พบผลลัพธ์ทั้งหมด 192 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5042/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ตัวแทนเชิดไม่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือ ฟ้องคืนทรัพย์ได้แม้ไม่มีหลักฐาน
การตั้งตัวแทนเชิดเพื่อทำกิจการอันใด ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือตัวการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากตัวแทน แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4551/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด: ข้อต่อสู้ผู้ต้องหา, พยานหลักฐาน, และการพิพากษาคดี
โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยทั้งสามว่า ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไว้ในฟ้องข้อเดียวกัน เพียงแต่โจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายก่อนที่จะบรรยายการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และใช้คำเชื่อมประโยค เช่นคำว่า "โดย" "ดังกล่าวข้างต้น" เป็นการอธิบายถึงความสัมพันธ์ของการกระทำความผิดแต่ละฐาน ซึ่งเมื่ออ่านฟ้องโดยตลอดแล้วย่อมเข้าใจได้ว่าโจทก์ประสงค์ที่จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามสมคบกันโดยร่วมกันนำเข้าเมทแอมเฟตามีนจำนวนตามฟ้องและร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นการกระทำต่อเนื่องจากการสมคบกันนำเข้าเมทแอมเฟตามีน ดังนี้ โจทก์บรรยายฟ้องครอบคลุมถึงความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3730/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำกัดสิทธิฎีกาในคดีอาญา: การโต้แย้งดุลพินิจศาลในการรอการลงโทษจำคุกเป็นฎีกาต้องห้าม
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 15 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ให้ลงโทษปรับ 20,000 บาท ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 10,000 บาท และฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ปรับ 6,000 บาท อีกสถานหนึ่ง รวมเป็นปรับ 36,000 บาท เมื่อลดโทษกึ่งหนึ่งแล้ว คงปรับ 18,000 บาท แล้วรอการลงโทษจำคุกและคุมความประพฤติของจำเลยไว้ อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินกระทงละ 2 ปี และปรับไม่เกินกระทงละ 40,000 บาท จึงห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 การที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 5 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3728/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การไม่มาศาลของจำเลยทำให้ศาลไม่รับอุทธรณ์และคำสั่งศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด ทำให้จำเลยไม่มีสิทธิฎีกา
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลย ทนายจำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยเนื่องจากจำเลยไม่มาแสดงตน เช่นนี้ การที่ทนายจำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยปัญหาตามข้ออุทธรณ์แล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้น คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมเป็นที่สุด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 จำเลยไม่มีสิทธิฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพรากเด็กเพื่ออนาจาร ไม่จำเป็นต้องมีการหน่วงเหนี่ยว การกระทำจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
การกระทำโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม ไม่ต้องถึงขนาดเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้เด็กปราศจากอิสระในการเคลื่อนไหว เพราะการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก "พราก" ตามพจนานุกรมมีความหมายว่า จากไป หรือแยกออกจากกัน ดังนั้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 การที่จำเลยนัดแนะ หรือแยกผู้เสียหายที่ 2 ไปยังที่ต่างๆในโรงเรียน จำเลยได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ และมีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ โดยบทกฎหมายดังกล่าวประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่ละเมิดอำนาจปกครองดูแลเด็กของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล อันเป็นการคุ้มครองเด็กมิให้ถูกล่อลวงไปในทางเสียหาย ดังนั้น แม้หลังถูกกระทำชำเรา ผู้เสียหายที่ 2 มิได้ถูกจำเลยหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง มีอิสระในการเคลื่อนไหว และสามารถกลับไปเรียนตามปกติได้ ก็เป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 โดยปราศจากเหตุอันสมควร เพื่อการอนาจารแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 140/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากจำเลยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการยื่นฎีกาตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด
แม้คดีนี้จะเป็นคดีที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดโทษให้ใหม่ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) โดยอ้าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 3 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่ามาตรา 15 วรรคสาม (เดิม) ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ก็ตาม แต่คำร้องของจำเลยที่ 2 ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ดังนี้ คดีของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวบัญญัติว่า "ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้าและภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด" และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้" ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาจำเลยที่ 2 จึงเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษเมื่อจำเลยกระทำความผิดซ้ำในระหว่างรอการลงโทษ
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยว่า ภายในเวลาที่ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีรอการลงโทษให้จำเลยไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 465/2557 จำเลยได้กระทำความผิดคดีนี้อีก และคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นให้ลงโทษจำคุกจำเลย 4 เดือน โดยไม่ลงโทษปรับ ไม่คุมความประพฤติจำเลยและไม่รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์จึงต้องนำโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีดังกล่าวมาบวกเข้ากับโทษของจำเลยคดีนี้ การที่ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาให้นำโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 465/2557 ของศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี มาบวกเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยคดีนี้ด้วยนั้นเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8532/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาที่ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงเกินทุนทรัพย์ที่พิพาท
ฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์ทำสัญญาทั้งสามฉบับขึ้นในคราวเดียวกันเพื่อให้จำเลยรับสภาพหนี้มิได้มีเจตนาให้เป็นสัญญาตามแบบ ไม่ใช่ตราสารที่จะต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการกู้ยืมเงินได้ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย แม้โจทก์จะฎีกาว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินรวมจำนวน 210,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามสัญญากู้ฉบับที่ 1 จำนวน 65,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์แล้ว ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจึงมีเพียงจำนวน 145,000 บาท ต้องห้ามไม่ให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4375/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การโอนสิทธิเรียกร้องในคดีฟื้นฟูกิจการ: ความชอบด้วยกฎหมายและการบังคับชำระหนี้
ในการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการนั้น เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ผู้ทำแผนจะนำหนี้ดังกล่าวไปจัดอยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้ต่าง ๆ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 (3) (ข) และมาตรา 90/42 ทวิ และกำหนดการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มต่าง ๆ ไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ การชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ย่อมเป็นไปตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในแผนทั้งแผนฟื้นฟูกิจการนั้นก็เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ในเรื่องเกี่ยวกับหนี้สินและวิธีการในการจัดกิจการของลูกหนี้ต่อไป นอกจากนี้รายการในแผนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 (6) ก็ให้กำหนดให้ในแผนมีรายการคือ วิธีปฏิบัติในกรณีที่มีการโอนสิทธิเรียกร้อง เช่นนี้สิทธิเรียกร้องในการที่จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการโดยสภาพแล้วย่อมเป็นสิทธิเรียกร้องที่สามารถโอนกันได้ดั่งเช่นสิทธิเรียกร้องอื่น ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวก็เป็นวิธีการในการดำเนินการของสถาบันการเงินเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องสิ้นเปลืองในการบริหารจัดการหนี้เสียและเป็นวิธีการที่จะนำรายได้มาใช้ในการบริหารธุรกิจต่อไป เมื่อปรากฏว่าในการโอนสิทธิเรียกร้องของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้โอนสิทธิเรียกร้องตามแผนให้แก่ธนาคารสแตนดาร์ด แบงค์ เอเชีย จำกัด และมีการกำหนดรายละเอียดดังกล่าวไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนั้นเมื่อปรากฏว่าธนาคารสแตนดาร์ด แบงค์ เอเชีย จำกัด ได้โอนสิทธิเรียกร้องมายังธนาคารสแตนดาร์ด พีเอลซี จำกัด และธนาคารสแตนดาร์ด พีเอลซี จำกัด ได้โอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวพร้อมหลักประกันมายังโจทก์และได้มีการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทราบแล้ว โจทก์ในฐานะผู้รับโอนจึงรับมาซึ่งบรรดาสิทธิทั้งหลายที่เจ้าหนี้เดิมเคยมีอยู่และสามารถใช้ยันจำเลยได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามจำนวนที่ค้างอยู่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4246/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การโอนสิทธิเรียกร้องในคดีฟื้นฟูกิจการ สิทธิเรียกร้องที่ได้รับการปลดหนี้แล้ว ไม่อาจนำมาขอรับชำระหนี้ใหม่ได้
หนี้ที่เจ้าหนี้นำมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเป็นสิทธิเรียกร้องที่บริษัทเงินทุน อ. เจ้าหนี้เดิม มีต่อลูกหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.11/2542 ของศาลล้มละลายกลาง และสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีการแก้ไขแผนตามข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ครั้งที่ 3 ซึ่งศาลล้มละลายกลางให้ความเห็นชอบแล้วโดยกำหนดให้สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้เดิมดังกล่าวได้รับการปลดหนี้ทั้งจำนวนตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2547 เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการอุทธรณ์คำสั่งเห็นชอบด้วยข้อเสนอขอแก้ไขแผนครั้งที่ 3 ของศาลล้มละลายกลาง คำสั่งดังกล่าวย่อมผูกพันเจ้าหนี้เดิมตามแผนฟื้นฟูกิจการ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 90/63 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเจ้าหนี้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจากเจ้าหนี้เดิม ผลของคำสั่งในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.11/2542 ของศาลล้มละลายกลาง ย่อมผูกพันเจ้าหนี้ด้วยเช่นกัน เจ้าหนี้จึงไม่อาจนำหนี้ที่ได้รับการปลดหนี้แล้วมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้อีกได้