คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 142 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 155 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5792/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมอำพราง สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเป็นเพียงการค้ำประกันหนี้ เงินมัดจำคืนได้บางส่วน
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ตรงกับเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณี เป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้ระหว่างคู่กรณี นิติกรรมที่แสดงออกมาว่าเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ส่วนเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณีคือจำเลยยอมชำระเงินแทน ฉ. ในมูลหนี้ที่ ฉ. ทำสัญญากู้เงิน ป. สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจึงถือได้ว่าเป็นการค้ำประกันการกู้ยืมเงินของ ฉ. โดยมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกัน
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำกรณีโอนที่ดินกันไม่ได้เท่ากับโจทก์ขอให้ชำระหนี้ค้ำประกัน หาใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5197/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องไล่เบี้ยจากประกันภัยและการรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่ง
ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นสองปีนับแต่วันวินาศภัย หมายความถึงว่าในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ที่ได้รับความเสียหายจากผู้เอาประกันภัยจะใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยจะต้องฟ้องคดีภายใน 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย แต่ในกรณีของผู้รับประกันภัยที่เข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกที่ก่อให้เกิดความเสียหาย กำหนดอายุความต้องเป็นไปตามสิทธิเท่าที่ผู้เอาประกันภัยจะพึงมีต่อบุคคลภายนอกแล้วแต่กรณี หาใช่ว่าจะต้องฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วยไม่ โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัท ส. ผู้เอาประกันภัย ฟ้องไล่เบี้ยจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ส. กับไล่เบี้ยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันความเสียหายในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 882 วรรคหนึ่ง และสิทธิเรียกร้องสำหรับความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในความเสียหายในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ได้ให้ไว้แก่บริษัท ส. นายจ้าง กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดียังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ
การนำสืบข้อเท็จจริงในการพิจารณาคดีของศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 85 คู่ความย่อมมีสิทธินำสืบพยานหลักฐานได้ทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสาร การที่โจทก์ไม่ติดใจสืบพยานบุคคลคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 4 โดยขอส่งคำเบิกความของพยานที่เคยเบิกความไว้ในศาลแรงงานภาค 6 เป็นพยานเอกสาร ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ที่พึงกระทำได้ ประกอบกับทนายจำเลยที่ 2 และที่ 4 ยังแถลงยอมรับความถูกต้องของเอกสารว่า พยานเคยเบิกความดังคำเบิกความตามที่โจทก์อ้างส่งจริง ตามรายงานกระบวนพิจารณา ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจในอันที่จะรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานเอกสารดังกล่าวได้ หาใช่เป็นการนำเอาคำเบิกความของพยานในคดีอื่นมารับฟังในคดีนี้ไม่
โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันพนักงาน โดยแนบสัญญาค้ำประกันพนักงานมาท้ายฟ้องด้วย อันเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ซึ่งตามสัญญาค้ำประกันพนักงานข้อ 1 มีข้อความว่า จำเลยที่ 4 ยินยอมรับผิดชอบในความเสียหายอย่างลูกหนี้ร่วม ย่อมเรียกได้ว่าโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาในฟ้องและประสงค์จะให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมแล้ว คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม จึงไม่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง อันจะเป็นการต้องห้าม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4304/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดในความเสียหายจากการตอกเสาเข็ม แม้จะจ้างผู้รับเหมาช่วง
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตอกเสาเข็มในโครงการบ้านพักอาศัยของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ติดกับอาคารพิพาทของโจทก์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องระบุเพียงว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อสร้าง ก็มีความหมายอยู่ในตัวว่า จำเลยที่ 1 คือผู้ว่าจ้าง ส่วนจำเลยที่ 2 คือผู้รับจ้าง และแม้ความจริงจะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เพียงรับจ้างก่อสร้างอาคาร มิได้รับจ้างตอกเสาเข็มด้วย อันทำให้จำเลยที่ 2 พ้นความรับผิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ตาม แต่สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ว่าจะจ้างใครเข้าไปตอกเสาเข็มในที่ดินพิพาท ก็ยังคงสถานะความเป็นผู้ว่าจ้างอยู่เช่นเดิม จำเลยที่ 1 จึงไม่พ้นความผูกพันในฐานะผู้ว่าจ้างทำของ ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 428 ฉะนั้น การพ้นความรับผิดของจำเลยที่ 2 เนื่องเพราะมิได้เป็นผู้รับจ้างจากจำเลยที่ 1 ในการตอกเสาเข็มจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัว คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะจำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ จึงมิใช่เป็นเรื่องของการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
โจทก์นำสืบเพียงว่าจำเลยที่ 1 เริ่มก่อสร้างบ้านโดยใช้ปั้นจั่นตอกเสาเข็มเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2554 แต่โจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดในวันใด จึงให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเดือนมิถุนายน 2558

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1010/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยเจตนาลวงเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีและฉ้อฉล นิติกรรมเป็นโมฆะ
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ทั้งสอง โดยได้รับเงินมัดจำไปแล้วบางส่วน แต่จำเลยที่ 1 ไม่โอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญา โจทก์ทั้งสองไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินจึงทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตร โดยจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่า โจทก์ทั้งสองได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 และได้รับมัดจำแล้วเป็นเงิน 27,000,000 บาท ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันฉ้อฉลโจทก์ทั้งสองอันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองบรรยายคำฟ้องไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความจะนำบทกฎหมายใดมาใช้บังคับแก่ข้อเท็จจริง ย่อมเป็นสิ่งที่ศาลสามารถที่จะกระทำได้ คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงตรงกับศาลชั้นต้นว่า ในการทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตร จำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาจะทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จริง หากแต่กระทำเพื่อที่จะได้รับยกเว้นภาษีอากรในการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินและจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็มิได้ชำระค่าที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันทำนิติกรรมจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต และไม่มีการชำระเงินกันจริง จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริง หากแต่ที่ดินพิพาทยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 การแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามในทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาท จึงเป็นการแสดงเจตนาลวง โดยสมรู้ร่วมคิดกันย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ว่า เหตุที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพราะเกรงเจ้าหนี้รายอื่นจะมายึดหรืออายัด ฟังประกอบกับโจทก์ทั้งสองได้บรรยายฟ้องถึงพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามไว้โดยชัดแจ้งตลอดจนมีคำขอบังคับให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนการทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสามให้กลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เพียงว่า จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการฉ้อฉล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อการทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาลวงซึ่งตกเป็นโมฆะ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามศาลชั้นต้นถึงความเป็นโมฆะของนิติกรรมดังกล่าว หาเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13764/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สำคัญผิดในคุณสมบัติทรัพย์สิน สัญญาซื้อขายเป็นโมฆียะ การเพิกถอนนิติกรรม
โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและตึกแถวพิพาทกับจำเลยแล้วเข้าไปซ่อมแซมปรับปรุงตึกแถวพิพาท โดยต่อเติมบริเวณด้านหลังซึ่งเป็นทางเดิน สร้างผนังปิดทางเดิน สร้างเพิ่มเติมพื้นชั้นลอย เพิ่มความสูงของอาคารเป็น 4 ชั้น ก่อสร้างโครงหลังคาเหล็กต่อจากชั้นที่ 4 ขึ้นไป จึงเชื่อได้ว่าในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและตึกแถวพิพาทนั้น จำเลยไม่ได้บอกกล่าวให้โจทก์ที่ 2 ทราบว่ามีพื้นชั้นลอยด้านหลังที่จำเลยยังไม่ได้รื้อถอนให้แล้วเสร็จตามคำสั่งของสำนักงานเขตจอมทอง ซึ่งหากจำเลยได้บอกกล่าวให้โจทก์ที่ 2 ทราบข้อเท็จจริงนี้แล้ว ไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ที่ 2 จะกล้าเสี่ยงต่อเติมอาคารหลายรายการและเสียค่าใช้จ่ายมากมายโดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทจากจำเลยโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 แม้โจทก์ที่ 2 ไม่ได้บอกล้างโมฆียะกรรม แต่การฟ้องคดีนี้มีผลเท่ากับเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นแล้ว สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 176 วรรคหนึ่ง คู่สัญญาแต่ละฝ่ายไม่อาจอาศัยสัญญาจะซื้อจะขายมาเป็นข้ออ้างเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ ต่อกันได้ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 เพียงคืนเงินค่าที่ดินและตึกแถวพิพาทพร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น โจทก์ที่ 2 ไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากจำเลยได้อีก
คำฟ้องของโจทก์ที่ 2 มิได้กล่าวอ้างหรือตั้งประเด็นเกี่ยวกับความรับผิดฐานละเมิด ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในกรณีละเมิดได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอและเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12715/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสะดุดหยุดหรือไม่ขึ้นอยู่กับการยอมรับข้อเท็จจริงของจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177
คำให้การจำเลยทั้งสิบมิได้ปฏิเสธข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างว่าผู้กู้ได้ชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง จึงไม่มีประเด็นโต้เถียงว่า ผู้กู้ได้ชำระหนี้บางส่วนตามคำฟ้องหรือไม่ เพราะถือว่าจำเลยทั้งสิบยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว โจทก์ไม่ต้องนำสืบข้อเท็จจริงนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (3) ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์แล้วฟังว่า ผู้กู้ไม่ได้ชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์ อายุความจึงไม่สะดุดหยุดลง คดีโจทก์ขาดอายุความ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10361/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราวเกี่ยวกับสินสมรสระหว่างการพิจารณาคดีหย่า กรณีมีเหตุอาจทำให้โจทก์เสียหายได้
โจทก์ฟ้องขอหย่าขาดจากจำเลยที่ 1 และขอให้พิพากษาแบ่งสินสมรสแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแบ่งสินสมรสที่ดินสวนยางพาราพิพาทเนื้อที่ 60 ไร่ และที่ดินสวนปาล์มน้ำมันพิพาทเนื้อที่ 15 ไร่ แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 8 โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราว และศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ทำบัญชีดอกผลรายได้จากผลผลิตในที่ดินพิพาทเป็นรายเดือน แล้วนำเงินรายได้จากผลผลิตที่จะได้รับจำนวนกึ่งหนึ่งของทั้งหมดมาวางศาลเป็นรายเดือน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 จนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จึงเป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยดอกผลของทรัพย์พิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง ซึ่งในที่สุดหากโจทก์ชนะคดีโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับแบ่งดอกผลของทรัพย์ที่พิพาทดังกล่าวซึ่งเป็นสินสมรสได้ คำสั่งคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราวจึงหาเกินกว่าคำขอในคำฟ้อง อันเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9528/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ค่าส่วนกลาง - ผู้ซื้อทรัพย์จากขายทอดตลาดมีหน้าที่ชำระหนี้ค้างชำระของผู้ขายได้ - ศาลฎีกาแก้ไขค่าปรับและเงินเพิ่ม
ฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์ขอฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในประเด็นข้อกฎหมายที่โจทก์จะยกอายุความสิทธิเรียกร้องมาบังคับให้จำเลยที่ 1 รับชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเฉพาะส่วนที่ไม่ขาดอายุความ โดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด แม้นิติบุคคลอาคารชุดจะมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดชำระหนี้อันเกิดจากหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 แต่เมื่อหนี้ดังกล่าวมีอายุความ 5 ปี โจทก์จึงมีสิทธิขอชำระเพียงหนี้ย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี ถือเป็นการกล่าวชัดแจ้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขึ้นโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมาย
ค่าใช้จ่ายส่วนกลางซึ่งเจ้าของร่วมมีหน้าที่ต้องชำระให้แก่นิติบุคคลอาคารชุด แม้ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 บัญญัติขึ้นภายหลัง ป.พ.พ. และมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมของเจ้าของร่วมก็ตาม แต่เมื่อ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องสำหรับเงินดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. เมื่อตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 กำหนดให้ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นรายเดือน แต่ไม่ชำระจึงถือเป็นเงินค้างจ่าย ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) ได้บัญญัติไว้แล้ว ค่าปรับและเงินเพิ่มอันเกิดจากการไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าใช้จ่ายส่วนกลางจึงมีอายุความ 5 ปี เช่นเดียวกับหนี้ประธาน มิใช่เป็นกรณีที่ ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้อันจะต้องนำอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแต่อย่างใด
ในการใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ อันเป็นบทบังคับเจ้าหนี้ที่ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพราะไม่เช่นนั้นลูกหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/10 และที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/29 บัญญัติว่า เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ มิได้มีความหมายเพียงว่าเจ้าหนี้ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียก่อน ลูกหนี้จึงมีสิทธิที่จะปฏิเสธโดยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้เท่านั้น หากแต่การที่ลูกหนี้ฟ้องคดีเพื่อขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยจะขอชำระหนี้ตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของเจ้าหนี้เท่าที่มีอยู่ภายใต้กำหนดระยะเวลาแห่งอายุความ ย่อมเท่ากับเป็นการปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้โดยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้ว เพราะมีผลทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ส่วนที่ล่วงพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเช่นเดียวกับการต่อสู้คดีในกรณีที่ลูกหนี้ถูกฟ้อง ศาลจึงยกอายุความขึ้นมาวินิจฉัยได้โดยชอบ
โจทก์เป็นเพียงผู้ซื้อทรัพย์มิใช่ลูกหนี้ผู้ซึ่งค้างชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แต่การที่โจทก์มีภาระหน้าที่ที่ต้องชำระหนี้สินค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18, 29 และ 41 ที่กำหนดเป็นเงื่อนไขของการขายทอดตลาดตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีและตามที่กฎหมายบัญญัติบังคับไว้ ย่อมมีผลเท่ากับโจทก์ได้ทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกแทนลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 นั่นเอง ชอบที่โจทก์จะยกอายุความขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 1 ผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญานั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 376 เมื่อหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าปรับและเงินเพิ่มเป็นเงินค้างจ่าย มีอายุความ 5 ปี และโจทก์ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้ว โจทก์จึงคงรับผิดรับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าปรับและเงินเพิ่มค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี สำหรับค่าปรับและเงินเพิ่มซึ่งโจทก์มิได้มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาในลักษณะอย่างไร แต่เมื่อโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระ ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาให้โจทก์รับผิดต่อจำเลยที่ 1 ได้ ไม่เป็นการเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง และตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ที่กำหนดค่าปรับไว้อัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ค้างชำระ ก็ถือเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ป.พ.พ. มาตรา 381 วรรคหนึ่ง ซึ่งถ้าสูงเกินส่วนศาลย่อมลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18462/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้รับประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ แม้ผู้เอาประกันภัยไม่ได้ทำละเมิด
ข้อเท็จจริงปรากฏตามที่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถบรรทุก หมายเลขทะเบียน 80 - 8186 เพชรบุรี และรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน อ่างทอง ง - 5190 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้รับประกันภัยรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ด้วย เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้ให้การปฏิเสธความรับผิดในส่วนนี้ไว้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยที่ 3 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถจักรยานยนต์ที่ อ. เป็นเจ้าของ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 จึงเป็นไปตามที่โจทก์ทั้งสองระบุในฟ้องและเป็นประเด็นพิพาท คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10113/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินเจตนาการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและการพิพากษาค่าสินไหมทดแทนเกินคำขอ
จำเลยป่วยมีภาวะทางจิตบกพร่องด้วยโรคซึมเศร้าอย่างรุนแรงและมีอาการกำเริบเนื่องจากทะเลาะมีปากเสียงกับผู้ตายจึงเกิดโทสะใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายซ้ำหลายครั้งอันมีลักษณะลงมือแทงผู้ตายเพื่อให้ถึงแก่ความตายเท่านั้น โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาให้ผู้ตายได้รับความทุกข์ทรมานก่อนถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายตาม ป.อ. มาตรา 289 (5)
โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง โดยมิได้ขอให้ชำระดอกเบี้ย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องแก่โจทก์ร่วมทั้งสองจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ
of 16