คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
กมล เพียรพิทักษ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4,667 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3087-3095/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ งานขนส่งทางบก ค่าล่วงเวลา/ค่าตอบแทน และดอกเบี้ยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยได้แถลงรับข้อเท็จจริงและท้ากัน เพื่อให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า งานที่โจทก์ทั้งเก้าทำเป็นงานขนส่งทางบกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12/2541 ออกตามความใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือไม่ ไม่มีประเด็นว่าโจทก์ทั้งเก้าได้ให้ความยินยอมเป็นหนังสือในการทำงานล่วงเวลา และถือเป็นการตกลงทำงานล่วงเวลาโดยปริยายหรือไม่ รวมทั้งจะถือว่าจำเลยได้ตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้งเก้าโดยปริยายหรือไม่รวมอยู่ด้วย การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์ทั้งเก้าโดยปริยายจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นคำท้าซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยย่อมไม่มีสิทธิยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาอุทธรณ์อีก
เมื่อปรากฏตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่างานที่โจทก์ทั้งเก้าทำเป็นงานขนส่งทางบก โจทก์ทั้งเก้าจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามคำท้า แต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในอัตรา 1 เท่าของค่าจ้างในวันทำงานปกติ ส่วนดอกเบี้ยนั้นเมื่อปรากฏว่าเงินที่โจทก์ทั้งเก้ามีสิทธิได้รับเป็นเงินค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลา มิใช่ค่าล่วงเวลาที่จะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ได้ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง จึงเป็นหนี้เงินที่คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2784/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: อำนาจฟ้อง แม้ไม่ได้ร้องต่อ ก.ล.ต. ตาม พ.ร.บ.แรงงาน
การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร บางกรณีอาจเป็นได้ทั้งการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 121 หรือมาตรา 123 และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49 ด้วย โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายที่โจทก์ทำอยู่ถูกยุบอันเป็นความเท็จ เพราะตำแหน่งงานดังกล่าวยังไม่ได้ถูกยุบ แต่จำเลยใช้กลอุบายเลิกจ้างโจทก์โดยโอนกิจการที่โจทก์ทำอยู่ไปให้บริษัท ฮ. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของจำเลยดำเนินกิจการแทน แต่ก็ยังคงใช้พนักงานเดิมและสถานที่เดิมของจำเลยและต่อมาจำเลยกับบริษัท ฮ. ก็รับลูกจ้างใหม่เข้าทำงานในตำแหน่งของโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานโดยให้โจทก์ได้รับสิทธิและผลประโยชน์ตามเดิมนั้น เห็นได้ว่า เป็นการฟ้องเรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49 ส่วนที่โจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาหนังสือพิมพ์ บ. และเป็นผู้เข้าร่วมกับสมาชิกคนอื่นในการต่อสู้ขัดขวางการกระทำที่ไม่เป็นธรรมของฝ่ายบริหารจำเลยนั้น ก็เพื่อสนับสนุนคำฟ้องของโจทก์ในเรื่องเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โจทก์มิได้มุ่งประสงค์จะกล่าวหาว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯมาตรา 121 หรือมาตรา 123 แต่อย่างใด ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก่อนตามมาตรา 124 โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้าง การจ่ายเงินบำเหน็จและค่าหยุดพักผ่อนประจำปี และความผิดตามระเบียบข้อบังคับของบริษัท
คำว่า สุจริต ในป.พ.พ. มาตรา 583 มิได้หมายความว่าโจทก์จะต้องกระทำการโดยไม่ทุจริต แต่กรณีนี้มีความหมายว่า โจทก์ทราบถึงเหตุที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างแล้ว แต่โจทก์มิได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความรอบคอบเต็มความสามารถ โดยมิได้แจ้งพนักงานรักษาความปลอดภัยทั้งหมดให้เข้มงวดตรวจตราคนเข้าออกภายในอาคารจึงเกิดความเสียหายขึ้น เป็นความประพฤติที่ไม่ชอบด้วยหน้าที่หัวหน้าแผนกรักษาความปลอดภัยของโจทก์ตามความหมายคำว่า "สุจริต" ในบทกฎหมายดังกล่าวจำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และแม้จะฟังไม่ได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงก็ตาม แต่เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวโดยไม่ปรากฎว่าจำเลยกลั่นแกล้งโจทก์ จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตามพ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49
โจทก์กระทำผิดเพียงแต่ไม่ได้กำชับให้พนักงานรักษาความปลอดภัยทุกคนตรวจตราเคร่งครัดมิให้ผู้ไม่มีสิทธิใช้ลิฟต์ของผู้บริหารขึ้นไปบนอาคาร ชั้น 8 อันเป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ประกอบกับจำเลยได้รับความเสียหายเพียงเครื่องคอมพิวเตอร์หายไป 2 เครื่องเท่านั้น การกระทำผิดของโจทก์จึงมิใช่การฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับกรณีร้ายแรง ตามพ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน มาตรา 119(3)
ข้อมูลที่บันทึกอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ถูกลักไป เป็นข้อมูลความลับทางการค้าของจำเลย หากถูกเปิดเผยไปยังบริษัทคู่แข่งทางการค้าจำเลยจะได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่งประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คู่มือพนักงานของจำเลยระบุว่า เงินบำเหน็จ คือเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานที่พ้นสภาพการเป็นพนักงานโดยไม่มีความผิดตามข้อกำหนด ส่วนมากเงินดังกล่าวนายจ้างจะจ่ายให้เพื่อตอบแทนที่ลูกจ้างทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตลอดมาจนออกจากงานข้อกำหนดดังกล่าวย่อมรวมถึงข้อกำหนดหน้าที่การงานของโจทก์ การที่โจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อกำหนดดังกล่าวทำให้คนร้ายขึ้นไปลักเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยไปได้ 2 เครื่อง กรณีจึงถือได้ว่า โจทก์กระทำผิดตามข้อกำหนด จึงไม่มีสิทธิได้เงินบำเหน็จ
จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2542 ซึ่งโจทก์ทำงานไม่ครบปี การจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2542 จึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 67 ปรากฎว่า โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี 7 วัน แต่โจทก์ทำงานในปี 2542 เพียง 6 เดือน 15 วัน ซึ่งคำนวณตามส่วนแล้ว โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2542 จำนวน 3.79 วัน เมื่อรวมกับปี 2541 แล้วโจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีรวม 10.79 วัน คิดเป็นเงินจำนวน 7,328.20 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2228/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การย้ายสถานประกอบกิจการต้องเป็นการย้ายไปยังสถานที่อื่นที่นายจ้างไม่มีอยู่ก่อน ไม่ใช่การย้ายไปยังสาขาเดิม
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 120 บัญญัติยกเว้นพิเศษให้นายจ้างมีความรับผิดมากขึ้นกว่าปกติในค่าชดเชยพิเศษและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด ตามมาตรา 120 หมายถึงกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปสถานที่อื่นหรือสถานที่แห่งใหม่ มิได้หมายความรวมถึงสถานประกอบกิจการอื่นซึ่งนายจ้างมีอยู่ก่อนแล้ว
ขณะจำเลยสั่งย้ายโจทก์จากสำนักงานที่กรุงเทพมหานครให้ไปทำงานที่หน่วยงานของจำเลยในจังหวัดภูเก็ตนั้น จำเลยมีสถานประกอบกิจการที่จังหวัดภูเก็ตอยู่ก่อนแล้ว จึงเป็นกรณีนายจ้างสั่งย้ายลูกจ้างให้ไปทำงานที่สถานประกอบกิจการของนายจ้างอีกแห่งหนึ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการตามมาตรา 120 เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยพิเศษและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2228/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การย้ายลูกจ้างไปทำงานที่สถานประกอบกิจการเดิมของนายจ้าง ไม่ถือเป็นการย้ายสถานประกอบกิจการตามกฎหมาย
จำเลยมีคำสั่งปิดสำนักงานแผนกการขายที่กรุงเทพมหานครและย้ายพนักงานขายทั้งหมดไปทำงานที่หน่วยงานของจำเลยในจังหวัดภูเก็ต โดยขณะจำเลยสั่งย้ายโจทก์จำเลยมีสถานประกอบกิจการที่จังหวัดภูเก็ตอยู่ก่อนแล้ว จึงเป็นกรณีนายจ้างสั่งย้ายลูกจ้างให้ไปทำงานที่สถานประกอบกิจการของนายจ้างอีกแห่งหนึ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ จึงไม่เป็นกรณีที่จำเลยย้ายสถานประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 120 โจทก์ไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยพิเศษและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1921/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดค่าจ้างต้องแจ้งข้อเรียกร้องหรือตกลงโดยปริยายได้ หากนายจ้างประสบวิกฤตและลูกจ้างยินยอม
การตกลงกำหนดค่าจ้างโจทก์และลูกจ้างอื่นเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหากจำเลยผู้เป็นนายจ้างประสงค์จะลดค่าจ้างอันเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจำเลยต้องแจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างและดำเนินการตามขั้นตอนจนมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับใหม่ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ หรือจำเลยจะตกลงกับลูกจ้างแต่ละคนไว้เป็นหนังสือหรือโดยปริยายให้จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็ได้ การที่จำเลยประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ จึงขอลดค่าจ้างของโจทก์และลูกจ้างอื่น โดยจำเลยเรียกประชุมผู้จัดการทุกฝ่ายรวมทั้งโจทก์เพื่อแจ้งเรื่องการลดเงินเดือน แล้วให้ผู้จัดการแต่ละฝ่ายแจ้งพนักงานในฝ่ายของตนทราบต่อไป ซึ่งหลังจากนั้นได้มีการลดเงินเดือนพนักงานโดยโจทก์และลูกจ้างอื่นไม่คัดค้านและยอมรับเงินเดือนในอัตราใหม่ตลอดมา จึงถือได้ว่าโจทก์และลูกจ้างอื่นต่างตกลงโดยปริยายให้จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องอัตราค่าจ้างได้ จำเลยจึงมีสิทธิลดค่าจ้างโจทก์ได้ โดยชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1885-1890/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีแรงงานที่มิชอบ: การไม่ครบองค์คณะและเลื่อนคดีเกินกำหนด ผู้เสียหายต้องคัดค้านทันที
การนั่งพิจารณาคดีของศาลแรงงานต้องมีผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละเท่า ๆ กัน เป็นองค์คณะพิจารณา และต้องนั่งพิจารณาติดต่อกันไปโดยไม่ต้องเลื่อน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นที่สำคัญและจะเลื่อนครั้งหนึ่งได้ไม่เกิน7 วันตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 17และมาตรา 45 วรรคสาม หากโจทก์เห็นว่าศาลแรงงานกลาง มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องในการพิจารณาอันเป็นการผิดระเบียบ โจทก์ต้องยื่นคำคัดค้านก่อนมีคำพิพากษาแต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ทราบการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31 เมื่อโจทก์มิได้คัดค้านจนกระทั่งศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาแล้วโจทก์จะมาอุทธรณ์ในภายหลังหาชอบไม่ ต้องถือว่าการพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1821/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดตามกำหนด สิทธิค่าชดเชยพิจารณาจากระยะเวลาทำงานรวม
เมื่อลูกจ้างทำงานให้นายจ้างถึงวันที่ครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างแรงงาน สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง นายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง
สัญญาจ้างแรงงานที่มีการแบ่งทำสัญญาจ้างเป็นช่วงสั้น ๆ หลายช่วงโดยมีการกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาเป็นช่วง ๆ ต่อเนื่องกัน เพื่อแสดงว่าลูกจ้างไม่ได้ทำงานติดต่อกัน ถือว่านายจ้างมีเจตนาไม่ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย จึงต้องนับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิของลูกจ้างนั้นตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 20

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1615/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันข้อตกลงสภาพการจ้าง แม้ลงลายมือชื่อภายหลัง และขอบเขตอำนาจตัวแทนลูกจ้าง
โจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องฉบับลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2542 แต่โจทก์ลงลายมือชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าวในภายหลังก่อนที่จำเลยจะยื่นข้อเรียกร้องต่อลูกจ้าง ซึ่งต่อมาก็ได้มีการเจรจาและตกลงกันได้ ทั้งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มิได้ห้ามลูกจ้างลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องเพิ่มเติม จึงถือว่าโจทก์เป็นผู้ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้อง ดังนั้นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งเกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องย่อมมีผลผูกพันโจทก์ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องของทั้งนายจ้างและลูกจ้างย่อมมีทั้งการขอให้เพิ่มและลดเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์อันเกี่ยวกับการจ้างและทำงานซึ่งนายจ้างและลูกจ้างต่างก็มีสิทธิกระทำได้ตามเงื่อนไขและขั้นตอนในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เมื่อต่างฝ่ายต่างได้ยื่นข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเช่นนี้ แต่ละฝ่ายอาจจะได้สิทธิเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามที่เจรจาต่อรองกันมิใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้สิทธิเพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียวโดยลดลงไม่ได้การกระทำของผู้แทนลูกจ้างที่ได้ร่วมเจรจากับนายจ้างตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว จึงอยู่ภายในขอบอำนาจและผูกพันลูกจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1582/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าทดแทนเงินทดแทน: บาดเจ็บนิ้วมือหลายนิ้ว ถือเป็นบาดเจ็บกระดูกหลายแห่ง
นิ้วมือแต่ละนิ้วต่างเป็นองคาพยพของร่างกายแยกเป็นอิสระจากกัน และมีสมรรถภาพในการใช้งานแตกต่างกันไป กฎหมายจึงกำหนดความสำคัญของนิ้วมือแต่ละนิ้วไว้ลดหลั่นกันตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง กำหนดระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนและหลักเกณฑ์และวิธีคำนวณค่าจ้างรายเดือนฯ ซึ่งออกตามความในมาตรา 6 และมาตรา 18(2)(3) วรรคสาม และวรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทนฯ ข้อ 2,3 ที่ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนแก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายสูญเสียนิ้วไว้แต่ละนิ้วไว้มากน้อยกว่ากันเรียงเป็นลำดับจากนิ้วหัวแม่มือไปหานิ้วก้อยทั้งกรณีสูญเสียนิ้วมือทั้งนิ้วและบางส่วน ดังนั้น การที่ ป. ประสบอันตรายได้รับบาดเจ็บที่กระดูกนิ้วมือข้างขวาทั้งห้านิ้วจึงเป็นการบาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่งและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 ฯ ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติเงินทดแทนฯ ข้อ 2(2)
of 467