คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
กิตติพงษ์ ศิริโรจน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 319 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6252/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการในคดีประกันภัย: เหตุเพิกถอนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ (1) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (2) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน..." สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยภาคสมัครใจมีลักษณะเป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุน ผู้คัดค้านจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดในวินาศภัยนั้น อนุญาโตตุลาการจึงมีสิทธิวินิจฉัยความรับผิดของผู้เอาประกันภัยต่อผู้ร้องได้ ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ผู้คัดค้านต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกฎกระทรวงกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย ตามชนิด ประเภท และขนาดของรถ พ.ศ.2554 ข้อ 3 (3) ที่ออกตามความในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ให้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ในกรณีมีทายาทโดยธรรมหลายคน ก็ต้องแบ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทโดยธรรมครบทุกคน ดังนั้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมายแล้ว และยกคำร้องของผู้ร้อง จึงไม่ใช่คำพิพากษาที่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นก็ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) (2) ที่ผู้ร้องจะอุทธรณ์ได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5508/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำนองยังคงมีผล แม้มีการแบ่งแยกที่ดินและจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองโดยไม่ชอบ ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
สิทธิจำนองเป็นทรัพยสิทธิ และย่อมระงับสิ้นไปเพียง 6 กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 เท่านั้น เมื่อการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ผู้รับจำนองชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมไถ่ถอนจำนองดังกล่าวได้ การจำนองที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 188713 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงยังคงครอบติดอยู่ตามสัญญาจำนอง ไม่ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 และเมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 188713 ออกไปเป็นที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 204439 อีกแปลงหนึ่ง ต้องถือว่าที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 204439 ที่แบ่งแยกออกไปพร้อมสิ่งปลูกสร้างยังคงมีการจำนองครอบติดอยู่ด้วยตามสัญญาจำนองที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 188713 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 717 วรรคหนึ่ง แม้ไม่มีการจดแจ้งไว้ในสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินพิพาทเลขที่ 204439 ว่ามีการจำนองครอบติดอยู่ และแม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับซื้อฝากเสียค่าตอบแทนและได้มาโดยสุจริตย่อมได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 204439 แต่ก็หาทำให้สิทธิจำนองซึ่งเป็นทรัพยสิทธิที่ติดไปกับตัวทรัพย์จำนองเสื่อมเสียไปไม่ ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
ฟ้องโจทก์เพียงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองซึ่งจำเลยที่ 1 ดำเนินการโดยไม่ชอบให้คงปรากฏภาระจำนองเป็นหลักประกันแก่หนี้กู้ยืมของโจทก์และจำเลยที่ 1 เช่นเดิม และตามคำขอบังคับโจทก์ก็ยังไม่ได้ทรัพย์สินใดมา เพราะโจทก์มิได้ฟ้องบังคับจำนองเพื่อเอาชำระหนี้ที่มีอยู่เป็นคุณแก่โจทก์ซึ่งเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามตาราง 1 ข้อ 1 (ค) หรือฟ้องบังคับชำระหนี้กู้ยืมซึ่งเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามตาราง 1 ข้อ 1 (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทั้งโจทก์ไม่ได้เรียกร้องเอาที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาเป็นของตน คดีโจทก์จึงหาใช่คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3934/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสนับสนุนการกระทำชำเราเด็ก: ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษาให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนแทนตัวการ
จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกถอดเสื้อผ้าของผู้เสียหายที่ 2 แล้วชูเสื้อผ้าให้พวกดู และนำไปวางไว้มุมห้องก่อนที่พวกของจำเลยที่ 1 จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้คบคิดกับพวกที่กระทำชำเรามาก่อนที่จำเลยที่ 1 จะเดินทางไปยังบ้านที่เกิดเหตุ และเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่พวกของจำเลยที่ 1 จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเรา ทั้งขณะพวกของจำเลยที่ 1 กระทำชำเราก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการอันใดให้เห็นว่ามีลักษณะเป็นตัวการ ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ขณะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเรา และทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ด้วย ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 83 แต่การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 86
แม้โจทก์ฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นตัวการ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องก็ตาม แต่ข้อแตกต่างดังกล่าวไม่ใช่สาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้เพราะโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการจึงไม่เป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2494-2495/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และความรับผิดของตัวการร่วม
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้เข้าไปร่วมทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมตามที่วางแผนกันไว้ โดยอยู่ที่รถจักรยานยนต์ซึ่งจอดอยู่ด้านหลังรถยนต์ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นระยะที่ใกล้ชิดกับสถานที่เกิดเหตุ อยู่ในลักษณะที่อาจเข้าไปช่วยเหลือให้การกระทำความผิดสำเร็จ มีลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ แต่การที่พวกของจำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างกะทันหันโดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้คบคิดนัดหมายมาก่อน จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าโจทก์ร่วมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องรับผลแห่งการกระทำของพวกด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นตัวการกระทำความผิดฐานทำร้ายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 298 อันเป็นความผิดหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาลงโทษในความผิดดังกล่าวตามที่พิจารณาได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 แม้โจทก์ไม่ได้ฎีกาขอให้ลงโทษก็ตาม เพราะการปรับบทลงโทษเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฐานร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเท่านั้น จึงไม่อาจกำหนดโทษให้สูงขึ้นในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 298 เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 819/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการโอนที่ดินเป็นสาธารณประโยชน์ - ผู้จัดสรรที่ดินมีสิทธิโอนที่ดินที่เป็นสาธารณูปโภคให้ราชการเพื่อพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษา
ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นถนนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ผู้จัดสรรได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินเพื่อประโยชน์ให้แก่ผู้ที่อยู่อาศัยในที่ดินที่จัดสรรโดยเฉพาะ มิได้มุ่งหมายให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ถนนร่วมกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรที่ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จัดสรร ภาระจำยอมดังกล่าวเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง พันเอก ว. เจ้าของกรรมสิทธิ์มีสิทธิในการใช้สิทธิเหนือที่ดินพิพาทที่เป็นภาระจำยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามจำหน่ายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณูปโภค เพียงแต่ต้องยอมรับกรรมบางอย่าง ซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งหก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวกมิได้เท่านั้น ภาระจำยอมเป็นทรัพยสิทธิย่อมตกติดไปกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสามยทรัพย์และภารยทรัพย์ แม้ต่อมา พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 แต่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 ยังคงมีบทบัญญัติกำหนดให้สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป และจะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ และมาตรา 70 วรรคสาม บัญญัติว่า "การพ้นจากความรับผิดชอบในการบํารุงรักษาสาธารณูปโภคของผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้รับโอนใบอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 หรือผู้รับโอน กรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภค ให้นํามาตรา 44 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" โดยมาตรา 44 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากหน้าที่บํารุงรักษาสาธารณูปโภค ตามมาตรา 43 เมื่อได้ดําเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ภายหลังจากครบกําหนดระยะเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบ การบํารุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 23 (5) แล้วตามลําดับ ดังต่อไปนี้...(2) ผู้จัดสรรที่ดินได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการให้...ดําเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์" ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองว่า ผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์มีสิทธิที่จะจดทะเบียนโอนถนนให้เป็นสาธารณประโยชน์ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้พ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาถนนอันเป็นสาธารณูปโภคเช่นเดียวกัน การที่ พ. ผู้จัดการมรดกและในฐานะทายาทโดยธรรมของพันเอก ว. โดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ทายาทโดยธรรมผู้รับโอนมรดกที่ดินพิพาทต้องการจะพ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาที่ดินพิพาทย่อมมีอำนาจที่จะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 6 เพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ และเพื่อให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ผู้จัดสรร รวมทั้ง พ. และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์พ้นจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคสอง และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 70 วรรคสาม ประกอบมาตรา 44 (2) จึงไม่ใช่การกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ไม่ใช่การกระทำโดยไม่สุจริต ไม่ใช่การกระทำที่เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งหก และไม่เป็นการกระทำอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวก โจทก์ทั้งหกไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณประโยชน์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 521/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดี, การยินยอมตามฟ้อง, การปรับปรุงเสถียรภาพดิน, และการดำเนินการป้องกันการพังทลายของดิน
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 บัญญัติว่า "ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่รางกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น" แสดงว่าแม้ผู้ทำละเมิดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายแล้ว แต่เมื่อยังไม่เกิดความเสียหาย ผู้ทำละเมิดก็ยังไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อความเสียหายเกิดขึ้นจริง จึงต้องเริ่มนับอายุความแต่วันที่เกิดความเสียหายเป็นวันที่รู้ถึงการละเมิด มิใช่นับแต่วันที่รู้ถึงการกระทำผิดกฎหมายเท่านั้น และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
หนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดที่ บ. ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำไว้ก่อน บ. ถึงแก่ความตาย หนี้ดังกล่าวในส่วนของ บ. ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ผู้เป็นทายาทโดยธรรม จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601 ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม บัญญัติว่า "...ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก" หมายถึง กรณีที่เจ้าหนี้ทราบแล้วว่าตนมีสิทธิเรียกร้องต่อเจ้ามรดก แม้อายุความตามสิทธิเรียกร้องนั้นยาวกว่าหนึ่งปี เจ้าหนี้ก็จะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อ บ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ทั้งสองเพิ่งรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ตามลำดับ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองเพิ่งเกิดขึ้นหลังจาก บ. เจ้าของมรดกถึงแก่ความตายไปแล้ว ต้องถือว่าโจทก์ทั้งสองรู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ บ. ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ตามลำดับด้วย โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 ยังไม่พ้นกำหนดหนึ่งปี จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม
ส่วนการที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันทำการป้องกันมิให้เกิดการทรุดพังทลายของดินในแนวเขตถนนสาธารณะและถนนสาธารณะอีกต่อไป ไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน และไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 จึงยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ตามลำดับ คดีโจทก์ทั้งสองในส่วนนี้ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8403/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน: การพิพากษาความผิดและบทลงโทษของตัวการร่วม
การที่จำเลยที่ 1 ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินราดใส่ผู้ตายแล้วจุดไฟเผาผู้ตายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างกะทันหันโดยจำเลยที่ 2 มิได้คบคิดนัดหมายกับจำเลยที่ 1 มาก่อน จึงไม่ใช่เรื่องการแบ่งหน้าที่กันทำ จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่พฤติการณ์ที่ผู้ตายโทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ว่า ผู้ตายให้จำเลยที่ 2 ไปพบผู้ตายที่บ้าน จำเลยที่ 1 บอกให้จำเลยที่ 2 แจ้งให้ผู้ตายไปพบยังสถานที่เกิดเหตุโดยไม่ต้องบอกว่า จำเลยที่ 1 จะเดินทางไปด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะทำร้ายผู้ตายซึ่งมีการคิดไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว และจำเลยที่ 2 เพียงแต่มีเจตนาที่จะร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเพื่อจะทำให้ผู้ตายได้รับอันตรายแก่กายหรืออันตรายสาหัสเท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 เลือกที่จะทำร้ายผู้ตายโดยการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินราดใส่ผู้ตายและจุดไฟเผาผู้ตายซึ่งเป็นการกระทำนอกเหนือเจตนาของจำเลยที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 2 ไม่เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่เมื่อจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นด้วย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่เป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคสอง ประกอบมาตรา 289 (4) อันเป็นความผิดหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามที่โจทก์ฟ้องและเป็นความผิดได้ในตัว ศาลฎีกาสามารถลงโทษในความผิดดังกล่าวตามที่ได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8192/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐานในคดีอาญา, คำรับสารภาพ, พยานบอกเล่า, พยานประกอบ, และการใช้กฎหมายอาญาที่แก้ไขใหม่
แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกวางแผนที่จะเข้าไปลักทรัพย์ภายในโรงงานของผู้เสียหายที่ 1 แต่ไม่ปรากฏว่ามีการวางแผนแบ่งหน้าที่รับมากระทำเป็นส่วน ๆ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์ ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือให้พ้นจากการจับกุมอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ รวมไปถึงการทำร้ายร่างกายและปล้นเงินของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในโรงงานของผู้เสียหายที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้เพียงว่า พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เพียงขับรถยนต์ไปส่งจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกที่โรงงานของผู้เสียหายที่ 1 แล้วขับรถไปรอที่ปั๊มน้ำมัน เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกลักทรัพย์ได้แล้ว พวกของจำเลยที่ 1 และที่ 3 โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ไปรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกพร้อมทรัพย์ที่ลักมา ซึ่งเป็นการเข้ามาร่วมกระทำผิดด้วยเมื่อมีการตัดสายไฟแล้วขนย้ายเคลื่อนที่อันเป็นการลักทรัพย์สำเร็จเท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ที่อื่นห่างไกลจากสถานที่เกิดเหตุจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม และหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นตามฟ้อง แต่มีความผิดเพียงฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ผู้เสียหายที่ 1 ในเวลากลางคืนโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ และมาตรา 86 อันเป็นการกระทำซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองและรวมอยู่ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คืนเงิน 3,900 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 แต่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คืนเงิน 280,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8088/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยักยอกเงินของทางราชการโดยเจตนาทุจริต แม้คืนเงินภายหลังก็ไม่ถือว่าไม่มีเจตนา
เงิน 10,000 บาท ที่จำเลยในฐานะประธานศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองรับไปจากศูนย์การกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นเงินที่ศูนย์การกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการจัดสรรมาให้ศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมือง เงินดังกล่าวถือเป็นเงินของทางราชการที่ต้องนำส่งเป็นเงินรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมืองทั้งสิ้น กรณีมิใช่เป็นเงินที่มีผู้อุทิศให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมืองเป็นการเฉพาะเจาะจงว่าให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่จำเลยฎีกา จำเลยในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมืองและในฐานะประธานศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองย่อมจะต้องทราบดีว่า จะต้องเก็บรักษาเงินดังกล่าวไว้อย่างไร การที่จำเลยอ้างว่า จำเลยมีความขัดแย้งกับ ส. ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมืองจนไม่สามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้ ก็มิได้เป็นเหตุให้จำเลยมีหน้าที่หรือจำต้องเก็บรักษาเงินไว้เอง การที่จำเลยเก็บรักษาเงินไว้เองโดยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการและไม่เคยแจ้งให้คณะกรรมการศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองทราบ พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเจตนาเบียดบังเงินดังกล่าวเป็นของตนเองโดยทุจริต แม้ต่อมาจำเลยจะคืนเงินดังกล่าวให้แก่คณะกรรมการศูนย์กีฬาตำบลโนนเมือง แต่ก็เป็นเวลาภายหลังจากมีการร้องทุกข์แล้ว จึงหาเป็นเหตุให้รับฟังได้ว่าจำเลยมิได้มีเจตนาทุจริตเบียดบังเงินดังกล่าวไปเป็นของตนเอง
of 32