คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 336 ทวิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 101 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10319/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานทำร้ายสัตว์ ลักทรัพย์ และความผิดกรรมเดียวความผิดหลายบท ศาลฎีกาแก้ไขโทษจำคุก
การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันนำยาฆ่าแมลงใส่ในผลมะละกอให้ช้างกิน ช้างได้รับสารพิษทำให้ล้มลงกับพื้น ขณะที่ยังไม่ถึงแก่ความตายจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เลื่อยเหล็กตัดงาช้าง เป็นเหตุให้ช้างได้รับทุกขเวทนาอันไม่จำเป็นและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา แล้วจำเลยทั้งสามร่วมกันลักงาช้างไปโดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด การพาทรัพย์นั้นไปและเพื่อให้พ้นการจับกุม จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ร่วมกันฆ่าสัตว์โดยให้ได้รับทุกขเวทนาอันไม่จำเป็น และร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ แต่การกระทำดังกล่าวมุ่งประสงค์เพื่อลักงาช้างเป็นสำคัญ จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9888/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาอาญา: การรับคำสารภาพ, การนับโทษต่อ, และการไม่รับฎีกาในข้อเท็จจริง
จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 ต่อมาวันที่ 16 มีนาคม 2558 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยข้อ 2.4 ซึ่งจำเลยอาจฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 224 ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงให้จำเลยทราบ จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ แต่คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับว่าขอให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 5 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยข้อ 2.4 ชอบแล้ว และเมื่อฎีกาของจำเลยในข้อนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่วินิจฉัยมาแล้ว ประกอบกับผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาแล้ว จึงไม่เป็นการจำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบแต่อย่างใด
จำเลยฎีกาว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยมิได้มีเจตนาพิเศษใช้ยานพาหนะ เพื่อวัตถุประสงค์ในการขนย้ายทรัพย์หรือบรรทุกทรัพย์ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษหนักขึ้นกึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่วินิจฉัยให้นั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกใช้รถจักรยานยนต์ 1 คัน เป็นยานพาหนะบรรทุกทรัพย์ที่ลัก เพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือพาทรัพย์ไป เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยใช้ยานพาหนะเพื่อการกระทำความผิด อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัยให้ชอบแล้ว
แม้คำให้การจำเลย มีข้อความว่า จำเลยรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น โดยไม่ได้ระบุว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาลักทรัพย์หรือข้อหารับของโจรก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นได้สอบคำให้การจำเลยดังกล่าวแล้ว โดยศาลชั้นต้นได้บันทึกไว้ด้านบนซ้ายของคำให้การจำเลยดังกล่าวว่า สอบสวนจำเลยแล้วยืนยันให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์ นอกจากนี้ยังปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณา ว่าศาลชั้นต้นได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์ แต่ให้การปฏิเสธข้อหารับของโจร โดยจำเลยลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาลักทรัพย์ เมื่อข้อหาลักทรัพย์มิใช่เป็นข้อหาในความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานหนักกว่านั้น โจทก์จึงไม่ต้องนำพยานเข้าสืบให้ศาลฟังจนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง
จำเลยรับมาในฎีกาแล้วว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้ในวันเดียวกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 306/2557 ของศาลชั้นต้น ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 306/2557 ของศาลชั้นต้น โจทก์ย่อมไม่อาจแถลงต่อศาลชั้นต้นได้ว่าคดีอาญาหมายเลขดำที่ 306/2557 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยอย่างไร ถือได้ว่าความปรากฏต่อศาลและคู่ความชัดแจ้งแล้วว่าคดีอาญาหมายเลขดำที่ 306/2557 ของศาลชั้นต้นนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้วโดยไม่จำต้องให้โจทก์แถลงต่อศาลซ้ำอีก จึงนับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 306/2557 ซึ่งเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1104/2557 ของศาลชั้นต้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5513/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทลงโทษฐานลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ – จำเป็นต้องลงโทษตามมาตราที่หนักกว่า
คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรโดยบรรยายฟ้องว่า ในการร่วมกันลักทรัพย์มีการใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ กึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ เมื่อความผิดฐานลักทรัพย์ดังกล่าวกฎหมายไม่ได้กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ซึ่งศาลต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ จึงไม่จำต้องสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพและข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกระทำผิดตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมา ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองคงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 335 โดยมิได้ปรับบทลงโทษ ตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3934-3936/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสนับสนุนการลักทรัพย์และการใช้บทบัญญัติมาตรา 336 ทวิ ที่ไม่ถูกต้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้สนับสนุนการลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปและโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องระวางโทษหนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ นั้นเป็นการ ไม่ชอบ เพราะ ป.อ. มาตรา 336 ทวิ มีวัตถุประสงค์ลงโทษเฉพาะผู้ใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไปเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7088/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลักทรัพย์โดยมีเจตนาอื่น และการยึดเงินส่วนหนึ่งหลังจากการส่งมอบเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกทำร้าย
จำเลยไม่ได้มีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายแต่แรก การที่ผู้เสียหายส่งมอบโทรศัพท์เคลื่อนที่กับเงิน 700 บาท แก่จำเลยกับพวกโดยเจตนาเพื่อไม่ให้ถูกจำเลยกับพวกทำร้ายและข่มขืนกระทำชำเรา เมื่อจำเลยกับพวกรับทรัพย์ดังกล่าวไว้ แต่ยังคงทำร้ายร่างกายผู้เสียหายอยู่เพื่อข่มขืนกระทำชำเรา เมื่อผู้เสียหายขอคืน จำเลยกับพวกยังยึดเงิน 200 บาทไว้ ไม่คืนให้ผู้เสียหาย เป็นการเอาทรัพย์ดังกล่าวของผู้เสียหายไปอันเป็นผลพลอยได้จากการที่ผู้เสียหายส่งมอบเงินให้ก่อนหน้านี้เพื่อไม่ให้ถูกข่มขืนกระทำชำเรา ดังนั้น การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นเพียงความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน โดยร่วมกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในการกระทำที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะกระทำความผิดจำเลยกับพวกไม่ได้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำความผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5137/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทความผิดฐานลักทรัพย์ – การใช้บทมาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง แทนมาตรา 334 เมื่อมีการใช้ยานพาหนะและอาวุธ
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริตโดยใช้อาวุธปืนและใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุมซึ่งเกิดเหตุในเวลากลางคืน เป็นการบรรยายฟ้องซึ่งรวมถึงการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83, 336 ทวิ เข้าไว้ด้วย เมื่อคดีฟังได้ว่าเป็นการลักทรัพย์ในเวลากลางคืน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันมีอาวุธปืนกับใช้รถจักรยานยนต์ในการกระทำความผิดเพื่อพาทรัพย์นั้นไปซึ่งชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 ประกอบ มาตรา 83 อันเป็นการปรับบทความผิดไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงพิพากษาแก้ไขปรับบทความผิดให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย กรณีมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องและไม่ทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ต้องรับโทษสูงขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3581/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเช่าช่วงตึกแถวโดยไม่ได้รับความยินยอม การลักทรัพย์ในเคหสถาน และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ติดตั้ง
หนังสือสัญญาเช่าตึกแถว ระบุว่าผู้เช่าจะไม่นำตึกแถวออกให้ผู้อื่นเช่าช่วงเว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ให้เช่า การนำตึกแถวดังกล่าวออกให้เช่าช่วงจึงต้องได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ให้เช่าเสียก่อน สัญญาเช่าช่วงระหว่าง ฉ. ผู้เช่ากับจำเลยและ ก. ไม่มีผลผูกพันผู้เสียหาย จำเลยและ ก. จึงอยู่ในตึกแถวดังกล่าวในฐานะเป็นบริวารของ ฉ. เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าเช่าแก่ผู้เสียหายตามที่ตกลงไว้กับ ฉ. จำเลยตกเป็นฝ่ายผิดนัด ผู้ให้เช่ามีสิทธิยึดถือครอบครองตึกแถวและทรัพย์ในตึกแถวดังกล่าวได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิเข้าไปในตึกแถวที่เกิดเหตุได้อีก
บันทึกข้อตกลงประกอบการเช่า ข้อ 2. ระบุว่า "ทรัพย์สินใด ๆ ที่ผู้เช่าได้ก่อสร้างต่อเติมและตกแต่งตัวอาคารโดยเป็นค่าใช้จ่ายของผู้เช่าทั้งหมดนั้น ผู้เช่าตกลงยินยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของอาคารสถานที่ที่ให้เช่านั้นทันที รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์และสิ่งของต่าง ๆ ที่ผู้เช่าต้องนำเข้าไว้ใช้ในกิจการร้านอาหารของผู้เช่าทั้งสิ้นนับแต่วันที่ได้นำเข้ามาในบ้านเช่า ยกเว้นตู้โค้กและแผงไฟชื่อป้ายหน้าร้านนอกตัวอาคาร" ซึ่ง ฉ. ย่อมต้องผูกพันตามข้อสัญญาดังกล่าว และถือได้ว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่ ฉ. ในฐานะผู้เช่าต้องนำเข้าไว้ใช้ในกิจการร้านอาหารของ ฉ. ทั้งสิ้น ทรัพย์ดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหายทันทีนับแต่วันที่นำเข้าไว้ในตึกแถว ฉ. จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าวอีกต่อไป และไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ดังกล่าวให้แก่จำเลยและ ก. ได้
ตาม ป.อ. มาตรา 1 (4) บัญญัติว่า "เคหสถาน หมายความว่า ที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น เรือน โรง เรือ หรือแพ ซึ่งคนอยู่อาศัย และให้หมายความรวมถึงบริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม" ดังนั้น แม้ขณะเกิดเหตุตึกแถวดังกล่าวไม่มีคนอยู่อาศัย แต่โดยสภาพแล้วตึกแถวดังกล่าวเป็นที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย จึงเป็นเคหสถาน การที่จำเลยกับพวกเข้าไปในตึกแถวโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วเอาทรัพย์ซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหายตามบันทึกข้อตกลงออกไปจากตึกแถวดังกล่าวโดยเจตนาทุจริต จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21502/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความเสียหายทางจิตใจและชื่อเสียงจากการบุกรุก ไม่ถือเป็นความเสียหายในทางทรัพย์สินที่ชดใช้ได้
ความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือราคาที่จำเลยลักไปแทนโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แล้ว โจทก์ร่วมจึงไม่อาจใช้สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับทรัพย์ที่จำเลยลักไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้อีก
จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วม ความเสียหายที่โจทก์ร่วมได้รับจึงต้องเป็นความเสียหายอันเกิดจากตัวทรัพย์ที่จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุก เช่น ที่ดินพิพาทได้รับความเสียหาย หรือความเสียหายจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทนั้น ค่าเสียสุขภาพจิตอันเนื่องมาจากโจทก์ร่วมต้องทำรั้วกำแพงใหม่ ต้องเฝ้าระวังไม่ให้ผู้อื่นเข้ามาในที่ดินเพื่อก่อเหตุอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของโจทก์ร่วมกับครอบครัว และค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จึงมิใช่ความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานร่วมกันบุกรุกของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8520/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักทรัพย์นายจ้าง - มูลค่าความเสียหาย - ราคาขายไม่ใช่ตัวชี้วัด - ชดใช้ตามราคาของทรัพย์
ขณะที่จำเลยทั้งสองร่วมกันลักท่อนเหล็กวางเครื่องจักรของผู้เสียหายไปนั้น โรงงานของผู้เสียหายยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ซึ่ง ว. พนักงานของผู้เสียหายพยานโจทก์เบิกความว่า ท่อนเหล็กมีราคาท่อนละ 8,000 บาท รวม 2 ท่อน เป็นเงิน 16,000 บาท และเบิกความตอบโจทก์ถามติงว่า ท่อนเหล็กยังสามารถนำมาใช้งานต่อได้ ไม่ใช่วัสดุเหลือใช้จึงเห็นได้ว่าท่อนเหล็กยังมีประโยชน์ในการใช้สอยและมีมูลค่า เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกันลักไปย่อมทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ราคาตามมูลค่าของท่อนเหล็กที่ผู้เสียหายได้รับความเสียหายตามความเป็นจริงในขณะเกิดเหตุ หาใช่รับผิดตามราคาที่จำเลยทั้งสองนำไปขายไม่ เพราะขณะที่จำเลยทั้งสองขายนั้นเป็นการขายอย่างเศษวัสดุสิ่งของเหลือใช้ที่ไม่มีมูลค่าตามความเป็นจริง ทั้งเป็นการขายในขณะที่จำเลยทั้งสองไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่พึงใช้ความระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของตนเฉกเช่นวิญญูชนทั่วไปพึงกระทำ และเมื่อพิจารณาท่อนเหล็กวางเครื่องจักรซึ่งมีรูปร่างลักษณะเหมือนที่ปรากฏในภาพถ่ายประกอบราคาที่ ว. พยานโจทก์เบิกความแล้ว เห็นว่า เป็นราคาที่มีมูลค่าเหมาะสมตามสภาพและประโยชน์ใช้สอยในขณะเกิดเหตุแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 16,000 บาท จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3356/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษตามฟ้อง: โจทก์ไม่สามารถฎีกาขอลงโทษฐานอื่นนอกเหนือจากที่ศาลอุทธรณ์ตัดสินได้ แม้ต่างจากศาลชั้นต้น
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันวิ่งราวทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะหรือร่วมกันรับของโจร ย่อมแสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ศาลพิจารณาพิพากษาลงโทษฐานใดฐานหนึ่งตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในชั้นพิจารณา ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานใดฐานหนึ่งเท่านั้น และเมื่อลงโทษฐานใดแล้วต้องถือว่าเป็นการลงโทษตามฟ้องแล้ว คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันรับของโจร แม้จะแตกต่างจากศาลชั้นต้นก็ตาม กรณีถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องแล้ว โจทก์ไม่ชอบที่จะฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันวิ่งราวทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะได้อีก ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันวิ่งราวทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะมานั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
of 11