คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ม. 14

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 103 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 859/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ: สิทธิในการยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษต้องมีฐานะผู้ได้รับอนุญาตหรือมีสิทธิโดยกฎหมาย
เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคท้าย เป็นมาตรการที่กฎหมายกำหนดขึ้นเพื่อบังคับให้ผู้กระทำความผิดฐานบุกรุกยึดถือครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ต้องออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อจำเลยทั้งสองต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิด อันทำให้รัฐได้รับคืนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ การที่ผู้ร้องจะมีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อแสดงอำนาจพิเศษได้นั้น ต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนด ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ร้องในการเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ เมื่อได้ความตามคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพียงแต่ไม่เคยถูกจับกุมดำเนินคดีหรือเคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษและให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยผู้ร้องไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติจากอธิบดี ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2661/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานเก็บผลปาล์มน้ำมันในป่าสงวนแห่งชาติ: ความหมาย ‘ของป่า’ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ และ พ.ร.บ.ป่าไม้
ความผิดฐานเก็บของป่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุกคนละ 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานเก็บของป่าแต่ยังคงมีความผิดฐานยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินหรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ให้ปรับจำเลยทั้งสองคนละ 20,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษกึ่งหนึ่งคงปรับคนละ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ดังนี้ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะได้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยทั้งสองอันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไม่เกิน 2 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์ในข้อนี้มานั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
เมื่อพิจารณาคำว่า ของป่า ตาม พ.ร.บ.สงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4 ให้ความหมายไว้ว่า ของป่าหมายความว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในป่าเป็นต้นว่า (1) ไม้ฟืน ถ่าน เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ เมล็ด ผลไม้ หน่อไม้ ชันไม้ และยางไม้ แสดงว่าของป่าตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มีความหมายรวมทั้งหมดไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือสิ่งที่มนุษย์ปลูกสร้างขึ้น หากเกิดขึ้นและมีอยู่ในป่าแล้ว ล้วนแต่เป็นของป่าทั้งสิ้น ซึ่งจะแตกต่างจากคำนิยามของคำว่า ของป่า ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (7) ซึ่งให้ความหมายว่า ของป่า หมายความว่า บรรดาของที่เกิดขึ้นหรือมีขึ้นในป่าตามธรรมชาติ จึงหมายถึงเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติในป่าแห่งนั้น ส่วนสิ่งที่ปลูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ไม่อาจเป็นของป่าไปได้ ความหมายของคำว่า ของป่า ตามพระราชบัญญัติทั้งสองดังกล่าว จึงแตกต่างกัน ต้นปาล์มน้ำมันที่บริษัท ว. ปลูกขึ้นในป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุตั้งแต่ขณะได้รับอนุญาตจากรัฐ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ย่อมไม่อาจเป็นของป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ได้ แต่เนื่องจากต้นปาล์มน้ำมันดังกล่าวต้องถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในป่า ย่อมอยู่ในความหมายของคำว่า ของป่า ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 นั้นเอง การกระทำของจำเลยทั้งสองที่เข้าไปเก็บเอาผลปาล์มน้ำมัน น้ำหนักประมาณ 500 กิโลกรัม ในป่าสงวนแห่งชาติ ป่ารับร่อ และป่าสลุย ที่เกิดเหตุ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15189/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปฏิรูปที่ดินและสภาพป่าสงวน: การเพิกถอนสภาพป่าสงวนต้องเกิดหลังการจัดสรรที่ดิน
พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 บัญญัติว่า "เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินใช้บังคับในท้องที่ใดแล้ว (4) ถ้าเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว เมื่อ ส.ป.ก. จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้น..." แม้ปรากฏว่ามี พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอบ้านแพง อำเภอท่าอุเทน และกิ่งอำเภอโพนสวรรค์ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2534 ก็ตาม แต่ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าวเป็นเพียงการกำหนดขอบเขตของที่ดินที่จะทำการปฏิรูปที่ดินเท่านั้น ไม่ได้มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในทันที พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติยังคงเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่เช่นเดิม จนกว่าจะได้มีการส่งมอบพื้นที่ให้แก่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อดำเนินการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ได้รับอนุญาตตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป หากจะถือว่าการประกาศ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินแปลงใด มีผลเป็นการเพิกถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาติในทันที ก็จะเป็นการส่งเสริมให้บุคคลใด ๆ บุกรุกเข้ามาทำประโยชน์หรือเข้าครอบครองที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 อันจะเป็นช่องว่างของกฎหมาย บทบัญญัตินี้จึงมุ่งหมายให้ ส.ป.ก. เข้าไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรกรรมในพื้นที่ป่านั้นและจัดสรรให้ผู้ได้รับอนุญาตก่อน จึงจะถือเป็นการเพิกถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและที่ดินของรัฐ เมื่อคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครพนมได้ออกประกาศให้เกษตรกรยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเกิดเหตุหลังจากที่ผู้ร้องถูกดำเนินคดีนี้แล้ว ดังนั้น ในขณะที่ผู้ร้องกระทำความผิดคดีนี้ ผู้ร้องจึงยังไม่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินเกิดเหตุ การจัดสรรที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินยังไม่เสร็จสิ้น ที่ดินเกิดเหตุจึงยังมีสภาพเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่ การกระทำของผู้ร้องจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง แม้ต่อมาผู้ร้องจะได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งรวมถึงที่ดินเกิดเหตุ ก็เป็นเพียงทำให้การครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของผู้ร้องนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตไม่เป็นความผิดต่อกฎหมาย แต่ไม่มีผลเป็นการลบล้างการกระทำความผิดก่อนหน้าที่ผู้ร้องจะได้รับอนุญาต กรณีหาใช่เป็นเรื่องมีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังทำให้การกระทำของผู้ร้องไม่เป็นความผิดต่อไปตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14743/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานบุกรุกทำลายป่าสงวน, ทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต, และมีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครอง ศาลพิพากษาลงโทษตามกฎหมาย
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง" ซึ่งมีความสัมพันธ์กับหลักเกณฑ์การบรรยายฟ้องของโจทก์ ตามกฎหมายดังกล่าวมาตรา 158 (5) ว่า "การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด..." เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้บังอาจร่วมกัน ก่นสร้าง แผ้วถาง และเข้ายึดถือหรือครอบครองบริเวณป่าสงวนแห่งชาติ...โดยจำเลยทั้งสองได้ใช้มีดพร้าเป็นอุปกรณ์ในการก่นสร้าง โค่นไม้จำนวนหลายต้น อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองใช้มีดพร้าตัดกิ่งไม้โยนเข้ากองไฟในที่เกิดเหตุ ประกอบกับภาพถ่ายสภาพที่เกิดเหตุลักษณะเป็นการแผ้วถางทำป่าให้เตียนเพื่อเข้ายึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในกรอบของข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถาง อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติชอบแล้ว
การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์ แผ้วถางที่เกิดเหตุ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ และในขณะเดียวกันยังร่วมกันทำไม้โดยตัดไม้ในที่เกิดเหตุโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียว จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เพราะเป็นความผิดสำเร็จในตัวเองทันทีที่ได้กระทำ แต่ลักษณะความผิดฐานร่วมกันทำไม้และยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์ แผ้วถางอันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ กับความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เป็นการกระทำคนละคราวโดยอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดให้เกิดผลแตกต่างแยกต่างหากจากกัน โดยหลังจากที่ตัดไม้แล้วจำเลยทั้งสองมีเจตนามีไม้ที่ตัดไว้ในครอบครองย่อมเป็นการกระทำอีกกรรมหนึ่งแยกต่างหากจากการตัดไม้ แม้ว่าไม้ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันตัดและมีไว้ในครอบครองจะเป็นจำนวนเดียวกันก็ตาม จึงเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3139/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดบุกรุกป่าสงวนฯ และการครอบครองอาวุธปืนผิดกฎหมาย ศาลยืนตามบทลงโทษเดิม
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถาง ตัดโค่นทำลายต้นไม้บริเวณป่า ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำลำธารในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าพะโต๊ะ ป่าปังหวาน และป่าปากทรงและเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า กับมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, 72 ตรี พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (3) และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 38, 54 เมื่อจำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพตามฟ้อง การกระทำของจำเลยทั้งหกย่อมเป็นความผิดต่อกฎหมายทั้งสามฉบับดังกล่าว อีกทั้งความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคสอง ก็มีโทษหนักกว่าความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 54 วรรคหนึ่งด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ปรับบทว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 นั้น จึงถูกต้องแล้ว
การที่จำเลยทั้งหกบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติ อันเป็นต้นน้ำลำธารและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นเนื้อที่ 3 ไร่เศษ ผลของการกระทำของจำเลยทั้งหกนอกจากจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อสภาพพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารแล้ว ยังเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของชาติ เป็นต้นเหตุให้ป่าไม้เสื่อมสภาพและมีจำนวนลดน้อยลง ย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางธรรมชาติโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และอาจก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติขึ้น ซึ่งจะเป็นผลเสียหายต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไปและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อีกทั้งเจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งหกพร้อมอาวุธปืนยาวขนาด .22 ไม่มีเครื่องหมายทะเบียน 2 กระบอก อาวุธปืนพกขนาด 9 มม. 1 กระบอก และมีกระสุนปืนทั้งสองขนาดจำนวนมาก ซึ่งจำเลยทั้งหกร่วมกันมีและพาไปขณะบุกรุกที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดังกล่าว ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งหกมีเจตนาจะใช้อาวุธปืนดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการล่าสัตว์ป่ารวมทั้งต่อสู้กับเจ้าพนักงานหากถูกจับกุม พฤติการณ์แห่งคดีจึงถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยทั้งหกไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและมีภาระจะต้องเลี้ยงดูครอบครัวและที่จำเลยที่ 3 อ้างว่ามีสุขภาพไม่แข็งแรง เคยประสบอุบัติเหตุไม้ยางพาราล้มทับกระเพาะปัสสาวะแตกเคยเข้ารับการผ่าตัด และต้องสวมแผ่นรองซับปัสสาวะตลอดก็ไม่ปรากฏหลักฐานทางการแพทย์ที่ชัดเจน จึงยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งหก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6605/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: ผู้เสียหายต้องเสียหายโดยตรง การคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติไม่ใช่เหตุให้ฟ้องแทน
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องสรุปความได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยทั้งสองร่วมกันเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินบริเวณหมู่ที่ 6 บ้านเขายายเที่ยงเหนือ ตำบลคลองไผ่ จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ประมาณ 21 ไร่ ทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีเจตนาพิเศษที่จะบุกรุกเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และเป็นการยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ทำลายป่า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมป่าไม้ ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ป.ที่ดิน ป.อ. มาตรา 362 โดยอ้างว่าโจทก์ทั้งห้ามีสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 คำบรรยายฟ้องดังกล่าวได้อ้างถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองที่อ้างว่าเป็นความผิด แต่ไม่มีข้อความตอนใดที่บรรยายโดยชัดแจ้งว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ทั้งห้าได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งดังกล่าวมาในฟ้อง ซึ่งล้วนแต่เป็นความผิดเกี่ยวกับรัฐ มิใช่ความผิดที่กระทำต่อโจทก์ทั้งห้าโดยตรง บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่โจทก์ทั้งห้ากล่าวอ้างมา ไม่มีข้อความตอนใดที่ให้สิทธิโจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีอาญาได้แม้ไม่ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18918/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีออกจากพื้นที่ป่าสงวนหลังคดีถึงที่สุด ไม่อาจอ้างอายุความได้ และการยกเหตุปฏิรูปที่ดินหลังศาลตัดสิน
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และมีคำสั่งให้จำเลยพร้อมบริวารออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติที่ยึดถือครอบครองตามมาตรา 31 วรรคสาม คดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดจึงต้องออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติที่ยึดถือครอบครองตามคำสั่งศาลดังกล่าวทันที การยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติต่อมาภายหลังจากคดีถึงที่สุดแล้วยังคงเป็นการยึดถือครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตลอดเวลาที่จำเลยยังไม่ออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว โดยจำเลยไม่อาจอ้างอายุความใด ๆ ที่จะมีสิทธิยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวต่อรัฐได้ ดังนั้น โจทก์ชอบที่จะบังคับจำเลยให้ออกจากป่าสงวนแห่งชาติได้ตลอดเวลาที่จำเลยยังยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว หาจำต้องบังคับคดีภายใน 10 ปี ดังเช่นคดีแพ่งทั่วไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17282/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดโทษบทหนักในความผิดฐานทำไม้และล่าสัตว์ป่า ต้องพิจารณาตามลำดับโทษใน ป.อ. มาตรา 18
การพิจารณาว่ากฎหมายบทใดมีโทษหนักกว่ากันต้องถือตามลำดับที่วางไว้ใน ป.อ. มาตรา 18 และหากเป็นโทษในลำดับเดียวกันให้ถือตามบทที่มีอัตราโทษขั้นสูงกว่าเป็นเกณฑ์ เมื่อความผิดฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง กำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง กำหนดอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท โทษจำคุกตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง จึงเป็นบทหนักกว่า และเมื่อใช้บทบัญญัติที่มีโทษหนักแล้วก็ใช้บทดังกล่าวเป็นบทลงโทษแต่บทเดียว ถึงแม้บทหนักจะไม่มีโทษขั้นต่ำ แต่บทเบากว่ามีโทษขั้นต่ำ ศาลก็ชอบที่จะลงโทษตามบทที่หนักโดยไม่ต้องคำนึงถึงโทษขั้นต่ำในบทที่เบากว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำเลยทั้งห้าตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 42 วรรคสอง (3), 54 วรรคหนึ่ง จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8249/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แม้เป็นไม้ที่ชาวบ้านปลูกเอง ก็ยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ
ป่าสงวนแห่งชาติเป็นการกำหนดตามเขตพื้นที่ และไม้ก็หมายถึงไม้ทุกชนิดในเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้น โดยไม่ได้จำแนกว่าเป็นไม้ที่เกิดขึ้นเองหรือมีคนปลูกขึ้นมา และการกระทำของจำเลยทั้งสองที่ตัดไม้ยูคาลิปตัสที่ชาวบ้านปลูกเองเป็นความผิดฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 เพียงตัด ฟัน กาน โค่น ลิด เลื่อย ผ่า ถาก ทอน หรือขุดไม้ที่อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ ถือว่าเข้าลักษณะ "ทำไม้" ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4 แล้ว และการที่จำเลยทั้งสองตัดไม้ถึง 35 ท่อน แสดงถึงการตัดไม้จำนวนหลายต้น ดังนั้น ไม่ว่าจะอ้างเช่นใด ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการกระทำนี้ไม่มีผลให้เป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8332/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษคดีป่าสงวน: ศาลฎีกายืนตามศาลล่าง แม้ลดโทษแล้ว เพราะเป็นโทษขั้นต่ำตามกฎหมาย และไม่เข้าหลักเกณฑ์เปลี่ยนเป็นกักขัง
ความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคสอง (3) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเพียง 2 ปี เป็นการลงโทษในระวางโทษจำคุกขั้นต่ำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ทั้งยังลดโทษให้จำเลยอีกกึ่งหนึ่งซึ่งเป็นอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษให้เบากว่านี้ได้อีก ส่วนที่จำเลยขอให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนตาม ป.อ. มาตรา 23 นั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 ลดโทษให้จำเลยแล้วคงจำคุก 1 ปี ซึ่งเป็นการลงโทษจำคุกเกิน 3 เดือน จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนโทษจำคุกให้จำเลยได้
of 11