คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 124 วรรคสาม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 25 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิไล่เบี้ยค่าแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน: ผู้รับเหมาชั้นต้นมีสิทธิไล่เบี้ยจากผู้รับเหมาช่วงที่เป็นนายจ้างเท่านั้น
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 12 หมายความว่า หากผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างมีค่าจ้างหรือเงินอื่นที่ต้องจ่ายแก่ลูกจ้าง ผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปจนถึงผู้รับเหมาชั้นต้นต้องร่วมรับผิดกับผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างในค่าจ้างหรือเงินอื่นที่ต้องจ่ายแก่ลูกจ้างนั้นด้วย และเมื่อผู้รับเหมาชั้นต้นหรือผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปจ่ายค่าจ้างหรือเงินอื่นที่ต้องจ่ายแทนผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างไปแล้วก็ให้มีสิทธิไล่เบี้ยเงินดังกล่าวคืนจากผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างได้ บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้สิทธิแก่ผู้รับเหมาชั้นต้นที่จ่ายเงินไปแล้วไล่เบี้ยเรียกเงินคืนจากผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปซึ่งไม่ได้เป็นนายจ้างได้ เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่า ก. เป็นผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างมีค่าจ้างค้างจ่ายต่อลูกจ้างของตน และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นนำเงินดังกล่าวไปวางที่ศาลจังหวัดภูเขียวเพื่อชำระให้แก่ลูกจ้างของ ก. และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดตามคำสั่งของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชัยภูมิ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเรียกเงินข้างต้นคืนจาก ก. ผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างที่แท้จริงได้ แต่หาอาจไล่เบี้ยเรียกเงินคืนจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปแต่มิได้เป็นนายจ้างด้วยไม่ ดังนั้น โจทก์ย่อมไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องชำระเงินค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมดอกเบี้ย 117,067 บาท คืนให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 12 วรรคสอง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิขอนำเงินดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับเงินที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระแก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง, 124 วรรคสาม และมาตรา 125 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง หมายความว่า เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ลูกจ้าง เมื่อพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนแล้วปรากฏว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ลูกจ้าง ถ้านายจ้างมิได้นำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง ให้คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวนั้นเป็นที่สุด เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่า เจ้าพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้ทั้งโจทก์ จำเลยที่ 1 และ ก. ร่วมกันรับผิดใช้ค่าแรงงานแก่ลูกจ้างของ ก. โจทก์ไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดย่อมหมายความเพียงว่า โจทก์ต้องร่วมรับผิดต่อลูกจ้างด้วยเท่านั้น แต่ในการพิจารณาการใช้สิทธิไล่เบี้ย ตามมาตรา 12 ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความว่า ผู้ใดอาจถูกใช้สิทธิไล่เบี้ยโดยผู้รับเหมาชั้นต้นหรือผู้รับเหมาช่วงซึ่งได้จ่ายเงินไปได้บ้าง ซึ่งผู้ที่อาจถูกใช้สิทธิไล่เบี้ยได้คือผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างก็คือ ก. เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13140/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าคอมมิสชันเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจสั่งจ่ายได้
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 คำว่า "ค่าจ้าง" หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนหรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้นค่าจ้างจึงเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างตามระยะเวลาการทำงานหรือเงินที่นายจ้างจ่ายโดยคำนวณตามผลงานก็ได้
ค่าคอมมิสชันเป็นเงินที่โจทก์จะจ่ายให้ลูกจ้างตามยอดของรถยนต์ที่ลูกจ้างจำหน่ายได้ ค่าคอมมิสชันจะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนรถยนต์ที่ลูกจ้างจะจำหน่ายได้ ค่าคอมมิสชันจึงเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานในการจำหน่ายรถยนต์ของลูกจ้าง โดยคำนวณจ่ายตามผลงานการขายรถยนต์แต่ละคันและมีกำหนดจ่ายทุกเดือน ค่าคอมมิสชันจึงเป็นค่าจ้าง เมื่อโจทก์ไม่จ่ายค่าคอมมิสชันของเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ให้แก่ น. และค่าคอมมิสชันนั้นเป็นค่าจ้างอันเป็นเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานจึงมีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินค่าคอมมิสชันให้แก่ น. ลูกจ้างได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง และมาตรา 124 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6492/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีแรงงาน: การเพิกถอนคำสั่งจ่ายค่าชดเชย และความรับผิดของหน่วยงานราชการ
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคสาม โดยอ้างว่าคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายที่สั่งว่า ส. ไม่ได้กระทำผิดกรณีร้ายแรงตามมาตรา 119 และให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่ ส. ทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม ดังนี้ ฟ้องของโจทก์จึงมิใช่เป็นการฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ทำละเมิดต่อโจทก์ และการออกคำสั่งที่ 60/2553 ของจำเลยที่ 3 ได้กระทำไปโดยอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคสาม หากโจทก์ไม่พอใจคำสั่งก็ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ตามมาตรา 125 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 2 มีหนังสือถึงโจทก์เพื่อส่งคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานให้แก่โจทก์ ก็เป็นการปฏิบัติราชการในส่วนงานสารบรรณของทางราชการเท่านั้น จำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกคำสั่งดังกล่าวแต่ประการใด เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ก็มิได้มีส่วนต้องร่วมรับผิด ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12685/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างและการจ่ายค่าชดเชย/สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แม้มีการเลิกจ้างโดยไม่เป็นหนังสือ
คดีนี้โจทก์นายจ้างฟ้องขอให้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนคำสั่งของจำเลยพนักงานตรวจแรงงาน ที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ จ. ลูกจ้างโดยศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เลิกจ้าง จ. มีผลสมบูรณ์แล้วตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ดังนั้น สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับ จ. จึงสิ้นสุดลงและมีผลตามกฎหมายนับตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิเพิกถอนการเลิกจ้างนั้นได้อีก แม้ว่าในภายหลังโจทก์จะพบเรื่องที่อ้างว่า จ. กระทำผิดระเบียบวินัยร้ายแรงกรณีละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงาน ติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร การทะเลาะวิวาท และการรับสินบน โจทก์จะยกเหตุดังกล่าวมาเป็นเหตุเลิกจ้างอีกครั้งหาได้ไม่ เพราะความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างระหว่างโจทก์กับ จ. ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว
แม้ จ. ยื่นคำร้องต่อจำเลยเรียกร้องเฉพาะค่าชดเชย และให้การว่าไม่ติดใจเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีกก็ตาม แต่สิทธิที่จะได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าของลูกจ้างเป็นสิทธิที่มีกฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ ในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง กรณีไม่อาจถือได้ว่าเป็นการสละสิทธิ และสิทธิที่จะได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหาได้ระงับสิ้นไปไม่ เพราะมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งคู่สัญญาตกลงระงับข้อพิพาทให้แก่กันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เมื่อสิทธิดังกล่าวคงมีอยู่ตามกฎหมาย ลูกจ้างจะใช้สิทธิเมื่อใดก็ได้ภายในอายุความตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติจำกัดสิทธิดังกล่าวของลูกจ้างในการยื่นคำร้องเพื่อให้ดำเนินการได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อจำเลยสอบสวนตามคำร้องของลูกจ้างแล้วปรากฏว่า ลูกจ้างมีสิทธิที่จะได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งเป็นเงินที่โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายตามกฎหมาย การที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง จึงเป็นคำสั่งตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคสาม คำสั่งของจำเลยที่สั่งให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7508-7528/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งคดีแรงงานต้องเกี่ยวเนื่องกับคำฟ้องเดิม หากไม่เกี่ยวเนื่อง ศาลไม่รับฟ้อง
ตามคำฟ้องเดิมของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่ได้ทำงานทุกวันเพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีวัตถุดิบซึ่งไม่ใช่ความผิดของโจทก์ จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างในช่วงที่โจทก์ไม่ได้ทำงานด้วย ต่อมาจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชย โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานซึ่งพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายค่าจ้างช่วงที่จำเลยที่ 1 ไม่มีงานให้โจทก์ทำและค่าชดเชยแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ดังนี้ คำฟ้องเดิมจึงเป็นการฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายเงินตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 124 วรรคสาม อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายต่อชื่อเสียงของจำเลยที่ 1 กรณีโจทก์ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานอันเป็นเท็จ ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียงนั้น เป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งไม่เกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงานเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างกันกับคำฟ้องเดิม ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
of 3