คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ไพจิตร สวัสดิสาร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 40 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1772/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดเรือชน: เจ้าของเรือต้องรับผิดแม้ความผิดเกิดจากผู้นำร่องหรือนายเรือลูกจ้าง
ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองเรือโอเชียน เฟลเวอร์ และเหตุเรือโดนกันเกิดจากความผิดของเรือโอเชียน เฟลเวอร์ เพียงฝ่ายเดียว จำเลยย่อมต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อโจทก์ทั้งสองซึ่งได้รับช่วงสิทธิมาจากผู้เอาประกันภัยทั้งสี่แล้วตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางแพ่งและค่าเสียหายจากเรือโดนกัน พ.ศ. 2548 มาตรา 12 ทั้งตามบทบัญญัติดังกล่าว และพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำสยาม แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477 (ฉบับที่ 2) มาตรา 11 ต่างบัญญัติว่า ไม่ว่าเหตุเรือโดนกันดังกล่าวจะเกิดจากความผิดของนายเรือของเรือโอเชียน เฟลเวอร์ หรือเกิดจากความผิดของผู้นำร่องตามที่จำเลยกล่าวอ้าง จำเลยในฐานะเจ้าของและผู้ครอบครองเรือโอเชียนเฟลเวอร์ ก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นได้คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ทั้งสองได้ชำระให้แก่ผู้เอาประกันภัยทั้งสี่ไป จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) แสดงเหตุว่า จำเลยอาจฟ้องจำเลยร่วมเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิจารณาให้จำเลยแพ้คดี ดังนี้ เมื่อจำเลยต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อโจทก์ทั้งสองตามที่วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้ว โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนได้ ส่วนจำเลยร่วมจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยหรือไม่ ก็มีผลเพียงให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกให้จำเลยกับจำเลยร่วมร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเรียกร้องให้จำเลยหรือจำเลยร่วมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชดใช้เต็มจำนวนได้เท่านั้น ไม่มีผลให้ความรับผิดที่จำเลยมีต่อโจทก์ทั้งสองต้องเปลี่ยนแปลงไปแม้ในการนำร่องผู้นำร่องอาจให้คำบอก คำแนะนำ หรือคำสั่งการในบังคับเรือได้ แต่ในการทำหน้าที่ดังกล่าวของผู้นำร่องเป็นการดำเนินการโดยอยู่ในความรับรู้และเห็นชอบของนายเรือ โดยนายเรือมีอำนาจที่จะระงับคำสั่งการของผู้นำร่องหรือไม่ปฏิบัติตามคำบอกหรือคำแนะนำของผู้นำร่องได้หากเห็นว่าไม่ปลอดภัยหรือจะทำให้เกิดอันตรายหรือเกิดความเสียหาย จึงถือได้ว่านายเรือยังคงมีอำนาจในการควบคุมเรืออยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ที่ผู้นำร่องเป็นผู้กล่าวออกคำสั่งการต่าง ๆ โดยผู้นำร่องจะสั่งคำสั่งไปยังลูกเรือซึ่งรับผิดชอบในแต่ละหน้าที่ กล่าวคือ สั่งคำสั่งเกี่ยวกับเครื่องยนต์ไปยังผู้ช่วยต้นเรือ และคำสั่งเกี่ยวกับหางเสือไปที่ผู้บังคับหางเสือ ลูกเรือผู้รับผิดชอบจะทวนคำสั่ง ปฏิบัติ และทวนคำสั่งอีกครั้งหลังปฏิบัติแล้ว แต่ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้นำร่องถือว่าเป็นเพียงผู้ให้คำแนะนำแก่ลูกเรือว่าจะให้ปฏิบัติตามอย่างไรเท่านั้น ผู้นำร่องจะไม่สั่งการไปที่กัปตันเรือ แต่จะสั่งการไปที่ลูกเรือที่ปฏิบัติหน้าที่แต่ละจุดโดยตรง ซึ่งสอดคล้องกับกฎกระทรวงเศรษฐการว่าด้วยการนำร่องฯ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 56 (พ.ศ. 2534) ข้อ 37 ที่กำหนดให้ผู้นำร่องต้องแนะนำนายเรือให้ปฏิบัติตามกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และวรรคสองกำหนดคำว่า "ทำการนำร่อง" หมายความว่า เข้าทำการช่วยเหลือหรือทำหน้าที่แทนนายเรือโดยนายเรือรับรู้และเห็นชอบด้วยกับคำบอก คำแนะนำ หรือคำสั่งการของผู้นำร่อง และข้อ 47 ที่นายเรือยังคงมีอำนาจที่จะระงับคำสั่งการ หรือไม่ปฏิบัติตามคำบอกหรือคำแนะนำของผู้นำร่องได้ ดังนั้น ลำพังเพียงการที่ผู้นำร่องออกคำสั่งการต่าง ๆ ไปยังลูกเรือโดยตรง จึงไม่อาจถือเป็นการบังคับควบคุมเรือได้ เนื่องจากคำสั่งการต่าง ๆ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4542/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานมีใช้อาวุธปืนเถื่อน, ฆ่า, พยายามฆ่า: ศาลแก้โทษเป็นกรรมเดียว, เพิ่มโทษตามกรรม
ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ มาตรา 78 วรรคหนึ่ง กับความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ มาตรา 78 วรรคสาม กฎหมายบัญญัติบทความผิดและบทลงโทษไว้ในบทมาตราเดียวกัน เมื่อจำเลยร่วมกันมีอาวุธปืนและใช้อาวุธปืนดังกล่าวเพื่อความประสงค์อันเดียวกันและร่วมกันใช้อาวุธปืนต่อเนื่องจากการร่วมกันมีอาวุธปืน ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 และเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่า ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนซี่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งนั้นจึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225
ในการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 เมื่อจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน การเพิ่มโทษจำเลยต้องเพิ่มโทษทุกกระทงความผิด เว้นแต่ในความผิดใดที่ศาลลงโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกเกินห้าสิบปี ตาม ป.อ. มาตรา 51 ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมิได้เพิ่มโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โดยเปิดเผย หรือพาไปในชุมนุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อนมัสการการรื่นเริง และศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยและแก้ไขเป็นการไม่ชอบ แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์และฎีกาปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาจึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4478/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทเลินเล่อทางละเมิด: การประเมินระดับความประมาทและข้อยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่
แม้ที่เกิดเหตุจะเป็นทางร่วมทางแยกที่มีทางเดินรถทางเอกตัดผ่านทางเดินรถทางโท และการที่จำเลยขับรถตู้ของโจทก์ไปตามถนนซอย 2 สายตรี มุ่งหน้าไปทางถนนเซาน์เทิร์นซีบอร์ด ซึ่งเป็นทางโทไม่หยุดรถรอให้รถกระบะที่ ว. ขับมาตามถนนซอย 2 จากทางอำเภอกาญจนดิษฐ์ ซึ่งเป็นทางเอกผ่านไปก่อนแล้วจึงจะขับเข้าไปในทางร่วมทางแยก เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 71 (2) แต่การฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าวจะถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดีประกอบด้วย เมื่อตามคำเบิกความของพยานโจทก์ปาก ช. ซึ่งขณะเกิดเหตุนั่งด้านหน้ารถคู่กับจำเลยบ่งชี้ให้เห็นว่า ในการขับรถตู้ของโจทก์ผ่านสี่แยกที่เกิดเหตุ จำเลยได้ใช้ความระมัดระวังในระดับหนึ่งแล้วแม้จะไม่ใช่ความระมัดระวังในระดับที่วิญญูชนในภาวะเช่นเดียวกับจำเลยจะต้องมีก็ตาม การกระทำของจำเลยจึงเป็นเพียงความประมาทเลินเล่อธรรมดาหาใช่ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และแม้จำเลยมีหน้าที่ขับรถให้แก่โจทก์ แต่ตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยนั้นไม่ใช่ตำแหน่งหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดในเรื่องการใช้ความระมัดระวังไว้เป็นอย่างอื่น การพิจารณาในเรื่องความประมาทเลินเล่อจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 420 เมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จำเลยอยู่ในสังกัดขณะทำละเมิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 10 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4122/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รายจ่ายค่าเช่ารถต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (18) หากผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าผู้รับเป็นผู้ให้เช่าที่แท้จริง
ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (1) และมาตรา 65 ตรี (18) มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายรายจ่าย ต้องพิสูจน์ตัวตนของผู้รับเงินได้ หากพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับก็ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งทางนำสืบของโจทก์มีรายละเอียดข้อมูลที่เกี่ยวกับ ก. เพียงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของ ก. และบิลเงินสดที่ ก. ทำเรื่องเบิกเงินจากโจทก์ที่ปรากฏแต่ชื่อของ ก. เท่านั้น อ.ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ในชั้นที่เจ้าหน้าที่สรรพากรให้นำตัว ก. มาชี้แจง โจทก์ไม่สามารถติดต่อ ก. มาให้ถ้อยคำหรือชี้แจงได้ ซึ่งก็ได้ความจาก ว. เจ้าพนักงานตรวจสอบเช่นกันว่า โจทก์ไม่สามารถนำตัว ก. มาให้ถ้อยคำได้และยังไม่มีหมายเลขโทรศัพท์ของ ก. เพื่อติดต่อด้วย ซึ่งมีข้อพิรุธที่โจทก์และ ก. ติดต่อทำธุรกิจกันมาเป็นระยะเวลานานมีมูลค่าหลายล้านบาท เฉพาะที่ปรากฏในชุดใบสำคัญจ่ายสำหรับการเช่ารถระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม 2551 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2551 มีการเช่ารถยนต์พร้อมคนขับจำนวนมาก โดยคนขับรถต้องไปรับพนักงานของโจทก์ในสถานที่แตกต่างกันเพื่อสำรวจข้อมูลทำแผนที่ เช่น จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดสุรินทร์ เป็นต้น ซึ่งในการเช่ารถดังกล่าวตามปกติแล้วย่อมจะต้องมีหมายเลขโทรศัพท์ของ ก. เพื่อติดต่อใช้รถในแต่ละครั้ง แต่โจทก์กลับไม่สามารถให้ข้อมูลติดต่อ ก. ได้ ประกอบกับไม่ปรากฏว่าโจทก์กับ ก. มีการทำหลักฐานเอกสารการเช่ากันเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่มีการระบุตัวทรัพย์สินที่ให้เช่า คงมีเพียงตารางค่าเช่ารถเท่านั้น ซึ่งเป็นการผิดปกติวิสัยของการทำธุรกิจให้เช่ารถจำนวนมาก นอกจากนี้ ฐ. กรรมการบริหารบริษัทโจทก์ยังเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นในบริษัท อ. ซึ่งบริษัท อ. มี ณ.เป็นผู้ถือหุ้น และ ณ. ยังเป็นกรรมการบริหารและผู้ถือหุ้นบริษัท ม. ทำให้เห็นได้ว่าโจทก์กับบริษัท ม. มีความเกี่ยวข้องกัน โดยบริษัท ม. จ่ายค่าเช่ารถให้แก่ ก. สูงกว่าปกติ และบริษัท ม. ไม่สามารถนำตัว ก. มายืนยันว่ามีการรับเงินตามบิลเงินสดที่บริษัท ม. นำมาแสดงเป็นรายจ่ายต่อเจ้าพนักงานของจำเลยได้เช่นกัน เมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจปฏิบัติการสอบยัน ณ ภูมิลำเนาของ ก. ก็ไม่สามารถเข้าตรวจได้เนื่องจากสถานประกอบการมีลักษณะเป็นบ้านพักอาศัย ไม่มีลักษณะเป็นสถานประกอบการ ไม่มีผู้ใดพักอาศัยและไม่พบตัว ก. เจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงทำหนังสือเชิญ ก. ให้มาพบแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ ก. ก็ไม่มาพบ แม้โจทก์จะประกอบการจริงและรายจ่ายที่เป็นค่าเช่ายานพาหนะสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2552 ตามกระดาษทำการวิเคราะห์แบบ ภ.ง.ด.50 จำนวน 10,621,603.57 บาท คิดเป็นร้อยละ 8.71 ของรายได้ เป็นค่าเช่าที่จ่ายให้แก่ ก. 10,533,342 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าผู้ให้เช่ารายอื่น และโจทก์ชำระเงินค่าเช่ารถยนต์ให้แก่ ก. โดยสั่งจ่ายเช็คระบุชื่อ ก. และขีดคร่อมประทับตราว่า A/C PAYEE ONLY ขีดฆ่าคำว่าผู้ถือออกและมีการเรียกเก็บเงินตามเช็คก็ตาม แต่โจทก์มีหน้าที่พิสูจน์ให้ได้ว่า ก. เป็นผู้ให้เช่ารถและผู้รับเงินค่าเช่ารถที่แท้จริง ทางนำสืบของโจทก์จึงยังไม่พอให้รับฟังได้ว่า ก. เป็นผู้ให้เช่ารถที่แท้จริง เพราะหาก ก. เป็นผู้ให้เช่ารถยนต์แล้วน่าจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับ ก. มากกว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า รายจ่ายค่าเช่ารถสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2551 จำนวน 5,423,488 บาท และสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2552 จำนวน 8,132,875 บาท เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (18)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3719/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ชำระบัญชีต้องรับผิดในหนี้ภาษีของบริษัท หากมีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้
จำเลยที่ 2 เคยเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 จึงต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้ค่าภาษีที่ต้องชำระแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ชำระสะสางกิจการของจำเลยที่ 1 ให้เสร็จสิ้นไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของจำเลยที่ 1 รวมทั้งถ้าเจ้าหนี้คนใดมิได้ทวงถามให้ใช้หนี้ต้องมีหน้าที่วางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้น ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องชำระหนี้ภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ก่อนหรือวางเงินเท่ากับจำนวนหนี้ค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์ตามกฎหมายก่อนที่จะจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี แต่จำเลยที่ 2 มิได้ชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าวให้แก่โจทก์และได้แบ่งคืนทรัพย์สินไป ถือว่าจำเลยที่ 2 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 และเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายจากการที่ทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำละเมิดต่อโจทก์ คงรับผิดไม่เกินกว่าเงินสดคงเหลือที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี จำเลยที่ 1 มีหนี้ภาษีธุรกิจเฉพาะค้างชำระแก่โจทก์เป็นเงินภาษี 1,493,353.17 บาท เบี้ยปรับ 746,676.59 บาท พร้อมเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องและภาษีส่วนท้องถิ่นเพิ่มเติม รวมจำนวนทั้งสิ้น 3,351,084.21 บาท แต่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีปรากฏว่า จำเลยที่ 1 มีเงินสดคงเหลือมากกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดแก่โจทก์ในหนี้ค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระจำนวน 3,351,084.21 บาท แม้จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 แต่ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยไปพบเจ้าพนักงานและยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินภาษีตามผลการตรวจสอบ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีและเบี้ยปรับเงินเพิ่มแก่โจทก์ ต่อมาเจ้าพนักงานส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้วโดยชอบเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ภาษีอากรและเบี้ยปรับเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์จำนวน 3,351,084.21 บาท ซึ่งไม่เกินวงเงินที่เป็นทรัพย์สินคงเหลือ ณ วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี พร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หรืออัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3197/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: การกำหนดค่ารายปีสำหรับพื้นที่ที่เจ้าของใช้เอง และการคืนเงินภาษีที่ชำระเกิน
ค่ารายปีนั้น มาตรา 8 วรรคสองและวรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ให้ความหมายว่า จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในกรณีทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้ โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ จึงแสดงว่าค่ารายปีที่จะใช้ในการคำนวณภาษีนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะแก้ไขกำหนดใหม่ในแต่ละปีที่จะต้องชำระภาษีได้เมื่อมีเหตุอันสมควร คดีนี้โจทก์ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จำหน่ายสินค้าให้แก่บุคคลทั่วไป ดังนั้น โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์ในส่วนที่เป็นพื้นที่ขายจากการจำหน่ายสินค้า ส่วนการนำอาคารห้างสรรพสินค้าให้ผู้อื่นเช่าย่อมได้ค่าเช่า ลักษณะการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินแตกต่างกัน พื้นที่ขายเป็นพื้นที่ที่โจทก์ใช้ประโยชน์เองจึงเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงมีอำนาจประเมินค่ารายปี โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ได้ แต่การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดค่ารายปีพื้นที่ขายอัตราตารางเมตรละ 622.65 บาทต่อเดือน โดยวิธีเทียบเคียงจากพื้นที่ของโจทก์ที่นำออกให้บุคคลภายนอกเช่าซึ่งอยู่ในอาคารเดียวกันกับพื้นที่ขายของโจทก์เพียงประการเดียว ไม่เป็นการคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกัน การประเมินค่ารายปีและคำชี้ขาดของจำเลยจึงไม่ชอบ และเมื่อศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่าคำชี้ขาดค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2559 ที่กำหนดค่ารายปี สำหรับพื้นที่ขายของโจทก์ที่พิพาทในอัตราตารางเมตรละ 220 บาทต่อเดือน ชอบด้วยกฎหมายตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2613/2563 ประกอบกับไม่ปรากฏว่ามีปัจจัยอื่นที่จะทำให้ค่ารายปีในปีภาษี 2560 แตกต่างไปจากเดิม จึงเห็นควรกำหนดค่ารายปีส่วนพื้นที่ขายสำหรับปีภาษี 2560 ในอัตราตารางเมตรละ 220 บาทต่อเดือน
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ออกใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความใหม่แทน โดยกำหนดให้หนี้เงินนั้นให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ซึ่งปัจจุบันอัตราร้อยละ 5 ต่อปี และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้บทบัญญัติมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ จึงต้องกำหนดดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดดังกล่าว และอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 อาจปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกา จึงให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีที่โจทก์ชำระไว้เกินให้แก่โจทก์ภายในสามเดือนนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันครบกำหนดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้ตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งตราขึ้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 วรรคสอง บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2897/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนฎีกาคดียาเสพติด: วันที่คดีถึงที่สุดคือวันที่ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษา
จำเลยที่ 4 ซึ่งต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำยื่นฎีกาต่อพัศดีภายในกำหนดเวลาฎีกา หากส่งฎีกาไปถึงศาลชั้นต้นเมื่อพ้นกำหนดเวลาฎีกาแล้ว ให้ถือว่าเป็นฎีกาที่ได้ยื่นภายในกำหนดเวลา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 199 ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 บทบัญญัติดังกล่าว สามารถใช้แก่การถอนฎีกาต่อพัศดีด้วยเช่นกัน การที่จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกาผ่านเรือนจำกลางคลองไผ่เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 ก่อนที่ศาลจังหวัดสีคิ้วอ่านคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 ฎีกา เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 และเรือนจำกลางคลองไผ่รับคำร้องขอถอนฎีกาของจำเลยที่ 4 แล้วส่งไปให้ศาลชั้นต้น แม้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอถอนฎีกาของจำเลยที่ 4 ไว้พิจารณา เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 หลังจากที่ศาลจังหวัดสีคิ้วอ่านคำสั่งศาลฎีกาที่อนุญาตให้จำเลยที่ 4 ฎีกาแล้วก็ตาม กรณีต้องถือว่าจำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา ก่อนที่คำสั่งศาลฎีกาที่อนุญาตให้จำเลยที่ 4 ฎีกามีผล เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 ถอนฎีกา ย่อมมีผลลบล้างการยื่นฎีกาและขออนุญาตฎีกาของจำเลยที่ 4 คดีของจำเลยที่ 4 จึงถึงที่สุดตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งเป็นวันที่ศาลจังหวัดสีคิ้วอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 4 ฟัง ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง มิใช่ถึงที่สุดวันที่ 6 ธันวาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2892/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการยื่นคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาจำกัดเฉพาะผู้ต้องรับโทษหรือผู้เกี่ยวข้อง ไม่รวมโจทก์/ผู้เสียหาย
พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 9 วรรคหนึ่งและวรรคสาม บัญญัติให้ศาลที่ได้รับคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ทำการไต่สวนคำร้องนั้นว่ามีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่หรือไม่ เมื่อได้ไต่สวนคำร้องแล้ว ให้ศาลที่ไต่สวนคำร้องส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์โดยไม่ชักช้า และตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อศาลอุทธรณ์ได้รับสำนวนการไต่สวนและความเห็นแล้ว ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ให้ศาลอุทธรณ์สั่งรับคำร้องและสั่งให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องดำเนินการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ต่อไป แต่ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูล ให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องนั้น" แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ศาลชั้นต้นกลับมีคำสั่งให้ยกคำร้องโดยมิได้ส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมทั้งความเห็นไปให้ศาลอุทธรณ์สั่ง และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ย่อมไม่ชอบด้วยมาตรา 9 วรรคสาม และมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะสั่งคำร้องดังกล่าว อย่างไรก็ตามเมื่อคดีนี้ได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยคำร้องของผู้ร้องได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งใหม่
พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 6 บัญญัติเกี่ยวกับบุคคลผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ คือ บุคคลผู้ต้องรับโทษทางอาญา หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องรับโทษอาญาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยไม่ปรากฏว่า กฎหมายบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์แต่อย่างใด แม้ผู้ร้องจะเป็นผู้เสียหายก็ไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ เนื่องจากผู้ร้องได้ใช้สิทธิในฐานะเป็นโจทก์ฟ้องคดี มีโอกาสนำเสนอพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างตามข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่แล้ว เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องก็มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาตามสิทธิได้ต่อไป มิใช่ว่าเมื่อพบพยานหลักฐานใหม่ก็จะมาใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ กฎหมายมิได้บัญญัติให้สิทธิดังกล่าวแก่ผู้ร้อง มิฉะนั้นแล้ว การฟ้องร้องดำเนินคดีของผู้ร้องในฐานะโจทก์ก็ย่อมไม่มีวันจบสิ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2828/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลอาญาคดีทุจริตฯ หลังเปิดทำการ: คดีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อันเป็นคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 3 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 อันเป็นวันภายหลังจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 เปิดทำการแล้ว ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ชอบที่จะยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ของโจทก์เสีย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1952/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากเป็นการโต้แย้งเฉพาะศาลชั้นต้น ไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
จำเลยฎีกาโดยคัดลอกข้อความมาจากอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิ้น คงมีการแก้ไขเฉพาะคำว่าศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นศาลฎีกา และมีส่วนเพิ่มเติม พิมพ์ตกหรือพิมพ์ผิดไปจากอุทธรณ์บ้างเล็กน้อยในรายละเอียด ฎีกาของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งเฉพาะคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว่า พิพากษาไม่ชอบอย่างไรหรือไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพราะเหตุใด ทั้งเหตุผลในการวินิจฉัยของศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีบางส่วนก็แตกต่างกัน ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 อันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 216 วรรคหนึ่ง และมาตรา 225 แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 และศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยมา ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
of 4