คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อดิศักดิ์ ปัตรวลี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 192 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10513/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ทำโดยคู่สมรสโดยไม่ได้รับความยินยอม และอำนาจฟ้องของคู่สมรส
การที่ อ. ภริยา ทำสัญญาขายฝากที่พิพาทให้แก่จำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรส นิติกรรมการขายฝากที่พิพาทไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากดังกล่าวได้ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง แม้คำขอบังคับของโจทก์เพียงขอให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่พิพาท โดยมิได้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝาก ก็เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืน เท่ากับมีผลเป็นการเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากด้วยเช่นกัน และการเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากดังกล่าวต้องเพิกถอนนิติกรรมทั้งหมดจะเพิกถอนเฉพาะส่วนของโจทก์หาได้ไม่ แต่เมื่อโจทก์ขอมาเพียงเฉพาะส่วนของโจทก์เท่านั้น ศาลก็มิอาจเพิกถอนทั้งหมดได้เพราะจะเป็นการพิพากษาให้เกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9314/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประมูลซื้อที่ดิน: เจ้าพนักงานบังคับคดีให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ผู้ซื้อต้องตรวจสอบด้วยตนเอง และความรับผิดในสัญญา
การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีบรรยายสภาพที่ดินว่าติดทางสาธารณะ แต่แผนที่สังเขปแสดงข้อมูลถูกต้องว่าติดทางในหมู่บ้านจัดสรร จึงฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจงใจปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์และใช้กลฉ้อฉลผู้ซื้อทรัพย์ การที่จำเลยทั้งสามไม่ได้ทำการตรวจสอบให้ดีก่อนทำการประมูลว่าแท้จริงที่ดินดังกล่าวติดทางสาธารณะหรือทางส่วนบุคคล จึงเป็นความบกพร่องของจำเลยทั้งสามเองเพราะตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ระบุคำเตือนผู้ซื้อไว้แล้วว่าเรื่องเขตเนื้อที่ ประเภทและสภาพของทรัพย์ เป็นหน้าที่ผู้ซื้อที่จะต้องไปตรวจสอบสถานที่ด้วยตนเอง จำเลยทั้งสามจึงยกเรื่องดังกล่าวมากล่าวอ้างว่า เข้าซื้อทรัพย์โดยถูกกลฉ้อฉลทำให้สำคัญผิดในสาระสำคัญของทรัพย์หาได้ไม่ และการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีระบุรายละเอียดในประกาศไม่ถูกต้องทั้งหมด ก็ไม่ถึงขนาดที่ทำให้ผู้ซื้อทรัพย์ประมูลซื้อในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริง เพราะก่อนซื้อจำเลยทั้งสามได้ตรวจสอบทำเล สภาพและสถานที่ตั้งแล้ว พยานหลักฐานจำเลยทั้งสามฟังไม่ได้ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีใช้กลฉ้อฉลผู้ซื้อ
ป.พ.พ. มาตรา 514 บัญญัติให้ผู้สู้ราคาในการขายทอดตลาดย่อมพ้นความผูกพันในราคาที่ตนสู้แต่ขณะเมื่อมีผู้อื่นสู้ราคาสูงขึ้น หรือมีการถอนทรัพย์สินรายนั้นจากการขายทอดตลาด ผู้สู้ราคาก็พ้นความผูกพันแต่ขณะที่ถอนนั้นดุจกัน แต่กรณีของจำเลยทั้งสามเป็นเรื่องที่สู้ราคาสูงสุดและเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินได้จากการขายทอดตลาดแล้วไม่ชำระราคา จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 514 เจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์ออกขายทอดตลาดอีกครั้งหนึ่งได้ราคา 10,500,000 บาท ซึ่งไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ไม่ครบ จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้สู้ราคาเดิมต้องรับผิดในส่วนที่ขาด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 และสัญญาซื้อขายจำเลยทั้งสามจึงต้องชำระเงินส่วนที่ขาด 1,650,000 บาท แก่โจทก์ สัญญาซื้อขายระบุชัดว่า ขอวางเงินมัดจำไว้ 50,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระภายใน 15 วัน เงินจำนวนนี้จึงเป็นเงินมัดจำ เมื่อจำเลยทั้งสามไม่ชำระราคาภายในกำหนด จำเลยทั้งสามจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา เจ้าพนักงานบังคับคดีมีสิทธิริบเงินดังกล่าว เมื่อริบเงินดังกล่าวแล้วย่อมไม่สามารถนำมาหักจากเงิน 1,650,000 บาท ที่จำเลยทั้งสามต้องชำระแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7546/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัย กรณีคดีเกี่ยวกับยาเสพติด จำเลยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการฎีกาตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด
การที่จำเลยถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ซึ่งศาลลงโทษทั้งจำคุกและปรับแต่จำเลยไม่ชำระค่าปรับเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงยึดที่ดินของจำเลยหรือขายชำระค่าปรับ จำเลย ยื่นคำร้องขอให้ถอนการยึดที่ดินของจำเลยที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เพื่อใช้ค่าปรับ แม้จำเลยอ้างว่าโจทก์ยังบังคับคดีไม่ได้เพราะจำเลยได้รับประโยชน์จาก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554 ก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีที่ขอให้ศาลไม่บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้ เมื่อจำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6902/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความผิดร่วมกันในคดีอาญา แม้มีการแยกฟ้องเป็นหลายคดี ศาลจะพิจารณาจากพยานหลักฐานเฉพาะของแต่ละจำเลย
บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 213 เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาจะใช้อำนาจพิพากษากลับหรือแก้คำพิพากษาศาลล่างไม่ลงโทษหรือลดโทษให้จำเลยตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้อุทธรณ์หรือฎีกามิให้ต้องถูกรับโทษหรือได้ลดโทษเช่นเดียวกับจำเลยผู้อุทธรณ์หรือฎีกา แต่กรณีที่ผู้ร่วมกระทำความผิดถูกแยกฟ้องเป็นหลายคดีเช่นนี้ การที่พยานหลักฐานของโจทก์เพียงพอจะรับฟังลงโทษจำเลยคนใดที่ร่วมกระทำความผิดได้หรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยแต่ละคนเป็นการเฉพาะตัวเป็นราย ๆ ไปเฉพาะคดีนั้น ๆ ซึ่งพยานหลักฐานของโจทก์อาจพาดพิงถึงจำเลยแต่ละคดีมากน้อยต่างกันตามข้อเท็จจริงจากทางนำสืบเป็นรายคดี ไม่เป็นเหตุอยู่ในลักษณะคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6856/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษปรับในความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร: การตีความบทบัญญัติและขอบเขตการลงโทษปรับต่อความผิด
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ กำหนดให้ลงโทษปรับแก่ผู้กระทำความผิดเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ซึ่งแม้มาตรา 27 ทวิ จะมิได้บัญญัติความเจาะจงลงไปว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเช่นเดียวกับ มาตรา 27 ก็ตาม แต่มาตรา 27 ทวิ เป็นบทบัญญัติต่อท้ายและเป็นความผิดต่อเนื่องจากมาตรา 27 ดังนั้น ในเรื่องโทษนี้ก็ย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ นั่นเอง ไม่ใช่ให้ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคลคนละเท่า ๆ กัน ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเรียงตัวคนละสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว จึงเป็นการปรับจำเลยทั้งสองสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ เกินกว่าสี่เท่า ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติมาตราดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6336/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราโดยใช้สิ่งอื่นใดกับอวัยวะเพศเด็กชาย: ศาลฎีกาวินิจฉัยความผิดฐานกระทำชำเรา
การกระทำของจำเลยที่ใช้ปากอมอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 3 จากนั้นจับอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 3 ใส่เข้าไปในทวารหนักของจำเลยถือได้ว่าเป็นการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 3 ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกระทำชำเรา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5868/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งสำเนาอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ส่งผลให้การพิจารณาคดีไม่ชอบ
การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยอุทธรณ์เป็นปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง อันมีมาตรา 198 บัญญัติว่า การยื่นอุทธรณ์ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น มาตรา 200 บัญญัติว่า ให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์ และมาตรา 201 บัญญัติว่า เมื่อศาลส่งสำเนาอุทธรณ์แก่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้เพราะหาตัวไม่พบ หรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ หรือได้รับแก้อุทธรณ์แล้ว หรือพ้นกำหนดแก้อุทธรณ์แล้ว ให้ศาลรีบส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อทำการพิจารณาพิพากษาต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่าการส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยนั้น พนักงานเดินหมายได้นำสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ไปส่งให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยซึ่งตรงตามภูมิลำเนาของจำเลยในคำฟ้องแต่ปรากฏจากรายงานการเดินหมายว่าไม่สามารถส่งหมายให้แก่จำเลยได้เนื่องจากไม่พบบ้านของจำเลย ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ปิดประกาศหน้าศาล กรณีเป็นเรื่องศาลชั้นต้นส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยไม่ได้เพราะหาตัวไม่พบ แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ปิดประกาศหน้าศาลก็เป็นคำสั่งที่เกินเลยไม่เป็นผลให้การส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยเป็นไปโดยชอบ โดยปรากฏต่อมาว่าพนักงานเดินหมายนำหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไปส่งให้แก่จำเลยกลับปรากฏจากรายงานเจ้าหน้าที่ว่าพบบ้านของจำเลยตามภูมิลำเนาที่ปรากฏในฟ้องและส่งได้โดยมีผู้รับหมายนัดไว้แทน ดังนั้น การส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยไม่ได้เนื่องจากหาบ้านของจำเลยไม่พบดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเพราะหาตัวจำเลยไม่พบ หรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 201 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาคดีโดยมิได้มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยเพื่อแก้นั้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 200

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5644/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง: เสนอผลประโยชน์-ใส่ร้ายคู่แข่งเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จำเลยซึ่งเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านพรุ และ ส. ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านพรุ เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีตำบลบ้านพรุ จำเลยได้ปราศรัยหาเสียงว่า "จะตั้งทนายประจำทีมและจะดำเนินการช่วยเหลือโดยการประกันตัวให้กับทุกคนตลอด 24 ชั่วโมง" คำปราศรัยของจำเลยมุ่งประสงค์จะช่วยเหลือในการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการหรือศาล เพื่อให้ประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งถูกควบคุมหรือขังได้รับการปล่อยชั่วคราว นอกจากที่ตามปกติผู้ขอประกันจะต้องนำหลักทรัพย์ ซึ่งอาจต้องเสียเงินเช่าหลักทรัพย์หรือจัดซื้อกรมธรรม์ประกันอิสรภาพ ดังนั้น การเสนอว่าจะใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีตำบลบ้านพรุหรือตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีตำบลบ้านพรุและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านพรุซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับจำเลยเป็นหลักประกันในการยื่นคำร้องปล่อยชั่วคราว ทั้งที่มิใช่งานในหน้าที่ตามกฎหมายของนายกเทศมนตรี จึงมีลักษณะเป็นการเสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใดเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลย หาใช่เป็นเพียงนโยบายของกลุ่มของจำเลยที่จะให้คำปรึกษาทางกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 57 (1) แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 การปราศรัยหาเสียงของจำเลยว่า "นายกมีหน้าที่อะไร มีหน้าที่อย่าให้ใครมาซื้อซองเพราะซื้อซองฮั้วไม่ได้ ซอย 5 บ้านคลองปอมไม่ได้ทำเพราะไม่มีฮั้ว" คำปราศรัยของจำเลยเป็นการมุ่งประสงค์ให้ผู้ฟังเข้าใจว่า นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านพรุ แม้จะไม่ได้ระบุชื่อ แต่พอเข้าใจได้ว่าคือ ส. ผู้สมัครรับเลือกตั้งแข่งกับจำเลย ไม่ดำเนินการให้มีการก่อสร้างถนนมุสลิมซอย 5 บ้านคลองปอม เพราะไม่มีการฮั้ว มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต จึงมีลักษณะเป็นการใส่ร้ายหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในเรื่องการประมูลก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กถนนมุสลิม ซอย 5 เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลย อันเป็นความผิดตามมาตรา 57 (5) แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 และการปราศรัยของจำเลยที่ว่า "เรื่องส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรม ถ้าผมได้จัดงานมั่นใจไหมครับ ถ้าผมจัดงานหรอยไม่หรอย (ดีไม่ดี) ชัวร์ไหมครับ เวทีผมไม่คิดเบี้ยเลย (ไม่คิดเงินเลย) ถ้าผมไปจัดงานให้ถ้ามีโอกาสก็จะจัดให้อลังการ 5 วัน 5 คืน 10 วัน 10 คืน โดยที่ทางวัดไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายไหร (อะไร) เลย" คำปราศรัยของจำเลยมีความหมายว่า จำเลยซึ่งมีอาชีพในการจัดเวทีและเครื่องเสียง ถ้าจำเลยเป็นผู้จัดงานส่งเสริมประเพณีและวัฒนธรรม จำเลยจะจัดงานให้ยิ่งใหญ่ โดยจำเลยไม่คิดค่าเวที จึงเป็นการเสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ให้แก่วัดที่เป็นเจ้าภาพจัดงานส่งเสริมประเพณีและวัฒนธรรม เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5585/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อไม่ใช่การอำพรางการกู้เงิน แม้ผู้เช่าซื้อต้องการเงินสด
ส. และ ว. ตกลงทำสัญญาเช่าซื้อและรับสร้อยคอทองคำรูปพรรณด้วยความสมัครใจ แม้ความประสงค์เดิมของ ส. และ ว. คือต้องการกู้ยืมเงิน แต่เมื่อ ส. และ ว. ยินยอมทำสัญญาเช่าซื้อซึ่งเป็นวิธีทางการค้าของบริษัท จ. ย่อมถือว่า ส. และ ว. เปลี่ยนเจตนาเดิมที่ต้องการกู้ยืมเงินมายินยอมผูกพันตนตามสัญญาเช่าซื้อโดยสมัครใจ นอกจากนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ส. และ ว. ต่างนำสร้อยคอทองคำรูปพรรณไปขายได้เงินไม่เท่ากัน ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่ทราบล่วงหน้าว่า ส. และ ว. จะขายสร้อยคอทองคำรูปพรรณหรือไม่ หรือหากขายจะได้เงินเพียงใด พฤติการณ์จึงฟังได้เพียงว่า จำเลยทั้งสองชักจูง ส. และ ว. ทำสัญญาเช่าซื้อสร้อยคอทองคำรูปพรรณจริง เพราะหากเป็นการให้กู้ยืมย่อมต้องทราบจำนวนเงินกู้ยืมที่แน่นอนขณะทำสัญญา นอกจากนี้หากจำเลยทั้งสองต้องการทำสัญญาเช่าซื้อเพื่ออำพรางการกู้เงิน ก็ย่อมสามารถมอบเงินกู้ให้ ส. และ ว. ได้ทันที โดยไม่จำต้องส่งมอบสร้อยคอทองคำรูปพรรณให้ ส. และ ว. เพื่อนำไปขายอีก พฤติการณ์แห่งคดีไม่อาจฟังว่าจำเลยทั้งสองร่วมกับพวกให้กู้เงินโดยทำสัญญาเช่าซื้ออันเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้เงินเพื่อเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5111/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดประกอบวิชาชีพเวชกรรมและสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และความผิดฐานขายยา
จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบโรคศิลปะ สาขาเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตมีเจตนาบำบัดรักษาโรคให้แก่ น. ผู้ทำแท้ง เพื่อแสวงหาผลประโยชน์เป็นเงินค่ายาและค่าบริการทำแท้งจาก น. การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาตมีเจตนาจัดสถานที่เพื่อการตรวจรักษาโรคโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาตมีเจตนาเพื่อขายยาแผนปัจจุบัน และร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันจำพวกแอนติโปรเจสเตอโรนที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยามีเจตนาขายยาแผนปัจจุบันที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา การกระทำของจำเลยทั้งสองในความผิดทั้งสี่ฐานนี้ จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาแยกต่างหากจากกัน มิได้มีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลที่จะขายยาให้แก่ น. การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม การร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาตกับการร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันจำพวกแอนติโปรเจสเตอโรนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยานั้น ปรากฏว่ายาแผนปัจจุบันจำพวกแอนติโปรเจสเตอโรนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาเป็นจำนวนเดียวกันยาแผนปัจจุบันที่จำเลยทั้งสองร่วมกันขายโดยไม่ได้รับใบอนุญาต การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมีเจตนาเดียวกัน การกระทำความผิดฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันจำพวกแอนติโปรเจสเตอโรนที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา จึงเป็นกรรมเดียวกัน ซึ่งต้องลงโทษบทหนักฐานร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดรวมสามกรรม
of 20