้ตามที่โจทก์ทั้งสี่ทำให้จำเลยเสียหายได้หรือไม่ก็ดี เป็นข้ออ้างที่ไม่สุจริตเพราะจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างเดือนมกราคม 2560 ให้โจทก์ทั้งสี่ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2560 อยู่แล้ว ส่วนเรื่องการคืนทรัพย์สินหรือเอกสารกับการหักกลบลบหนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 อันเป็นวันที่โจทก์ทั้งสี่ออกจากงานไปแล้ว ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสี่จึงเป็นการจงใจไม่จ่ายค่าจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยจึงต้องจ่ายเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน เมื่อพ้นกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4081/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายเครื่องกระสุนปืน การริบทรัพย์สิน และความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองเพื่อการค้า
เครื่องกระสุนปืนของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนสามารถออกใบอนุญาตให้ได้ เพียงแต่จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีเครื่องกระสุนปืนจากนายทะเบียน จึงถือไม่ได้ว่าเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 32 ส่วน ป.อ. มาตรา 33 (1) เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ศาลในการลงโทษริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด โดยมุ่งหมายให้ริบทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดได้ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง ทั้งเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดด้วย เมื่อจำเลยประกาศขายเครื่องกระสุนปืนให้ผู้สนใจทราบ แล้วจำเลยจัดส่งเครื่องกระสุนปืนให้แก่ลูกค้าที่สั่งซื้อและได้รับเงินค่าเครื่องกระสุนปืนนั้น ซึ่งเป็นการกระทำความผิดฐานจำหน่ายเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า เครื่องกระสุนปืนของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง สมควรให้ริบ ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แต่บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองสำหรับการค้า ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 24, 73 ซึ่งเป็นบทบัญญัติความผิดสำหรับผู้ที่มีหรือจำหน่ายอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้าโดยเฉพาะ อันมีอัตราโทษหนักกว่าผู้ที่กระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนทั่ว ๆ ไปซึ่งมิใช่เพื่อการค้า เมื่อจำเลยมีเครื่องกระสุนปืนของกลางไว้ในครอบครองสำหรับการค้า โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเครื่องกระสุนปืนอื่นนอกจากที่มีไว้สำหรับการค้า จึงต้องลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 24, 73 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคสอง นั้น ไม่ถูกต้อง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3918/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมอำพรางสัญญาจ้างก่อสร้าง: สัญญาอนุญาโตตุลาการยังใช้บังคับได้ แม้สัญญาหลักเป็นโมฆะ
สัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์งานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมโครงการ ม. ซึ่งคู่สัญญาทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย แม้ว่าอนุญาโตตุลาการจะวินิจฉัยว่าสัญญาดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางตกเป็นโมฆะ ต้องบังคับตามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางและให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะสัญญาจ้างทำของมาใช้บังคับ ซึ่งสัญญาที่ทำเป็นหนังสือในรูปแบบของสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์งานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมโครงการ ม. นี้เป็นโมฆะ เพราะเกิดจากเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แต่ก็มีลักษณะสมบูรณ์ในลักษณะของสัญญาจ้างทำของได้ หากมีลักษณะเข้าทุกองค์ประกอบของสัญญา และไม่มีข้อบกพร่องขององค์ประกอบทุกข้อในทางกฎหมาย ทั้งไม่มีข้อบกพร่องในการแสดงเจตนา ซึ่งสัญญาจ้างทำของนี้ไม่ต้องทำตามแบบแต่อย่างใด สัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. เป็นสัญญาจ้างทำของจึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้ เมื่อมีการทำสัญญาดังกล่าวไว้เป็นหนังสือ แม้จะเป็นโมฆะในลักษณะของสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์งานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมโครงการ ม. แต่เนื้อหาของสัญญานั้นยังอยู่และสมบูรณ์ในลักษณะของสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. ข้อสัญญาหรือข้อตกลงในการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการจึงยังคงมีอยู่ในรูปของหนังสือ สัญญาอนุญาโตตุลาการจึงมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ต้องตามหลักเกณฑ์ใน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 วรรคสอง นอกจากนี้ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "...และเพื่อวัตถุประสงค์นี้ (ซึ่งหมายถึงอำนาจของอนุญาโตตุลาการในการวินิจฉัยถึงความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ) ให้ถือว่าข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาหลัก เป็นข้อสัญญาแยกต่างหากจากสัญญาหลัก คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการที่ว่าสัญญาหลักเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์จะไม่กระทบกระเทือนถึงข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ" ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการในสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. ที่เป็นหนังสือนั้นยังมีอยู่ อนุญาโตตุลาการจึงมีอำนาจวินิจฉัยและทำคำชี้ขาดได้ และคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงชอบด้วยกฎหมาย สามารถบังคับได้ตามคำชี้ขาดนั้น ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง, 43, 44
of 32