คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 125 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิไล่เบี้ยค่าแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน: ผู้รับเหมาชั้นต้นมีสิทธิไล่เบี้ยจากผู้รับเหมาช่วงที่เป็นนายจ้างเท่านั้น
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 12 หมายความว่า หากผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างมีค่าจ้างหรือเงินอื่นที่ต้องจ่ายแก่ลูกจ้าง ผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปจนถึงผู้รับเหมาชั้นต้นต้องร่วมรับผิดกับผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างในค่าจ้างหรือเงินอื่นที่ต้องจ่ายแก่ลูกจ้างนั้นด้วย และเมื่อผู้รับเหมาชั้นต้นหรือผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปจ่ายค่าจ้างหรือเงินอื่นที่ต้องจ่ายแทนผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างไปแล้วก็ให้มีสิทธิไล่เบี้ยเงินดังกล่าวคืนจากผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างได้ บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้สิทธิแก่ผู้รับเหมาชั้นต้นที่จ่ายเงินไปแล้วไล่เบี้ยเรียกเงินคืนจากผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปซึ่งไม่ได้เป็นนายจ้างได้ เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่า ก. เป็นผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างมีค่าจ้างค้างจ่ายต่อลูกจ้างของตน และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นนำเงินดังกล่าวไปวางที่ศาลจังหวัดภูเขียวเพื่อชำระให้แก่ลูกจ้างของ ก. และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดตามคำสั่งของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชัยภูมิ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเรียกเงินข้างต้นคืนจาก ก. ผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างที่แท้จริงได้ แต่หาอาจไล่เบี้ยเรียกเงินคืนจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงถัดขึ้นไปแต่มิได้เป็นนายจ้างด้วยไม่ ดังนั้น โจทก์ย่อมไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องชำระเงินค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมดอกเบี้ย 117,067 บาท คืนให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 12 วรรคสอง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิขอนำเงินดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับเงินที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระแก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง, 124 วรรคสาม และมาตรา 125 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง หมายความว่า เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ลูกจ้าง เมื่อพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนแล้วปรากฏว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ลูกจ้าง ถ้านายจ้างมิได้นำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง ให้คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวนั้นเป็นที่สุด เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่า เจ้าพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้ทั้งโจทก์ จำเลยที่ 1 และ ก. ร่วมกันรับผิดใช้ค่าแรงงานแก่ลูกจ้างของ ก. โจทก์ไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดย่อมหมายความเพียงว่า โจทก์ต้องร่วมรับผิดต่อลูกจ้างด้วยเท่านั้น แต่ในการพิจารณาการใช้สิทธิไล่เบี้ย ตามมาตรา 12 ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความว่า ผู้ใดอาจถูกใช้สิทธิไล่เบี้ยโดยผู้รับเหมาชั้นต้นหรือผู้รับเหมาช่วงซึ่งได้จ่ายเงินไปได้บ้าง ซึ่งผู้ที่อาจถูกใช้สิทธิไล่เบี้ยได้คือผู้รับเหมาช่วงซึ่งเป็นนายจ้างก็คือ ก. เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2068/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิลูกจ้างเรียกร้องค่าจ้างค้างอยู่ แม้ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการของนายจ้าง และนายจ้างไม่เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 เป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิผู้อื่นจึงต้องตีความอย่างเคร่งครัด และมาตรา 90/12 ก็ไม่มีข้อห้ามลูกจ้างยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ดังนั้นเมื่อศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของจำเลยไว้พิจารณาและมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยโดยจำเลยเป็นผู้ทำแทนแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจึงสามารถยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างชำระค่าจ้างค้างพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ได้ และพนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจออกคำสั่งได้ ทั้งนี้ไม่ว่าโจทก์จะได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้เดียวกันในคดีที่จำเลยขอฟื้นฟูกิจการหรือไม่ก็ตาม เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยชำระค่าจ้างค้างพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์และแจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของจำเลยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/25 ไม่ปฏิบัติตามและไม่ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งภายในกำหนด คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจึงเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสอง ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยอันมีผลเสมือนว่าไม่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานได้ และศาลแรงงานกลางสามารถถือตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานซึ่งเป็นที่สุดแล้วได้โดยไม่ต้องไต่สวนข้อเท็จจริงใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15349/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าว: กิจการที่ไม่แสวงหากำไรได้รับการยกเว้นตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสอง ประเด็นแห่งคดีจึงมีเพียงว่า มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าซึ่งจำเลยไม่ได้มีคำสั่งให้เสียดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวหรือไม่เท่านั้น ทั้งคดีนี้ลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับเงินตามคำสั่งของจำเลยก็ไม่ได้เข้ามาในคดีเพื่อเรียกร้องดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าว การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาล่วงเลยไปให้โจทก์เสียดอกเบี้ยจากต้นเงินค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง มิใช่กรณีเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52
โจทก์เป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ที่ต้องดำเนินกิจการภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายและข้อบังคับของโจทก์ ข้อบังคับของโจทก์แสดงถึงวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการของโจทก์ว่าเป็นไปเพื่อบริการสาธารณะ อาทิ เพื่อบำรุงรักษาระบบสาธารณูปโภค ดูแลรักษาความปลอดภัย การจราจร ความสะอาด จัดการดูแลรักษาและซ่อมแซมบรรดาทรัพย์สินส่วนกลาง อันเป็นการกระทำโดยมีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสมาชิกในหมู่บ้าน แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับงานบัญชีและการเงินจะกำหนดให้โจทก์สามารถจัดหารายได้จากแหล่งต่าง ๆ ได้ เช่น ค่าสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะรายเดือนที่เรียกเก็บจากสมาชิกหมู่บ้าน รายได้จากการจัดกิจกรรมต่าง ๆ รายได้จากค่าสัมปทานหรือค่าสิทธิในการใช้ประโยชน์พื้นที่สโมสร แต่รายได้ที่โจทก์ได้รับมาก็นำมาเป็นค่าใช้จ่ายตามที่ระบุไว้ในระเบียบ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์นำเงินรายได้ที่หามาได้นั้นมาจัดสรรหรือแบ่งปันผลกำไรระหว่างกัน การที่โจทก์ให้บุคคลภายนอกเช่าสิทธิในสโมสรของโจทก์ หารายได้ก็เป็นไปเพื่อการจัดการดูแล บำรุงรักษาสโมสรซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนกลางให้อยู่ในสภาพที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ดี จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ดำเนินกิจการเพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ กรณีจึงมิให้ใช้บทบัญญัติหมวด 11 ค่าชดเชยตั้งแต่มาตรา 118 ถึงมาตรา 122 บังคับแก่โจทก์ตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ (3) โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยตามคำสั่งของจำเลยแก่ลูกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7097/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุดเมื่อนายจ้างไม่นำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ และพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างแก่โจทก์จำนวน 50,000 บาท ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 124 ซึ่งตามมาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง" และวรรคสองบัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด ให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุด" เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า พนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ที่ 13/2546 ให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจและเป็นนายจ้างของโจทก์จ่ายเงินค่าจ้างเป็นเงิน 50,000 บาท แก่โจทก์ แล้วจำเลยทั้งสองไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่ทราบคำสั่ง คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ที่ 13/2546 จึงเป็นที่สุด ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 125 วรรคสอง บทบัญญัติดังกล่าวยังถือเป็นขั้นตอนและวิธีการนำคดีไปสู่ศาลตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา 8 วรรคท้าย ดังนั้น จำเลยทั้งสองจะดำเนินการใดในเรื่องเดียวกันที่ศาลแรงงานกลางอีกไม่ได้ ซึ่งรวมตลอดถึงการให้การต่อสู้คดี จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิให้การต่อสู้คดีว่าจำเลยทั้งสองไม่เคยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสอง แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระแก่โจทก์ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ที่ 13/2546 จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4029/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ที่ถึงที่สุดแล้ว ผูกพันจำเลยต้องปฏิบัติตาม
โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 123 และพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยมิได้นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 125 วรรคสอง และผูกพันจำเลยให้ต้องปฏิบัติตาม จำเลยจะอุทธรณ์ว่ายังมีประเด็นที่ศาลแรงงานภาค 9 ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์กับจำเลยเป็นลูกจ้างนายจ้างกันเสียก่อน ซึ่งเป็นการโต้แย้งคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานอันถึงที่สุดแล้วหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2192/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุดเมื่อจำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาล ศาลไม่รับฟ้องแย้งเรื่องยักยอกทรัพย์
โจทก์ฟ้องว่าพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งที่ 31/2545 สั่งให้จำเลยชำระค่าจ้างและเงินประกันแก่โจทก์ พ้นกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติแล้วจำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 31/2545 การที่จำเลยไม่นำคดีไปสู่ศาลทำให้คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 125 วรรคสอง ซึ่งจำเลยต้องปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานนั้นไม่มีสิทธินำคดีในเรื่องเดียวกันนี้ไปสู่ศาลอีก ตามคำฟ้องจึงเป็นกรณีโจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานอันเป็นที่สุดแล้ว ไม่เกี่ยวกับเรื่องโจทก์ยักยอกทรัพย์จำเลย ที่จำเลยฟ้องแย้งว่าโจทก์ยักยอกทรัพย์ของจำเลย โจทก์ต้องชดใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกโดยจำเลยขอนำเงินตามจำนวนที่พนักงานตรวจแรงงานสั่งให้จำเลยชำระมาหักกับราคาทรัพย์แล้วให้โจทก์ชำระส่วนที่เหลือจึงไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 252/2547 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุดเมื่อนายจ้างไม่ฟ้องคัดค้านภายในกำหนด ศาลมีอำนาจบังคับได้
ความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 125 วรรคสอง ที่บัญญัติว่าในกรณีที่นายจ้างหรือลูกจ้างไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุด ต่อเนื่องมาจากความในวรรคหนึ่งที่ว่าเมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้างหรือลูกจ้างไม่พอใจคำสั่งนั้นให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งซึ่งเป็นการเปิดโอกาสหรือให้สิทธิแก่นายจ้างหรือลูกจ้างที่ไม่เห็นชอบด้วยกับคำสั่งนำคดีไปฟ้องศาลเพื่อให้ตรวจสอบคำสั่งดังกล่าวอีกชั้นหนึ่งแต่หากนายจ้างหรือลูกจ้างไม่ประสงค์จะใช้สิทธิดังกล่าว แสดงว่านายจ้างหรือลูกจ้างไม่มีข้อโต้แย้งคำสั่งดังกล่าว ความในวรรคสองจึงบัญญัติให้เป็นที่สุด ซึ่งหมายถึงเป็นที่สุดสำหรับนายจ้างหรือลูกจ้างด้วย มิใช่เป็นที่สุดเฉพาะในทางบริหาร
เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุด จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม จะโต้แย้งหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้อีกไม่ได้ กรณีมิใช่เรื่องการนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 8 วรรคสอง มาตัดสิทธิในการต่อสู้คดีของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการบังคับใช้หรือตีความกฎหมายโดยชอบแล้ว