คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อดิศักดิ์ ปัตรวลี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 192 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13706/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แผนฟื้นฟูกิจการต้องไม่กระทบสิทธิเจ้าหนี้มีประกัน การชำระหนี้ต้องไม่ต่ำกว่าราคาตลาดทรัพย์สินหลักประกัน
การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตลอดจนการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการต้องไม่กระทบต่อสิทธิของเจ้าหนี้มีประกัน ซึ่งมีทรัพยสิทธิในอันที่จะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินหลักประกันได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น การดำเนินการอื่นใดที่เจ้าหนี้มีประกันนั้นไม่ได้ยินยอม หรือจะทำให้เจ้าหนี้มีประกันได้รับชำระหนี้น้อยกว่ามูลค่าของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันในเวลาที่มีการยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ พร้อมดอกเบี้ยและผลประโยชน์ตามสัญญาเมื่อการดำเนินการฟื้นฟูกิจการสิ้นสุดลง ก็ย่อมไม่อาจถือเป็นการให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหนี้มีประกันอย่างเพียงพอแล้วได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/14 (3) ทั้งในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผน เมื่อมีข้อคัดค้านของเจ้าหนี้ ผู้ทำแผนมีหน้าที่พิสูจน์ว่าแผนฟื้นฟูกิจการนั้นชอบด้วยกฎหมายและศาลควรมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อเจ้าหนี้คัดค้านว่า แผนกำหนดให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ เมื่อการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการสำเร็จเป็นจำนวนน้อยกว่ามูลค่าหลักประกันที่แท้จริงนั้น ในการพิจารณาปัญหาดังกล่าวในชั้นพิจารณาแผนจึงต้องพิจารณาราคาประเมินของทรัพย์สินหลักประกันเป็นสาระสำคัญ เมื่อปรากฏตามแผนฟื้นฟูกิจการว่าลูกหนี้ประกอบกิจการโรงแรมตั้งแต่ปี 2532 มีทรัพย์สินหลักที่จำเป็น ต้องใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไป คือ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งส่วนหนึ่งจดทะเบียนจำนองไว้แก่เจ้าหนี้โดยแผนฟื้นฟูกิจการระบุว่า ในระหว่างการดำเนินการตามแผน ถ้าลูกหนี้มิได้เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ ห้ามมิให้เจ้าหนี้ที่มีหลักประกันซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจ บังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่เป็นการเสื่อมสิทธิของเจ้าหนี้ดังกล่าวที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันนั้น แสดงว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจดทะเบียนจำนองไว้แก่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และมิได้มีการขายทอดตลาดทรัพย์สินหลักประกันไปในราคาบังคับขายแต่อย่างใด ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนดังกล่าว ผู้ทำแผนจึงต้องนำสืบให้ได้ว่าเมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันจะต้องได้รับข้อเสนอชำระหนี้ตามแผนไม่น้อยกว่าราคาทรัพย์สินหลักประกันในราคาตลาดปัจจุบัน ณ วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อผู้ทำแผนนำสืบให้รับฟังไม่ได้ว่า เมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันจะได้รับชำระหนี้ตามแผนไม่น้อยกว่าราคาทรัพย์สินหลักประกันในราคาตลาดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/58 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 90/14 แผนจึงมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13283/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้สัญญาวงเงินสินเชื่อและสัญญากู้ยืมเงิน การขาดอายุความทำให้คดีล้มละลายไม่สมควร
สิทธิเรียกร้องในหนี้ตามสัญญาวงเงินสินเชื่อ กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้เฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ส่วนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งตามข้อตกลงในสัญญาข้อ 2.1 กำหนดให้จำเลยที่ 1 ผู้กู้ชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยเป็นรายเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ 433,840 บาท กรณีจึงเป็นหนี้เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ มีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (2) เมื่อเจ้าหนี้เดิมได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อทั้งสองวงเงินให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 นำตั๋วสัญญาใช้เงินมาขายลดแก่เจ้าหนี้เดิมแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ชำระดอกเบี้ยในวงเงินตามตั๋วเงินบางส่วนเพียงวันที่ 31 ตุลาคม 2540 และชำระดอกเบี้ยในวงเงินกู้ยืมเพียงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2540 ยังคงมีต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระเป็นต้นมา เจ้าหนี้เดิมทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้หลายครั้งแล้ว แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่วันดังกล่าวหรืออย่างช้าสำหรับหนี้วงเงินสินเชื่อในวันที่ครบกำหนดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินคือ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2540 ส่วนวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นคำนวณดอกเบี้ยตามรายงานภาระหนี้ก็เป็นเพียงวันที่โจทก์คิดดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 ต่อมาภายหลังจากมีการบังคับรับโอนทรัพย์หลักประกันแล้วเท่านั้น หาใช่เป็นวันที่ผิดนัดไม่ ลำพังที่โจทก์บังคับรับโอนทรัพย์หลักประกันฝ่ายเดียวเพื่อนำเงินมาหักชำระหนี้ตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 76 ไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อนับแต่วันที่ลูกหนี้ที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องวันที่ 31 มีนาคม 2553 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้วงเงินสินเชื่อ และหนี้เงินกู้พ้นระยะเวลา 10 ปี และ 5 ปี ตามลำดับแล้ว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ
แม้จำเลยทั้งสองจะไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา แต่การพิจารณาคดีล้มละลายตามกฎหมายล้มละลาย ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลในทางตัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลจึงต้องพิจารณาเอาความจริงตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ว่าคดีมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ เมื่อหนี้ของโจทก์ขาดอายุความ จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ตามมาตรา 94 (1) ถือได้ว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลายตามมาตรา 14 ตอนท้าย ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ ปัญหานี้แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12945/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขาย: การนำสืบพยานนอกสัญญาขัดหลัก ป.วิ.พ. มาตรา 94(ข) และการตีความสัญญา
โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นหนังสือโดยมีการวางเงินมัดจำด้วยการวางเงินมัดจำเป็นเพียงข้อสัญญาข้อหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ตกลงทำสัญญากันด้วยการวางเงินมัดจำ การฟ้องร้องบังคับคดีจึงต้องอาศัยหลักฐานตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำไว้ กรณีจึงต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ที่ห้ามมิให้คู่ความนำสืบพยานบุคคลว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมนอกเหนือจากสัญญาอยู่อีก เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายในข้อ 1. มีข้อความระบุชัดเจนอยู่แล้วว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงจะซื้อจะขายที่ดินตารางวาละ 100,000 บาท โดยส่วนที่เป็นถนนตามสภาพจริงจะไม่ถูกนำมาคำนวณเป็นราคาที่ดินที่จะซื้อจะขาย โดยไม่มีข้อความว่าให้จำเลยกันส่วนที่เป็นแนวเสาไฟฟ้าออกจากที่ดินจะซื้อจะขายแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ใช่ข้อความไม่ชัดเจนหรืออาจแปลความได้หลายนัย ย่อมไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่จะต้องตีความการแสดงเจตนาของคู่สัญญาอีก ดังนี้ จะนำบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 171 มาบังคับใช้เพื่อสืบพยานบุคคลประกอบการตีความเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาหาได้ไม่ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่ายังมีข้อตกลงว่าให้จำเลยรังวัดแบ่งแยกกันส่วนที่เป็นแนวเสาไฟฟ้าออกจากที่ดินที่จะซื้อจะขาย นอกเหนือข้อตกลงในหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย จึงต้องห้ามมิให้รับฟังและถือไม่ได้ว่ามีข้อตกลงดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12931/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย การหักหนี้ที่ได้รับชำระแล้วในชั้น ปรส. และข้อยกเว้นดอกเบี้ยตาม พรบ.ปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศหรือบรรษัทการเงินระหว่างประเทศหรือ International Finance Corporation หรือ IFC เป็นทบวงการชำนัญพิเศษ (Specialized Agencies) แห่งสหประชาชาติ และ พ.ร.ฎ.ระบุทบวงการชำนัญพิเศษ พ.ศ.2504 มาตรา 3 (4) ซึ่ง พ.ร.บ.คุ้มครองการดำเนินงานของสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษในประเทศไทย พ.ศ.2504 มาตรา 5 (1) ได้บัญญัติว่า "...ทบวงการชำนัญพิเศษนั้น ๆ เป็นนิติบุคคลและให้ถือว่ามีภูมิลำเนาในประเทศไทย..." ดังนั้น เจ้าหนี้จึงเป็นนิติบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในประเทศไทย ไม่ใช่เจ้าหนี้ต่างประเทศซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าหนี้จึงไม่จำต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 178 กำหนด
ในการขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 นั้น นอกจากเจ้าหนี้มีหน้าที่ต้องนำพยานมาแสดงให้เห็นว่าหนี้ที่ขอรับชำระเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงแล้ว จะต้องแสดงว่าลูกหนี้ต้องรับผิดใช้หนี้ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12506/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิทักษ์ทรัพย์หลังการชำระบัญชี: ศาลฎีกาตัดสินกลับคำสั่งไม่รับคำร้อง และมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
ในคดีฟ้องเรียกหนี้สินซึ่งห้างหุ้นส่วนหรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้อยู่ในฐานเช่นนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1272 เมื่อปรากฏจากหนังสือรับรอง ของผู้ร้องว่า นายทะเบียนจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีของลูกหนี้ที่ 1 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2552 และผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2553 จึงไม่เกิน 2 ปีนับแต่วันที่ 7 มกราคม 2552 อันเป็นวันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดได้
ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ที่ 1 ติดต่อและเสนอแผนปรับโครงสร้างหนี้หลายครั้ง ตามหนังสือเรื่องบอกกล่าวให้ชำระหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ ใบตอบรับในประเทศและประกาศหนังสือพิมพ์ แต่ลูกหนี้ที่ 1 เพิกเฉย ไม่ติดต่อไม่ชำระหนี้และไม่เสนอแผนปรับโครงสร้างหนี้ต่อผู้ร้อง พฤติการณ์ของลูกหนี้ที่ 1 ดังกล่าวถือว่าลูกหนี้ที่ 1 ไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ร้องในการปรับโครงสร้างหนี้ตามที่ผู้ร้องสั่งโดยที่ลูกหนี้ที่ 1 อยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ เมื่อ ณ วันยื่นคำร้อง (วันที่ 5 เมษายน 2553) ลูกหนี้ที่ 1 มีภาระหนี้ค้างชำระผู้ร้อง 24,530,708 บาท และลูกหนี้ที่ 1 ไม่ยื่นคำคัดค้านและขาดนัดพิจารณา กรณีจึงเห็นควรมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12247/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นหลังทรัพย์สินจำนองยังไม่ขายได้ และการขยายระยะเวลาบังคับคดี
แม้การบังคับคดีตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความกำหนดให้ต้องบังคับเอาแก่ทรัพย์สินจำนองก่อน หากไม่ครบจำนวนหนี้จึงจะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาห้องชุดทรัพย์สินจำนองของจำเลยที่ 1 จำนวน 595,045 บาท และในวันที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ยึดห้องชุดของจำเลยที่ 2 เพิ่มเติมจำเลยทั้งสองเป็นหนี้ตามคำพิพากษา 1,346,641.92 บาท หากขายทอดตลาดห้องชุดทรัพย์สินจำนองของจำเลยที่ 1 ไปตามราคาดังกล่าวก็ยังคงเหลือหนี้ตามคำพิพากษาอีกมากเพียงพอสมควรแก่การให้ยึดห้องชุดของจำเลยที่ 2 เพื่อบังคับชำระหนี้แก่โจทก์เพิ่มเติม และโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดห้องชุดทรัพย์สินจำนองของจำเลยที่ 1 ภายหลังจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความประมาณ 2 ปี 6 เดือน แต่ยังขายไม่ได้ ถือได้ว่าโจทก์ขอบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนองภายในเวลาอันสมควร ประกอบกับจำเลยที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2555 ทำให้การจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 อาจล่าช้า นอกจากนี้ หากต้องรอให้มีการขายทอดตลาดห้องชุดทรัพย์สินจำนองของจำเลยที่ 1 เสร็จก่อนถึงจะกลับมายึดทรัพย์สินอื่นได้ก็เกือบครบ 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาเป็นเหตุให้โจทก์อาจเสียสิทธิในการบังคับคดีทั้ง ๆ ที่การขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองยังไม่เสร็จสิ้นนั้นมิใช่เกิดจากความผิดของโจทก์ การยึดห้องชุดของจำเลยที่ 2 ไว้ก่อนแต่ยังไม่ต้องนำออกขายจนกว่ามีการขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองเสร็จสิ้นและได้เงินไม่พอชำระหนี้จึงค่อยนำห้องชุดของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดก็ไม่ขัดต่อขั้นตอนการบังคับคดีตามคำพิพากษาและก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โจทก์จึงมีสิทธินำยึดห้องชุดของจำเลยที่ 2 เพิ่มเติมได้
เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ร้องขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาแล้ว หลังจากนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีก็มีสิทธิดำเนินการบังคับคดีต่อไปจนเสร็จสิ้น แม้จะพ้นกำหนดเวลา 10 ปี ดังกล่าวแล้วก็ตามหรือไม่ทำให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหมดสิทธิในการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ให้เสร็จแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อศาลฎีกาให้โจทก์มีสิทธินำยึดห้องชุดของจำเลยที่ 2 เพิ่มเติม กรณีถือได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนครบถ้วนภายในเวลาการบังคับคดีแล้ว จึงไม่มีเหตุขยายระยะเวลาบังคับคดีให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10780/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มหลังชำระหนี้บางส่วน: ต้องคำนวณแยกแต่ละช่วงเวลาที่ชำระ
ภายหลังห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. โดยลูกหนี้ที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนภาษีกันยายน 2540 และได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มบางส่วน คงเหลือภาษีค้าง 26,000 บาท การคำนวณเงินเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 89/1 ประกอบมาตรา 27 นั้นให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีหรือยื่นแบบนำส่งภาษีจนถึงวันชำระภาษีหรือนำส่งภาษี แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่ง ดังนั้น เมื่อต่อมา ห้างฯ ชำระหนี้ภาษีแก่เจ้าหนี้และหักกลบลบหนี้ รวม 4 ครั้ง เงินที่ชำระแต่ละครั้งต้องนำไปหักกับภาษีมูลค่าเพิ่มค้าง ส่วนการคำนวณเงินเพิ่ม ต้องคิดจากยอดหนี้ภาษีค้างแต่ละช่วงที่เหลืออยู่ภายหลังหักชำระหนี้แต่ละครั้งแล้ว มิใช่นำเงินทั้งสี่จำนวนมารวมกันแล้วนำไปหักออกจากยอดภาษีค้างแล้วจึงคิดเงินเพิ่มเพียงครั้งเดียว ดังเช่นที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเพราะเป็นการชำระหนี้คนละคราวต่างช่วงเวลากัน และลูกหนี้ที่ 1 ต้องรับผิดในส่วนของเงินเพิ่มไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10596/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษจำคุกตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ มาตรา 97 กรณีกระทำผิดซ้ำภายใน 5 ปี
คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3328/2553 ของศาลชั้นต้นที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยนั้น ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง อันเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 เท่ากับจำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ด้วย เพียงแต่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเท่านั้น เมื่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 บัญญัติว่า "ผู้ใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้อีกในระหว่างที่ยังต้องรับโทษอยู่หรือภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ หากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุก ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นอีกกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง" เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย กรณีจึงต้องเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10594/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด: พนักงานสอบสวนต้องดำเนินการตามแผนฟื้นฟูก่อนฟ้องคดี
การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 เป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือไม่ก็ตาม การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีคำสั่งว่า ผู้เข้ารับการฟื้นฟูไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการฟื้นฟู ไม่มารายงานตัวตามกำหนดนัดและไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อรับการบำบัดรักษา พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการเตือนให้มารายงานตัวและติดตาม ผู้เข้ารับการฟื้นฟูมีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ทำให้ผลการฟื้นฟูไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 33 วรรคสอง ซึ่งเป็นดุลพินิจของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และมาตราดังกล่าวยังบัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเมื่อผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดแล้วแต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ
การที่จำเลยมาพบพนักงานสอบสวนหลังจากที่จำเลยหลบหนีไม่มาพบพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พนักงานสอบสวนจึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน การที่พนักงานสอบสวนไม่ดำเนินการดังกล่าวแต่กลับนำตัวจำเลยมาฟ้องเป็นคดีนี้ การสอบสวนจึงไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10209/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายหลังกฎหมายประกันตัวเปลี่ยนแปลง ผู้ร้องต้องดำเนินการตามกฎหมายใหม่
ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคสอง ที่แก้ไขเพิ่มเติมได้บัญญัติไว้ชัดเจนให้หัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ตามสัญญาประกัน แม้ไม่มีบทเฉพาะกาลเรื่องการบังคับคดีนายประกันก่อนที่มีการเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวว่าจะยังคงเป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการตามเดิมหรือเป็นของหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมตามบทบัญญัติที่เพิ่มเติมดังที่ผู้ร้องอ้างตามคำร้องก็ตาม แต่การที่ไม่มีบทเฉพาะกาลบัญญัติยกเว้นบทบัญญัติที่เพิ่มเติม ก็ต้องหมายความว่าให้ใช้บทบัญญัติเพิ่มเติมนั้นทันทีที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ ไม่มีเหตุที่จะให้ผู้ร้องเข้าใจว่าการบังคับคดีนายประกันที่มีอยู่ก่อนยังคงเป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ กรณีจึงไม่มีพฤติการณ์พิเศษหรือเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนด
of 20