คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 336 ทวิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 101 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4149/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้องอาญา, การปรับบทกฎหมาย, และการลดโทษที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน โดยบรรยายแยกรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาที่กระทำความผิด จำนวนและราคาทรัพย์ที่ถูกลักในแต่ละครั้งตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฟ้องโจทก์จึงเป็นความผิดหลายกระทง ซึ่งโจทก์รวมมาในฟ้องเดียวกันได้ เพียงแต่ให้แยกกระทงเรียงเป็นลำดับกันไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 มีใจความว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยทั้งสองโดยใช้รถบรรทุกเป็นยานพาหนะเพื่อการพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุม จึงไม่ได้แยกต่างหากจากฟ้องข้อ 1.2 ถึง 1.8 แต่เป็นการบรรยายฟ้องต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน ซึ่งเมื่ออ่านคําฟ้องโดยรวมทั้งหมดแล้วถือว่า ฟ้องข้อ 1.2 ถึง 1.8 ได้กล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดแล้ว จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพโดยมิได้หลงต่อสู้ แสดงว่าจำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์ข้อ 1.2 ถึง 1.8 จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2648/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รับของโจร: แม้ฟ้องฐานลักทรัพย์ แต่พิพากษาลงโทษฐานรับของโจรได้ หากพฤติการณ์สอดคล้อง
โรงแรมของผู้เสียหายปิดกิจการตั้งแต่ปี 2559 ทั้งปักป้ายมีข้อความระบุว่า "ห้ามเข้า ห้ามบุกรุก ปิดกิจการ" และไม่มีผู้รักษาความปลอดภัยประจำอยู่ สุจริตชนโดยทั่วไปย่อมไม่เข้าไปในบริเวณดังกล่าว ช่วงเวลาเกิดเหตุ จำเลยขับรถจักรยานยนต์สามล้อผ่านหน้าโรงแรมของผู้เสียหาย อ.ร้องเรียกให้จำเลยช่วยลากรถเข็นล้อเลื่อนซึ่งบรรทุกบานไม้อัดยางช่องชาร์ปกลับบ้าน เมื่อเหตุเกิดเวลากลางคืนอันเป็นยามวิกาล ซึ่ง อ. พยานจำเลยเบิกความตอบคำถามค้านโจทก์ว่า พยานไปนำบานประตูไม้จากโรงแรม ร. ไม่ได้ขออนุญาตจากผู้ใด บานประตูไม้อัดยางช่องชาร์ปที่ อ. นำมามีจำนวนมากถึง 14 บาน จำเลยย่อมต้องตระหนักถึงความไม่สุจริตของ อ. และรับรู้ถึงความผิดปกติเกี่ยวกับแหล่งที่มาของบานประตูไม้อัดยางช่องชาร์ปว่าต้องเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการรับไว้ด้วยประการใด ๆ และช่วยพาเอาไปเสียซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ครบองค์ประกอบเป็นความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357 แล้ว แม้คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกับพวกลักทรัพย์ในเวลากลางคืน โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด หรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุมตาม ป.อ. มาตรา 334, 335, 336 ทวิ แต่เมื่อศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานรับของโจร อันเป็นกรณีซึ่งข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากที่กล่าวมาในคำฟ้อง แต่ไม่ใช่ข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรตามข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4423/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวการร่วมกับผู้กระทำโดยเจตนา vs. ตัวแทนโดยบริสุทธิ์: การพิสูจน์เจตนาและความรู้ในการกระทำความผิด
การกระทำอันจะถือเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 83 ได้นั้น บุคคลผู้ร่วมกระทำความผิดจะต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด และมีการกระทำโดยเจตนาที่จะร่วมกันกระทำความผิดนั้น จึงจะเป็นตัวการตามบทบัญญัติดังกล่าว แต่ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้ ตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม เมื่อพวกของจำเลยที่ขับรถแบ็กโฮเข้าขุดดินในที่ดินของผู้เสียหาย มิได้รู้เท็จจริงว่าดินที่ขุดออกไปเป็นของผู้เสียหายโดยเข้าใจว่าเป็นการขุดดินของจำเลย ก็ย่อมจะถือไม่ได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง แต่ต้องถือว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความเองโดยอ้อมโดยใช้พวกของจำเลยเป็นตัวแทนโดยบริสุทธิ์ (Innocent Agent) เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดของจำเลยเอง เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังไม่ได้ความกระจ่างชัดว่าพวกของจำเลยรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดและมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยอันจะถือเป็นการลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป กรณีจึงต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นคุณแก่จำเลยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปโดยใช้ยานพาหนะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 540/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบรถยนต์ที่ใช้ขนทรัพย์หลังลักทรัพย์สำเร็จ ไม่ถือเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง
ป.อ. มาตรา 336 ทวิ บัญญัติให้ผู้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ต้องรับโทษหนักขึ้นกว่าที่บัญญัติไว้อีกกึ่งหนึ่ง กรณีที่มียานพาหนะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดสามกรณีคือ ผู้กระทำความผิดใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุมเท่านั้น มิใช่บัญญัติให้ถือว่ายานพาหนะนั้นเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด จำเลยทั้งสองกับพวกลักทรัพย์ลวดทองแดงสำเร็จแล้ว จึงนำลวดทองแดงของผู้เสียหายที่ลักมาซุกซ่อนบรรทุกในรถกระบะของกลางพาลวดทองแดงนั้นไป รถกระบะของกลางจึงไม่ใช่เครื่องมือหรือเป็นส่วนหนึ่งในการลักทรัพย์อันเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงและไม่ใช่ทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด อันจะพึงริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6152/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐานเชื่อมโยงแผนประทุษกรรมร่วมกันกระทำความผิด แม้ไม่มีการบรรยายฟ้องรายละเอียด
แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องว่า น. เห็นจำเลยและรับเงินจากจำเลยในการส่งข้าวสาร วันที่ 12 สิงหาคม 2558 แต่ศาลฎีกาสามารถรับฟังข้อเท็จจริงของการกระทำผิดในวันดังกล่าวประกอบกับข้อเท็จจริงในการกระทำความผิดของวันที่ 11 กรกฎาคม 2558 ตามฟ้องคดีนี้ได้ เพราะโจทก์ได้นำสืบไว้ในคดีนี้แล้ว ซึ่งสามารถเห็นได้ถึงแผนประทุษกรรมของคนร้าย คือ วิธีการและขั้นตอนในการกระทำความผิดซึ่งซ้ำๆ กัน อันเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจวางแผนจับกุมคนร้ายพวกของจำเลยได้ ทั้งข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้เป็นเพียงผู้รับจ้างขนถ่ายข้าวสาร แต่เป็นพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกระทำความผิดโดยร่วมกับ ช. และพวกคนร้าย แบ่งหน้าที่กันทำโดยจำเลยทำหน้าที่ช่วยขนย้ายถ่ายเทข้าวสารที่พวกจำเลยใช้กลอุบายลักมาเพื่อให้พ้นการติดตามจับกุมของผู้เสียหายเพื่อเอาไว้ซึ่งข้าวสารนั้น อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนประทุษกรรมนั่นเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 797/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษเกินคำขอในฟ้องอาญา และผลของกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่งเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้อง" แม้โจทก์จะนำสืบข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 336 ทวิ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพโดยรับว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 กระทำความผิดตามบันทึกการจับ เอกสารหมาย จ.6 ก็ตาม แต่เมื่อคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ระบุมาตรา 336 ทวิ ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษสูงขึ้น อันเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามมาตรา 336 ทวิ ศาลย่อมไม่มีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ ได้ เพราะเป็นการเกินคำขอที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องทั้งกรณีมิใช่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ และวรรคห้า ปัญหาที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอ จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 3 มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และกรณีดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในลักษณะคดีที่ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 4 ที่มิได้ฎีกาให้มิต้องรับโทษดุจจำเลยที่ 3 ผู้ฎีกา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12681/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกในการลักทรัพย์ – การพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำรับสารภาพและคำร้องขอฝากขัง
โจทก์บรรยายฟ้องระบุไว้อย่างชัดเจนว่า จำเลยลักสร้อยคอทองคำ หนัก 3 บาท 1 เส้น พร้อมพระสมเด็จหลวงพ่อโสธร 1 องค์ ของ อ. ผู้เสียหายไป โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด การพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 335, 336 ทวิ ซึ่งข้อหาความผิดตามฟ้องมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นสอบคำให้การ และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง และข้อเท็จจริงย่อมรับฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด การพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะยกเอาข้อเท็จจริงตามคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหามาฟังว่าจำเลยใช้ยานพาหนะในการเดินทางไปมาเท่านั้น มิใช่จำเลยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไปมาเป็นเหตุยกฟ้องในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12681/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์ การพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำให้การและคำร้องขอฝากขัง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยลักสร้อยคอทองคำหนัก 3 บาท 1 เส้น พร้อมพระสมเด็จหลวงพ่อโสธร 1 องค์ ของ อ. ผู้เสียหายไป โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด การพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 335, 336 ทวิ ซึ่งข้อหาความผิดตามฟ้องมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นสอบคำให้การ และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง และข้อเท็จจริงย่อมรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด การพาทรัพย์นั้นไปและเพื่อให้พ้นการจับกุม ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะยกเอาข้อเท็จจริงตามคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2557 มาฟังว่าจำเลยใช้ยานพาหนะในการเดินทางไปมาเท่านั้น มิใช่ใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไปมาเป็นเหตุยกฟ้องในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12563/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักทรัพย์นายจ้างโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกในการกระทำความผิด ร่วมกันกระทำความผิด
แม้ในชั้นสอบสวนทั้ง ธ. และ อ. จะให้การต่อพันตำรวจตรี ส. พนักงานสอบสวนว่า จำเลยกับ พ. ร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาขายให้ ธ. 2 คัน และยังร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาขายให้ อ. อีก 1 คัน แต่ในชั้นพิจารณาทั้ง ธ. และ อ. ไม่ได้มาเบิกความยืนยันการกระทำผิดของจำเลย เพื่อให้จำเลยมีโอกาสถามค้านเพื่ออธิบายข้อเท็จจริง ย่อมทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ทั้งปรากฏจากคำให้การชั้นสอบสวนของ ธ. ว่า ก่อนรับซื้อรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน รตจ กรุงเทพมหานคร 284 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2551 พ. ได้โทรศัพท์มาติดต่อขายรถจักรยานยนต์ให้โดยอ้างว่าเป็นสิทธิพิเศษของตนที่มีสิทธิซื้อในราคาเริ่มเปิดประมูล แต่ต้องการขายสิทธิดังกล่าว ต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2551 พ. ขับรถกระบะของผู้เสียหายบรรทุกรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน รษต กรุงเทพมหานคร 653 มาขายให้อีกโดยขับมาคนเดียว กลับบอกว่าครั้งนี้เป็นสิทธิของตน ส่วนครั้งก่อนเป็นสิทธิของจำเลย พฤติการณ์ของ พ. ตามคำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่า จำเลยร่วมกระทำผิดกับ พ. หรือไม่ และตามคำให้การชั้นสอบสวนของ อ. ที่ว่า รถจักรยานยนต์ฮอนด้า หมายเลขทะเบียน วจม กรุงเทพมหานคร 424 มี พ. ขับมาขายโดยไม่ปรากฏว่ามีจำเลยเข้าไปมีส่วนร่วมกระทำผิดด้วยนั้นก็สอดคล้องกับที่ น. เบิกความว่า รถจักรยานยนต์คันดังกล่าว ต้องโทรศัพท์สอบถามจากบุคคลที่เคยมาประมูลซื้อรถ จึงทราบว่า พ. เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ไปขาย ดังนี้ ลำพังคำให้การชั้นสอบสวนของ ธ. และ อ. ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน จึงไม่อาจฟังลงโทษจำเลยได้
การที่จำเลยกับพวกคบคิดกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายซึ่งจอดไว้ในโกดัง แล้วจำเลยกับพวกช่วยกันยกรถจักรยานยนต์ขึ้นท้ายกระบะเพื่อให้ ส. บรรทุกออกไป ย่อมเล็งเห็นเจตนาได้ว่า จำเลยกับพวกประสงค์จะใช้รถกระบะเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป ส่วนรถกระบะซึ่งเป็นยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดจะเป็นของผู้ใดหาใช่ข้อสำคัญไม่ การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างโดยใช้ยานพาหนะซึ่งต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12148/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยประเด็นความผิดตาม ม.336 ทวิ เนื่องจากศาลชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องแล้ว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 335, 336 ทวิ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เข้าองค์ประกอบของความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 335 (7) (12) วรรคแรก และวรรคสอง ประกอบมาตรา 83 เท่ากับว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ จึงเป็นการไม่ชอบ
of 11