คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 243 (1)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 292 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1689/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีอย่างคนอนาถา: ศาลต้องพิจารณา 'มูลคดี' และ 'ฐานะยากจน' ของโจทก์
การพิจารณาว่าจะอนุญาตให้โจทก์ฟ้องคดีอย่างคนอนาถาได้หรือไม่เพียงใดนั้น ศาลต้องพิจารณาสาระสำคัญ 2 ประการคือ ประการแรก คดีของโจทก์มีมูลที่จะฟ้องร้องหรือไม่ โดยพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องนั้น มีข้อโต้แย้งสิทธิอันมีมูลที่โจทก์จะฟ้องจำเลยได้หรือไม่ ยังไม่ต้องพิจารณาว่าข้อที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องนั้นเป็นจริงหรือไม่ เพราะเป็นข้อที่จะนำสืบพิสูจน์กันในชั้นพิจารณาคดี ประการที่สองศาลต้องไต่สวนแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นคนยากจนไม่สามารถเสียค่าธรรมเนียมศาลได้จริงหรือไม่เพียงใด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 155 และ 156 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17
โจทก์ฟ้องโดยสรุปว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม เนื่องจากโจทก์มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร โดยขายในนามห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่โจทก์เป็นหุ้นส่วนอันเป็นการประเมินที่ไม่ชอบ เนื่องจากโจทก์ไม่ได้ขายที่ดินในนามห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล แต่ต่างคนต่างขายและไม่ได้ขายโดยมีเจตนาเพื่อเป็นทางค้าหรือหากำไรซึ่งจะต้องเสียภาษีการค้า ทั้งผู้ซื้อได้ตกลงชำระค่าภาษีทั้งหมดแทนโจทก์และชำระภาษีให้แก่จำเลยไปครบถ้วนแล้ว โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีตามที่จำเลยประเมิน ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำฟ้อง โจทก์ย่อมไม่ต้องเสียภาษีในการขายที่ดินครั้งนี้อีก การประเมินภาษีดังกล่าวย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เมื่อศาลภาษีอากรกลางไต่สวนคำร้องของโจทก์แล้วได้ความว่าโจทก์และผู้มีชื่อในโฉนดอื่นไม่ได้เป็นหุ้นส่วนกัน และต่างคนต่างขายที่ดินส่วนของตน คดีโจทก์จึงมีมูลที่จะฟ้อง การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูลที่จะฟ้องร้องจึงไม่ชอบ และศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลภาษีอากรกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นคนยากจนไม่สามารถเสียค่าธรรมเนียมศาลได้หรือไม่เพียงใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 470/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยสัญญาเกินอัตราที่ประกาศ หนี้เดิมยังต้องเสียดอกเบี้ยตามกฎหมาย
เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่าโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เพราะเกินกว่าอัตราตามประกาศของโจทก์ แต่กลับพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระเงิน 1,300,031.26 บาท ซึ่งมีดอกเบี้ยจำนวน 300,394.17 บาท ที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วว่าตกเป็นโมฆะรวมอยู่ด้วย คำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ถูกต้องเพราะทำให้จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยมากไปกว่าที่ต้องรับผิดตามกฎหมายและเกินคำขอ ดังที่โจทก์ฎีกา ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 ย่อมมีอำนาจยกขึ้นปรับแก่คดีได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 243 (1) และมาตรา 246 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ไปเสียทั้งหมดจึงไม่ชอบ และศาลฎีกาเห็นสมควรพิจารณาพิพากษาไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวน ส่วนดอกเบี้ยแม้โจทก์จะไม่มีสิทธิบังคับตามสัญญาเพราะตกเป็นโมฆะก็ตาม แต่เมื่อเป็นหนี้เงินจำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4822/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงประนีประนอมยอมความมีผลระงับสิทธิเรียกร้อง แม้ฝ่ายหนึ่งไม่ได้ร่วมตกลง ผู้กระทำละเมิดยังต้องรับผิดชอบ
แม้ใบรับเงินค่าสินไหมทดแทนจะเป็นแบบฟอร์มที่บริษัทจำเลยที่ 2 จัดทำขึ้นเอง แต่เมื่อได้กรอกข้อความตามที่ตกลงกัน และโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้รับเงิน ใบรับเงินค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจึงเป็นเอกสารที่แสดงว่าโจทก์ยอมรับเงินไปจากจำเลยที่ 2 จริง อันมีลักษณะเป็นการประนีประนอมยอมความซึ่งเป็นการระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ให้เสร็จสิ้นไปโดยต่างฝ่ายต่างยอมผันให้แก่กันด้วยความสมัครใจของโจทก์และจำเลยที่ 2
เอกสารใบรับเงินค่าสินไหมทดแทนเป็นข้อตกลงประนีประนอมยอมความและมีผลใช้บังคับได้ เมื่อโจทก์ได้รับเงินไปตามข้อตกลงแล้วสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 2 จึงเป็นอันระงับไปตามข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์และมิได้ร่วมตกลงด้วย จึงไม่อาจอาศัยเอกสารดังกล่าวต่อสู้โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด ศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยเนื่องจากคดีมีทุนทรัพย์เพียง 20,250 บาท การวินิจฉัยข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้นอาจมีผลทำให้คดีต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จึงสมควรย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาในประเด็นดังกล่าวจากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2147/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย: สิทธิคงอยู่แม้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดถูกเพิกถอนและมีคำสั่งใหม่
เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของศาลล้มละลายกลางและให้ศาลล้มละลายกลางดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยทั้งสองต่อไป คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดย่อมถูกเพิกถอนไป และต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่เฉพาะในส่วนที่ผิดพลาดและถูกเพิกถอนเท่านั้น กระบวนพิจารณาในส่วนนี้ย่อมนำ ป.วิ.พ. มาใช้ได้แต่ในคดีล้มละลายยังมีกระบวนพิจารณาโดยเฉพาะซึ่งมีความแตกต่างไปจากคดีแพ่งทั่วไปตามที่ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 6 บัญญัติไว้ ซึ่งอาจกระทำโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือเริ่มต้นที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ได้หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วเมื่อคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องไม่มีส่วนใดที่ผิดกฎหมาย จึงไม่ถูกเพิกถอนและยังคงมีผลใช้ได้ แม้ศาลอุทธรณ์จะยกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของศาลล้มละลายกลางแล้วต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งใหม่โดยมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเช่นเดิม คำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องที่ยื่นไว้เดิมจึงยังคงมีผลใช้ได้โดยไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ใหม่
ในคดีล้มละลายเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางอีกครั้งหนึ่งนั้น การโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในครั้งที่สองนี้มีความประสงค์เพียงเพื่อให้เจ้าหนี้ที่จำเลยทั้งสองไปก่อหนี้สินขึ้นภายหลังวันที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของศาลล้มละลายกลาง จนถึงวันก่อนวันอ่านคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดครั้งที่สองของศาลล้มละลายกลางมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้เท่านั้นเมื่อผู้ร้องซึ่งได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้แล้วในคราวโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ครั้งแรกจึงถือได้ว่ายื่นคำขอใว้แล้วก่อนระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดครั้งที่สองสิ้นสุดลง ผลของการยื่นคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องจึงยังคงมีอยู่โดยไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3717/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำพิพากษาตามยอมที่ไม่ชอบเนื่องจากขาดแผนที่รังวัด และการดำเนินการเรื่องค่าขึ้นศาลที่ไม่ถูกต้อง
ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ทั้งสี่แล้ว คดีจึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงเป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะสั่งคำร้องของโจทก์ทั้งสี่ที่ขอให้เรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 8 ผู้มรณะ ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 6 เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 8 ผู้มรณะได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ชอบ ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้น และเนื่องจากคดีได้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 แถลงต่อศาลชั้นต้นขอให้จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 8 เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 8 ผู้มรณะ ทนายโจทก์ทั้งสี่ไม่คัดค้าน ศาลฎีกาย่อมมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 6 เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 8 ผู้มรณะ
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมโดยสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ระบุว่า "โจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งแปดตกลงยอมรับแนวเขตตามโฉนดที่ดินที่แต่ละฝ่ายออกโฉนดที่ดินแล้วและได้ครอบครองอยู่แล้ว? โจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งแปดตกลงยอมรับแนวเขตที่ดินที่พิพาทในคดีนี้ตามแผนที่พิพาทหรือรายงานการรังวัดที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่จัดทำขึ้นตามที่คู่ความได้ชี้แนวเขตและนำส่งศาลในคดีนี้?" แต่ขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม คู่ความยังมิได้ส่งแผนที่พิพาทหรือรายงานการรังวัดที่ดินที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่จัดทำขึ้นตามที่คู่ความได้ชี้แนวเขตดังที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น แม้ศาลชั้นต้นจะบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาในวันที่มีคำพิพากษาตามยอมให้คู่ความติดตามนำแผนที่หรือรายงานการรังวัดของเจ้าพนักงานที่ดินมาส่งต่อศาล มิฉะนั้น ให้ถือตามแนวเขตภาพถ่ายที่แนบสัญญายอมซึ่งคู่ความแถลงว่าเป็นแนวเขตเดิมตามหลักหมุดที่ดิน อันแตกต่างไปจากสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ก็หาเป็นผลให้สัญญาประนีประนอมยอมความตลอดจนคำพิพากษาตามยอมเปลี่ยนแปลงไป ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ดังกล่าว เมื่อไม่มีแผนที่หรือรายงานการรังวัดที่ดินที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่จัดทำขึ้นตามที่คู่ความได้ชี้แนวเขตดังที่ระบุไว้ซึ่งเป็นสาระสำคัญในอันที่จะระงับข้อพิพาทมาพิจารณาประกอบด้วยแล้ว ทำให้ข้อสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่อาจระงับข้อพิพาทต่อกันได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมดังกล่าว จึงไม่ชอบ
โจทก์ยื่นฟ้องอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมโดยยังไม่ได้มีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเสียก่อน จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1719/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดีบังคับคดี: ศาลอุทธรณ์ต้องรับวินิจฉัยเมื่อผู้พิพากษาศาลชั้นต้นรับรองเหตุสมควร
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดซึ่งตีราคาทรัพย์ 20,155 บาท อันถือเป็นทุนทรัพย์คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอ ผู้ร้องอุทธรณ์ แม้คดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท แต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรอุทธรณ์ข้อเท็จจริงได้ คดีของผู้ร้องจึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าคดีของผู้ร้องต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ไม่รับวินิจฉัยและพิพากษายกอุทธรณ์ผู้ร้องนั้นเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามมาตรา 142(5),243(1) ประกอบด้วยมาตรา 246และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1675/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์คณะผู้พิพากษาและผลของกฎหมายที่ใช้บังคับตามลำดับเวลาในคดีแพ่ง
โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2543 ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้าย พ.ร.บ. ให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นพระธรรมนูญศาลยุติธรรมที่ใช้บังคับในขณะนั้น มาตรา 22 กำหนดให้ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวกันมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้นดังต่อไปนี้... (6) พิจารณาคดีแพ่งซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องเกิน 40,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท... และวรรคท้าย กำหนดให้ ในคดีที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีแต่เพียงอำนาจพิจารณา ไม่มีอำนาจพิพากษา ตาม ...(6) เมื่อจะพิพากษาคดีจะต้องมีผู้พิพากษาอีกอย่างน้อยคนหนึ่งตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อในคำพิพากษา เป็นองค์คณะด้วย คดีนี้มีจำนวนเงินที่ฟ้อง 98,825 บาท ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องผู้พิพากษาคนเดียวจึงมีเพียงอำนาจพิจารณา แต่ไม่มีอำนาจพิพากษา แม้ต่อมาได้มี พ.ร.บ. ให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2543 ยกเลิก พ.ร.บ. ให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2477 และพระธรรมนูญศาลยุติธรรมซึ่งได้ใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว และให้ใช้บทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้าย พ.ร.บ. ให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 เป็นพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมตาม พ.ร.บ. ให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 25(4) กำหนดให้ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 300,000 บาท ก็ตาม แต่พ.ร.บ. ให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติว่า บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าจะถึงที่สุด คดีนี้จึงต้องบังคับตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเดิมจนกว่าคดีจะถึงที่สุด คือ จะต้องให้ผู้พิพากษาอีกอย่างน้อยคนหนึ่งตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเป็นองค์คณะด้วย การที่คดีนี้ในศาลชั้นต้นมีผู้พิพากษาเพียงคนเดียวลงลายมือชื่อในคำพิพากษา จึงเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (เดิม) มาตรา 22 (6) และวรรคท้าย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้อง ศาลฎีกาจึงให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้อง โดยให้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาใหม่ให้มีผู้พิพากษาใหม่ให้มีผู้พิพากษาครบองค์คณะ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ มาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1587/2546 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างเนื่องจากเกษียณอายุ: ศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง เนื่องจากไม่ได้วินิจฉัยประเด็นสำคัญเรื่องการลาออกหรือการเลิกจ้าง
ปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ได้ยื่นใบลาออกจากงานเพราะเกษียณอายุโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2542 เป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างของโจทก์ด้วยการลาออกจากงาน เมื่อจำเลยอนุมัติ การลาออกของโจทก์จึงมีผลนับแต่วันที่โจทก์ประสงค์ นั้น จำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้แล้วว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากโจทก์ลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลย ทำให้โจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานนับแต่วันที่ลาออกแล้ว อันเป็นประเด็นที่ศาลแรงงานกลางจะต้องวินิจฉัย การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาโดยรับฟังข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า โจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างเมื่ออายุครบ 50 ปี เพราะเหตุเกษียณอายุ โดยที่มิได้รับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานตามที่คู่ความนำสืบ และยังไม่ได้วินิจฉัยว่าโจทก์ได้ยื่นใบลาออกจากงานจริงหรือไม่ หากยื่นใบลาออก โจทก์ยื่นเมื่อใด การที่โจทก์ออกจากงานเป็นผลเนื่องจากโจทก์ยื่นใบลาออก หรือจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุโจทก์เกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ถือว่าเป็นคำพิพากษาที่มิได้แสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้ โดยสรุปและคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51 ชอบที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเสีย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 418/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องทายาทในฐานะผู้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันหลังการล้มละลาย: อำนาจศาลและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
นอกจากโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว โจทก์ยังฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่ผู้ตายทำไว้กับโจทก์เพื่อประกันการชำระหนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทของบริษัท ท. เป็นการฟ้องกองมรดกของผู้ตายเป็นลูกหนี้ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่ผู้ตายทำไว้กับโจทก์ เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เฉพาะของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ลูกหนี้เด็ดขาดเท่านั้น มิได้มีเจ้าหนี้รายใดฟ้องผู้ตายให้ล้มละลายและศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของผู้ตายเด็ดขาด ทั้งมิได้มีเจ้าหนี้รายใดฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 82 แต่อย่างใด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการทรัพย์สินในกองมรดกของผู้ตายหรือเข้ามาต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินในกองมรดกของผู้ตายแทนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 22(1) และ (2) จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังคงมีสิทธิต่อสู้คดีที่โจทก์ฟ้องเกี่ยวกับทรัพย์สินในกองมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายได้
แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ที่ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 3 เพื่อให้โจทก์ไปขอรับชำระหนี้ต่อไปมาด้วย แต่คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงถือได้ว่าเป็นการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5736/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์: พฤติการณ์พิเศษ-การไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษา-การไต่สวน
โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาอุทธรณ์และโต้แย้งในคำฟ้องฎีกาว่า นับแต่ศาลชั้นต้นพิพากษาโจทก์ติดต่อขอคัดสำเนาคำพิพากษามาตลอดแต่ไม่สามารถคัดได้โดยเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าสำนวนยังไม่มาโจทก์เพิ่งได้รับก่อนวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์เพียง 3 วันเท่านั้น ซึ่งหากทางปฏิบัติของศาลชั้นต้นเป็นความจริงตามที่โจทก์อ้างในคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์และในคำฟ้องฎีกาดังกล่าว ก็ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้การที่ศาลชั้นต้นเพียงพิจารณาคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้วมีคำสั่งว่าตามคำร้องไม่มีพฤติการณ์พิเศษโดยมิได้ทำการไต่สวนจึงเป็นการด่วนวินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1),247 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 14
of 30