คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 123 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 19 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิไล่เบี้ยค่าแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน: ผู้รับเหมาชั้นต้นมีสิทธิไล่เบี้ยจากผู้รับเหมาช่วงที่เป็นนายจ้างเท่านั้น
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 12 หมายความว่า หากผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างมีค่าจ้างหรือเงินอื่นที่ต้องจ่ายแก่ลูกจ้าง ผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปจนถึงผู้รับเหมาชั้นต้นต้องร่วมรับผิดกับผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างในค่าจ้างหรือเงินอื่นที่ต้องจ่ายแก่ลูกจ้างนั้นด้วย และเมื่อผู้รับเหมาชั้นต้นหรือผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปจ่ายค่าจ้างหรือเงินอื่นที่ต้องจ่ายแทนผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างไปแล้วก็ให้มีสิทธิไล่เบี้ยเงินดังกล่าวคืนจากผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างได้ บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้สิทธิแก่ผู้รับเหมาชั้นต้นที่จ่ายเงินไปแล้วไล่เบี้ยเรียกเงินคืนจากผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปซึ่งไม่ได้เป็นนายจ้างได้ เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่า ก. เป็นผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างมีค่าจ้างค้างจ่ายต่อลูกจ้างของตน และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นนำเงินดังกล่าวไปวางที่ศาลจังหวัดภูเขียวเพื่อชำระให้แก่ลูกจ้างของ ก. และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดตามคำสั่งของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชัยภูมิ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเรียกเงินข้างต้นคืนจาก ก. ผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างที่แท้จริงได้ แต่หาอาจไล่เบี้ยเรียกเงินคืนจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปแต่มิได้เป็นนายจ้างด้วยไม่ ดังนั้น โจทก์ย่อมไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องชำระเงินค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมดอกเบี้ย 117,067 บาท คืนให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 12 วรรคสอง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิขอนำเงินดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับเงินที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระแก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง, 124 วรรคสาม และมาตรา 125 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง หมายความว่า เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ลูกจ้าง เมื่อพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนแล้วปรากฏว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ลูกจ้าง ถ้านายจ้างมิได้นำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง ให้คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวนั้นเป็นที่สุด เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่า เจ้าพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้ทั้งโจทก์ จำเลยที่ 1 และ ก. ร่วมกันรับผิดใช้ค่าแรงงานแก่ลูกจ้างของ ก. โจทก์ไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดย่อมหมายความเพียงว่า โจทก์ต้องร่วมรับผิดต่อลูกจ้างด้วยเท่านั้น แต่ในการพิจารณาการใช้สิทธิไล่เบี้ย ตามมาตรา 12 ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความว่า ผู้ใดอาจถูกใช้สิทธิไล่เบี้ยโดยผู้รับเหมาชั้นต้นหรือผู้รับเหมาช่วงซึ่งได้จ่ายเงินไปได้บ้าง ซึ่งผู้ที่อาจถูกใช้สิทธิไล่เบี้ยได้คือผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างก็คือ ก. เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13140/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าคอมมิสชันเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจสั่งจ่ายได้
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 คำว่า "ค่าจ้าง" หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนหรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้นค่าจ้างจึงเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างตามระยะเวลาการทำงานหรือเงินที่นายจ้างจ่ายโดยคำนวณตามผลงานก็ได้
ค่าคอมมิสชันเป็นเงินที่โจทก์จะจ่ายให้ลูกจ้างตามยอดของรถยนต์ที่ลูกจ้างจำหน่ายได้ ค่าคอมมิสชันจะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนรถยนต์ที่ลูกจ้างจะจำหน่ายได้ ค่าคอมมิสชันจึงเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานในการจำหน่ายรถยนต์ของลูกจ้าง โดยคำนวณจ่ายตามผลงานการขายรถยนต์แต่ละคันและมีกำหนดจ่ายทุกเดือน ค่าคอมมิสชันจึงเป็นค่าจ้าง เมื่อโจทก์ไม่จ่ายค่าคอมมิสชันของเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ให้แก่ น. และค่าคอมมิสชันนั้นเป็นค่าจ้างอันเป็นเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานจึงมีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินค่าคอมมิสชันให้แก่ น. ลูกจ้างได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง และมาตรา 124 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3528/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กำหนดเวลาฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานและดอกเบี้ยค่าชดเชย/วันหยุดพักผ่อนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
ระยะเวลาฟ้องเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ไม่ใช่เรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อบังคับชำระหนี้ที่อยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. บรรพ 1 ลักษณะ 6 อายุความ
ดอกเบี้ยของค่าชดเชยและดอกเบี้ยของค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เมื่อจำเลยที่ 1 มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานโดยไม่กล่าวถึงดอกเบี้ย จำเลยร่วม (ลูกจ้าง) ต้องนำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง เช่นเดียวกับค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีอันเป็นหนี้ประธาน
เงินบำเหน็จและเงินรางวัลประจำปีไม่ใช่เงินอย่างใดอย่างหนึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง ที่พนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจวินิจฉัยออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 124 วรรคหนึ่ง ลูกจ้างฟ้องศาลได้ภายในกำหนดอายุความ ไม่อยู่ภายใต้กำหนดเวลาที่จะต้องฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานภายใน 30 วัน ตามมาตรา 125 วรรคหนึ่ง
โจทก์ทั้งสอง (นายจ้าง) ฟ้องเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 อ้างเหตุว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้อง จำเลยร่วม (ลูกจ้าง) ฟ้องแย้งขอให้โจทก์ทั้งสองจ่ายเงินรางวัลประจำปีให้แก่ตน เป็นฟ้องแย้งที่ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม
โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ให้ ก.พนักงานของโจทก์ที่ 1 ไปรับคำสั่งจากจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองย่อมทราบดีว่ามีคำสั่งของจำเลยที่ 1 มาถึงตน การที่ ก. รับคำสั่งจากจำเลยที่ 1 ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2549 แต่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ลงทะเบียนรับคำสั่งในวันที่ 17 พฤษภาคม 2549 โจทก์ทั้งสองไม่อาจนำเหตุที่เจ้าหน้าที่นำคำสั่งมามอบให้ล่าช้าโดยไม่ปรากฏเหตุจำเป็นอื่นมาเป็นเหตุปฏิเสธว่าไม่ทราบคำสั่งของจำเลยที่ 1 กรณีถือว่าโจทก์ทั้งสองทราบคำสั่งของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2549 แล้ว โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีวันที่ 16 มิถุนายน 2549 จึงเกินกำหนด 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1311-1312/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิลูกจ้างในการเรียกร้องค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน: การใช้สิทธิทางศาลหรือพนักงานตรวจแรงงาน
กรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ลูกจ้างเลือกใช้สิทธิเรียกร้องให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายได้ 2 ทาง โดยยื่นฟ้องคดีต่อศาลหรือยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน แต่เมื่อเลือกใช้สิทธิทางใดแล้วก็ต้องดำเนินการในทางนั้นจนสิ้นสุดกระบวนการ ไม่สามารถใช้สิทธิ 2 ทาง พร้อมกันได้
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2547 โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน แต่พนักงานตรวจแรงงานไม่ได้มีคำสั่งภายในระยะเวลาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 124 วรรคหนึ่งและวรรคสอง เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วในวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานภาค 6 ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินเช่นเดียวกับที่ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2548 พนักงานตรวจแรงงานยุติเรื่องโดยไม่ได้มีคำสั่ง เป็นกรณีที่พนักงานตรวจแรงงานยังไม่มีคำสั่ง โจทก์ทั้งสองจึงไม่อยู่ในบังคับต้องนำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตามมาตรา 125 วรรคหนึ่ง การที่พนักงานตรวจแรงงานยุติเรื่องทำให้กระบวนพิจารณาในชั้นพนักงานตรวจแรงงานยกเลิกไปทั้งหมด โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีจึงไม่เป็นการใช้สิทธิซ้ำซ้อนกับเรียกร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง
ขณะโจทก์ทั้งสองฟ้องศาลแรงงานภาค 6 เปิดทำการแล้วแต่ยังไม่มีผู้พิพากษาสมทบ ศาลแรงงานภาค 6 จึงโอนคดีไปยังศาลแรงงานกลาง หลังจากศาลแรงงานกลางเสร็จการพิจารณาและนัดฟังคำพิพากษาปรากฏว่าศาลแรงงานภาค 6 มีผู้พิพากษาสมทบพร้อมปฏิบัติหน้าที่แล้ว ศาลแรงงานภาค 6 จึงขอให้ศาลแรงงานกลางโอนคดีกลับมาพิจารณาพิพากษา เมื่อโอนคดีกลับมาแล้วผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางย่อมหมดอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ แม้รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) มาตรา 236 บัญญัติว่าผู้พิพากษาซึ่งมิได้นั่งพิจารณาคดีใดจะทำคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยคดีนั้นมิได้ แต่มีข้อยกเว้นในกรณีมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ดังนั้นการที่ ช. และ ร. ผู้พิพากษาสมทบของศาลแรงงานภาค 6 ไม่เคยนั่งพิจารณาคดีนี้ถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นอื่น อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 6 ผู้มีอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 16 ย่อมมีอำนาจจัดให้ผู้พิพากษาสมทบอื่นเข้าปฏิบัติการแทนได้ตามมาตรา 20 ช. และ ร. ผู้พิพากษาสมทบองค์คณะในคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 6 จึงมีอำนาจวินิจฉัยและทำคำพิพากษาได้ ส่วน น. ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแรงงานภาค 6 ซึ่งนั่งพิจารณาคดีมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นก็ได้รับคำสั่งให้ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแห่นงผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแรงงานกลางอีกตำแหน่งหนึ่งก่อนโจทก์ทั้งสองฟ้องคดี น. จึงมีอำนาจวินิจฉัยและทำคำพิพากษาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8631/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้าง การจ่ายค่าชดเชย ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และการโต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงาน
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 123 วรรคหนึ่ง เป็นการให้สิทธิลูกจ้างเลือกที่จะนำคดีเสนอต่อศาลแรงงานหรือยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานดำเนินการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ ทางใดทางหนึ่ง หากลูกจ้างเลือกที่จะใช้สิทธิทางใดแล้วก็จะต้องดำเนินการในทางนั้นจนสุดสิ้นกระบวนการ ไม่อาจใช้สิทธิในอีกทางหนึ่งควบคู่ไปด้วยได้ การเลือกที่จะใช้สิทธิของลูกจ้างดังกล่าวย่อมเป็นไปตามความประสงค์ของลูกจ้าง ดังนั้น เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงาน โดยระบุในคำร้องว่าประสงค์จะเรียกร้องเพียงค่าจ้างและค่าชดเชย จำเลยที่ 1 จึงต้องสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งเฉพาะเรื่องค่าจ้างและค่าชดเชยตามความประสงค์ของโจทก์ แต่ในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวที่ล่วงหน้านั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการ จำเลยที่ 1 จึงมิจำต้องสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งในเรื่องดังกล่าว อันเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 124 แล้ว
โจทก์มิได้ฟ้องเพียงแต่ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 125 เท่านั้น แต่ยังได้ฟ้องนายจ้างเป็นจำเลยที่ 2 และมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ในส่วนที่เกี่ยวกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่เรียกร้องโดยตรงต่อจำเลยที่ 2 จึงมิใช่สิทธิได้รับเงินที่โจทก์เลือกดำเนินการต่อพนักงานตรวจแรงงานที่จะต้องดำเนินการจนสุดสิ้นกระบวนการแต่เป็นการฟ้องบังคับแก่จำเลยที่ 2 โดยตรง เมื่อศาลแรงงานภาค 8 เห็นว่า จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงพิพากษาให้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและดอกเบี้ยได้
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจำเลยที่ 1 ที่วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้ถูกเลิกจ้างจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย พร้อมกับฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย ประเด็นแห่งคดีที่ศาลแรงงานภาค 8 จะต้องพิพากษาจึงมีว่า มีเหตุเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจำเลยที่ 1 หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายแก่โจทก์หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานภาค 8 ว่าจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์ โดยไม่เข้ากรณีหนึ่งกรณีใดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 119 และไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 17 ซึ่งจำเลยที่ 2 จะต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ จึงได้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ 1 ในส่วนของค่าชดเชยอันมีผลเป็นการทำลายคำสั่งจำเลยที่ 1 ที่วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้ถูกเลิกจ้างจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย และในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าก็ไม่ปรากฏในคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษาโดยให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดและจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ จึงชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ แล้ว
ศาลแรงงานภาค 8 รับฟังข้อเท็จจริงที่โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 มานานกว่า 10 ปี โดยโจทก์มีความสัมพันธ์เป็นญาติใกล้ชิดกันกับหุ้นส่วนและหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 การจ่ายเงินเดือนก็ทำเพียงนำเงินสดใส่ซองมอบให้ แต่จำเลยที่ 2 ไม่จ่ายเงินเดือนประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ให้โจทก์ตามกำหนดและโจทก์กับพี่ชายของจำเลยที่ 2 มีสาเหตุโกรธเคืองกันและมีเหตุการณ์ยกเลิกหนังสือมอบอำนาจการไม่อนุญาตให้ใช้รถกระบะ การไม่ชำระค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ ตลอดจนการเปลี่ยนกุญแจทางขึ้นห้องพักที่สอดรับกับการไม่จ่ายเงินเดือน แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์จะให้โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างอีกต่อไปจึงเลิกจ้างโจทก์ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ยกเอาบางส่วนของคำวินิจฉัยของศาลแรงงานภาค 8 มาแปลความว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ ถือว่าเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 8 เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 637/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องค่าจ้างควบคู่กับการร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน: ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาจนกว่าการดำเนินการของพนักงานตรวจแรงงานสิ้นสุด
ก่อนที่โจทก์ทั้งสามจะฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ โจทก์ทั้งสามได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่าจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดและประสงค์ให้พนักงานตรวจแรงงานดำเนินการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 123 วรรคหนึ่ง ซึ่งในกรณีนี้โจทก์ทั้งสามอาจจะเลือกที่จะใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลแรงงานได้ โดยจะต้องใช้สิทธิในทางใดทางหนึ่ง แต่จะใช้สิทธิพร้อมกันทั้งสองทางไม่ได้ เมื่อโจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้วโจทก์ทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิที่จะฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางจนกว่าการดำเนินการของพนักงานตรวจแรงงานจะสิ้นสุด ศาลแรงงานย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามที่ฟ้องเรียกเอาเงินค่าจ้างค้างจ่ายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ข้อกฎหมายนี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142, 246 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10277-10288/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องค่าจ้างควบคู่กับการร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน: โจทก์เลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งได้เท่านั้น
โจทก์ทั้งสิบสองคนยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่าจำเลยเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยไม่ชอบ แม้ไม่ได้ร้องเรียนเรื่องค่าจ้างโดยตรง แต่ก็เห็นได้ว่าโจทก์กับจำเลยจะต้องพิพาทกันด้วยเงินค่าจ้างในระหว่างวันเวลาที่จำเลยไม่ยินยอมให้โจทก์ทำงาน จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่าจำเลยผู้เป็นนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใด และประสงค์ให้พนักงานตรวจแรงงานดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าจ้างจากจำเลย ซึ่งมีมูลคดีสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าวต่อศาลแรงงานกลางจนกว่าการดำเนินการของพนักงานตรวจแรงงานจะสิ้นสุด
of 2