คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อดิศักดิ์ ปัตรวลี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 192 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21103/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทรัพย์สินที่ได้จากการค้ายาเสพติด แม้ผู้คัดค้านอ้างรายได้จากอาชีพอื่น ศาลพิพากษายืนริบทรัพย์สิน
ผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ระหว่างพิจารณาคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน มีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จำนวน 6 รายการ โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริตเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษผู้คัดค้านที่ 2 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ยกฟ้องผู้คัดค้านที่ 2 พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคสอง บัญญัติว่า "เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ถ้าปรากฏหลักฐานว่าจำเลยหรือผู้ถูกตรวจสอบเป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาเงินหรือทรัพย์สินที่ผู้นั้นมีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริตเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" ดังนั้น ทรัพย์สินตามคำร้องต้องด้วยข้อสันนิษฐานของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวว่า เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จึงมีภาระในการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว มาตรา 29 (1) (2) ว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือได้ทรัพย์สินมาโดยสุจริต ทางนำสืบของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้ความว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 มีรายได้จากการประกอบอาชีพขายมีด ถ่าน และไม้กวาด สัปดาห์ละ 4 วัน ผู้คัดค้านที่ 1 มีรายได้จากการขับรถจักรยานยนต์รับจ้างสัปดาห์ละ 3 วัน รายได้จากการรับจ้างบรรทุกศพไม่แน่นอนแล้วแต่จะมีผู้ว่าจ้างไม่น่าเชื่อว่าในแต่ละเดือนจะมีเงินฝากในบัญชีแต่ละบัญชีจำนวนมาก บางเดือนมีเงินเข้าฝากหลายครั้ง และตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย ร.16 และ ร.17 ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ให้การรับว่าเงินดังกล่าวได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 ให้การด้วยว่ารู้เห็นเกี่ยวกับพฤติการณ์การจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของผู้คัดค้านที่ 1 แม้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องผู้คัดค้านที่ 2 แต่ได้ความว่าผู้คัดค้านที่ 2 ทราบว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของผู้คัดค้านที่ 1 มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับพฤติการณ์การจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของผู้คัดค้านที่ 1 ทรัพย์สินทั้ง 6 รายการ จึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 มีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริต เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้คัดค้านที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20333/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยร่วมเสนอราคาโดยทราบปัญหาพื้นที่ก่อสร้างแล้ว ต้องผูกพันตามสัญญา แม้จะยังไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียด
ตามข้อกำหนดในการยื่นซองประกวดราคา โจทก์ได้ให้ผู้เสนอราคาตรวจสอบสถานที่ที่จะใช้ในการก่อสร้างก่อนการเสนอราคา ก่อนยื่นซองประกวดราคาจำเลยร่วมส่งพนักงานไปดูพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้าง แสดงว่าก่อนที่จำเลยร่วมจะยื่นซองประกวดราคาย่อมทราบดีอยู่ก่อนแล้วว่าการก่อสร้างอาจจะมีปัญหากับเจ้าของที่ดินข้างเคียงได้ แต่ก็ยังสมัครใจและตกลงเข้าเสนอราคาในการประกวดราคากับโจทก์จึงต้องผูกพันในอันที่จะต้องเข้าทำสัญญากับโจทก์ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งตามข้อกำหนดการประกวดราคา ไม่อาจยกเอาเหตุที่จะต้องจัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างโจทก์ จำเลยร่วม และเจ้าของที่ดินข้างเคียงมาอ้างเป็นเหตุที่จะปฏิเสธไม่ทำสัญญา ส่วนที่จำเลยร่วมฎีกาว่า ในการตรวจสอบพื้นที่เป็นเพียงการตรวจสอบโดยทั่วไปเพื่อเสนอราคาก่อสร้างเท่านั้น มิได้ตรวจสอบอย่างละเอียดจึงยังไม่ทราบถึงผลกระทบที่จะมีต่อที่ดินแปลงข้างเคียงนั้น ก็เป็นเรื่องที่จำเลยร่วมบกพร่องหรือละเลยไม่ตรวจสอบให้ละเอียดเอง จึงไม่อาจนำมาเป็นเหตุอ้างเพื่อจะไม่ต้องผูกพันตามข้อกำหนดการประกวดราคา และที่จำเลยร่วมฎีกาว่า โจทก์ต้องดำเนินการบอกเลิกสัญญาก่อนจึงจะใช้สิทธิในการริบเงินประกันของจำเลยร่วมนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยร่วมไม่เข้าทำสัญญากับโจทก์ตามข้อกำหนดการประกวดราคา จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดต่อโจทก์อันเป็นความรับผิดตามข้อกำหนดก่อนสัญญา โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดกับจำเลยตามข้อกำหนดดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18180/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความความผิด พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา: การกระทำความผิดสำเร็จเมื่อให้กู้ ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง
ความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) เป็นความผิดเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วตั้งแต่ผู้ให้กู้ให้กู้เงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด การชำระดอกเบี้ยต่อเนื่องกันมาเป็นผลของการกระทำความผิดเท่านั้น ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันให้โจทก์ร่วมกู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2541 และโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2547 เกินกว่า 5 ปี นับแต่วันกระทำความผิด คดีจึงเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16426/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ประกันร่วม กรณีผิดสัญญาประกันตัว และการบังคับคดีตามสัญญา
การที่ผู้ประกันทั้งสองร่วมกันยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว และที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวก็เพราะเห็นว่าหากผู้ประกันทั้งสองผิดสัญญาประกันหลักทรัพย์ของผู้ประกันทั้งสองรวมกันแล้วเป็นเงินจำนวนเพียงพอที่จะบังคับเอาชำระหนี้ได้ตามสัญญา มิได้แยกให้ผู้ประกันทั้งสองแต่ละคนรับผิดภายในวงเงินที่ระบุราคาทรัพย์หรือราคาประกันเท่านั้น ทั้งสัญญาประกันดังกล่าวก็ระบุให้ศาลมีอำนาจบังคับผู้ประกันให้ใช้เบี้ยปรับเต็มตามจำนวนในสัญญา ดังนี้ ผู้ประกันที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดตามสัญญากับผู้ประกันที่ 2 อย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อผู้ประกันทั้งสองยังชำระเบี้ยปรับไม่ครบถ้วน ผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาลจังหวัดจันทบุรีในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคสอง ก็มีอำนาจอายัดทรัพย์ของผู้ประกันที่ 1 เพื่อชำระหนี้ตามสัญญาให้ครบถ้วนได้ ข้อสัญญาที่ให้อำนาจศาลในการบังคับตามสัญญาประกัน จึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด
แม้มีการแก้ไข ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคสอง ให้ถือเสมือนว่าผู้ประกันที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ก็เป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีดังที่บัญญัติไว้ในตอนต้นของมาตราดังกล่าวเท่านั้น มิได้ทำให้ความรับผิดของผู้ประกันที่ 1 ตามสัญญาประกันในฐานะลูกหนี้ร่วมหมดสิ้นไปแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16150/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีละเมิดของเจ้าหน้าที่: ผู้เสียหายต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐ ไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่โดยตรง
จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 จำเลยที่ 1 จึงเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ทำงานประจำอยู่ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดระนอง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดระนอง จำเลยที่ 3 เป็นผู้ช่วยหัวหน้าแผนกฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษา จำเลยที่ 4 เป็นผู้ช่วยหัวหน้าแผนกบริหารพัสดุ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ย่อมเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เมื่อปรากฏว่าทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 สูญหายและตรวจพบว่าที่ร้านของโจทก์มีทรัพย์สินลักษณะเดียวกับของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นำเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดทรัพย์สินดังกล่าวโดยมีหมายค้นของศาล ทั้งมิได้กระทำเพื่อประโยชน์อันเป็นการเฉพาะตัว ย่อมเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 แล้ว แม้โจทก์อ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อโจทก์ แต่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 มีเจตนารมณ์ให้ผู้เสียหายฟ้องหน่วยงานของรัฐโดยตรง จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ เพื่อมิให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่และยังเป็นการบั่นทอนขวัญและกำลังใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ อันเป็นบทยกเว้นหลักกฎหมายเอกชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีไม่อาจนำหลักความรับผิดของผู้กระทำละเมิดและเรื่องความรับผิดของนายจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 425 มาใช้บังคับกับคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11408/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดของผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันที่ระบุวงเงินค้ำประกันและหลักประกัน
สัญญาค้ำประกันมีข้อความระบุว่า โจทก์ตกลงค้ำประกันการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจริงของสินเชื่อส่วนที่ขาดหลักประกันตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2539 ในวงเงินทั้งสิ้นไม่เกิน 460,000 บาท การค้ำประกันสินเชื่อดังกล่าวหากผู้กู้เบิกใช้ไม่เต็มวงเงินตามสัญญาจนเป็นเหตุให้ไม่มีสินเชื่อส่วนที่ขาดหลักประกัน หรือสินเชื่อส่วนที่ขาดหลักประกันลดลง ให้ถือว่าหนังสือค้ำประกันนี้เป็นอันสิ้นผลโดยทันที หรือให้ถือว่าวงเงินค้ำประกันตามวรรคแรกลดลงตามส่วนตามแต่กรณีไป ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจำนวน 1,000,000 บาท และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกันไว้จำนวน 540,000 บาท ชำระต้นเงินไปแล้วจำนวน 350,000 บาท คงเหลือต้นเงินจำนวน 650,000 บาท สินเชื่อส่วนที่ขาดหลักประกันย่อมลดลงตามส่วนจากยอดต้นเงินคงเหลือจำนวน 650,000 บาท โดยนำหลักประกันที่จดทะเบียนจำนองไว้จำนวน 540,000 บาท มาหักออกจากยอดต้นเงินคงเหลือตามที่สัญญาค้ำประกันระบุไว้เป็นหนี้ที่โจทก์ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเป็นเงินจำนวน 110,000 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิมาไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่ 1 ได้ตามจำนวนหนี้ที่สัญญาค้ำประกันกำหนดไว้เป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 110,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาค้ำประกันเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9697/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด: รถยนต์และโทรศัพท์มือถือ
แม้ผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งถูกฟ้องเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 จะถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แต่คดีนี้ เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30 ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำคัดค้านว่า รถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน บก 9142 ปัตตานี โทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโมโตโรล่าหมายเลข 0 9736 2023 เป็นของผู้คัดค้านที่ 3 ไม่ได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และศาลชั้นต้นไต่สวนจนเสร็จสิ้นกระแสความ กับวินิจฉัยในประเด็นว่าทรัพย์สินดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่แล้ว จนกระทั่งคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา จึงมิใช่กรณีที่ไม่อาจดำเนินคดีต่อไปได้เพราะเหตุที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยถึงแก่ความตาย ย่อมไม่อาจนำพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 32 วรรคสอง มาใช้บังคับ ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิจารณาในส่วนของผู้คัดค้านที่ 3 ต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7955/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทเลินเล่อทางละเมิด: การพิจารณาความรับผิดชอบของผู้ขับขี่เมื่อเกิดอุบัติเหตุทางถนน
การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ต่างกระทำโดยประมาททั้งสองฝ่าย แต่โจทก์ที่ 2 มีสิทธิที่จะนำสืบและฎีกาได้ว่า เหตุนี้เกิดขึ้นเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 มากกว่า ซึ่งตามพฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนประมาทมากกว่าโจทก์ที่ 2 และแม้คดีนี้ฎีกาของโจทก์ที่ 1 จะต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อผลของคดีนี้ในชั้นฎีกาแตกต่างขัดกันกับในชั้นอุทธรณ์ จึงให้ถือตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่สูงกว่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146 จึงให้มีผลถึงโจทก์ที่ 1 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5998/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิง: จำเลยมีความผิดฐานปลอมปน แต่ไม่ถือเป็นผู้ขนส่งน้ำมันตามกฎหมาย
พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 4 บัญญัติความหมายของผู้ขนส่งน้ำมันไว้ว่า คือผู้ที่รับจ้างทำการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมิใช่เป็นของตนเองโดยใช้ยานพาหนะสำหรับการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉพาะ ทั้งมาตรา 12, 14 และ 15 ยังบัญญัติให้ผู้ขนส่งน้ำมันมีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อส่วนราชการอีกหลายประการ แสดงให้เห็นว่าผู้ขนส่งน้ำมันตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึงผู้ที่ประกอบกิจการขนส่งน้ำมันเท่านั้น เมื่อจำเลยเป็นเพียงพนักงานขับรถบรรทุกน้ำมันของบริษัท ต. ผู้ขายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ผู้เสียหาย จึงไม่ใช่ผู้ขนส่งน้ำมันตามความหมายของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวที่ต้องรับโทษหนักขึ้นในฐานเป็นผู้ขนส่งน้ำมันกระทำการปลอมปนตาม มาตรา 49 วรรคสอง คงมีความผิดตาม มาตรา 49 วรรคหนึ่ง เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5791/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมเกิดจากสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก แม้ไม่ได้จดทะเบียนก็มีผลผูกพันได้
ขณะรังวัดแบ่งแยกที่ดินและทำพินัยกรรม ท. มีเจตนาให้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกถนนสาธารณะสำหรับที่ดินอีก 3 แปลง และตามพฤติการณ์ที่ ท. พักรักษาตัวอยู่กับจำเลยก่อนถึงแก่ความตายและจำเลยอยู่ด้วยในขณะรังวัดแบ่งแยกที่ดินตลอดจนในขณะทำพินัยกรรมทั้งได้รับทราบเจตนาดังกล่าวของ ท. แล้ว ซึ่งต่อมาจำเลยก็ไม่เคยโต้แย้งการใช้ที่ดินพิพาทของโจทก์และบุคคลที่อาศัยอยู่ในห้องแถวมาโดยตลอด ย่อมเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยายว่า ท. กับจำเลยได้มีข้อตกลงกันก่อนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยตามพินัยกรรมว่าให้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินอีก 3 แปลง อันเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 60977 ตามพินัยกรรมและเข้าใช้ทางพิพาทอันเป็นการแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวแล้ว สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ย่อมเกิดมีขึ้นนับแต่นั้น อันเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทต้องยอมรับกรรมบางอย่างเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการก่อตั้งภาระจำยอม แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เป็นเพียงทำให้การได้มาซึ่งภาระจำยอมนั้นไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะหรือเสียเปล่าแต่อย่างใด ยังคงบังคับกันได้เป็นบุคคลสิทธิในระหว่างจำเลยซึ่งต้องผูกพันชำระหนี้ตามสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกกับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ โจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้ กรณีหาใช่เป็นการได้ภาระจำยอมโดยอายุความอันเป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 แม้โจทก์ใช้ที่ดินพิพาทไม่ถึงสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ก็ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้
of 20