คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 243 (1)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 292 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4208/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ครบถ้วนตามอุทธรณ์ จำเป็นต้องยกคำพิพากษาเพื่อส่งกลับไปพิพากษาใหม่
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินกับ ร. มีกำหนดเวลา 10 ปี และเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ทั้งมีข้อตกลงว่า หากสัญญาสิ้นสุดแล้วให้ต่อสัญญาออกไปอีก 5 ปี แต่ ร. ถึงแก่ความตายแล้ว ขอให้จำเลยซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันและเป็นผู้จัดการมรดกของ ร. จดทะเบียนการเช่าให้โจทก์ จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งว่า โจทก์ผิดสัญญาเนื่องจากไม่ชำระค่าเช่าและขุดดินโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้โจทก์ชำระค่าเช่า ส่งมอบที่ดินคืน และกลบที่ดินคืนสู่สภาพเดิม โจทก์ให้การขอให้ยกฟ้องแย้ง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีและยกฟ้องแย้ง จำเลยอุทธรณ์ทั้งในส่วนของฟ้องเดิมและฟ้องแย้ง ประเด็นแห่งคดีจึงมีทั้งในส่วนของฟ้องเดิมและฟ้องแย้ง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 คงวินิจฉัยสรุปความว่า สัญญาเช่าที่ดินเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาที่มีผลบังคับ 10 ปี ซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีเฉพาะในส่วนของฟ้องเดิม แม้จะกล่าวในตอนท้ายว่า อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นตามอุทธรณ์ของจำเลยอีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง แต่ก็ต้องหมายถึงประเด็นอื่นเฉพาะในส่วนของฟ้องเดิมเท่านั้น ไม่ใช่ประเด็นในส่วนของฟ้องแย้งที่ว่า โจทก์ผิดสัญญาเนื่องจากไม่ชำระค่าเช่าและขุดดินโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นในส่วนของฟ้องแย้งให้ครบถ้วนตามอุทธรณ์ของจำเลย จึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ได้กล่าวหรือแสดงคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 141 (5) แม้ศาลฎีกาแผนกคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกา แต่เมื่อคดีปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง และศาลฎีกาเห็นว่ามีเหตุอันสมควร ศาลฎีกาย่อมยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 นั้นเสียได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 252 เมื่อวินิจฉัยดั่งนี้ ที่โจทก์ฎีกาจึงไม่ต้องวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1800/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐานในคดีแรงงาน: การเชื่อมโยงพยานหลักฐานกับประเด็นแห่งคดีและการวินิจฉัยเหตุผลที่ชัดเจน
การที่ศาลจะรับฟังพยานหลักฐานใดย่อมจะต้องพิจารณาว่าพยานหลักฐานนั้นเกี่ยวกับประเด็นในคดีหรือไม่ หากพยานหลักฐานใดไม่เกี่ยวกับประเด็นหรือนอกประเด็น แม้คู่ความจะนำสืบกล่าวอ้างพยานหลักฐานนั้นต่อศาล ศาลย่อมมีอำนาจที่จะไม่รับฟังพยานหลักฐานนั้น
โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทุจริตต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ตั้งระบบอัตโนมัติในเครื่องคอมพิวเตอร์และบันทึกข้อมูลในระบบว่ามีการหักเงินบางส่วนของบัญชีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ แล้วนำไปตั้งพักไว้ในบัญชีตั้งพักของธนาคารโจทก์ หลังจากนั้นได้ล้างรายการเงินฝากของโจทก์โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจ แล้วโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ได้เบิกถอนเงินจากบัญชีของตนไป การที่โจทก์นำสืบถึงการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่เกี่ยวข้องกับค่าตรวจสอบบัญชี จำนวน 700,000 บาท เศษ โดยมีการระบุถึงรหัสประจำตัวพนักงานของจำเลยที่ 2 เป็นผู้บันทึกข้อมูล และจำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติรายการต่อศาลแรงงานกลาง จึงเป็นการนำสืบถึงรายละเอียดในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง เนื่องจากเป็นเรื่องความเป็นมาที่โจทก์ตรวจพบการทุจริตของจำเลยทั้งสองก่อนหน้าที่จะมีการกระทำผิดตามคำฟ้อง และอาจใช้สนับสนุนพยานหลักฐานโจทก์เกี่ยวกับการทุจริตของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่การนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็น
อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยพยานหลักฐานขัดกับสำนวน เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นการร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 กระทำความผิดหรือรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิด อันเป็นการร่วมกันกระทำทุจริตและผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ เป็นอุทธรณ์ที่ขอให้ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษวินิจฉัยว่าคำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 หรือไม่ อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนของการวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีจะต้องมีเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย เพื่อให้ทราบว่าศาลแรงงานได้นำข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดเป็นหลักในการวินิจฉัยคดีและถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในการรับฟังพยานหลักฐานและการแปลความบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่ คดีนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีการล้างรายการเงินฝากในบัญชีตั้งพัก เพื่อโอนเงินมาเข้าบัญชีของจำเลยทั้งสองกับพวก โดยในส่วนของจำเลยที่ 2 ได้รับโอนเงินของโจทก์เข้าบัญชีถึง 2 ครั้ง จำนวน 240,000 บาท และ 250,000 บาท แต่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยลอย ๆ เพียงว่า โจทก์ไม่มีพยานบุคคลมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิด มิได้วินิจฉัยถึงพยานเอกสารอื่นว่าไม่อาจรับฟังเชื่อมโยงว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทุจริตเงินตามคำฟ้องเพราะเหตุใด นอกจากนั้น เงินที่โอนเข้าบัญชีจำเลยที่ 2 รวมสองครั้งมิใช่เงินจำนวนเล็กน้อย จำเลยที่ 2 ย่อมต้องให้ความสำคัญและย่อมทราบว่าเงินดังกล่าวมีที่มาอย่างไร แต่ศาลแรงงานกลางกลับวินิจฉัยเพียงว่าเงินที่เข้าบัญชีจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้ถอนให้จำเลยที่ 1 ไป จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เอาเงินของโจทก์ไปโดยทุจริตเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ แต่ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดเท่านั้น โดยไม่วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ทราบถึงที่มาของการโอนเงินดังกล่าวอย่างไร เพื่อให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เช่นนี้ แม้คำพิพากษาศาลแรงงานกลางจะยังไม่ถึงกับเป็นการวินิจฉัยขัดกับพยานหลักฐานในสำนวนดังที่โจทก์อุทธรณ์ แต่ก็เป็นคำพิพากษาที่มิได้แสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในประเด็นว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมกระทำละเมิดกับจำเลยที่ 1 หรือรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ จึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3606/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเองขัดระเบียบ ก่อนศาลอุทธรณ์พิจารณาคดี
การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้แถลงข้อเท็จจริงที่ร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาผิดระเบียบหรือโต้แย้งคัดค้านการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช และจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องดังกล่าวก่อนวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เพียง 1 วัน อันแสดงว่าจำเลยมิได้ยอมรับว่ากระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบแต่อย่างใด และมิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่จะต้องให้จำเลยแถลงหรือโต้แย้งคัดค้านอีก ซึ่งในวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 จำเลยไม่มีทนายความ ทั้งการที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบเป็นความผิดพลาดของศาลชั้นต้น จึงไม่สมควรให้จำเลยต้องรับผลร้ายดังกล่าว การที่จำเลยไม่ได้แถลงหรือโต้แย้งคัดค้านในวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงหาเป็นการให้สัตยาบันยอมรับการผิดระเบียบ เห็นได้จากจำเลยยังฎีกาโต้แย้งในปัญหาดังกล่าว ดังนั้น เมื่อคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 แต่ศาลชั้นต้นกลับมีคำสั่งเองให้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์และรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 กับต่อมารับคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ตลอดจนศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาคดีจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง โดยไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องพิจารณาพิพากษาใหม่ และผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิฎีกาของคู่ความ จึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาใหม่ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 243 (1), 252 ประกอบ ป.วิ.อ.มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1784/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอายัดสิทธิเรียกร้องต้องทำต่อคู่สัญญาทันที การอายัดผ่านบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่คู่สัญญาไม่ชอบ
สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ที่จะเรียกให้บุคคลภายนอกชำระหนี้ตามสัญญาว่าจ้างเลขที่ T 078/2560 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 บุคคลภายนอกที่จะต้องชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 คือ จังหวัดตาก ผู้ว่าจ้าง ซึ่งเป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้าง ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ใช่บุคคลภายนอกที่จะต้องชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 เนื่องจากไม่ใช่คู่สัญญา อีกทั้งผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระหนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องให้จังหวัดตาก บุคคลภายนอกชำระหนี้ตามสัญญาว่าจ้าง แต่การอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีส่งหนังสือแจ้งคำสั่งอายัดไปยังผู้คัดค้านที่ 1 ตามคำร้องขอของโจทก์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2560 และ 7 มีนาคม 2560 โดยไม่ได้ส่งหนังสือแจ้งคำสั่งอายัดไปยังจังหวัดตากเลย แม้หลังจากนั้นผู้คัดค้านที่ 1 แจ้งการอายัดไปยังจังหวัดตากแล้ว ก็ไม่ใช่เป็นการส่งหนังสือแจ้งคำสั่งอายัดตามกฎหมายจึงไม่มีผลบังคับ
แม้ฎีกาโจทก์ในตอนแรกระบุว่า นายอำเภอแม่สอด ก็เข้าใจได้ว่า คือ อำเภอแม่สอด ผู้คัดค้านที่ 1 นั้นเอง เนื่องจากไม่สามารถแปลได้ว่า คือ ธ. นายอำเภอแม่สอดในขณะนั้น เนื่องจาก ธ. ทำสัญญาว่าจ้างในฐานะนายอำเภอแม่สอด ได้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ไม่ใช่ในฐานะส่วนตัว เมื่อเป็นเช่นนี้ การอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 โดยเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงเป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคหนึ่ง (เดิม) ถือว่าสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ที่จะเรียกให้จังหวัดตาก บุคคลภายนอก ชำระหนี้ตามสัญญาว่าจ้างยังไม่มีการอายัด ดังนั้นการที่โจทก์มายื่นคำร้องผ่านทางผู้คัดค้านที่ 1 ขอให้จังหวัดตากปฏิบัติตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้มาเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยไม่ต้องฟ้องคดีเพื่อบังคับชำระหนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 321 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาข้ามขั้นตอนที่จะต้องมีการอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ก่อน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดตาก มีการดำเนินการผ่านทางผู้คัดค้านที่ 1 ทั้งหมด จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำสั่ง อาศัย ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) และ 252 จึงต้องยกคำสั่งศาลชั้นต้นในส่วนนี้และศาลฎีกาก็มีอำนาจสั่งยกคำร้องของโจทก์ในส่วนนี้ได้เลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5001/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ศาลทำให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยผิดพลาดเรื่องกำหนดอุทธรณ์ ศาลฎีกายกคำพิพากษาและส่งให้พิจารณาใหม่
โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ 2 ครั้ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องฉบับแรกให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 8 สิงหาคม 2559 ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์วันที่ 2 กันยายน 2559 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่ศาลอนุญาต รับเป็นอุทธรณ์ของโจทก์ โดยมิได้มีคำสั่งในคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับที่ 2 เนื่องจากเจ้าหน้าที่ธุรการมิได้นำคำร้องฉบับที่ 2 ของโจทก์กลัดเข้าสำนวน และเป็นเหตุให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดและยกอุทธรณ์ของโจทก์ หลังจากนั้นโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นตรวจสอบ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า วันที่ 22 กรกฎาคม 2559 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 2 จริง ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ศาลชั้นต้นไม่ได้กลัดคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับที่ 2 เข้าสำนวนทำให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยผิดหลงว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก เมื่อความผิดพลาดเกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ศาลมิใช่โจทก์ และศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์โดยเห็นว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ศาลอนุญาตไว้ กรณีอนุมานได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามคำร้องฉบับที่ 2 ของโจทก์แล้วโดยปริยาย เมื่อนับถึงวันที่ 2 กันยายน 2559 ยังไม่เกินกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาต อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) และมาตรา 247 (เดิม) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 257/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทุนทรัพย์พิพาทต้องเป็นราคาที่คู่ความตกลงหรือศาลรับรอง การหยิบยกราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินโดยไม่ฟังคู่ความเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
ราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินในสำนวนเป็นราคาที่คณะอนุกรรมการกำหนดไว้เพื่อการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น มิใช่ราคาที่แท้จริงของที่ดินพิพาท ราคาประเมินจึงมิใช่ทุนทรัพย์ที่แท้จริงในคดี เว้นแต่คู่ความจะรับรองและให้ใช้ราคาประเมินดังกล่าวเป็นทุนทรัพย์ โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาทเนื้อที่ 2 ตารางวาเศษ ราคา 100,000 บาท ซึ่งโจทก์ขอถือเป็นทุนทรัพย์ในคดีนี้ โดยเสียค่าขึ้นศาลในทุนทรัพย์ดังกล่าว และในชั้นอุทธรณ์ศาลชั้นต้นก็เรียกเก็บค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในทุนทรัพย์ 100,000 บาท การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 หยิบยกราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินว่ามีราคาเพียง 24,800 บาท แล้วพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ โดยเห็นว่าคดีโจทก์ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงเป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 252 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7069/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขข้อบกพร่องของอุทธรณ์และการวินิจฉัยสิทธิอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะพิจารณาต่อไป
อุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 2 ที่ ป. ซึ่งถูกถอนออกจากการเป็นทนายความลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์และผู้เรียง/พิมพ์ โดยไม่ได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจใช้สิทธิอุทธรณ์นั้น ถือเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องที่ 2 ลงชื่อในอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 2 ได้ และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังเท่ากับศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ผู้ร้องที่ 2 แก้ไขข้อบกพร่องนั้นแล้ว อุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 2 จึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 2 ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยและพิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ 2 นั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามลำดับชั้นศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8596/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงอำนาจปกครองบุตรหลังหย่า และการเพิกถอนข้อตกลงค่าเลี้ยงชีพโดยพิจารณาประโยชน์สูงสุดของบุตร
โจทก์ฎีกาประเด็นขอให้เพิกถอนข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเรื่องที่โจทก์ตกลงจะให้ค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลยจำนวน 200,000 บาท การที่ศาลชั้นต้นสั่งในฎีกาของโจทก์ว่า คำฟ้องในเรื่องค่าเลี้ยงชีพเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งมีจำนวนทุนทรัพย์ไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 และไม่รับวินิจฉัยนั้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ เพราะประเด็นค่าเลี้ยงชีพ เป็นการฟ้องตั้งสิทธิ อันเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์หรือความเกี่ยวข้องในครอบครัวระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งเป็นสามีภริยากัน จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัว ซึ่งโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง และ 248 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) และ 247
ประเด็นขอเพิกถอนอำนาจปกครองของจำเลยนั้น โจทก์อ้างว่า หากผู้เยาว์อยู่กับโจทก์ จะได้ประโยชน์และความผาสุกดีกว่าอยู่กับจำเลย เหตุที่อ้างไม่ถือเป็นการใช้อำนาจปกครองโดยมิชอบ หรือประพฤติชั่วร้ายอันเป็นเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองจำเลยได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง แต่การที่ผู้เยาว์พักอาศัย เรียนหนังสือ และอยู่ในความดูแลของโจทก์ และผู้เยาว์ทำคำแถลงต่อศาลว่า ประสงค์จะอยู่กับโจทก์ อยู่กับจำเลยและบิดาเลี้ยงไม่มีความสุข ผู้เยาว์อายุ 10 ปีแล้วถือได้ว่ามีความรู้สึกนึกคิดได้โดยตนเอง สาเหตุที่ไม่อยากอยู่กับจำเลยสามารถบอกเหตุผลได้ มิได้กล่าวอ้างลอยๆ ประกอบกับฟ้องโจทก์ขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองของจำเลยฝ่ายเดียวตามที่ตกลงในบันทึกท้ายทะเบียนหย่า แต่คำบรรยายฟ้องและพฤติการณ์แห่งคดีเป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์จะเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองตามที่ตกลงกันไว้กับจำเลย ถือว่าโจทก์ประสงค์ที่จะใช้อำนาจปกครอง เมื่อพฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป เพื่อประโยชน์ความผาสุกของผู้เยาว์ อาศัยอำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520,1521 สมควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองร่วมกับจำเลย โดยให้โจทก์มีอำนาจกำหนดที่อยู่ผู้เยาว์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5741/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทิ้งฟ้องอุทธรณ์เนื่องจากไม่ชำระค่าขึ้นศาล และผลกระทบต่อสิทธิฎีกา
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ทั้งในส่วนฟ้องและฟ้องแย้ง ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งสองส่วน รวมกันเป็นเงิน 1,750 บาท เมื่อจำเลยทั้งสองชำระค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์มา 900 บาท ถือว่าเป็นการชำระค่าขึ้นศาลในส่วนฟ้องของโจทก์ครบถ้วนแล้ว ที่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ดำเนินการเสียค่าขึ้นศาลให้ครบถ้วนตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดจึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองทิ้งฟ้องอุทธรณ์เฉพาะในส่วนฟ้องแย้ง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องดำเนินคดีในส่วนฟ้องตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองต่อไป และผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิฎีกาของคู่ความได้ เพราะทุนทรัพย์ที่พิพาทกันไม่เกินห้าหมื่นบาท จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของโจทก์ใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 (เดิม) ประกอบมาตรา 243 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5342/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีลิขสิทธิ์และภาพยนตร์ลามก ศาลแก้คำพิพากษา ยกฟ้องข้อหาภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจ และริบของกลาง
ความผิดฐานมีแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย ตามอุทธรณ์ของโจทก์กับความผิดฐานมีแผ่นภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษไปแล้วนั้น เป็นการกระทำกรรมเดียวกันอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงเป็นความผิดที่เกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งการพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดทั้งสองฐานนี้หรือไม่จึงต้องพิจารณาพิพากษาไปพร้อมกัน ดังนั้น แม้ว่าโจทก์และจำเลยมิได้อุทธรณ์ในความผิดฐานมีแผ่นภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็เห็นควรวินิจฉัยความผิดฐานมีแผ่นภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายไปพร้อมกับความผิดฐานมีแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายตามอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีแผ่นภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และความผิดฐานมีแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 81 ประกอบมาตรา 47 วรรคหนึ่ง แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้พิพากษาลงโทษจำเลยหรือยกฟ้องในข้อหาความผิดฐานมีแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย แม้จะแปลความหมายตอนท้ายของคำพิพากษาที่ระบุว่า "คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก" ได้ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดฐานนี้ด้วย แต่คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงต้องระบุถึงเหตุผลในการพิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดฐานดังกล่าวด้วย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (6) (8) การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้พิพากษาให้ครบถ้วนตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องโดยไม่ต้องย้อนสำนวนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 และมาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1)
การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานมีแผ่นภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และความผิดฐานมีแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่าย ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 81 ประกอบมาตรา 47 วรรคหนึ่ง ผู้กระทำความผิดต้องมีหน้าที่นำภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรไปผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ก่อน แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่ดังกล่าว คงบรรยายแต่เพียงว่า จำเลยมีแผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่ต้องนำภาพยนตร์และวีดิทัศน์ดังกล่าวไปผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้องย่อมไม่อาจเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และมาตรา 47 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 78 และมาตรา 81 ได้ ฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานมีแผ่นภาพยนตร์และแผ่นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายเป็นฟ้องที่มิได้บรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และมาตรา 81 ประกอบมาตรา 47 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษในความผิดทั้งสองฐานนี้ได้
โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 2 (1) ว่า จำเลยเพื่อประสงค์แห่งการค้าได้บังอาจมีแผ่นวีซีดีและดีวีดีอันเป็นภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียง และภาพอันลามกที่แสดงการร่วมประเวณีระหว่างชายกับหญิงในลักษณะยั่วยุกามารมณ์จำนวน 30 แผ่น ไว้ในครอบครองของจำเลยเพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และบรรยายฟ้องข้อ 3 ว่า เจ้าพนักงานยึดได้แผ่นวีซีดีและดีวีดีอันเป็นภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียง และภาพอันลามกจำนวน 30 แผ่น อันมีไว้เป็นความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามกฎหมายกับขอให้ริบของกลางดังกล่าว แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาในส่วนคำขอให้ริบของกลางดังกล่าวว่า คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก โดยไม่ได้ให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการริบของกลาง จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (6) (9) เมื่อคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยมีแผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์อันลามกจำนวน 30 แผ่น ไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดอันควรริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
ความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งแผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์ลามกตาม ป.อ. มาตรา 287 (1) มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาปรับจำเลย 2,000 บาท อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า โทษปรับในข้อหาความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งแผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์ลามกที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดมานั้นสูงเกินไป จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 39 (4) (เดิม) ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
of 30