พบผลลัพธ์ทั้งหมด 192 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5025/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิจารณาคดีถึงที่สุดหลังศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ กรณีคำฟ้องอุทธรณ์ไม่ชอบ
การที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 215 ประกอบมาตรา 158 (7) การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีมาจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกอุทธรณ์ฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นกรณีศาลฎีกาได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 แล้ว แม้จะไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาก็ตาม แต่ก็เป็นการวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ในปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายอันศาลฎีกาจะพึงรับวินิจฉัยหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟังเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 คดีของจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุดในวันดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4395/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คดีอาญาขาดอายุความไม่กระทบอำนาจฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่อง และคำฟ้องไม่เคลือบคลุม
ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้คดีอาญายังไม่ขาดอายุความ แต่เมื่อศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องมีคำสั่งว่าคดีมีมูล หมายเรียกจำเลยแก้คดี และได้ตัวจำเลยมาพิจารณา ปรากฏว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ในกรณีเช่นนี้ แม้คดีขาดอายุความจะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ก็ตาม แต่ก็หามีผลกระทบต่ออำนาจฟ้องคดีส่วนแพ่งของโจทก์ไม่ คดีส่วนแพ่งจึงยังต้องดำเนินคดีต่อไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องคดีส่วนอาญาแล้วพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งต่อไปนั้นจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4283/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การสอบสวนที่ไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
ตามหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มีหลักการว่า ผู้เสพยาเสพติดมีสภาพเป็นผู้ป่วยอย่างหนึ่ง มิใช่อาชญากรปกติ พระราชบัญญัติฉบับนี้จึงกำหนดให้มีกระบวนการคัดแยกผู้เสพยาเสพติดไปดำเนินการฟื้นฟูสมรรถภาพแทนการที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนสรุปสำนวนเสนอพนักงานอัยการฟ้องศาลเพื่อลงโทษผู้นั้นเหมือนอย่างผู้กระทำความผิดอื่น ๆ และเมื่อผู้เสพยาเสพติดได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพจนครบถ้วนตามที่กำหนดในแผนฟื้นฟูสมรรถภาพ และผลการฟื้นฟูสมรรถภาพเป็นที่พอใจของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพแล้ว มาตรา 33 บัญญัติว่า "...ให้ถือว่าผู้นั้นพ้นจากความผิดที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 19 และให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพมีคำสั่งปล่อยตัวผู้นั้นไป..." แต่ถ้าผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพยังไม่เป็นที่พอใจ มาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีผู้นั้นต่อไป โดยมีมาตรา 19 กำหนดหลักเกณฑ์ผู้ซึ่งจะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดว่า ต้องเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด จึงเห็นได้ว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ได้บังคับให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นบุคคลที่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ไปศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เพื่อดำเนินการต่อไปตามมาตรา 22 โดยให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพได้ตรวจวินิจฉัย ขั้นตอนดังกล่าวจึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่พนักงานสอบสวนต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง แต่ความปรากฏตามฎีกาของโจทก์โดยจำเลยไม่ได้แก้ฎีกาให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งส่งตัวผู้ต้องหาไปควบคุมเพื่อการตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าพฤติการณ์เป็นภัยร้ายแรง ไม่อนุญาต ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติว่า คดีนี้ไม่ได้มีการส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดเพื่อให้จำเลยได้รับประโยชน์ในการที่จะได้รับการพิจารณาเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 เท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนคดีนี้มาก่อนย่อมส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3865/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การสอบถามการรับสารภาพฐานความผิด: จำเป็นต้องระบุฐานความผิดที่จำเลยรับสารภาพเพื่อความถูกต้องของกระบวนการยุติธรรม
คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องคดีโจทก์ไว้พิจารณา ศาลชั้นต้นมีหน้าที่อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังและถามว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้างตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรฐานใดฐานหนึ่ง ศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นก็ต้องสอบถามด้วยว่าจำเลยจะให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยในฐานความผิดนั้น แต่ศาลชั้นต้นมิได้สอบถามให้ชัดแจ้งกลับพิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยให้การรับสารภาพในฐานความผิดดังกล่าว การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงไม่ชอบ และมีผลให้กระบวนพิจารณาถัดมาตลอดจนคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงไม่ชอบไปด้วย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่สอบคำให้การจำเลยใหม่ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่สอบคำให้การจำเลยใหม่ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องคดีอาญา: กลุ่มออมทรัพย์มิได้จดทะเบียน ไม่เป็นนิติบุคคล/บุคคลธรรมดา จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ผู้เป็นคู่ความในคดีต้องเป็นบุคคลซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 บัญญัติให้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล ได้แก่ (1) พนักงานอัยการ (2) ผู้เสียหาย และคำว่าบุคคลนั้น ตาม ป.พ.พ. ได้แก่ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์มีวัตถุประสงค์เก็บรวบรวมเงินจากสมาชิก และให้สมาชิกกู้ยืมจากกลุ่มออมทรัพย์ อันมีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ เมื่อมิได้จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1015 โจทก์จึงไม่เป็นนิติบุคคล และตามคำฟ้องที่ระบุว่าคณะกรรมการและสมาชิก โจทก์มีมติให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว โจทก์ย่อมมิใช่บุคคลธรรมดาเช่นกัน ไม่อาจเป็นคู่ความในคดีนี้ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องทั้งในคดีส่วนอาญา และคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2799/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการฎีกาในคดียาเสพติดตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด
ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยและริบรถจักรยานยนต์ของกลางในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าเป็นเจ้าของรถและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ขอให้คืนรถจักรยานยนต์ตาม ป.อ. มาตรา 36 ดังนี้ แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายอาญาก็ตาม แต่ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ศาลลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 คดีนี้จึงเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คู่ความอาจฎีกาได้โดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาเพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกคำร้อง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุด การที่ผู้ร้องยื่นฎีกาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 769/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาไม่รับเนื่องจากไม่ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาพร้อมฎีกาภายในกำหนดตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด
คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เป็นที่สุด แต่คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้ตามมาตรา 19 คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ฟังเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2554 และโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา ซึ่งศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ยื่นฎีกาได้ถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2554 แม้โจทก์จะยื่นฎีกาภายในกำหนดเวลา แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาอนุญาตพร้อมกับฎีกา โดยยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 จึงเกินกำหนดหนึ่งเดือนเป็นการไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 336/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การหักวันต้องขังซ้ำซ้อนในคดีอาญาต่อเนื่อง: โทษจำคุกเริ่มนับจากคดีอื่น ไม่ใช่จากวันมีคำพิพากษา
ป.อ. มาตรา 22 วรรคแรก เป็นบทบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการบังคับโทษจำคุกจำเลยว่าให้เริ่มนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา โดยมีข้อยกเว้นในกรณีที่ศาลจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น ซึ่งการที่ศาลมีคำพิพากษาให้นับโทษจำคุกจำเลยติดต่อกับโทษในคดีอาญาอื่น ย่อมมีความหมายว่าคำพิพากษาได้กล่าวถึงเวลาเริ่มการบังคับโทษจำคุกไว้เป็นอย่างอื่น โดยไม่ให้เริ่มนับแต่วันมีคำพิพากษาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดข้างต้นดังกล่าว การเริ่มนับโทษจำคุกจำเลยจึงต้องเริ่มนับโทษจำคุกเมื่อจำเลยได้รับโทษจำคุกในคดีอาญาอื่นครบถ้วนแล้ว หากนำวันที่จำเลยถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกามาหักจากโทษจำคุกของจำเลยอีก ย่อมเป็นการหักวันถูกคุมขังซ้อนกันกับวันถูกคุมขังในคดีอาญาดังกล่าวอันเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21814/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิการเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญา: ผู้ตายมีส่วนก่อเหตุย่อมไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยฆ่า น. ผู้ตาย โดยบันดาลโทสะ ผู้ตายจึงมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดทางอาญาด้วย ดังนั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ถือว่าผู้ตายมิใช่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบิดาและมารดาผู้ตายจึงไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์เดิมได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ บ. และ อ. เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ดังนี้ บ. และ อ. จึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์และฎีกาด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21553/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับค่าปรับ: ศาลมีอำนาจกักขังแทนค่าปรับได้ แม้มีการยึดทรัพย์สินไปก่อน และจำกัดระยะเวลาได้ 1 ปี
ป.อ. มาตรา 29 กำหนดวิธีการบังคับค่าปรับไว้ 2 วิธี เพื่อให้ศาลเลือกใช้ได้ตามสมควรแก่รูปคดี มิใช่ให้ศาลเลือกใช้วิธีการบังคับได้เพียงวิธีการใดวิธีการหนึ่งเท่านั้น ดังนี้ แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระค่าปรับรายวันแล้วก็ตาม ศาลชั้นต้นย่อมมีคำสั่งกักขังจำเลยแทนค่าปรับได้
ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับจำเลยโดยกำหนดว่า หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 แต่มิได้ระบุว่าให้กักขังเกิน 1 ปี หรือไม่ มีกำหนดเท่าใด ถือเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้สั่งให้กักขังจำเลยไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น หากจะกักขังจำเลยแทนค่าปรับก็กักขังได้เพียง 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 30 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้กักขังจำเลยแทนค่าปรับเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับจำเลยโดยกำหนดว่า หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 แต่มิได้ระบุว่าให้กักขังเกิน 1 ปี หรือไม่ มีกำหนดเท่าใด ถือเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้สั่งให้กักขังจำเลยไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น หากจะกักขังจำเลยแทนค่าปรับก็กักขังได้เพียง 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 30 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้กักขังจำเลยแทนค่าปรับเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225