พบผลลัพธ์ทั้งหมด 192 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3454-3455/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิครอบครองที่ดินจากการจัดสรรนิคมตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ ผู้ได้รับการจัดสรรมีสิทธิครอบครองชอบด้วยกฎหมาย
การครอบครองที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. 5) ของโจทก์เป็นการครอบครองโดยได้รับอนุญาตจากนิคมที่โจทก์เป็นสมาชิกอยู่ ซึ่งโจทก์จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติรวมทั้งระเบียบของนิคม หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามอาจถูกอธิบดีสั่งให้ออกจากนิคมได้ตามมาตรา 28 แสดงว่า นิคมได้รับมอบอำนาจตามกฎหมายจากรัฐให้จัดที่ดินให้แก่สมาชิกนิคม เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่ทางนิคมได้จัดสรรให้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ผู้ร้องทั้งสองมิใช่สมาชิกผู้ได้รับการจัดให้ที่ดินพิพาทไม่อาจยกเอาเรื่องสิทธิครอบครองโดยอ้างว่าผู้ร้องทั้งสองเข้าครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินพิพาทมาก่อนโดยโจทก์เป็นเพียงผู้ถือครองที่ดินพิพาทแทนผู้ร้องทั้งสอง และไม่เคยเข้าครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินพิพาท ขึ้นต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้สิทธิมาโดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามเงื่อนไขและวิธีการจัดสรรที่ดินของนิคม โดยผ่านกระบวนการพิจารณาต่าง ๆ จนกระทั่งได้รับสิทธิ ทั้งยังจะต้องถือครองและทำประโยชน์ตามที่กฎหมายระบุไว้อีกด้วย และฟังไม่ได้ว่า ผู้ร้องทั้งสองยินยอมให้โจทก์เป็นผู้ถือสิทธิในหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) แทนผู้ร้องทั้งสอง โดยโจทก์ไม่เคยเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามที่ผู้ร้องทั้งสองกล่าวอ้าง จึงฟังได้ว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3404/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจอุทธรณ์คดีเยาวชน: ผู้ร้องต้องเป็นคู่ความหรือผู้เสียหายเท่านั้น ศาลต้องยกคำร้องที่ไม่ชอบ
บุคคลที่มีอำนาจอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ของศาลต้องเป็นผู้เสียหาย หรือคู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดี ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (15) ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 คู่ความ หมายความถึง โจทก์ฝ่ายหนึ่งและจำเลยอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่า ผู้ร้องเป็นโจทก์หรือจำเลยคดีนี้ ทั้งศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า อ. ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีนี้ด้วยแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นคู่ความหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีนี้ และถือไม่ได้ว่า อ. เป็นคู่ความในคดีนี้ด้วย ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นมาตั้งแต่แรก ตลอดทั้งไม่มีอำนาจอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น และผู้ร้องในฐานะบิดาของ อ. ย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทน อ. ที่จะอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นได้เช่นกัน การที่ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาและวินิจฉัยในเนื้อหาของคำร้องจึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษฟังว่า ผู้ร้องมิใช่คู่ความและมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในคดี จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นและไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้อง จึงชอบแล้วและมีผลให้ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นฎีกาต่อมาได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษฟังว่า ผู้ร้องมิใช่คู่ความและมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในคดี ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษชอบที่จะยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาด้วย การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมิได้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง โดยให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับคำร้องของผู้ร้อง และยกฎีกาของผู้ร้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2124/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร และการกำหนดจำนวนค่าเลี้ยงดูตามฐานะทางการเงิน
จำเลยที่ 1 เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของ พ. ซึ่งจำต้องอุปการะเลี้ยงดู พ. ในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง บทกฎหมายดังกล่าวมิได้กำหนดระยะเวลาการจ่ายไว้ และไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงกำหนดระยะเวลาชำระไว้ตามมาตรา 1598/40 วรรคหนึ่ง ดังนั้นค่าอุปการะเลี้ยงดู พ. ขณะที่เป็นผู้เยาว์ที่โจทก์เรียกร้องในคดีนี้ โดยอาศัยบทบัญญัติ มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 193/33 (4) อันจะอยู่ในอายุความ 5 ปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1291/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลาง: ผู้ร้องไม่ได้รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดของจำเลย
แม้ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 24 ศาลเยาวชนและครอบครัวต้องมีผู้พิพากษาไม่น้อยกว่าสองคน และผู้พิพากษาสมทบอีกสองคน ซึ่งอย่างน้อยคนหนึ่งต้องเป็นสตรี จึงเป็นองค์คณะพิจารณาคดีได้.. ก็ตาม แต่การพิจารณาคดีของศาลเยาวชนและครอบครัวตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้นก็เป็นการพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 (1) ถึง (5) คดีนี้เดิมเป็นเรื่องที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดอาญา การดำเนินกระบวนพิจารณาที่เกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนจึงต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 เมื่อพิจารณาคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดเสร็จแล้ว ในหมวด 11 การพิพากษาคดีอาญา กำหนดให้มีการประชุมปรึกษาคดีเพื่อมีคำพิพากษาตามมาตรา 134 แสดงให้เห็นว่า การพิจารณาพิพากษาคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดต้องมีการประชุมปรึกษาและให้ถามความเห็นของผู้พิพากษาสมทบก่อนมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง แต่บทบาทของผู้พิพากษาสมทบในการร่วมนั่งพิจารณาคดีกับผู้พิพากษาเป็นการมุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมการกระทำความผิดของเด็กหรือเยาวชน รวมทั้งการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ เพื่อนำไปสู่การใช้วิธีการให้เหมาะสมแก่เด็กหรือเยาวชนที่กระทำความผิด ดังที่บทบัญญัติไว้ในหมวด 12 สำหรับคดีร้องขอคืนของกลางในคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด เป็นกรณีตาม ป.อ. มาตรา 36 แม้มีผลสืบเนื่องมาจากคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดอาญาก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงคดีสาขา เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยจำเลยหาได้เป็นคู่ความในคดีร้องขอคืนของกลางไม่ และปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องของผู้ร้องมีเพียงว่า ศาลจะสั่งคืนของกลางให้แก่เจ้าของซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของเด็กหรือเยาวชน (จำเลย) หรือไม่ เท่านั้น ไม่มีปัญหาที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นความผิด หรือต้องพิจารณาเกี่ยวกับการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนแต่อย่างใด และไม่ได้พิจารณาเนื้อหาของคดีที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาของเด็กหรือเยาวชนโดยตรง การพิจารณาพิพากษาคดีขอคืนของกลาง มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กหรือเยาวชน หรือมีผลกระทบต่อเด็กหรือเยาวชนไม่ว่าในทางใด แต่เป็นการมุ่งถึงตัวทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งริบเป็นสำคัญ จึงไม่มีเหตุที่จะต้องมีผู้พิพากษาสมทบร่วมเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง รวมทั้งไม่ต้องสอบถามความเห็นของผู้พิพากษาสมทบก่อนมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา 134 ด้วย เมื่อคดีนี้มีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นสองคนร่วมกันเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีร้องขอคืนของกลาง โดยไม่มีผู้พิพากษาสมทบร่วมเป็นองค์คณะ ก็เป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวง ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 965/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาหย่า: ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นสิทธิเฉพาะตัว หักกลบลบหนี้อื่นไม่ได้ แม้มีหนี้ครัวเรือนร่วมกัน
จำเลยได้เงินจากการออกจากงาน จำเลยย่อมสามารถนำมาชำระแก่โจทก์ตามสัญญาหย่าได้ แต่จำเลยก็หากระทำไม่ กลับอ้างลอย ๆ ว่านำไปชำระหนี้นอกระบบหมด จำเลยจะอ้างเอาเงินที่ได้ไปชำระหนี้ที่จำเลยอ้างว่านอกระบบ ซึ่งหมายความว่าไม่มีมูลที่จะเรียกร้องตามกฎหมายมามีเหตุผลเหนือกว่าการชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาหย่าที่จำเลยมีตามสัญญาที่ตนกระทำอันเป็นหนี้ตามหน้าที่ศีลธรรมอันดีในฐานะบิดาที่จะต้องดูแลบุตรผู้เยาว์หาได้ไม่ ส่วนหนี้ครัวเรือนที่จำเลยอ้างว่าโจทก์มีส่วนรับผิดนั้น เห็นว่า ตามสัญญาหย่ามีข้อตกลงชัดเจนที่จำเลยจะชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าเกี่ยวกับการศึกษาบุตร มีลักษณะเป็นการตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทที่จะมีต่อกันในการจัดการทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง หากจำเลยมีข้ออ้างว่าโจทก์กับจำเลยมีหนี้ร่วมกันจริง ก็ควรมีการยกขึ้นพิจารณาระหว่างโจทก์กับจำเลยก่อนที่จะมีข้อตกลงเกี่ยวกับภาระผูกพันที่จำเลยจะรับผิดต่อโจทก์ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสัญญาหย่าว่าจำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์โดยระบุว่า หนี้สินไม่ประสงค์ให้มีการบันทึก จึงต้องถือว่า หนี้สินระหว่างจำเลยกับโจทก์ ไม่ว่าจะมีหรือไม่ เป็นเรื่องที่ไม่กระทบต่อข้อตกลงที่จำเลยมีต่อโจทก์ตามสัญญาหย่า ทั้งสิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูถือเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนหรือสละได้ คดีนี้โจทก์ทำข้อตกลงกับจำเลยเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นมารดากระทำการแทนบุตรผู้เยาว์ สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจึงยังเป็นของบุตรผู้เยาว์ จำเลยไม่อาจนำมาอ้างขอหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่โจทก์มีต่อจำเลยได้ ดังนั้นจำเลยจะมาหยิบยกภาระหนี้ดังกล่าวมาอ้างเพื่อขอหักกลบลบหนี้ที่ตนมีต่อโจทก์หาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 964/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องเรียกค่าทดแทนจากภรรยาอีกคนเนื่องจากแสดงตนมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามี
คำฟ้องโจทก์ขอเรียกค่าทดแทนจากจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้" จากพฤติการณ์ที่สามีโจทก์ไปพบจำเลยที่บ้านเช่าของจำเลยในช่วงเวลากลางคืนบ่อยครั้ง โดยขับรถมาเองหรือมาพร้อมกับจำเลยก็ตาม บางครั้งก็นอนพักค้างคืนที่บ้านจำเลยและกลับออกมาในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น อีกทั้งสามีโจทก์ยังมีกุญแจที่ใช้เปิดประตูเข้าออกบ้านจำเลยได้เอง แม้ในยามกลางดึกซึ่งเป็นเวลาที่จำเลยเข้านอนแล้วก็สามารถเข้าบ้านจำเลยโดยไม่ต้องรอให้จำเลยเปิดประตูบ้านให้ อันแสดงให้เห็นว่าจำเลยกับสามีโจทก์มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกันมากกว่าที่จะเป็นเพียงนายจ้างหรือลูกจ้างกันตามปกติธรรมดา การที่จำเลยเป็นหญิงที่แต่งงานมีสามีแล้ว ยินยอมให้สามีโจทก์ซึ่งเป็นชายอื่นเข้าออกบ้านจำเลยในเวลากลางคืนบ่อยครั้ง รวมทั้งให้มานอนค้างคืนที่บ้านแล้วออกจากบ้านไปช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น โดยบางครั้งมีการแต่งกายออกไปทำงานพร้อมกัน ย่อมทำให้เพื่อนบ้านหรือบุคคลอื่นที่พบเห็นถึงพฤติกรรมระหว่างจำเลยกับสามีโจทก์เข้าใจได้ว่า จำเลยกับสามีโจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกัน พฤติการณ์เช่นนี้เป็นการที่จำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 218/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การสมรสเป็นโมฆะเนื่องจากคู่สมรสเดิมยังไม่สิ้นสุด และการสมรสโดยเจตนาทุจริต
ก่อนคดีนี้ จำเลยเคยฟ้องหย่าโจทก์ที่ศาลชั้นต้น และโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งโจทก์อ้างเหตุหย่าว่าเป็นความผิดของโจทก์ ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องจึงสืบพยานจำเลยไป ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องแย้งโดยวินิจฉัยว่า เหตุหย่าตามฟ้องแย้งของจำเลยยังรับฟังไม่ได้ คดีถึงที่สุดตามคดีหมายเลขแดงที่ 95/2555 ประเด็นในคดีดังกล่าวจึงมีอยู่ว่า มีเหตุหย่าตามคำฟ้องแย้งของจำเลยหรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยโดยอ้างเหตุต่าง ๆ ตามคำฟ้องของโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้คดี อ้างว่าการสมรสทั้งสองครั้งระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะ เพราะขณะทำการสมรสกับโจทก์ จำเลยมีคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว คดีนี้จึงมีประเด็นว่า การสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะหรือไม่ ประเด็นก่อนกับคดีนี้จึงต่างกันและแม้ในคดีก่อน ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ถือไม่ได้ว่าเป็นประเด็นที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วในคดีก่อน จึงไม่อาจนำผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวในคดีก่อนมาผูกพันจำเลยในคดีนี้ได้
โจทก์ซึ่งมีเชื้อชาติลิทัวเนียสัญชาติไอร์ริช ฟ้องหย่าและขอแบ่งสินสมรสห้องชุดพิพาทจากจำเลยซึ่งมีเชื้อชาติและสัญชาติไอร์แลนด์ จำเลยให้การต่อสู้ว่า ขณะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ จำเลยมีคู่สมรสโดยชอบกฎหมายอยู่แล้ว เมื่อโจทก์และจำเลยมิใช่ผู้มีสัญชาติไทย ไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ทั้งการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยก็เป็นการสมรสตามกฎหมายต่างประเทศ กรณีจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ในปัญหาว่าสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นการสมรสซ้อนหรือไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยมีสัญชาติไอร์แลนด์ จดทะเบียนสมรสกับ ซ. ตามกฎหมายประเทศไอร์แลนด์ ดังนั้น กฎหมายที่จะนำมาใช้กับจำเลยในประเด็นการสิ้นสุดการสมรสโดยการหย่านี้จึงต้องเป็นไปตามกฎหมายแห่งสัญชาติของจำเลย ทั้งนี้ ตามมาตรา 27 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "ศาลไทยจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามี และภริยา ทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้" เมื่อขณะที่จำเลยและโจทก์สมรสกัน จำเลยมีคู่สมรสอยู่แล้วคือ ซ. และขณะทำการสมรส รัฐธรรมนูญของประเทศไอร์แลนด์ไม่อนุญาตให้พลเมืองที่ทำการสมรสหย่ากัน จำเลยจึงไม่อาจหย่าขาดจากคู่สมรสเดิมได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นแห่งประเทศสาธารณรัฐโดมินิกันที่มิใช่ศาลแห่งประเทศที่จำเลยมีสัญชาติที่พิจารณาให้จำเลยหย่าขาดจาก ซ. จึงไม่ทำให้จำเลยขาดจากการสมรสกับคู่สมรสเดิม
ในส่วนการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่มีการจดทะเบียนสมรสกันถึงสองครั้ง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2536 ที่ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน และวันที่ 24 ธันวาคม 2536 ที่รัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา นั้น จะมีผลสมบูรณ์หรือไม่ ต้องพิจารณาตามเงื่อนไขแห่งการสมรส ซึ่งตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 บัญญัติว่า "เงื่อนไขแห่งการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย" ก่อนโจทก์ทำการสมรสกับจำเลย โจทก์มีสัญชาติลิทัวเนีย ส่วนจำเลยมีสัญชาติไอร์แลนด์ ดังนั้น เงื่อนไขแห่งการสมรสของโจทก์และจำเลยจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายแห่งสัญชาติของโจทก์และจำเลยคือกฎหมายประเทศลิทัวเนีย และประเทศไอร์แลนด์ แต่ทั้งโจทก์และจำเลยต่างมิได้นำสืบข้อเท็จจริงในส่วนนี้ว่า กฎหมายของทั้งสองประเทศดังกล่าว มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเงื่อนไขแห่งการสมรสไว้อย่างไรบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้กรณีจึงต้องเป็นไปตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่จะต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ ถ้ามิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาล ให้ใช้กฎหมายในประเทศไทย" ซึ่งในเรื่องเงื่อนไขแห่งการสมรสนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1452 บัญญัติว่า "ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้" และมาตรา 1497 บัญญัติว่า "การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่า การสมรสเป็นโมฆะก็ได้" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่โจทก์และจำเลยทำการสมรสกันนั้น จำเลยยังมีคู่สมรส คือ ซ. การสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นโมฆะ ผลแห่งการสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างโจทก์และจำเลยดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1498
การที่โจทก์รู้เห็นเกี่ยวกับการจ้างบุคคลในสาธารณรัฐโดมินิกันให้จัดทำเอกสารการหย่าระหว่างจำเลยกับคู่สมรส โจทก์จึงมิใช่คู่สมรสฝ่ายที่ได้สมรสโดยสุจริต จึงไม่อาจเรียกค่าทดแทน หรือค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1499 เมื่อการสมรสทั้งสองครั้งระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะ แม้ห้องชุดพิพาทโจทก์และจำเลยได้มาระหว่างอยู่ด้วยกันก็ตามก็มิใช่สินสมรส เมื่อโจทก์และจำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยที่ทางนำสืบของจำเลยยังรับฟังไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ซื้อมา จึงต้องแบ่งให้โจทก์และจำเลยคนละครึ่ง ตามมาตรา 1498 วรรคสอง ในส่วนวิธีการแบ่งทรัพย์ให้เป็นไปตามคำพิพากษาในเรื่องกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364
โจทก์ซึ่งมีเชื้อชาติลิทัวเนียสัญชาติไอร์ริช ฟ้องหย่าและขอแบ่งสินสมรสห้องชุดพิพาทจากจำเลยซึ่งมีเชื้อชาติและสัญชาติไอร์แลนด์ จำเลยให้การต่อสู้ว่า ขณะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ จำเลยมีคู่สมรสโดยชอบกฎหมายอยู่แล้ว เมื่อโจทก์และจำเลยมิใช่ผู้มีสัญชาติไทย ไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ทั้งการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยก็เป็นการสมรสตามกฎหมายต่างประเทศ กรณีจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ในปัญหาว่าสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นการสมรสซ้อนหรือไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยมีสัญชาติไอร์แลนด์ จดทะเบียนสมรสกับ ซ. ตามกฎหมายประเทศไอร์แลนด์ ดังนั้น กฎหมายที่จะนำมาใช้กับจำเลยในประเด็นการสิ้นสุดการสมรสโดยการหย่านี้จึงต้องเป็นไปตามกฎหมายแห่งสัญชาติของจำเลย ทั้งนี้ ตามมาตรา 27 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "ศาลไทยจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามี และภริยา ทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้" เมื่อขณะที่จำเลยและโจทก์สมรสกัน จำเลยมีคู่สมรสอยู่แล้วคือ ซ. และขณะทำการสมรส รัฐธรรมนูญของประเทศไอร์แลนด์ไม่อนุญาตให้พลเมืองที่ทำการสมรสหย่ากัน จำเลยจึงไม่อาจหย่าขาดจากคู่สมรสเดิมได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นแห่งประเทศสาธารณรัฐโดมินิกันที่มิใช่ศาลแห่งประเทศที่จำเลยมีสัญชาติที่พิจารณาให้จำเลยหย่าขาดจาก ซ. จึงไม่ทำให้จำเลยขาดจากการสมรสกับคู่สมรสเดิม
ในส่วนการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่มีการจดทะเบียนสมรสกันถึงสองครั้ง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2536 ที่ประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน และวันที่ 24 ธันวาคม 2536 ที่รัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา นั้น จะมีผลสมบูรณ์หรือไม่ ต้องพิจารณาตามเงื่อนไขแห่งการสมรส ซึ่งตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 บัญญัติว่า "เงื่อนไขแห่งการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย" ก่อนโจทก์ทำการสมรสกับจำเลย โจทก์มีสัญชาติลิทัวเนีย ส่วนจำเลยมีสัญชาติไอร์แลนด์ ดังนั้น เงื่อนไขแห่งการสมรสของโจทก์และจำเลยจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายแห่งสัญชาติของโจทก์และจำเลยคือกฎหมายประเทศลิทัวเนีย และประเทศไอร์แลนด์ แต่ทั้งโจทก์และจำเลยต่างมิได้นำสืบข้อเท็จจริงในส่วนนี้ว่า กฎหมายของทั้งสองประเทศดังกล่าว มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเงื่อนไขแห่งการสมรสไว้อย่างไรบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้กรณีจึงต้องเป็นไปตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่จะต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับ ถ้ามิได้พิสูจน์กฎหมายนั้นให้เป็นที่พอใจแก่ศาล ให้ใช้กฎหมายในประเทศไทย" ซึ่งในเรื่องเงื่อนไขแห่งการสมรสนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1452 บัญญัติว่า "ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้" และมาตรา 1497 บัญญัติว่า "การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่า การสมรสเป็นโมฆะก็ได้" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่โจทก์และจำเลยทำการสมรสกันนั้น จำเลยยังมีคู่สมรส คือ ซ. การสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นโมฆะ ผลแห่งการสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างโจทก์และจำเลยดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1498
การที่โจทก์รู้เห็นเกี่ยวกับการจ้างบุคคลในสาธารณรัฐโดมินิกันให้จัดทำเอกสารการหย่าระหว่างจำเลยกับคู่สมรส โจทก์จึงมิใช่คู่สมรสฝ่ายที่ได้สมรสโดยสุจริต จึงไม่อาจเรียกค่าทดแทน หรือค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1499 เมื่อการสมรสทั้งสองครั้งระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะ แม้ห้องชุดพิพาทโจทก์และจำเลยได้มาระหว่างอยู่ด้วยกันก็ตามก็มิใช่สินสมรส เมื่อโจทก์และจำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยที่ทางนำสืบของจำเลยยังรับฟังไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ซื้อมา จึงต้องแบ่งให้โจทก์และจำเลยคนละครึ่ง ตามมาตรา 1498 วรรคสอง ในส่วนวิธีการแบ่งทรัพย์ให้เป็นไปตามคำพิพากษาในเรื่องกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9028/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเพิกถอนสิทธิฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กรณีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและกระทำผิดซ้ำ
ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19, 22 วรรคสาม, 24, 25 และ 33 วรรคสอง ได้กำหนดคุณสมบัติของบุคคลผู้มีสิทธิได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด การตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดรวมทั้งการส่งตัวกลับไปดำเนินคดี หากบุคคลนั้นขาดคุณสมบัติ หรือแม้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบกำหนดแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ โดยให้อำนาจคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ หรือให้ศาลเป็นผู้พิจารณามีคำสั่งแล้วแต่ข้อเท็จจริงจะปรากฏในขั้นตอนใด เมื่อปรากฏแก่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ว่า จำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกำหนดและยังถูกจับดำเนินคดีในข้อหามียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก ถือว่าจำเลยผิดเงื่อนไขของคณะอนุกรรมการฟื้นฟู และขาดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และย่อมส่งผลกระทบต่อการเข้ารับการฟื้นฟูตามแผนการฟื้นฟูที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้กำหนดไว้ ทำให้ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่เป็นที่น่าพอใจ ตามคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีหนังสือแจ้งโจทก์ให้ดำเนินคดีจำเลย จึงเป็นไปตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7947/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สนับสนุนการค้ายาเสพติด: รู้เห็นใช้บัญชีรับเงินค้ายา ถือผิดฐานสนับสนุน
ณ. ให้ ท. เก็บรักษาเมทแอมเฟตามีนไว้เพื่อรอคำสั่งให้นำไปส่งต่อ จำเลยเป็นคนรักของ ณ. และนั่งรถมากับ ณ. เวลามาส่งเมทแอมเฟตามีนให้ ท. บ่อยครั้ง ว. และ ช. ไปรับเมทแอมเฟตามีนจาก ท. ไปส่งให้ลูกค้าตามคำสั่งของ ณ. ผู้ว่าจ้าง และรับเมทแอมเฟตามีนบางส่วนไปจำหน่ายเอง ณ. สั่งให้ ช. โอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนเข้าบัญชีเงินฝากทั้งสองบัญชีของจำเลย ในแต่ละวันมีการนำเงินเข้าฝากหลายจำนวนแล้วถอนเงินออกจากบัญชีโดยตลอด จำเลยมอบบัตรเอทีเอ็มให้ ณ. นำไปใช้เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าว พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่า จำเลยรู้เห็นเป็นใจให้การสนับสนุนหรือช่วยเหลือ ณ. ในการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของ ว. และ ช. โดยใช้บัญชีเงินฝากดังกล่าวชำระเงินค่าเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ณ. อันเป็นการสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดก่อนหรือขณะกระทำความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5396/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ธนาคารต้องรับผิดต่อความเสียหายจากเช็คปลอม แม้โจทก์ประมาทเลินเล่อในการตรวจสอบ
ก. กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์เก็บรักษาสมุดเช็คไว้ในตู้เซฟภายในห้องทำงาน บางครั้งจะให้ ศ. พนักงานการเงินและบัญชีกรอกรายละเอียดในเช็คที่จะสั่งจ่าย ส. ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ลักเช็คพิพาททั้งสิบเจ็ดฉบับไปกรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย หาก ก. ตรวจสอบก็จะทราบว่าลายมือที่ต้นขั้วเช็คเป็นของ ส. ไม่ใช่ลายมือของ ศ. โจทก์จึงมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย จำเลยประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ การจ่ายเงินตามเช็คเป็นงานที่เกิดขึ้นเป็นประจำ พนักงานจำเลยย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คกับตัวอย่างลายมือชื่อที่จำเลยมีอยู่ว่าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายจริงหรือไม่ เมื่อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมในเช็คแตกต่างกับลายมือชื่อที่โจทก์ให้ไว้แก่จำเลย การที่พนักงานของจำเลยจ่ายเงินตามเช็คถึงสิบเจ็ดฉบับจึงเป็นการขาดความระมัดระวังเท่าที่สมควรจะต้องใช้ในกิจการเช่นจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนรายการลงบัญชีเงินฝากของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเช็คทั้งสิบเจ็ดฉบับ รวมเป็นเงิน 1,707,975.05 บาท พร้อมดอกเบี้ย เท่ากับเป็นการขอให้บังคับจำเลยคืนเงินตามเช็ค รวมจำนวน 1,707,975.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ เมื่อโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์มากน้อยเพียงใด ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง, 438 และ 442 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง
โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนรายการลงบัญชีเงินฝากของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเช็คทั้งสิบเจ็ดฉบับ รวมเป็นเงิน 1,707,975.05 บาท พร้อมดอกเบี้ย เท่ากับเป็นการขอให้บังคับจำเลยคืนเงินตามเช็ค รวมจำนวน 1,707,975.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ เมื่อโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์มากน้อยเพียงใด ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง, 438 และ 442 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง